Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
 



 

 

 

 

นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้

เอ้า, ทีนี้ก็มาพูดถึง ที่ว่า นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ กันดีกว่า: เพราะว่า มันเป็นเรื่องที่ ทำให้ผมถูกด่า จนไม่รู้ว่า จะด่าอย่างไรแล้ว ว่าเอา พระนิพพาน มาทำให้ สำเร็จประโยชน์ ที่นี่และเดี๋ยวนี้. ในเมื่อเขาต้องการ ให้ตายแล้วเกิด, ตายแล้วเกิด, ตายแล้วเกิด, ร้อยชาติ พันชาติ หมื่นชาติ แสนชาติ แล้วจึงจะนิพพาน. แล้วเรา มาทำให้เป็นว่า ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ก็มีนิพพาน เขาก็โกรธ ไม่รู้ว่า มันจะไป ขัดประโยชน์ ของเขา หรืออย่างไร ก็ไม่ทราบ

เขาหาเรื่องว่า เรามา หลอกคนว่า นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ หรือ ทำให้ นิพพานนี้ด้อยค่าลงไป เพราะทำได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ เขาให้ถือว่าหมื่นชาติ แสนชาติ จึงจะได้; ถ้าอย่างนั้น ค่ามันก็มากซิ; พอมาทำได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ กลายเป็นของง่ายไป เขาคัดค้าน ก็ด่า; ไม่เป็นไร, เราไม่ได้ต้องการ แก่คนพวกนี้ เราต้องการให้คนทั่วไป ต่างหาก ได้รับประโยชน์ จาก นิพพาน 

จิตถึงนิพพานได้ ต้องละอุปาทาน

มันมีหลักอยู่ว่า เมื่อใดเกิดอุปาทาน เมื่อนั้นไม่นิพพาน คือ จิตของเรา ยึดมั่น ถือมั่น ในสิ่งใด คุณรู้ความหมายว่า จิตของเรา กำลัง ยึดมั่น ถือมั่น เป็นตัว เป็นตน ในสิ่งใด เมื่อนั้น นิพพานไม่ได้; เมื่อใด จิต ไม่ยึดมั่น ถือมั่น ในสิ่งใดอยู่ เมื่อนั้นนิพพานเอง เป็นนิพพาน ในทิฏฐิธรรมนี้ด้วย.

จะเล่าเรื่องก็คือว่า มีคนที่เป็นนักคิดนักศึกษา ที่เป็นฆราวาสทั้งนั้น ไม่มีพระเลย เป็นพระอินทร์ก็มี เป็นอุบาสก เป็นคนร่ำรวยอะไรก็มี ก็มาทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ทำไมคนจึงไม่นิพพาน ในทิฎฐธรรม? คือทำไม คนไม่บรรลุนิพพาน ในความรู้สึก ของตัวเอง ที่รู้สึกได้ ที่นี่และเดี๋ยวนี้? ทิฎฐิธรรมนั้น หมายความว่า รู้สึกอยู่กับใจ ของตัวเอง

เขาถามว่า ทำไมคนจึงไม่บรรลุนิพพาน ชนิดที่ รู้สึกอยู่กับใจเอง ที่นี่และเดี๋ยวนี้? ทิฎฺเฐว ธมฺเม - ในธรรมอันตนเห็นแล้วเทียว, คือในความรู้สึก ที่ตนกำลังรู้สึกอยู่เทียว; ไม่ใช่ต่อตายแล้ว, ตายแล้ว จะรู้สึกอย่างไรได้ ก็คือ ที่นี่และเดี๋ยวนี้.

พระพุทธเจ้า ท่านก็ตรัสตอบว่า มันเป็นอย่างนั้น, คือ ท่านยกมาทั้งกระบิ ทั้งระบบ เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่าง แล้ว ท่านก็ ตรัสทีละอย่าง

ท่านก็ต้องตรัสว่า เรื่องตานี่ เห็นรูปก่อน เป็นเรื่องแรก. รูปที่ตาเห็นนั้น เป็นอิฎฺฐา แปลว่า น่าปรารถนาอย่างยิ่ง, กนฺตา - ยั่วให้เกิดความรัก. กนฺตา เป็นภาษาไทย มาเป็น กานดา, นางกานดา คือ นางสาวที่น่ารัก. กนฺตา - น่ารักอย่างยิ่ง, มนาปา - น่าพอใจอย่างยิ่ง. ปิยรูปา - มีลักษณะน่ารัก, กามูปสญฺหิตา - เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยแห่งกาม. รูปชนิดนั้นเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยแห่งกาม คือ ความใคร่. รชนียา - ย้อมจิต.

