Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
 



ตัวกู-ของกู

ถ้าจะอยู่ ในโลกนี้ อย่างมีสุข

อย่าประยุกต์ สิ่งทั้งผอง เป็นของฉัน

มันจะสุม เผากระบาล ท่านทั้งวัน

ต้องปล่อยมัน เป็นของมัน อย่าผันมา

เป็นของกู ในอำนาจ แห่งตัวกู

มันจะดู วุ่นวาย คล้ายคนบ้า

อย่างน้อยก็ เป็นนกเขา เข้าตำรา

มันคึกว่า "กู-ของ-กู" อยู่ร่ำไป

จะหามา มีไว้ ใช้หรือกิน

ตามระบิล อย่างอิ่มหนำ ก็ทำได้

โดยไม่ต้อง มั่นหมาย ให้อะไรๆ

ผูกยึดไว้ ว่า "ตัวกู" หรือ "ของกู"ฯ

 

 

บทที่ ๑.  ปรับความเข้าใจ

พุทธศาสนิกชนไทย ที่นับถือพุทธศาสนา ในลักษณะที่คนอื่นมองเห็นว่า เคร่งครัด แต่ความจริง คนนั้นยังเข้าไม่ถึง ตัวแท้แห่งพุทธศาสนาเลย ก็มีอยู่เป็นอันมาก ทีเดียว แล้วคนพวกนี้เอง ที่เป็นคนหัวดื้อ ถือรั้น หรือ อวดดี จนกระทั่ง ยกตนข่มผู้อื่น ที่เขารู้ดีกว่า

การเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา โดยวิธีปรำปรา หรือปฏิบัติตามๆ กันมา อย่างงมงาย นั้น แม้จะได้กระทำสืบๆ กันมา ตั้งหลายชั่วบรรพบุรุษ แต่ก็หาสามารถทำให้เข้าถึง ตัวแท้ของพุทธศาสนาได้ไม่ มีแต่จะกลายเป็น ของหมักหมม ทับถมกัน มากเข้า จนเกิดความเห็นผิด ใหม่ๆ ขึ้นมา กลายเป็น พุทธศาสนาเนื้องอก ไปหมด ทำให้ห่างจาก ตัวแท้ของพุทธศาสนา ออกไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง เกิดการกลัว ต่อการบรรลุ มรรคผลนิพพาน ซึ่งเราได้ยินกันอยู่ทั่วๆ ไป ในหมู่  พุทธบริษัท ชาวไทยสมัยนี้ ที่ห้ามไม่ให้พูดกันถึงเรื่อง มรรคผล นิพพาน ใครขืนพูด คนนั้นจะถูกหาว่า อวดดี หรือ ถูกหาว่า นำเอาเรื่องที่เหลือวิสัย มาพูด แล้วก็ขอร้อง ให้พูดกันแต่เรื่องต่ำๆ เตี้ยๆ เช่น ให้พูดแต่เรื่อง จริยธรรมสากล ที่ศาสนาไหนๆ เขาก็มีด้วยกันทั้งนั้น

นี่แหละคือ สถานะอันแท้จริง ของการศึกษา และปฏิบัติ พุทธศาสนาในประเทศไทย มีผลทำให้ พุทธบริษัทชาวไทย กลายเป็นชาวต่างศาสนาของตนไป ฉะนั้น เราควรตั้งต้นศึกษา และปฏิบัติ หลักพระศาสนา ของเราเสียใหม่ อย่ามัวหลง สำคัญผิดว่า เรารู้พุทธศาสนาดีกว่า ชาวต่างประเทศ เพราะนึกว่า เราได้อยู่กับ พุทธศาสนา มานานแล้ว มีผู้เขียน มีผู้แต่งตำรา เกี่ยวกับพุทธศาสนา มากพอแล้ว เราไปค้นคว้า เอาตัวพุทธศาสนา ผิดๆ หรือไปคว้าเอาแต่เพียงกระพี้ ของพุทธศาสนา ไปคว้าเอาพุทธศาสนาเนื้องอก ใหม่ๆ มาอวดอ้าง ยืนยันกันว่า นี่เป็นพุทธศาสนาแท้ ฉะนั้น หนังสือพุทธศาสนา ที่เขียนขึ้นมา จึงมีสิ่งที่ ยังมิใช่ตัวแท้ ของพุทธศาสนา รวมอยู่ด้วย ๔๐-๕๐% เพราะ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ นำเอาพระพุทธศาสนา ไปปนกับ ลัทธิอื่นๆ ซึ่งมีอยู่ในประเทศอินเดีย ซึ่งบางอย่าง ก็คล้ายคลึงกันมาก จนถึงกับ ผู้ที่ไม่แตกฉาน เพียงพอ อาจจะนำไป สับเปลี่ยน หรือ ใช้แทนกันได้โดยไม่รู้ เช่น คำตู่ต่างๆ ของพวกบาทหลวง ที่มีใจเกลียดพุทธศาสนา เมื่อบาทหลวงผู้นั้น เป็นผู้มีชื่อเสียง และมีคนนับถือกว้างขวาง หนังสือเล่มนั้น ก็กลายเป็นที่เชื่อถือ ของผู้อ่านไปตามๆ กัน

