Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
 



ตัวกู-ของกู

ถ้าจะอยู่ ในโลกนี้ อย่างมีสุข

อย่าประยุกต์ สิ่งทั้งผอง เป็นของฉัน

มันจะสุม เผากระบาล ท่านทั้งวัน

ต้องปล่อยมัน เป็นของมัน อย่าผันมา

เป็นของกู ในอำนาจ แห่งตัวกู

มันจะดู วุ่นวาย คล้ายคนบ้า

อย่างน้อยก็ เป็นนกเขา เข้าตำรา

มันคึกว่า "กู-ของ-กู" อยู่ร่ำไป

จะหามา มีไว้ ใช้หรือกิน

ตามระบิล อย่างอิ่มหนำ ก็ทำได้

โดยไม่ต้อง มั่นหมาย ให้อะไรๆ

ผูกยึดไว้ ว่า "ตัวก" หรือ "ของกู"ฯ

 

 

คำนำ

หนังสือ เรื่อง "ตัวกูของกู"

เมื่อข้าพเจ้ายังรับราชการเป็นเลขานุการเอก ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงไคโร ข้าพเจ้าได้สั่งซื้อหนังสือพุทธศาสนาของจีนและญี่ปุ่น ลัทธิหินยาน นิกายเซ็น ฉบับภาษาอังกฤษ มาจากกรุงลอนดอน เป็นจำนวน ๑๐ เล่ม และใช้เวลาว่างงาน อ่านคำสอนของนิกายเซ็น ข้าพเจ้าเลื่อมใส ในคำสอนของเขามาก เพราะ การสอน หลักพุทธศาสนา ของนิกายเซ็น ของจีน และญี่ปุ่น นั้น เป็นการสอนลัด ดังที่เขาเรียก วิธีปฏิบัติ ของเขาว่า "วิธีลัด" หรือ เรียก นิกายของเขาว่า "นิกายฉับพลัน" ทั้งนี้ก็เพราะว่า พวกเขา ไม่สนใจ พุทธประวัติ และเรื่องราวเป็นไปของพุทธศาสนา เขาไม่สนใจในด้านภาษาของพุทธศาสนา ไม่สนใจชื่อของธรรมะ ไม่สนใจการทำบุญ ให้ทานแบบต่างๆ เขาไม่ต้องการมีบาป และไม่ต้องการได้บุญ เพราะเขาถือว่าทั้งบาป และบุญ ก็ยังเป็นอุปสรรค ที่จะทำคน มิให้ถึงพระนิพพาน ยิ่งเรื่องการหวังเอาสวรรค์ เอาวิมาน ด้วยแล้ว เขาถือว่า เป็นความปรารถนาของทารก เอาทีเดียว เขาตัดพิธีรีตอง ของพุทธศาสนาออก ทั้งหมด เหลือเอาไว้แต่ "หัวใจ" ของพุทธศาสนา กล่าวคือ เรื่อง สุญญตา เรื่องเดียวเท่านั้น เขาจึงพร่ำสอนแต่เรื่อง สุญญตา ปฏิบัติแต่เรื่องสุญญตา และหวังผลจากสุญญตา  อย่างเดียว ทั้งนี้ก็ตรงกับพุทธดำรัสที่ว่า "ใครได้ฟังเรื่องสุญญตา ก็ถือว่าได้ฟังเรื่องทั้งหมดของ พุทธศาสนา ใครได้ปฏิบัติเรื่องสุญญตา ก็จัดว่าได้ปฏิบัติธรรมทั้งหมด ทั้งสิ้นของพุทธศาสนา ใครได้รับผลจากสุญญตา ก็นับได้ว่า ได้รับผลอันสูงสุด ของพุทธศาสนา" กล่าวคือ ความพ้นทุกข์ ไปตามลำดับๆ จนไม่มีความทุกข์ใจ เลยแมัแต่น้อย ซึ่งเราเรียกว่า "นิพพาน" เพราะ หมดกิเลส หมดความเห็นแก่ตัว อย่างสิ้นเชิงนั่นเอง

ข้าพเจ้ามิใช่เป็นคนพวก "ศรัทธาจริต" กล่าวคือ ข้าพเจ้า ไม่ยอมเชื่อใคร เชื่ออะไรง่ายๆ ข้าพเจ้ามีมันสมอง มีความรู้ ทั้งทางโลก และทางธรรม และได้ประสพการณ์ของชีวิต มา ๖๐ ปีแล้ว เคยพบคนดี คนชั่ว คนสุจริต คนทุจริต คนพูดจริง และคนหลอกลวง มามากต่อมาก และเพราะมีมันสมอง พอที่จะรู้ว่า อะไรถูก อะไรผิด นั่นเอง ข้าพเจ้า จึงเห็นว่า คำสอนของนิกายเซ็น ถูกต้องที่สุด และไม่หลอกลวงใคร เพื่อหวังประโยชน์อะไรเข้าตัว อย่างนักบวชนิกายอื่นๆ ได้ปฏิบัติกันอยู่ จนคนที่ไม่ใช้สติปัญญา ต้องตกเป็นเหยื่อ เพราะความโลภ อยากได้สวรรค์ เพราะความหลง งมงาย ในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือ ความกลัวผีสาง เทวดา จนต้องเสียเงิน และเสียรู้คนหลอกลวง อย่างเต็มอกเต็มใจ

