Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
 



 

 

 

ไม่มีอะไรเป็นตัวตน

ในข้อแรก อยากจะให้ นึกถึงเรื่อง ในพุทธประวัติ ที่จะช่วย ให้เข้าใจเรื่องนี้ ได้อยู่มากทีเดียว คือ :- เมื่อคนหนุ่ม กลุ่มหนึ่ง เขาเที่ยวติดตาม หาหญิงงาม ที่คดโกงเขา ด้วยการลัก เครื่องประดับ ของเขาไป เมื่อเขาเผลอ เขาตามไปๆ จนพบ พระพุทธเจ้าเข้า โดยบังเอิญ เมื่ออยู่ตาม สวนสาธารณะ หรืออะไรด้วยกัน พระพุทธเจ้า ท่านตรัสถามว่า ไปไหนกัน? ไปทำไม? พวกนั้น เขาก็ตอบว่า เที่ยวตามหา ผู้หญิง อย่างที่ว่ามาแล้ว.

ทีนี้ พระพุทธเจ้า ท่านตรัสถามว่า เที่ยวตามหาผู้หญิงดี หรือว่า เที่ยวตามหาตัวเองดี? พวกนั้น ก็จะต้องตอบทั้งที่เขางงอยู่ คงจะตอบเผื่อๆ ไปเท่านั้นเองก็ได้ โดยที่ไม่รู้ว่า อะไรอยู่ที่ไหน ตัวเองอยู่ที่ไหน; แต่ก็ต้องตอบว่า หาตัวเองดีกว่า จึงได้ตอบว่า หาตัวเองดีกว่า. พระพุทธเจ้า ท่านจึงตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น ก็นั่งลง จะได้ช่วยกันตามหา "ตัวเอง"; แล้วท่านก็สั่งสอน ตามแบบวิธี ที่จะมีประโยชน์ มากที่สุด สำหรับ คนหนุ่ม กลุ่มนั้น ในที่สุด ก็ทำให้คนเหล่านี้ กลายเป็นอริยบุคคลไป ได้บวช ได้อะไร เป็นสาวก ของพระพุทธเจ้า ไปเลย.

ปัญหามันมีอยู่ว่า "เที่ยวหา ตนเอง ไปตามหา ตนเอง ดีกว่า" คนหนุ่ม เหล่านี้ ก็ไม่รู้เรื่องตนเองแน่ แต่กลัวจะเสียเหลี่ยมนักเลง; ถ้าไปเห็นแก่ผู้หญิงแก่อะไรนี้ มันเสียเหลี่ยมนักเลง ก็เอาข้างตัวเองไว้ก่อน จึงได้รับคำอธิบายเรื่องนี้. แล้วรายละเอียดของเรื่องนี้ก็ไม่มี ว่าตนเองคืออะไร, ตามหาอย่างไร, อะไร, มีแต่กล่าวว่า พระพุทธเจ้า ได้ตรัสโอวาท ไปพักหนึ่งแล้ว เขาก็ได้เปลี่ยนเป็นคนละคนไป คือเป็นพระอริยเจ้า.

การเป็นพระอริยเจ้า นับตั้งแต่ ชั้นโสดาบัน ขึ้นไปนี้ เป็นการ ถอนความรู้สึก ว่าตน คือทำให้ มองเห็นว่า ไม่มีตัวตน. นี้ถามว่า ถ้าอย่างนั้น ในกรณีนี้ ในรายของคนพวกนี้ หนุ่มพวกนี้ เขาพบตัวตนหรือเปล่า? ถ้าไม่พบตัวตน มันก็เป็นเรื่องตลก; เพราะว่า ได้ตกลงกับพระพุทธเจ้าว่า จะแสวงหาตัวตน. แต่ถ้าบรรลุธรรมะ เป็นพระอริยบุคคล ก็ต้องเริ่มเห็น ความไม่มีตน หรือ หมดตัวตน.