เราได้พบหนังสือชนิดนี้ เป็นครั้งเป็นคราว อยู่ตลอดมา นับว่าเป็นความเสียหาย อย่างใหญ่หลวง แก่พุทธศาสนา แล้วเป็นอันตราย อย่างยิ่ง แก่ผู้อ่าน ซึ่งหลงเข้าใจผิด ในหลักพุทธศาสนา ที่ตนสนใจ หรือ ตั้งใจจะศึกษา ด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ เช่น เรื่องกรรม ที่ว่า ทำดี-ได้ดี ทำชั่ว-ได้ชั่ว และ บุคคลผู้ทำ เป็นผู้ได้รับ ผลแห่งกรรม นั้น นี่เป็นหลัก ที่มีมาก่อนพุทธกาล และมีกันทั่วไป ในทุกศาสนาใหญ่ๆ ฉะนั้น การที่จะถือเอาว่า หลักเรื่องกรรม เพียงเท่านี้ เป็นหลักของพุทธศาสนานั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าหัวเราะ ทั้งนี้เพราะ ความจริงมีอยู่ว่า พุทธศาสนา แสดงเรื่องกรรม มากไปกว่านั้น คือ แสดงอย่างสมบูรณ์ที่สุด ว่า ผลกรรม ตามหลักที่กล่าวนั้น เป็นมายา จึงถือไม่ได้ ยังมี กรรมที่ ๓ อีกประเภทหนึ่ง ที่สามารถลบล้าง อำนาจของกรรมดี กรรมชั่ว นั้นเสียได้โดยสิ้นเชิง แล้วยังเป็นผู้อยู่เหนือกรรม โดยประการทั้งปวง การปฏิบัติ เพื่อบรรลุ มรรคผลนิพพาน นั่นแหละ คือ การทำกรรมที่ ๓ ดังกล่าว ซึ่งศาสนาอื่น ไม่เคยกล่าวถึงเลย นี่แหละ คือ กรรม ตามหลักแห่งพุทธศาสนา ที่ถูกต้อง เพราะ พระพุทธศาสนา มีความมุ่งหมาย ที่จะช่วยมนุษย์ ให้อยู่เหนือ ความที่จะต้องเป็นไปตามกรรม ฉะนั้น มันจึงไม่ใช่ลัทธิ ทำดีได้ดี ทำชั่ว-ได้ชั่ว ทำบุญไปสวรรค์ ทำบาปไปนรก

สำหรับเรื่อง การเวียนว่ายตายเกิดทางร่างกาย นั้น กล้ากล่าวได้ว่า ไม่ใช่หลักของพุทธศาสนา เพราะว่า มันเป็นเรื่องคู่กันมากับหลักกรรม อย่างตื้นๆ ง่ายๆ ก่อนพุทธศาสนา คนในยุคโน้น เชื่อและสอนกันอยู่แล้วว่า สัตว์หรือคน ก็ตาม ตายแล้วเกิดใหม่ เรื่อยไป แทบจะไม่มีที่สิ้นสุด คือมีตัวตน หรือวิญญาณที่ถาวร ซึ่งเวียนว่ายตายเกิด เรื่อยไปในวัฏฏสงสาร จะมีจุดจบต่างๆ กันตามแต่ลัทธินั้นๆ จะบัญญัติไว้อย่างไร ฉะนั้น การที่มากล่าวว่า พุทธศาสนา มีหลักในเรื่อง การเวียนว่ายตายเกิดทางร่างกาย ทำนองนี้นั้น จึงเป็นสิ่งที่น่าหัวเราะเยาะ เช่นเดียวกันอีก ทั้งนี้ก็เพราะ การตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นการค้นพบความจริงว่า โดยที่แท้แล้ว คนหรือสัตว์ ไม่ได้มีอยู่จริง หากแต่ความไม่รู้ และมีความยึดมั่นเกิดอยู่ในใจ จึงทำให้ คนและสัตว์นั้น เกิดความสำคัญผิดว่า ตนมีอยู่จริง แล้วก็ไปรวมเอาอาการ ที่เรียกว่า "เกิด" หรือ "ตาย" เข้ามาเป็นของตนด้วย ข้อนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกอย่างมั่นใจว่า มีคน มีสัตว์ มีการเกิด การตาย การประกาศศาสนา ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั้นก็คือ การประกาศความจริง พร้อมทั้งวิธีปฏิบัติ จนสามารถทำให้ คนรู้หรือเข้าใจถึงความจริงว่า ไม่มีตัวเรา หรือ ของเรา ดังนั้น ปัญหาเรื่องการเกิด การตาย และ การเวียนว่ายไปในวัฏฏสงสารนั้น ก็หมดไป

