Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
 




 

ตัวอย่าง ปฏิจจสมุปบาท ในชีวิตประจำวัน ๒

ยกตัวอย่างอีกว่า นักเรียนคนหนึ่ง สอบไล่ตก นอนร้องไห้อยู่ หรือ สมมุติว่า เป็นลม เด็กคนนี้ ไปเห็นประกาศ ที่ติดอยู่ว่า ในบัญชีนั้น มีชื่อของตัวแสดงว่าตก สอบไล่ตก หรือไม่มีชื่อของตัว ก็แสดงว่า สอบไล่ตก เขาเห็นประกาศนั้นด้วยตา ประกาศนั้น มันมีความหมาย มันไม่ใช่รูปเฉยๆ มันเป็นรูป ที่มีความหมาย ที่บอกให้เขารู้ว่า อย่างไร สำหรับ เขานั้น เมื่อเห็นประกาศนี้ ด้วยตา มันเกิด จักษุวิญญาณ ชนิดที่จะทำให้ นามรูป คือ ร่างกายจิตใจตามปกติ ของเขา เปลี่ยนปั๊บไปเป็น ลักษณะอย่างอื่น คือ ลักษณะที่จะให้เกิด อายตนะ แล้ว ผัสสะที่จะเป็นทุกข์ อายตนะที่มีอยู่ตามปกตินั้น ไม่เป็นทุกข์ พอถูกปรุงแต่ง อย่างนี้ อายตนะนั้น มันจะต้องเป็นทุกข์ คือ จะช่วยไปในทาง ที่ให้เกิดความทุกข์ คือ มีผัสสะ เวทนา เรื่อยไปจนถึง ตัณหา อุปาทาน เป็นตัวกู สอบไล่ตกแล้ว เป็นลมล้มพับลงไป ในชั่วที่ตาเห็น ประกาศนั้น อึดใจหนึ่งเท่านั้น ก็เป็นลม ล้มลงไปแล้ว อย่างนี้เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ได้ทำงานไปแล้ว ตลอดสายทั้ง ๑๑ อาการ เขามีตัวกู ที่สอบไล่ตก เป็นทุกข์อย่างยิ่ง เป็นโทมนัสอย่างยิ่ง เป็น อุปายาส อย่างยิ่ง

ทีนี้ ต่อมาหลายชั่วโมง หรืออีกสองสามวัน เขามานึกถึงเรื่องนี้ ก็ยังเป็นลมอีก อย่างนี้ มันก็มีอาการ อย่างเดียวกัน คือ เป็นปฏิจจสมุปบาท อย่างเดียวกัน แต่เดี๋ยวนี้ อาศัยทางมโนทวาร หรือ มโนวิญญาณ มีวิญญาณอย่างนี้ เกิดแล้วก็สร้างนามรูป ที่จะเป็นทุกข์ สร้างอายตนะ ที่จะเป็นทุกข์ สร้างผัสสะ เวทนาที่จะเป็นทุกข์ แล้วก็มีตัณหา มีอุปาทาน ปรุงเพื่อเป็นทุกข์ ไปตามลำดับแล้ว ก็ไปรุนแรงถึงขั้นสุด เมื่อเป็นชาติเป็น "ตัวกูสอบไล่ตก" อีกทีหนึ่ง

คัดจาก หนังสือเรื่อง "เรื่องสำคัญที่สุดสำหรับพุทธบริษัท ปฏิจจสมุปบาท หลักปฏิบัติอริยสัจจ์ที่สมบูรณ์แบบ" พุทธทาสภิกขุ พิมพ์โดย ธรรมสภา