เรื่องนี้ คงจะเป็นปัญหา แก่พวกคุณ ทุกคน เหมือนกัน คือ มันเกิดเป็นปัญหา ขึ้นมา ในตัวมันเอง จากพระพุทธภาษิต ทั้งหลาย ที่ตรัสไว้มากมาย เรื่องเกี่ยวกับ ตัวตน; ฝ่ายหนึ่งกล่าว อย่างมีตัวตน: "ตนเป็นที่พึ่งของตน, ตนเป็นที่รักของตน, ตนเป็นคติของตน, ให้ฝึกตน,ตนฝึกดีแล้ว ก็จะได้ สิ่งสูงสุด" นี้เป็นพุทธภาษิต ส่วนที่มีความหมายอยู่ตรงๆ ว่ามันมีตัวตน.

อีกทางหนึ่ง เขาบอกว่า อนัตตา มิใช่ตน; ถ้ามิใช่ตน มันก็มีแต่สิ่งอื่น ซึ่งมิใช่ตน ก็หมายความว่า ไม่มีตัวตน จะเข้าใจกันอย่างไร? นี้บางคน อาจจะโกรธเสียแล้ว ว่าตลบแตลง อย่างนี้ใช้ไม่ได้; ถึงพระพุทธเจ้า ตรัสก็เถอะ เขาไม่ยอมรับ เพราะมันตรงกันข้าม มันตลบแตลงอย่างนี้; ฉะนั้น เราจึงถือว่า เรื่องตน กับเรื่องมิใช่ตน นี้เป็นเรื่องที่ยาก.

ถ้าจะประยุกต์กันในข้อนี้ก่อน ก็เพียงแต่จะบอกว่า ตามความรู้สึก สามัญสำนึก ของคนทั่วไป รู้สึกว่า มีตน มันมีตัวกูอยู่ เพราะฉะนั้น ตนมันก็ต้องมี;  นี้ต้องพูดอย่างมีตัวตน กันให้มีประโยชน์ที่สุด. ทีนี้ ต่อเมื่อมีสติปัญญาลึกซึ้ง ในเรื่องนี้ เห็นทะลุปรุโปร่งในเรื่องนี้ ความรู้สึกจึงจะเกิดขึ้นมาว่า ไม่ใช่ตน ไม่ควรเรียกว่า ตน ที่ว่า มีอยู่นั่นแหละ ไม่ควรจะเรียกว่า ตน แล้วก็หมดปัญหาไปได้.

เรารู้สึกว่า มีตัวตน ในสิ่งที่มิใช่ตัวตน

ทีนี้ ทำอย่างไร จึงจะมีปัญญา ถึงขนาดนี้? แล้วพวกเรา ทั้งหมด ที่นั่งอยู่ที่นี่ ก็มีความรู้สึกว่า มีตัวตน แล้วก็รักตน ก็แสวงหา ประโยชน์ให้แก่ตน; อุตส่าห์เล่าเรียนกัน เป็นการใหญ่ แม้ที่มาที่วัดนี้ ก็เพื่อประโยชน์แก่ตน คล้ายๆ ให้ตนได้ประโยชน์อะไร มากออกไป จึงได้ทนลำบาก, แล้วก็มาอยู่ ในลักษณะ ที่ฝึกฝนตน ให้กลายเป็นตน ที่ได้ฝึกถึงที่สุด ตามความรู้สึก ที่แท้จริงของเรา, นี้ก็มีตน. ถ้าพูดว่า ไม่มีตนเดี๋ยวนี้ ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ก็คงจะรู้สึกว่า ไม่จริง ได้แต่พูด ตามเขาไป หรือ อย่างดีที่สุด ก็พูดไปเพราะ เคารพพระพุทธเจ้า ที่ท่านตรัสว่า ไม่มีตัวตน ก็ว่าไปก่อน แต่ในใจนั้น ก็รู้สึกว่า มีตัวตนอยู่เสมอ; ความคิดที่ปรุงแต่ง ขึ้นมาทีไร มันเป็นรูปมีตัวตนเสมอ. นี่คือปัญหาที่ต้องประยุกต์ คือ รู้ให้จริงลงไป ให้เด็ดขาดลงไป แล้วก็ทำให้หมดปัญหา.