เมื่อข้อเท็จจริง มีอยู่ดังนี้แล้ว การที่มายืนยันว่า พุทธศาสนา มีหลักเรื่องการตายแล้วเกิดใหม่ ในทำนองความเชื่อ ของลัทธิขั้นทารกสอนเดิน แห่งยุคศาสนาพราหมณ์โบราณ ย่อมเป็นการตู่ เป็นความไม่ยุติธรรม ต่อพุทธศาสนา นี่แหละ คือ ปมที่เข้าใจได้ยากที่สุด ของพุทธศาสนา จนถึงกับ ทำให้ชาวไทย ชาวต่างชาติ เขียนข้อความ ซึ่งเป็นการตู่พุทธศาสนา ได้เป็นเล่มๆ โดยให้ชื่อว่า หลักพระพุทธศาสนา ซึ่งมีอยู่อย่างมากมายในระยะ ๒๐-๓๐ ปี มานี้ และนักเขียนเหล่านั้น ยกเอาบทที่ชื่อว่า กรรม และการเกิดใหม่นั่นเอง ขึ้นมาเป็นบทเอก หรือ เป็นใจความสำคัญที่สุดของพุทธศาสนา ส่วนเรื่องความไม่มีตัวไม่มีตน หรือ ไม่มีอะไรเป็นของตน และวิธีปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความว่าง เช่นนั้น เป็นเรื่องที่ไม่กระจ่างแก่เขา เขามักจะเว้นเสีย หรือ ถ้าจะกล่าว ก็กล่าวอย่างอ้อมแอ้ม คลุมเครือ ไม่เป็นที่แจ่มแจ้ง ได้เลย จึงต้องจัดบุคคล ผู้เขียนตำราพุทธศาสนา เช่นนี้ ไว้ในฐานะ เป็นคนไม่รู้จักพุทธศาสนา และ ทำลายสัจจธรรม ของพุทธศาสนา

การเข้าใจหลักของพุทธศาสนา อย่างผิดๆ ย่อมทำให้ ไม่เข้าถึงจุดมุ่งหมายอันแท้จริง ของพุทธศาสนา อาการอันนี้เอง ที่นำผู้ปฏิบัติ ไปสู่ความงมงาย ทั้งโดยทางปฏิบัติ และหลักวิชา ทำให้เกิดการยึดมั่น ในแบบปฏิบัติ ตามความคิดเห็นผิดของตน เลยเกิดการปฏิบัติแบบ "เถรส่องบาตร" ขึ้นเป็นอันมาก กล่าวคือ เห็นเขาทำกันมาอย่างไร ก็ทำตามๆ กันไป อย่างน่าสมเพช เช่น ชาวต่างประเทศ ที่ไม่เคยรู้จักพุทธศาสนา พอเข้ามาเมืองไทย ก็ผลุนผลัน ทำวิปัสสนา อย่างเอาเป็นเอาตาย อยู่ในสำนักวิปัสสนาบางแห่ง จบแล้วก็ยังมืดมัว อยู่ตามเดิม หรือไม่ก็ งมงาย ยึดมั่นถือมั่น สำคัญผิด อย่างใดอย่างหนึ่ง ขึ้นมาอีก จากการที่ทำวิปัสสนาแบบนั้นๆ แม้ในหมู่ชาวไทยเรา ก็ยังมีอาการดังกล่าวนี้ จนเกิดมีการยึดมั่นว่า ถ้าจะให้สำเร็จ ขั้นหนึ่ง ขั้นใด ในทางพุทธศาสนา ก็ต้องนั่งวิปัสสนา เรื่องจึงกลายเป็นเพียงพิธีไปหมด การทำไปตามแบบ โดยไม่ทราบถึงความมุ่งหมาย เป็นเหตุให้เกิด แบบกรรมฐาน ขึ้นอย่างมากมาย ซึ่งทั้งหมดนั้น ไม่เคยมีในครั้งพุทธกาลเลย ทั้งหมดนี้ รวมเรียกสั้นๆว่า "สีลัพพตปรามาส" กล่าวคือ การบำเพ็ญ ศีล และพรต ที่ทำไป โดยไม่ทราบความมุ่งหมาย หรือ มุ่งหมายผิด

