Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
 



 

 

ต้องทำลายความเห็นแก่ตัวก่อน

เป็นอันว่า หลักในทางพระศาสนาหรือ ทางศีลธรรมก็ตาม ล้วนแต่ ต้องการให้ ทำลายความเห็นแก่ตัว เป็นข้อแรก ดังนั้น พระพุทธศาสนา เรา จึงยกเอา สักกายทิฎฐิ คือ ความเห็นแก่ตัว เห็นว่า กายนี้ของตัว นี้มาเป็นข้อแรก หรือเป็นสิ่งแรก ที่จะต้องพยายาม ละเสีย เราผู้ต้องการ จะปฏิบัติ ในหลักพระพุทธศาสนา ต้องทำอย่างนี้ และทำเรื่อยๆไป จนหมดความเห็นแก่ตัว โดยสิ้นเชิง ในการ ละสัญโญชน์ และอนุสัย ให้หมดสิ้น

หมดความเห็นแก่ตัว ไม่มีตัวเหลืออยู่จริงๆ เมื่อนั้นแหละ จะกลายเป็น คนที่ไม่มีความทุกข์ อีกต่อไป คือ กลายเป็นคนที่ไม่ตาย ไม่มีตัวตน ที่จะต้องตาย ไม่มีความทุกข์ เพราะไม่มีความหวังอะไร ไม่มีความอยาก เหลืออยู่ ให้เห็ด หัวเราะเยาะ อีกต่อไป หมายความว่า ไม่มีความหวัง หรือ ความอยากอะไร เหลืออยู่ แม้แต่น้อย นั่นเอง ไม่ได้อยากอยู่ ไม่ได้อยากตาย และ ไม่ได้อยาก อะไรทั้งหมด เพราะว่า ไม่มีตัวกู ที่จะอยาก นี่แหละ คือความไม่ตาย

นี่แหละคือ ความที่เป็นทุกข์ไม่ได้ ไม่ว่าอะไรๆ มันจะเป็นไปอย่างไร จิตใจชนิดนี้ มันมีความทุกข์ไม่ได้ ในตัวของตัวเอง ก็ไม่มีอาการที่เป็นบ้า หมายความว่า หายโรคบ้า หายโรคเป็นบ้านี้โดยสิ้นเชิง ไม่มีตัวตน ที่จะเหลืออยู่ สำหรับรับรองโรคนี้ โรคนี้ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีที่อาศัย ก็เกิดขึ้นไม่ได้ หมายความว่า จิตใจชนิดนี้ ไม่เป็นที่ตั้ง ไม่มีที่อาศัย ของความ ยึดมั่น ถือมั่น ซึ่งเป็นโรคบ้า โรคบ้า จึงเกิดขึ้นในจิตใจ ชนิดนี้ไม่ได้

นี่แหละ คือ หนทางทางเดียว เท่านั้น ที่จะทำให้ทุกข์ กับเขาไม่เป็น เป็นทุกข์กับเขาไม่เป็น เพราะว่า เป็นบ้ากับเขาไม่เป็น เมื่อเป็นบ้า กับเขาไม่เป็นแล้ว ก็เป็นทุกข์ กับเขาไม่เป็น แม้ว่าโลกนี้  จะเต็มไปด้วย คนบ้า หรือจะเต็มไปด้วย ความทุกข์ อย่างไร จิตใจนี้ เป็นบ้าไม่ได้ เป็นทุกข์ไม่ได้ เป็นทางออก ทางเดียวเท่านั้น ไม่มีทางอื่น ที่คนเรา จะเป็นทุกข์ไม่ได้ เป็นบ้าไม่ได้ คือ พยายาม ศึกษาปฏิบัติ จนได้รับผล ของการปฏิบัติ เป็นธรรมะที่ทำลาย ความยึดมั่น ถือมั่น เสียได้ นี้เรียกว่า ธรรมะกำมือเดียว หมายความว่า ไม่มีเรื่องอื่น อีกแล้ว มีแต่ เรื่องเดียว แล้วเรื่องเดียวนี้ ก็ไม่มากมายอะไร เป็นเรื่องสั้นๆ ลัดๆ คือ ทำลายความ ยึดมั่น ถือมั่น ว่าตัวกู-ว่าของกูเท่านั้นเอง