เท่าที่กล่าวมาแล้ว ก็สรุปได้ว่า โดยความรู้สึกของสามัญสำนึก เรามันมีตัวตน อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์เลย ไม่นึกเป็นอย่างอื่นได้ ไม่รู้สึกเป็นอย่างอื่นได้; แต่แล้ว ที่เราคิดว่า เป็นตัวตนนั่นแหละ เป็นเรื่องเหลวคว้าง อย่างที่เรียกว่า มายา หรืออะไร ก็แล้วแต่จะเรียก มันไม่ควรจะเรียกว่า ตน. ฉะนั้น พอถามขึ้นว่า มีตัวตนไหม? ก็กระอักกระอ่วนซิ ที่จะตอบว่า ไม่มีตัวตน มันกระอักกระอ่วน เพราะรู้สึกอยู่ว่า มีตัวตน; ถ้าจะตัดบทตอนนี้ ก็ต้องให้รู้ข้อเท็จจริง  อันนี้ไว้ก่อน ว่า เรารู้สึกว่ามีตัวตน ในสิ่งที่มิใช่ตัวตน.

พระพุทธเจ้า ตรัสโดย ทิฏฐธัมมิกโวหาร บ้าง สัมปรายิกฯ บ้าง

ตรงนี้ ก็อยากจะพูด สำหรับผู้มาใหม่ อีกครั้งหนึ่ง เกี่ยวกับโวหาร ที่ใช้กันอยู่ ในการพูดจา; ช่วยจำคำ ๒ คำนี้ ไว้ให้ดี: คำแรกเรียกว่า ทิฎฐธัมมิกโวหาร เป็นโวหารของการพูดจา ชนิดที่พอพูดออกไป คนฟังถูกทันที เดี๋ยวนี้ ทันใดนั้นเอง; เพราะ คนธรรมดา สามัญทั่วไป เขาก็พูดจากัน อยู่ด้วยโวหารนี้ มีความหมาย อย่างนี้ เรียกว่า ทิฎฐธัมมิกโวหาร. ทีนี้อีกอันหนึ่ง เขาเรียกว่า สัมปรายิกโวหาร เป็นโวหารอื่นไป หมดสิ้นเชิง จากโวหาร ที่คนธรรมดาพูดกัน. โวหารสองโวหารนี้ ใช้พูดกัน อยู่ในประเทศอินเดีย ในหมู่คน ที่ไปทูลถาม พระพุทธเจ้านั้นเอง. พระพุทธเจ้า ท่านจะตรัสตอบโดย ทิฎฐธัมมิกโวหารก่อน; นี้เขาว่าไม่ใช่, ไม่ใช่, ก็ถามอย่างนั้น ถามอย่างให้จริงกว่านั้น, ถ้าแค่นั้น ก็ไม่ต้องถามซิ เพราะว่า รู้อยู่แล้ว.

เช่น มีคนไปทูลถามว่า วรรณะสี่นี่ มัน เสมอกัน หรือ ต่างกัน? ท่านก็ตรัสตอบว่า อ้าว! ก็เห็นอยู่แล้วนี่ว่า เขานับถือ วรรณะกษัตริย์ วรรณะพราหมณ์; ส่วน วรรณะศูทร วรรณะเวศย์ นั่น เขาไม่ได้นับถือกัน มิใช่หรือ. คนนั้น จึงทูลย้อนว่า ไม่ได้ถามอย่างนั้น ไม่ใช่ถามอย่างที่เห็นๆ กันอยู่ หรือพูดๆ กันอยู่อย่างนั้น; ถามที่มันจริงกว่านั้น อื่นไปจากนั้น ก็คือ โวหาร หรือ ความจริง ของนักปราชญ์ นั่นเอง. เมื่อถามอย่างนี้ ท่านก็ตรัสตอบว่า ก็ดูเอาเอง ก็แล้วกันว่า ถ้าเขามาทำบาป เขาได้บาป เหมือนกัน, ทำกุศล ได้กุศล เหมือนกัน, ทำกิเลสให้หมด ก็เป็นพระอรหันต์ เหมือนกัน อย่างนี้ จะถือว่า ต่างกัน หรือ เหมือนกัน อย่างไร ก็ดูเอา.