ความงมงายนี้ มีได้ตั้งแต่ การทำบุญ ให้ทาน การรักษาศีล การถือธุดงค์ และ การเจริญกรรมฐานภาวนา คนก็ยึดมั่น ถือมั่น ในการทำบุญ ให้ทาน แบบต่างๆ ตามที่นักบวช โฆษณา อย่างนั้น อย่างนี้ ว่า เป็นตัวพุทธศาสนา ที่สูงขึ้นหน่อย ก็ยึดมั่น ถือศีลเคร่งครัด ว่า นี้เป็นตัวแท้ของพุทธศาสนา และ การยึดมั่นถือมั่น อาจมีมาก จนกระทั่ง ดูหมิ่นผู้อื่น ที่ไม่ยึดถืออย่างตน หรือ กระทำอย่างตน ส่วนนักปฏิบัติ ที่สูงขึ้นไปอีก ก็ยึดมั่นถือมั่น ในแบบของกรรมฐาน หรือวิธีแห่งโยคะ ที่แปลกๆ และทำได้ยาก ว่าเป็นตัวแท้ของพุทธศาสนา ความสำคัญผิด ของบุคคลประเภทนี้ มีมากจนถึงกับไปคว้าเอา วิธีต่างๆ ของโยคี นอกพุทธศาสนา ที่มีอยู่ก่อนพุทธศาสนาบ้าง ในยุคเดียวกันบ้าง และในยุคหลังพุทธกาลบ้าง เข้ามาใส่ไว้ในพุทธศาสนา จนเต็มไปหมด สมตามพระพุทธภาษิตที่ว่า "ไม่ใช่เพราะศีล หรือ เพราะการปฏิบัติอันแปลกประหลาด และการยึดมั่นถือมั่น เหล่านั้น ที่คนจะ บริสุทธิ์จากทุกข์ทั้งหลาย ได้ แต่ที่แท้ ต้องเป็นเพราะ มีความเข้าใจถูกต้อง ในเรื่องของความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ในเรื่องความดับสนิทแห่งทุกข์ และวิธีดับความทุกข์นั้น"

ข้อนี้หมายความว่า ผู้ปฏิบัติจะต้องถือเอา เรื่องของความทุกข์ มาเป็นมูลฐาน อันสำคัญ ของปัญหาที่ตนจะต้องพิจารณา สะสาง หาใช่เริ่มต้นขึ้นมา ด้วยความพอใจ ในสิ่งแปลกประหลาด หรือ เป็นของต่างประเทศ หรือ เป็นสิ่งที่เขา เล่าลือ ระบือกัน ว่า เป็นของศักดิ์สิทธิ์ และ ประเสริฐ นี่เป็นความงมงาย อย่างเดียวกัน ที่ทำให้คนหนุ่มๆ เข้ามาบวชในพุทธศาสนา ซึ่งส่วนมาก มาเพราะ ความยึดมั่นถือมั่นผิดๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยตนเองบ้าง โดยบุคคลอื่น เช่น บิดามารดา บ้าง หรือ โดยประเพณีบ้าง มีน้อยเหลือเกิน หรือ แทบจะกล่าวได้ว่า ไม่มีเลย ที่เข้ามาบวช เพราะความเห็นภัยในความทุกข์ อย่างถูกต้อง และแท้จริง เหมือนการบวช ของบุคคลครั้งในพุทธกาล เมื่อมูลเหตุอันแท้จริง แตกต่างกันแล้ว ก็ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เอง ที่เขาจะจับฉวยเอา ตัวแท้ของพุทธศาสนา ไว้ไม่ได้เลย

อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งค่อนข้างน่าขบขัน ได้แก่ ความยึดมั่นถือมั่น ที่ห่างไปไกลถึง นอกเปลือกของพุทธศาสนา ชาวยุโรปบางคน ที่ได้รับยกย่องว่า เป็นศาสตราจารย์ ทางฝ่ายพุทธศาสนาได้ยืนยันว่า เขาเป็นพุทธบริษัทที่แท้จริง เพราะเขาเป็น นักเสพผัก หรือ งดเว้นการกินเนื้อสัตว์ เขาเสียใจที่ภรรยาของเขา เป็นพุทธบริษัทไม่ได้ เพราะไม่สามารถเป็นนักเสพผักได้ นั่นเอง เรื่องนี้ นึกดูก็น่าสมเพช คงเป็นที่น่าหัวเราะเยาะ ของพวกอาซิ้ม ไหว้เจ้าตามโรงกินเจ เพราะอาซิ้มเหล่านั้น นอกจากไม่รับประทานเนื้อสัตว์แล้ว ยังเว้นผักที่มีรสจัด หรือกลิ่นแรง อีกหลายชนิด ส่วนพวกมังสะวิรัติ ไม่กินเนื้อสัตว์ก็จริง แต่ก็ยังกินไข่ กินนม และกินผักทุกชนิด นี่เป็นเพราะ ความยึดมั่นถือมั่น ในทางประเพณีแห่งพิธีรีตอง นั่นเอง แม้ในหมู่ชาวไทย ที่อ้างตนว่า เป็นพุทธบริษัท เป็นภิกษุ เป็นพระเถระ เป็นมหาบาเรียน เป็นคนสอนศาสนาพุทธ แก่ประชาชน ได้ดีขึ้นมา ก็เพราะอาศัยพุทธศาสนา แล้วยังกล้ายืนยัน อย่างไม่ละอายแก่ใจว่า บ้านของชาวพุทธ ต้องมีศาลพระภูมิ ไว้ทำพิธีกราบไหว้บูชา ถ้าไม่ทำอย่างนั้น ก็เป็นคนนอกพุทธศาสนา ข้อนี้ เป็นเครื่องแสดงอยู่แล้วในตัวว่า "โมษะบุรุษ" ประเภทนี้ ยังเข้าใจผิด หรือ บิดผันศาสนาของตน เพียงไร พุทธศาสนาของคนในยุคนี้ จึงมีแต่พิธี และวัตถุ ที่นึกว่า ศักดิ์สิทธิ์ เท่านั้นเอง หลงกราบไหว้ ผีสางเทวดา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในสากลโลก โดยคิดว่า นั่นก็เป็นพุทธศาสนา แล้วก็สั่งสอนกัน ต่อๆไป แม้โดยพวกที่ประชาชนเชื่อว่า รู้จักพุทธศาสนาดี เพราะมีอาชีพในทางสอนพุทธศาสนา