รูปนั้น อิฎฺฐา, กนฺตา, มนาปา, ปิยรูปา, กามูปสญฺหิตา, รชนียา; หมายความว่า รูปนั้น น่าใคร่ น่ารัก น่าพอใจ ลักษณะชวนรัก ก็เป็นที่เข้าไปตั้ง แห่งความใคร่ แล้วก็น้อมจิต จับจิตอย่างยิ่ง รูปนั้นมีลักษณะอย่างนั้น

ทีนี้ บุคคลนั้นเห็นเข้าแล้ว; ถ้าเขาชอบใจอย่างยิ่ง อภินนฺทติ - ชอบอย่างยิ่ง, อภิวทติ - พร่ำสรรเสริญ อยู่อย่างยิ่ง. พร่ำสรรเสริญ; ก็คุณนึกดูว่า พอมันถูกอะไร อร่อยอะไรนี้ มันทำเสียงสูดปาก อะไรบ้างนี้; อภิวทติ - พร่ำสรรเสริญ เหมือนกับคนบ้า เพราะสิ่งนั้นมันอร่อย มันสวย. แล้วก็ อชฺโฌสาย ติฎฺฐติ - ฝังจิตใจเข้าไป หมกอยู่ในสิ่งนั้น.

อย่าฟังแต่เสียงนะ คือ นึกถึงของจริง ที่มันสวยอย่างยิ่ง, แล้วมันก็เพลิน อย่างยิ่ง, แล้วมันก็พร่ำแสดงทางปากนี่, ว่าพอใจอย่างยิ่ง, แล้วจิตมันก็ฝังลงไป ในสิ่งนั้นอย่างยิ่ง, คือ กายมันก็เป็นไป วาจามันก็เป็นไป จิตมันก็เป็นไปในทางที่จะเข้าไปหลงใหลในสิ่งนั้น. นี้เรียกว่า เขามันเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ เมาหมก อยู่อย่างนี้นะ.

วิญญาณของเขา ก็เป็นวิญญาณ ที่กิเลสเหล่านั้น เข้าไปอาศัยแล้ว, กิเลส คือ ความรัก ความหลงใหล ความกำหนัด เข้าไปอาศัยอยู่ในจิตของเขา ในวิญญาณ ในจิตของเขา นี่ ความที่จิตมันถูกกิเลส เข้าไปอาศัยนี้ ก็เรียกว่า อุปาทาน- ยึดมั่นถือมั่น ว่าสวย ว่าหญิง ว่าชาย, ว่าอะไรก็ตาม แล้วก็ของกู เพื่อตัวกู, เพื่อของกู นี้เรียกว่าอุปาทาน. ความที่วิญญาณนั้น ถูกกิเลสเข้าไปอาศัยแล้ว กิเลสมันไปจับจิตนั้นแล้ว ก็คือ จิตมันฝังอยู่ในอารมณ์นั้น นี้เรียกว่า อุปาทาน ผู้ที่มีอุปาทาน ไม่ปรินิพพาน ในความรู้สึกของตน คือ ในทิฎฐธรรม ไม่นิพพาน.

เอ้า, ทีนี้ ก็ไปเปรียบเองเอง ในทางที่ตรงกันข้าม : เมื่อรูปที่มันน่าใคร่ น่ารัก น่าพอใจ เป็นที่ตั้งแห่งกาม ย้อมจิต ย้อมใจ มาถึงเข้า. ทีนี้ คนคนนั้น หรือ ภิกษุนั้นก็ตาม มีธรรมะพอ มีสติปัญญาพอ เขาก็เห็นว่า โอ๊ย! มันแค่นั้นแหละ, มันเท่านั้นแหละ, มันปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ อย่างนั้นแหละ.

ถึงแม้ว่า น่ารักนี้ มันก็เป็นเรื่องที่เขาสมมติ รู้สึกอย่างนี้ ว่าน่ารัก มันเห็นเป็นอย่างนั้นเอง. แล้วยังเห็นลึกไป โดยรายละเอียดอะไรก็ได้ ว่าไม่เที่ยง ว่าอนัตตา ว่าเป็นทุกข์: เมื่อคนๆนี้ เขามีความรู้พอ เขาจะศึกษามาอย่างไร ก็ไม่ได้พูด โดยรายละเอียด แต่คนคนนี้ เขามีความรู้สึกพอ มีสติพอ มีปัญญาพอ เขาก็ไม่หลงเพลิดเพลิน ไม่หลงพร่ำสรรเสริญ ด้วยปาก ใจของเขาก็ไม่ฝังลงไป.