สรุปอีกทีหนึ่งว่า ถ้าพูดกันอย่าง ทิฎฐธัมมิกโวหาร วรรณะทั้ง ๔ นั้นต่างกัน ; ถ้าพูดอย่าง สัมปรายิกโวหาร วรรณะทั้ง ๔ มันนก็ไม่ได้ต่างกัน คือ เป็นสิ่ง หรือ เป็นสัตว์อะไร ที่มันเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย ตามกรรม ตามอะไร เหมือนกัน.

นี่เราจะเห็นได้ว่า ถ้าพูดอย่างทิฏฐธัมมิกโวหารแล้ว ตัวตนมันมี มันมีอยู่ในความรู้สึกของเราเอง ต้องไปเชื่อใครเล่า นี่ ทิฎฐธัมมิกะ แปลว่า เห็นแล้วในธรรมนั่นเอง ในสิ่งนั้นเอง แล้วก็พูดกันอย่างนั้นทั้งนั้น แล้วพอพูดถึง ก็เข้าใจกันทุกคน ว่ามีตัวตน ตัวฉัน อย่างนั้น อย่างนี้; ฉะนั้น เมื่อพูดโดยโวหารชั้นนี้ ก็เรียกว่า มีตัวตน ถ้าพูดอย่างพระอริยเจ้า ผู้เห็นความจริงลึกซึ้ง ไปกว่านั้น มันกลายเป็นโวหารอื่น, ผิดไปจากที่เขารู้หรือพูดกันอยู่ กลายเป็นว่า ไม่ใช่ตน; ที่ว่า ตัวตนๆๆ อยู่ตลอดเวลานั่นแหละ ที่แท้ มันมิใช่ตัวตน.

ทีนี้ ถ้าผู้รู้ ท่านมาบอกคนไม่รู้ ให้รู้ว่า ให้รู้เหมือนที่ท่านรู้ มันจะเกิดปัญหาอะไรขึ้น? คุณลองดู มันเหมือนกับนิทานเปรียบว่า เต่ามันเล่าเรื่องบนบกให้ปลาฟัง ปลามันจะฟังได้อย่างไร, มันจะรู้ได้อย่างไรว่า บนบกมีอย่างนี้ๆๆๆ, ปลามันก็สั่นหัวเรื่อย พูดไปที มันว่าโกหกที, พูดไปทีมันว่า โกหกที; นี่คือพวกคนธรรมดาสามัญทั่วๆไป เขาจะด่า พระอริยเจ้า ว่า โกหกๆ โกหกอยู่เรื่อยไป ที่ว่าไม่มีตน ไม่ใช่ตน เพราะเรารู้สึกตนว่าอยู่เสมอ อย่างน้อย คุณก็ด่าอยู่ในใจ ไม่กล้าด่า ออกมาให้เสียมรรยาท แต่ในใจ มันไม่รู้สึกเชื่อ มันก็คือ เท่ากับด่าอยู่แล้ว ข้อที่ว่า ไม่ใช่ตน.