คนบางพวก มีความยึดมั่นถือมั่นว่า เขาจะเข้าถึงพุทธศาสนาได้ ก็โดยทำตนให้เป็นผู้แตกฉานในคัมภีร์ เท่านั้น เพราะเวลาล่วงมาแล้ว ตั้งแต่ ๒,๕๐๐ กว่าปี สิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปมาก จะต้องศึกษาเอาจากคัมภีร์ทั้งหมด เพื่อให้ทราบว่า พุทธศาสนาเดิมแท้ แห่งครั้งกระโน้น เป็นอย่างไร ฉะนั้น การศึกษาพระไตรปิฎก พระอภิธรรม และคัมภีร์อื่นๆ ก็อาจกลายเป็นอุปสรรค ไปได้เหมือนกัน จริงอยู่การที่จะพูดว่า ไม่ต้องศึกษาเสียเลยนั้น ย่อมไม่ถูกต้องแน่ แต่การที่จะพูดว่า ต้องศึกษาพระคัมภีร์เสียให้หมด แล้วจึงจะรู้จักพุทธศาสนา ยิ่งไม่ถูก มากขึ้นไปอีก หรือไม่ถูกเอาเสียเลย ทีเดียว ถึงธรรมะที่แท้จริง จะถ่ายทอดกันไม่ได้ทางเสียง หรือ ทางตัวหนังสือ แต่ว่า วิธีปฏิบัติ เพื่อให้ธรรมะปรากฏแก่ใจนั้น เราบอกกล่าวกันได้ ทางเสียง หรือ ทางหนังสือ แต่ถ้าจิตใจของเขา เหล่านั้น ไม่รู้จักความทุกข์แล้ว แม้จะมีการถ่ายทอดกัน ทางเสียง หรือทางหนังสือ สักเท่าไร เขาก็หาอาจจะถือเอาได้ไม่ ยิ่งเมื่อไปยึดมั่นที่เสียง หรือตัวหนังสือ เข้าด้วยแล้ว ก็จะยิ่งกลายเป็นอุปสรรค ต่อการที่จะเข้าใจพุทธศาสนา มากขึ้นไปอีก คือ กลายเป็นผู้เมาตำรา มีความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด ปริยัติได้กลายเป็นงูพิษ ดังที่พระพุทธองค์ ได้ตรัสไว้ ชาวต่างประเทศ ที่มีมันสมองดี ได้กลายเป็นนักปริยัติ ประเภทนี้ไป เสียมากต่อมาก ไม่จำเป็นจะต้องกล่าวถึง ชาวไทยที่เรียน ปริยัติธรรม อภิธรรม เพื่อประโยชน์ทางโลกๆ หรือทางวัตถุ กันจนเป็นของธรรมดา ไปเสียแล้ว ถึงขนาดเป็นกบฏ ไม่รู้คุณพระพุทธเจ้า ก็มีมาก เช่น การกล่าวว่า การไหว้พระภูมิ ยังไม่เสียการเป็นพุทธบริษัท เป็นต้น