แต่คนที่ได้รับ คำสั่งสอน ในข้อนี้ ได้รับมาก อย่างที่เป็นเมฆ หรือเป็นหมอก เป็นฝ้า บังความจริง จึงมาเห็น เป็นเรื่องมากมาย ใหญ่โต มันกลับกลาย เป็นว่า จะต้องเรียนให้หมด ทั้ง ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์บ้าง จะต้องเรียนให้รู้ว่า กี่เรื่อง กี่สิบเรื่อง กี่ร้อยเรื่อง กี่พันเรื่อง จนกระทั่ง เวียนหัวไปหมด ไม่หมุนมาสู่ เรื่องที่จะ ทำลายความเห็นแก่ตัว หรือ ทำลายความรู้สึก ว่าตัวกู ว่าของกู แต่ประการใด

เพราะเหตุนี้เอง จึงได้ขอร้องแล้ว ขอร้องอีก ว่า จงเป็นอยู่ในลักษณะ ที่จะกำจัด ความเห็นแก่ตัว หรือ ความที่มีตัว เราประกอบการงาน ไปตามปกติ ที่มนุษย์เราจะต้องทำ และในขณะที่ ประกอบการงานนั้น จะเป็นโอกาส ให้กิเลสเกิดขึ้น สำหรับเห็นแก่ตัว แล้วเราก็มีโอกาส จัดการกับ กิเลสข้อนี้ คือล่อให้มันออกมา ด้วยสติสัมปชัญญะ แล้วก็ฆ่ามันเสีย ทำประหนึ่งว่า กิเลสนี้ เหมือนกับเหยื่อ ที่เราจะจับมา ฆ่าเสียให้ตาย เรามีอาการเหมือนกับ เสือ ที่ซุ่มอยู่ในที่ ที่เหมาะสม สำหรับที่จะ จับเหยื่อ ไม่ต้องทำอะไร มากไปกว่านั้น

พระพุทธเจ้าท่านเปรียบภิกษุ ว่าเหมือนกับเสือ แล้วก็ซุ่มอยู่ในป่า คือ สติ หรือ สติปัฎฐานทั้ง ๔ นี้เรียกว่าสติ นี้เปรียบเหมือนป่า เสือจะต้อง อาศัยอยู่ในป่า ซุ่มอยู่ในป่า ซ่อนอยู่ในป่า ให้เหมาะๆ จึงจะจับเหยื่อ คือกิเลสได้ ขาดสติเมื่อใด ก็ไม่มีป่า เสือออกมา เห็นโทนโท่ แล้วเสือนั่นแหละ ถูกยิง ถูกฆ่าเสีย ตายเอง แต่ถ้าเสือมีป่าที่ดี คือมีสติที่ดี เสือก็จะเป็น ฝ่ายที่ซุ่มอยู่ แล้วก็จับกิเลสซึ่งเป็นเหยื่อนั้นได้โดยง่ายดาย

คนบ้าไม่มีสติ คนบ้าเป็นคนที่ไม่มีสติ เมื่อทำตนเป็นคนบ้าเสียแล้ว มันก็ไม่มีสติ จึงมีอาการ เหมือนกับ เสือที่ไม่มีป่าจะอยู่ เหมือนกับ เสือที่ไม่มีป่า จะซุ่มจะซ่อน มันก็หมดความเป็นเสือ หรือไม่สามารถ จะทำหน้าที่ของเสือ ภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา ก็เรียกว่า ผู้ปฏิบัติ เหมือนๆ กัน คือ อยู่ในลักษณะ ที่จะต้องเป็นเสือ ด้วยกัน ในเมื่อ มีเหยื่อ คือ กิเลส ที่จะต้องฆ่า จะต้องทำลาย ด้วยแล้ว ก็จะต้องใช้วิธี เหมือนๆ กัน คือ เป็นอยู่ด้วยสติ จริงๆ

เดี๋ยวนี้ ชอบเป็นคนบ้า เดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้ เดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้ มากลายเป็น คนบ้า ไปเสีย ทั้งวัน ทั้งคืน อย่างนี้ ก็คือไม่มีสติ จึงเป็น เหมือนกับ เสือที่ไม่มีป่า ที่จะซุ่มสำหรับจับเหยื่อ คือกิเลส แล้วจะไป โทษใคร? สิ่งที่เป็นกิเลส คือ ตัวกู-ของกู นั้น มันก็แพร่หลายมาก มันก็ ออกลูก ออกหลาน มากมาย จนยากที่จะ ปราบมันได้ หรือกำจัดมันได้

ชุม-ล้อ-๑ ๔๒.ก/๓๐๐-๓๐๓

BACK 

 

คัดจาก หนังสือ ธรรมานุกรมธรรมโฆษณ์ ฉบับประมวลธรรม เล่ม ๒ เรียบเรียงโดย นาย พินิจ รักทองหล่อ
พิมพ์ ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๔๐ โดย ธรรมทานมูลนิธิ