นี่คือ ปัญหาที่จะต้องประยุกต์ คือ ที่จะต้องทำลายให้มันหมดไปให้ได้ แล้วให้เราได้รับประโยชน์จากความรู้ของพระพุทธเจ้า ที่ว่า "ทุกสิ่งไม่ควรจะถือว่าเป็นตัวตน" ตอนนี้ ก็พูดตัดบท ไปเสียได้เลยว่า ถ้าเมื่อ ตัวตนมันไม่มีแล้ว ของตนมันจะมีอย่างไรได้; นี้มันจะมีความรู้สึกอยู่เป็น ๒ ชั้น; นี้ตัวกู แล้วนั่นของกู. ถ้าสิ่งที่เรียกว่า ตัวกูมันไม่มี สิ่งที่เรียกว่า ของกูก็ไม่ต้องพูดถึง คือ มันจะไม่มีไปด้วย, เดี๋ยวนี้ เราไม่อาจจะเห็นว่า ตัวกูไม่มี มันมีตัวกู อยู่เรื่อย; ทีนี้ ความคิดว่า ของกู มันก็มีอยุ่เรื่อยเหมือนกัน นั่นนี่โน่น ของกู, นั่นของสู นั่นของคนอื่น, เป็นฝ่ายที่ตรงกันข้ามอยู่; พอประโยชน์ขัดกัน มันก็ทะเลาะวิวาทกัน ทำอันตรายแก่กันและกัน นี่ก็เป็นทุกข์ ลำบาก เดือดร้อนด้วยกันทั้งสองฝ่าย นี่โทษของการที่มีตัวกู มีตัวตน.

ตามหลักพระพุทธศาสนา ไม่มีอะไรเป็นตัวตน

เมื่อกล่าวไปตามหลักของพระพุทธศาสนา ก็กล่าวอย่างนี้ว่า ตามความรู้สึก คนเรามีตัวตน พอรู้จริงถึงที่สุดเข้า กลายเป็นไม่มีอะไรที่ควรจะเรียกว่า ตัวตน.

ทีนี้ คุณอย่าเอาไปปนกัน เข้ากับลัทธิอื่น หรือ ศาสนาอื่น ที่เป็น คู่แข่งขันกับ พุทธศาสนา หรือ เป็นอะไรกันก็ตาม เขายังมีลัทธิอื่น หรือ ศาสนาอื่น ที่พูดเป็นทำนองว่า ให้มีตัวตนให้จนได้: เอาละ ถ้าว่าอันนี้ ไม่ใช่ตน อันอื่น ที่ดีกว่านั้น จะเป็นตน - อันอื่นที่ดีกว่านั้น จะเป็นตน -อันอื่นที่ดีกว่านั้นอีก จะเป็นตนเรื่อยไป, จะเป็นตนที่ เขาพอใจ ว่า มันมีสิ่งที่เป็นตนอยู่; อย่างนี้ มัน ตรงกันข้าม กับ พุทธศาสนา.

บางทีในตอนแรกๆ กล่าวเหมือนกันด้วยนะ เช่น ว่ากายนี้ ร่างกายนี้ เนื้อหนังร่างกายนี้ มิใช่ตน; เขาก็กล่าวเหมือนกับพุทธศาสนากล่าว ว่า ร่างกายนี้ มิใช่ตนแล้วโดยเฉพาะ บางพวกในยุคปัจจุบันนี้ ซึ่งเขาจะปรับปรุงแก้ไข ลัทธิอะไรของเขาใหม่เสียแล้วก็ได้ เขาก็พูด เขายืนยันว่า เขาก็รู้จักว่า เวทนามิใช่ตน สัญญามิใช่ตน สังขารก็มิใช่ตน วิญญาณ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี่ก็มิใช่ตน; แต่เขามีอันอื่นที่เป็นตน จะเป็นตัวทำหน้าที่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือ ที่ว่าจะสิง ในกายนี้ด้วย นี่เขายังมีตน เหลืออยู่ เรื่อยไป ตนนี้ มันก็พ้นไปจาก เบญจขันธ์นี้ ไปมีตัวตนที่ถาวร อยู่ตลอดนิรันดร นั่นไม่ใช่พุทธศาสนา.

ตอนนี้ คุณที่เคยอ่านหนังสือกามนิต ก็ไปอ่านกันเสียใหม่ก็ได้ ตอนที่กามนิตจะตาย เขามีความรู้สึกอย่างไร ทั้งที่เขาอยากจะมีตน แต่มันก็มีไม่ได้ มันก็ดับไปๆๆๆ ด้วยอำนาจของความไม่มีตน ของธรรมชาติ; เมื่อพวกพรหม หรือ พวกอะไร จะดึงไว้ให้มีตน ก็ดึงไว้ไม่อยู่.