ข้าพเจ้านึกอยู่เสมอว่า ทำอย่างไรหนอ คำสอนของนิกายเซ็น จึงจะมาเผยแพร่ในประเทศไทยบ้าง ชาวพุทธไทย จะได้เข้าถึงธรรม โดยไม่ต้องไปเสียเวลา ปฏิบัติอะไร ต่ออะไร ที่ไม่เป็นสาระ ไม่สมตามที่พระพุทธเจ้า ทรงมุ่งหมายจะให้แก่ พุทธศาสนิกชน พวกเราถูกสอน ให้ติดตัณหาอุปาทาน ติดบุญ ติดตำรา อาจารย์ ติดประเพณี พิธีรีตอง พระพุทธเจ้าสอนคน ให้หมดความอยาก ความยึด และความยุ่ง แต่พวกเรา ได้รับคำสอน ให้อยาก ให้ยึด และให้ยุ่ง ฉะนั้น เรื่องมรรคผล นิพพาน จึงห่างไกลมือของพวกเรา ออกไปทุกวันๆ เลยมีคนถือกันว่า เป็นเรื่องพ้นวิสัยของมนุษย์ในสมัยนี้ ไปเสียแล้ว ใครนำเอาเรื่องนิพพาน มากล่าวมาสอน ก็ถูกหาว่า เป็นคำสอนที่เหลวไหล พ้นสมัยที่ใครๆ จะทำได้ ใครนำเอาวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง มาอธิบาย ก็ถูกนักศาสนาสมัยใหม่ หาว่า เป็นการกล่าว นอกพระธรรมวินัย หรือผิดไปจากตำหรับตำรา คำสอนที่ถูกต้อง เลยไม่มีใครสนใจ และฟังกันไม่ได้ เพราะเหตุที่ไม่ได้ฟังกัน มาเสียนาน นี่แหละ เป็นสถานการณ์ในปัจจุบัน

ฉะนั้น การจะนำเอาคำสอนของนิกายเซ็น ซึ่งถึงแม้จะดีที่สุด สั้นที่สุด และหวังดีต่อประชาชนที่สุด เข้ามาเผยแพร่ในเมืองไทย ก็เห็นจะไม่มีใครเลื่อมใส และกลับจะมีการคัดค้านกัน เป็นการใหญ่ เพราะความยึดมั่นถือมั่น ในความเห็นเดิมๆ ของตนว่า ถูกต้อง ดีกว่า ของใครๆ นั่นเอง จึงมีมานะ ไม่ยอมฟังคำสอน ของนิกายอื่น

ท่านพุทธทาสภิกขุ เป็นอรรถกถาจารย์ ที่แตกฉานในพระธรรมวินัย ทั้งฝ่ายหินยาน และนิกายเซ็น ท่านได้แปล สูตรของท่านเว่ยหล่าง และท่านฮวงโป ซึ่งเป็นพระอริยบุคคล ของนิกายเซ็น ออกมาเป็นภาษาไทย และยังได้รวมความเห็น ของฝ่ายเถรวาท กับนิกายเซ็น ให้เข้ากันได้ จนกลายเป็น คำสอนที่ทันสมัย และสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งรวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ชนิดที่ใครๆ จะทำไม่ได้ นับว่า เป็นโชคดีของพวกเราอย่างยิ่ง ที่ได้มีหนังสือเล่มนี้ เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ต้องขายหน้า นิกายเซ็นของฝ่ายจีน ญี่ปุ่น อีกต่อไป หากคำสอนนี้ จะมีโอกาสเผยแพร่ไป ถึงประเทศต่างๆ ในยุโรป หรือ อเมริกา ก็ยังเป็นที่อุ่นใจได้ว่า จะไม่ทำให้ชาวต่างศาสนา เขายิ้มเยาะ ได้ว่า พุทธศาสนา เต็มไปด้วยอภินิหาร ของขลัง ของศักดิ์สิทธิ์ ติดอยู่แต่ในเรื่อง ผีสาง เทวดา หรือ พิธีรีตอง อันไม่ประกอบด้วย ปัญญา และหลักวิชาการ นอกจากเชื่อกันไป ทำตามกันไป ดังที่มีกล่าวอยู่ในคัมภีร์

หนังสือเล่มนี้ ไม่ต้องอาศัย "คำนิยมชมชื่น" จากผู้ใด เพราะผู้ที่อ่านด้วยความ พินิจพิจารณา และมีปัญญาพอสมควร ย่อมจะนิยมชมชื่นด้วยตนเอง ซึ่งดีกว่า คำชมของผู้หนึ่งผู้ใด ที่เขาเขียนให้ เพื่อให้ขายได้ดี

องค์การฟื้นฟูพุทธศาสนาฯ หวังว่าท่านทั้งหลาย ที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว คงจะได้ดวงตาเห็นธรรม หรืออย่างน้อยก็พอ จะมองเห็นได้ว่า เราควรจะปฏิบัติธรรม ด้วยวิธีใดดี จึงจะเข้าถึงสัจธรรม โดยฉับพลัน ไม่ต้องไปเสียเวลา ศึกษาคัมภีร์ อันยุ่งยาก ยืดยาว ซึ่งอย่างมาก ก็ทำเรา ให้เป็นได้แต่เพียง คนอ่านมาก จำได้มาก พูดมาก แต่ยังเต็มไปด้วยมิจฉาทิฏฐิ หรือ ตัณหา และ อุปาทาน เพราะ การยึดมั่นถือมั่น ไม่ยอมปล่อยวาง ในสิ่งใดๆ และยังเต็มไปด้วยอัตตาตัวตน

 

ปุ่น จงประเสริฐ
องค์การฟื้นฟูพุทธศาสนาฯ

 

 

สารบัญ บทที่ ๑ ปรับความเข้าใจ

  คัดจาก หนังสือ ตัวกู-ของกู พุทธทาสภิกขุ ฉบับย่อ (๘๐บาท), ย่อโดย คุณปุ่น จงประเสริฐ 
(เรียบเรียงจาก คำบรรยายเรื่อง ตัวกู-ของกู (ฉบับสมบูรณ์) ของท่านพุทธทาส)