เราไม่จำเป็น จะต้องศึกษาเรื่องราว ทางปริยัติ ทางอภิธรรม อย่างมากมาย เพราะเหตุว่า คัมภีร์เหล่านั้น เป็นที่รวม แห่งเรื่องต่างๆ ทั้งหมด หลายประเภท หลายแขนงด้วยกัน ในบรรดาเรื่อง ตั้งหลายพันเรื่องนั้น มีเรื่องที่เราควรขวนขวายให้รู้ เพียงเรื่องเดียว คือ เรื่องความดับทุกข์โดยแท้จริง หรืออย่างมากที่สุด ก็ควรขยายออกเพียง ๒ เรื่อง คือ เรื่องความทุกข์อันแท้จริง พร้อมทั้งต้นเหตุของมัน (อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ความมีขึ้นไม่ได้แห่งความทุกข์นั้น พร้อมทั้ง วิธีทำเพื่อให้เป็นเช่นนั้นได้จริง) ถ้าผู้ใดสนใจเฉพาะ ๒ ประเด็นเท่านี้แล้ว ชั่วเวลาไม่นาน เขาก็จะเป็นผู้รู้ปริยัติ ได้ทั้งหมด คือ สามารถเข้าถึง หัวใจของปริยัติ ในลักษณะที่เพียงพอ สำหรับจะนำไปปฏิบัติ ให้ถึงความหมดทุกข์ได้

เราต้องไม่ลืมว่า ในครั้งพุทธกาลโน้น การศึกษาปริยัติ ในลักษณะที่กล่าวนี้ เขาใช้เวลากันไม่กี่นาที หรือไม่กี่วัน คือ ชั่วเวลาที่พระพุทธองค์ ทรงซักไซร้ สอบถาม แล้วทรงชี้แจง ข้อธรรมะ ซึ่งถูกตรงกับ ความต้องการแห่งจิตใจของเขา เขาก็สามารถบรรลุธรรมะ อันเป็นตัวแท้ของพุทธศาสนาได้ ในที่นั่งนั้นเอง หรือในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า นั่นเอง บางคนอาจแย้งว่า นั่นมันเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้า ท่านทรงสอนเอง และเป็นเรื่องในยุคโน้น จะนำมาใช้ในยุคนี้ อย่างไรได้ คำแย้งข้อนี้ นับว่ามีส่วนถูกอยู่ แต่ก็มีส่วนผิด หรือส่วนที่มองข้ามไปเสีย อยู่มากเหมือนกัน คือมองข้ามในส่วนที่ว่า ธรรมะไม่ได้เกี่ยวเนื่องอยู่กับเวลา และไม่ได้เนื่องอยู่ที่บุคคลผู้สอน ไปเสียทั้งหมด หมายความว่า ถ้าใครมีต้นทุนที่เพียงพอ เขาก็สามารถเข้าถึงธรรมะได้ เพราะได้ฟังคำพูด แม้เพียงบางประโยค

สำหรับข้อที่ว่า มีต้นทุนมาแล้วอย่างเพียงพอนั้น หมายความว่า เขามีความเจนจัด ในด้านจิตใจมาแล้วอย่างเพียงพอ คือ เขาได้เข้าใจชีวิตนี้มามากแล้ว ถึงขั้นที่มองเห็น ความน่าเบื่อหน่าย ของการตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลส ต้องทนทรมานอยู่ อย่างซ้ำๆ ซากๆ รู้สึกอึดอัด เพราะถูกบีบคั้น และไร้อิสรภาพ มองเห็นชัดอยู่ว่า ตนยังปฏิบัติผิด ต่อสิ่งทั้งปวง อยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง จึงเอาชนะกิเลสไม่ได้ เขารู้สิ่งต่างๆ มามากแล้ว ยังเหลืออยู่เพียงจุดเดียว ที่เขายังคว้าไม่พบ ซึ่งถ้าคว้าพบเมื่อใด ความพ้นทุกข์สิ้นเชิง ก็จะมีได้โดยง่าย และทันที เหมือนเราคว้าพบ สวิตซ์ไฟฟ้า ในที่มืด ฉันใดก็ฉันนั้น

ต้นทุนดังที่กล่าวนี้ ไม่ค่อยจะมีแก่บุคคลแห่งยุคที่มัวเมา สาละวนอยู่แต่ ความเจริญก้าวหน้าในทางวัตถุ คนเหล่านี้ถูกเสน่ห์ของวัตถุ ยึดใจเอาไว้ และลากพาตัวเขาไป ไม่มีที่สิ้นสุด จึงไม่ประสีประสา ต่อความจริง ของธรรมชาติ โดยเฉพาะ ในด้านจิตใจ ว่ามันมีอยู่อย่างไร เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่า เขาจะเป็นคนเฉลียวฉลาด และมีการศึกษาแห่งยุคปัจจุบัน มามากแล้ว สักเพียงใด ก็ยังไม่แน่ว่า เขาเป็นผู้มีต้นทุนพอ ในการที่จะเข้าถึงธรรมะตามแบบ หรือวิธี แห่งยุคพระพุทธเจ้าได้ พระพุทธเจ้าที่แท้จริง ย่อมปรากฏ หลังจากที่ธรรมะปรากฏ แก่ผู้นั้นแล้วเสมอไป ฉะนั้น ในกรณีเช่นนี้ เราไม่ต้องพูดถึงพระพุทธเจ้าก่อนก็ได้ ขอแต่ให้เรา พิจารณาอย่างแยบคายที่สุด ในการมองดูตัวเอง มองดูชีวิต มองดูสภาวะ อันแท้จริงของชีวิต ให้รู้อยู่ตามที่เป็นจริง เรื่อยๆไป ก็พอแล้ว วันหนึ่ง เราก็จะบรรลุถึงธรรมะ ด้วยเครื่องกระตุ้นเพียงสักว่า "ได้ยินคำพูดบางประโยค ของหญิงทาสที่คุยกันเล่นอยู่ตามบ่อน้ำสาธารณะ" ดังที่พระพุทธเจ้า ทรงยืนยันไว้ หรือ ยิ่งกว่านั้น ก็ด้วยการได้เห็นรูป หรือ ได้ยินเสียง ของมดหรือแมลง นกหรือต้นไม้ ลมพัด ฯลฯ แล้ว บรรลุธรรมะถึงที่สุดได้ ตามวิธีง่ายๆ เฉพาะตน