เมื่อเป็นอย่างนี้ วิญญาณ หรือ จิต ของคนคนนั้น ก็ไม่ถูกกิเลสอาศัย, กิเลสไม่เข้าไป อาศัยได้ในจิต นั้น คือไม่มีอุปาทาน. ผู้ที่ไม่มีอุปาทาน ย่อมปรินิพพาน ในทิฎฐธรรม ในความรู้สึกของตนเอง ที่นี่และเดี๋ยวนี้.

มันสำคัญอยู่ที่คำว่า อุปาทาน; อย่าให้เป็นตัวภาษาหนังสือ จดไว้ในสมุด หรือหูฟังว่าอุปาทาน; ไม่พอ, ไปรู้จักอุปาทานที่เรามีอยู่จริง. ทุกๆคนมีอยู่จริง มีอุปาทาน ในรูป ที่เป็น ที่ตั้งแห่งกาม, ในเสียง ที่เป็น ที่ตั้งแห่งกาม, ในกลิ่น ที่เป็น ที่ตั้งแห่งกาม, ในรส ที่เป็น ที่ตั้งแห่งกาม, สัมผัสผิวหนัง ที่เป็น ที่ตั้งแห่งกาม, ความรู้สึก หรือ สัญญาอะไร ที่มันเป็น ที่ตั้งแห่งกาม ในใจนี้.

ส่วนใหญ่ ตามที่พระพุทธเจ้า ท่านได้ตรัสไว้ มันเป็นเรื่องเพศตรงกันข้าม ทั้งนั้นแหละ. ของ เพศตรงกันข้าม ทั้งนั้น : รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธัมมารมณ์ ที่เนื่องกันอยู่กับ เพศตรงกันข้ามนี้ จับจิตยิ่งกว่าสิ่งใด, เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน ยิ่งกว่าสิ่งใด. ฝ่ายหญิงก็เป็นแก่ชาย ฝ่ายชายก็เป็นแก่หญิง. นั่นอุปาทาน มันมาจาก ๖ ประการนี้ ที่มันมีอำนาจรุนแรง

แล้วเราก็ไปดู ของจริงซิ: อย่าดู ตัวหนังสือ, ดูของของจริงนั้น, ดูที่มันเกิดแก่ใจ ของเราจริงๆ เราก็จะรู้จัก อุปาทาน. เราก็จะรู้จัก อุปาทาน, เราก็จะรู้จักว่า พอมีอุปาทานแล้ว จิตใจนี้ก็เหมือนกับ ถูกอัดไว้ด้วยไฟ, บอกไม่ถูกดอก มันเหมือนกับว่า ถูกทิ่ม ถูกแทง ถูกเผา ถูกลน ถูกมัด ถูกครอบงำ ถูกอะไรทุกอย่าง; มีอุปาทาน ก็ไม่มีนิพพาน คือ ไม่ว่าง ไม่เย็น. ทีนี้ ถ้าจิตใจมันเป็นอิสระ มันไม่เป็นอย่างนั้นได้ มันก็ว่าง มันก็เย็น.

ต้องควบคุม รู้ทัน ผัสสะ และเวทนา เพื่อไม่เกิดอุปาทาน

นิพพานที่นี่ และเดี๋ยวนี้ได้ เพราะ เราสามารถ ควบคุม สิ่งที่มาสัมผัสด้วย ไม่ให้สร้าง ความเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ หรือ เมาหมก ขึ้นมาในใจ เราได้. มันมีเท่านี้ ถ้าคุณทำได้ เรื่องนิพพานนี้ ก็เป็นของจริง ไม่ใช่ของพูดไว้ พูดเฉยๆ ไม่หลอกใคร. เราก็จะ เป็น พุทธบริษัท จริง เพราะ เรารู้จัก นิพพาน และเราทำให้ มีนิพพาน เสวยรส ของ พระนิพพานได้. 

ฉะนั้นก็ ไปต่อสู้กับ สิ่งที่มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ; เอาชนะได้ ไม่มีการตกลงไป เป็นทาสของสิ่งนั้น ก็เรียกว่า ไม่มีอุปาทานผูกพัน; เมื่อนั้นก็ นิพพาน คือว่างจากกิเลส, แล้วก็ เย็น อยู่ตามธรรมชาติ ของ จิตประภัสสร,  นี่นิพพานที่นี่ และเดี๋ยวนี้ มันเป็นอย่างนี้.