ยังมีความเข้าใจผิด อีกอย่างหนึ่ง ที่ทำคนให้เข้าใจพุทธศาสนาผิด จนถึงกับไม่สนใจพุทธศาสนา หรือ สนใจอย่างเสียไม่ได้ ข้อนี้คือ ความเข้าใจที่ว่า พุทธศาสนามีไว้สำหรับ คนที่เบื่อโลกแล้ว หรือ เหมาะแก่ บุคคลที่ละจากสังคม ไปอยู่ตามป่า ตามเขา ไม่เอาอะไรอย่างชาวโลกๆ อีก ข้อนี้ มีผลทำให้คนเกิดกลัวขึ้น ๒ อย่าง คือ กลัวว่า จะต้องสลัดสิ่งสวยงาม เอร็ดอร่อย สนุกสนาน ในโลกโดยสิ้นเชิง อีกอย่างหนึ่ง ก็คือ กลัวความลำบาก เนื่องจาก การที่จะต้องไปอยู่ในป่า อย่างฤษีนั่นเอง ส่วนคนที่ไม่กลัวนั้น ก็กลับมีความยึดถือบางอย่าง มากขึ้นไปอีก คือ ยึดถือการอยู่ป่า ว่า เป็นสิ่งจำเป็น ที่สุด สำหรับผู้จะปฏิบัติธรรม จะมีความสำเร็จก็เพราะออกไปทำกันในป่าเท่านั้น การคิดเช่นนี้ เป็นอุปสรรคขัดขวาง ต่อการปฏิบัติธรรมะ เพราะโดยปกติ คนย่อมติดอยู่ใน รสของกามคุณ ในบ้านในเรือน หรือ การเป็นอยู่อย่างโลกๆ พอได้ยินว่า จะต้องสละสิ่งเหล่านี้ไป ก็รู้สึกมีอาการ เหมือนกับ จะพลัดตกลงไปในเหวลึก และมืดมิด มีทั้งความเสียดาย และ ความกลัวอยู่ในใจ จึงไม่สามารถได้รับประโยชน์ จากพุทธศาสนา เพราะมีความต่อต้าน อยู่ในจิตใจ หรือมีความรู้สึกหลีกเลี่ยงอยู่แล้ว

เมื่อคนคิดกันว่า จะเข้าถึงตัวแท้ของพุทธศาสนา ไม่ได้ถ้าไม่ไปอยู่ในป่า จึงมีแต่เพียงการสอน และการเรียน เพื่อประโยชน์ แก่อาชีพ หรือ เพื่อผลทางวัตถุไป จะสอน หรือ จะเรียนกันสักเท่าไรๆ ก็ไม่มีทางที่จะเข้าถึงตัวแท้ ของพุทธศาสนาได้ พุทธศาสนาจึงหมดโอกาส ที่จะทำประโยชน์แก่ บุคคลผู้ครองเรือน ได้เต็ม ตามที่พุทธศาสนาอันแท้จริง จะมีให้ บางคนถึงกับเหมา หรือเดาเอาเองว่า บุคคลใด หรือ สำนักไหน มีการสั่งสอนพุทธศาสนา อย่างถูกต้องแล้ว ที่นั่น ก็จะมีแต่การชักชวนคน ให้ทิ้งเหย้าเรือน บุตรภรรยา สามี ออกไปอยู่ป่า เขาเองไม่อยากจะ เกี่ยวข้องกับสำนักนั้นๆ แล้วยังกีดกันลูกหลาน ไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เพราะเกรงว่า จะถูกชักจูง หรือ เกลี้ยกล่อม ให้ไปหลงใหลอยู่ในป่า นั่นเอง พุทธศาสนา ไม่ได้มีหลักเช่นนั้น การที่มีคำกล่าวถึง ภิกษุอยู่ในป่า การสรรเสริญ ประโยชน์ของป่า หรือแนะให้ไปทำกรรมฐานตามป่านั้น มิได้หมายความว่า จะต้องไปทนทรมานอยู่ในป่าอย่างเดียว แต่หมายเพียงว่า ป่าเป็นแหล่งว่างจากการรบกวน ป่าย่อมอำนวยความสะดวก และส่งเสริมการกระทำทางจิตใจ ถ้าใครสามารถหาสถานที่อื่น ซึ่งมิใช่ป่า แต่อำนวยประโยชน์ อย่างเดียวกัน ได้แล้ว ก็ใช้ได้

แม้ภิกษุในพุทธศาสนา ก็ยังเกี่ยวข้องอยู่กับชาวบ้าน มิใช่อยู่ป่าชนิดไม่พบใครเลย จนตลอดชีวิต เพราะจะต้องช่วยเหลือชาวบ้าน ให้อยู่ในโลกได้ โดยไม่ต้องเป็นทุกข์ ถ้าจะพูดโดยสำนวนอุปมา ก็กล่าวได้ว่า "ให้รู้จักกินปลา โดยไม่ถูกก้าง" พุทธศาสนามีประโยชน์แก่โลกโดยตรง ก็คือ ช่วยให้ชาวโลก ไม่ต้องถูกก้างของโลกทิ่มตำ ภิกษุสงฆ์ทั้งหมด มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ก็เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่กับโลกตลอดเวลา เพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน หรือ ศึกษาโลกพร้อมกันไปในตัว จนกระทั่ง รู้แจ้งโลก ซึ่งเรียกกันว่า "โลกวิทู" จนสามารถขจัดความทุกข์ ทางโลกๆ ออกไปได้ และต้องการให้ ทุกคนเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ให้หนีโลก หรือพ่ายแพ้แก่โลก แต่ให้มีชีวิตอยู่ในโลก อย่างมีชัยชนะ อยู่ตลอดเวลา

ฉะนั้น การที่ใครๆ จะมากล่าวว่า ถ้าจะปฏิบัติธรรมะแล้ว ต้องทิ้งบ้านเรือน เปิดหนีเข้าป่า ก็เป็นการกล่าวตู่พุทธศาสนา ด้วยคำเท็จ อย่างยิ่ง เพราะสถานที่ใด ที่มีการพิจารณาธรรมะได้ ที่นั้นก็มีการศึกษา และปฏิบัติธรรมะได้ พุทธศาสนาไม่ได้สอน ให้คนกลัว หรือ หลบหลีก สิ่งต่างๆในโลก และไม่ได้สอนให้ มัวเมาในสิ่งเหล่านั้น แต่สอนให้รู้จัก วิธีที่จะทำตัวให้มีอำนาจ อยู่เหนือสิ่งเหล่านั้น ฉะนั้น เป็นอันกล่าวได้ว่า จะเป็นใครก็ตาม ย่อมสามารถใช้ พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือ ให้ตนอยู่ในโลกได้ โดยไม่ถูกก้างของโลกทิ่มแทง แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ผู้สนใจพุทธศาสนาทั้งหลาย ไม่ได้มองเห็นกันในแง่นี้ แต่กลับไปเห็น เป็นศาสตร์ หรือ เป็นปรัชญา หรือเป็นวิชาความรู้ อย่างหนึ่ง ในบรรดาวิชาความรู้ ที่มีอยู่ในโลก แล้วก็ศึกษา เพื่อจะเอาพุทธศาสนา มาทำมาหากินกัน เมื่อผู้สอนเอง ก็ไม่รู้ว่า พุทธศาสนาประสงค์อะไร ผู้ถูกสอน ก็จะยิ่งมืดมัวขึ้นไปอีก ฉะนั้น จึงใคร่ขอปรับความเข้าใจผิด กันเสียก่อนที่จะศึกษาเรื่องอื่นๆ ต่อไป

หมู่นกจ้อง มองเท่าใด ไม่เห็นฟ้า
ถึงฝูงปลา ก็ไม่เห็น น้ำเย็นใส
ไส้เดือนมอง ไม่เห็นดิน ที่กินไป
หนอนก็ไม่ มองเห็นคูต ที่ดูดกิน

คนทั่วไป ก็ไม่ มองเห็นโลก
ต้องทุกข์โศก หงุดหงิด อยู่นิจสิน
ส่วนชาวพุทธ ประยุกต์ธรรม ตามระบิล
เห็นหมดสิ้น ทุกสิ่ง ตามจริงเอย

 

คำนำ บทที่ ๒ พุทธศาสนามุ่งหมายอะไร

 คัดจาก หนังสือ ตัวกู-ของกู พุทธทาสภิกขุ ฉบับย่อ (๘๐บาท), ย่อโดย คุณปุ่น จงประเสริฐ 
(เรียบเรียงจาก คำบรรยายเรื่อง ตัวกู-ของกู (ฉบับสมบูรณ์) ของท่านพุทธทาส)