ถ้าจะเกี่ยงให้ บำเพ็ญบารมี หมื่นชาติ แสนชาติก็ได้ เพราะว่า เกิดตัวกู ในอารมณ์ ครั้งหนึ่ง เรียกว่า ชาติหนึ่ง เดือนหนึ่ง อาจเกิดได้หลายร้อย ปีหนึ่งอาจเกิดได้หลายพัน หลายหมื่น ยี่สิบสามสิบปี ก็เกิดได้หลายแสน พอแล้ว, พอแล้ว อย่าให้มันมากกว่านั้นเลย มันควรจะเข็ดหลาบแล้ว. นี้ บำเพ็ญบารมีกัน หมื่นชาติ แสนชาติ ได้ก่อนแต่ที่จะ เข้าโลง มันก็ไม่ค้านกันดอก.

หลักที่เขาว่า ให้บำเพ็ญบารมี หมื่นชาติ แสนชาติ เสียก่อน จึงจะนิพพาน; ของเราปฏิบัติได้อย่างนี้, แต่ของเขา มันจะเหลวคว้าง. เขาต้องรอ เข้าโลงแล้ว หมื่นครั้ง แสนครั้ง เดี๋ยวก็ ลืมหมด ขี้เกียจพูดกัน เข้าโลง ตั้งแสนครั้ง: เราไม่ทันจะ เข้าโลงสักที เรามีการเกิดตาย แห่งตัวกูนี้ ตั้งแสนครั้ง เหมือนกัน.

เป็นอันว่า มันไม่ขัดกันละ, ที่ว่า จะต้องสร้างบารมี แสนชาติ จึงจะนิพพาน ถูกแล้ว; แต่ว่าที่นี่และเดี๋ยวนี้ เราสร้างได้แสนชาติ, แล้วหลังจากนั้น มันมีการเข็ดหลาบ มันฉลาดพอที่จะทำไม่ให้กิเลสเกิด คือ เราทำอยู่ ตลอดแสนชาติ นั่นแหละ ไม่ให้เกิดกิเลส. อนุสัยลดๆๆๆ เดี๋ยวก็หมดอนุสัย กิเลสเกิดไม่ได้ มันก็เป็นนิพพาน โดยสมบูรณ์.

ฉะนั้น เมื่อคุณบังคับ ความรู้สึกได้ ครั้งหนึ่ง เมื่อนั้นแหละ คือสร้างบารมี ครั้งหนึ่ง. ถ้าคุณปล่อยจิต ไปตามอารมณ์ ก็เพิ่มๆๆๆ บวกๆๆๆ อนุสัย; บังคับจิตไว้ได้, กูไม่ไปอร่อยกับมึง. บังคับจิตไว้ได้อย่างนี้ ทีหนึ่ง มัน ลบๆๆๆหนึ่งๆๆ อนุสัยมันเป็นลบ; ไม่เท่าไรมันก็หมด มันไม่มีพื้นฐาน รากฐาน ไม่มีเดิมพัน ที่จะเกิดกิเลส ก็เป็น นิพพานโดยสมบูรณ์ 

 ระวังทำให้อุปาทานลดลง จะถึงนิพพานโดยลำดับ

นี่พูดกัน ในชีวิตประจำวัน คุณจะต้องถือเป็น เรื่องประจำวัน; เพราะว่า เรื่องที่จะมาทำให้ เกิดกิเลส มันมาทุกวันๆ; เรื่องที่จะกำจัดมันเสีย ก็ต้องเป็นเรื่องทุกวันๆ ประจำวัน; อย่าได้ไปหลงรัก หลงเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ เมาหมก จิตไม่ถูกกิเลสอาศัย ไม่มีอุปาทาน ก็จะเป็นนิพพาน ในทิฎธรรม อยู่ที่นี่และเดี๋ยวนี้. นี่คือเรื่องนิพพาน.

เอ้า, ตอนท้ายนี้ อยากจะพูดอีกนิดหนึ่งว่า นิพพานนี้ให้เปล่า ไม่คิดสตางค์; พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า อย่างนั้น ลทฺธา มุธา นิพฺพุติ ภุญฺชมานา - ให้เปล่า ไม่คิดสตางค์กับใคร. นี่น่าจะขอบใจนิพพาน หรือ พระพุทธเจ้า ไม่เรียกไม่ร้อง อะไร ไม่เรียกคิดค่าอะไร.

ระวัง อย่าให้อุปาทานเกิดขึ้น มันก็เป็นนิพพานเอง ไม่ยากลำบาก ไม่เหลือวิสัย แล้วก็ไม่คิดสตางค์, แล้วก็ทำให้เสร็จเสียก่อนเข้าโลง. ผมจึงพูดคำพูดขึ้นมาใหม่อีกคำหนึ่งว่า "ตายก่อนตาย คือนิพพาน"; แต่ผมก็ได้ยินจากคนเฒ่า คนแก่อีกทีหนึ่ง ผมลืมเสียแล้วว่า ใครพูด คือ มันเนื่องมากับที่ว่า สวรรค์ในอก นรกในใจ นิพพานอยู่ที่ตายก่อนตาย.

นี่ปู่ย่าตายายของเรา ไม่ใช่เล่น สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ; ไม่เรียกว่า อยู่ใต้ดิน อยู่บนฟ้าอะไร เหมือนที่เขาพูดกันแต่ก่อน. แล้ว นิพพานนั้นอยู่ที่ตายเสียก่อนตาย คือ ตัวกูๆๆ. ที่เคยเกิดวันละหลายๆหน ให้มันตายสนิทเสียก่อน แต่ที่ร่างกายนี้จะตายเข้าโลง มันยิ่งแสดงว่าา ที่นี่และเดี๋ยวนี้; ก่อนแต่ที่ร่างกายจะตาย จะเข้าโลงนี้ ตัวกู-ของกู แห่งอุปาทาน ให้มันหมดเสียก่อน นั่นแหละคือนิพพาน.

นิพพาน คือ ตายเสียก่อนตาย ทำได้ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ แล้วก็ให้เปล่า ไม่คิดสตางค์. ใครยังไม่เอาอีก คนนั้นโง่กี่มากน้อย ไปคำนวณเอาดู.

นี่ผมพูดเรื่องที่ผมถูกด่าให้คุณฟัง. พอผมพูดว่า นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้ แล้วก็ถูกด่า, แล้วมันเปลี่ยนไม่ได้. จะด่าก็ด่าไปเถอะ มันเป็นเรื่องจริง อย่างนี้ มีหลักฐาน ในพระพุทธภาษิต อย่างนี้ ก็มันมีการทดสอบ ด้วยใจจริงอย่างนี้; แล้วมันก็เห็นชัดๆ อยู่อย่างนี้ เป็นสันทิฎฐิโก อยู่อย่างนี้. มันก็คงสภาพอย่างนี้ไว้, ก็คงพูดว่าอย่างนี้ : นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้.

เอาไปศึกษาเพิ่มเติม ความรู้เรื่องพุทธศาสนาให้เต็ม. ผมได้บอกมาแล้ว ตั้งแต่ครั้งต้น ครั้งแรกว่า ผมจะเลือกสรรมา แต่เรื่องที่จำเป็น เป็นเนื้อหา เป็นสาระ ทั้งหมด ทั้งสิ้น ตั้งแต่ต่ำจนถึงสูงที่สุด มาพูดด้วย คำพูดเพียงไม่กี่คำ; อย่างที่ผมกำลังทำอยู่นี้. 

เรื่องนิพพานนี้ จะพูดกันเป็นเดือนๆ ก็ได้; แต่นี้ เอามาแต่เนื้อหาสาระ หัวข้อที่เป็นหลัก มันก็พูดเดี๋ยวนี้ ชั่วโมงกว่า นิพพานที่นี่และเดี๋ยวนี้, แล้วก็คาบเกี่ยว ไปถึงเรื่องอื่นด้วย ที่มันคาบเกี่ยวกันอยู่เป็นธรรมดา, อะไรเป็นเหตุ ให้ไม่นิพพาน อะไรเป็นเหตุ ให้นิพพาน ก็ต้องพูดถึงด้วย.

เอาละเลิกกันทีนะ เลิกว่านิพพานนี้เหลือวิสัย นิพพานไม่มีประโยชน์ นิพพานจืดชืด นิพพานต้องรอเข้าโลง หมื่นหนแสนหน นี่เลิก. เอาเป็นนิพพานที่นี่ และเดี๋ยวนี้ ก็จะเป็น พุทธบริษัทที่แท้จริง, มีพระนิพพานได้จริง, มีพุทธศาสนาจริง คือมีนิพพาน เป็นพุทธบริษัทจริง คือ รู้เรื่องนิพพาน.

เอ้า, ขอยุติการบรรยาย ชั่วโมงนี้ไว้เพียงเท่านี้ แล้วก็ปิดประชุม.

ธ-หาง ๓๙.ค/๑๕๑-๑๕๙

BACK 

 

คัดจาก หนังสือ ธรรมานุกรมธรรมโฆษณ์ ฉบับประมวลธรรม เล่ม ๒ เรียบเรียงโดย นาย พินิจ รักทองหล่อ 
พิมพ์ ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๔๐ โดย ธรรมทานมูลนิธิ