แต่เรา ไม่ต้องการ จะรู้ หรือศึกษา ให้เลยเถิด ไปถึงนั้น ซึ่งก็ ไม่มีประโยชน์แล้ว; รู้ไว้แต่เพียงว่า คนพวกหนึ่ง สมัยหนึ่ง ยุคหนึ่ง เขามีความเชื่อ อย่างนั้น แล้วก็เหลืออยู่ จนกระทั่งทุกวันนี้ เขาสอนอยู่อย่างนั้น ฉะนั้นเรื่องนี้ มันก็มีที่ การขัดแย้งกัน อยู่เรื่อย กับพุทธศาสนา ที่สอนว่าจะรู้สึกว่า มีตัวตน เฉพาะในสมัย เมื่อยังไม่รู้ ไม่เห็นความจริง; นี่กำหนดข้อความนี้ ไว้ให้ดีๆ ว่า "ความรู้สึกว่า เป็นตัวเป็นตนนี้ จะเกิดรู้สึกอยู่ตลอดเวลา ที่เรายังไม่รู้ความจริง"; พอรู้ความจริงขึ้นมา จะไม่รู้สึกอย่างนั้น แล้วก็เลย ว่างจากตัวตน ไปหมด ไม่ว่าอะไร ไม่ใช่ตัวตนเลย ก็เรียกว่า ว่างจากตัวตน ไปหมด ก็ไม่เกิดความรู้สึกว่า นี่ตัวกู นั่นของกู อย่างที่เคยรู้สึก มาแต่ก่อน มันเปลี่ยนตรงกันข้ามอย่างนี้.

ทีนี้ พอคนที่เห็นอย่างนี้แล้ว ที่เรียกว่า เป็นพระอรหันต์ ในพระพุทธศานา ไม่มีตัวตนแล้วนี้ พอถึงคราวจะพูดจา กับคนอื่น ก็หลีกไม่พ้น ที่จะต้องพูดว่า มีตัวตนอีกนั่นแหละ คือ ต้องพูดอย่าง ชาวบ้านพูด ที่เรียกว่า ทิฏฐธัมมิกโวหาร; เพราะฉะนั้น เมื่อพระพุทธเจ้า ท่านจะต้องตรัส กับคนที่เขามีตัวตน เต็มปรี่ อยู่อย่างนี้ ท่านก็ต้องพูด ในภาษา ทิฏฐธัมมิกโวหาร "ตนแหละเป็น ที่พึ่งของตน ใครอื่นจะเป็น ที่พึ่งแก่ตนได้" อย่างนี้ "ให้รักตน ให้สงวนตน, ให้ถอนตน ออกมาเสีย จากเหว จากนรกอะไร, แล้วก็เมื่อ ฝึกตนได้ดีแล้ว ก็จะได้รับ สิ่งที่ดีที่สุด ที่มนุษย์ ควรจะได้รับ" ท่านก็ต้อง พูดอย่างนั้น ต้องตรัสอย่างนั้น ทั้งที่ท่านเป็น ผู้รู้เห็นชัดเจนลึกซึ้ง ถึงกับสอนเรื่องอนัตตา ท่านก็ต้องพูดอย่างนั้น.

ครั้งหนึ่ง ผมเคยพูด; อย่าใช้คำว่า "โต้กัน" ใช้คำว่า พูดกันธรรมดาดีกว่า กับครูบาอาจารย์ชั้นสูง ชั้นสวามีของฝ่ายเวทานตะ ซึ่งเขาพยายามจะให้พุทธศาสนานี้ เหมือนกับเวทานตะ. เขาก็พยายามที่จะชี้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันมิใช่ตน ตามที่กล่าวไว้ใน อนัตตลักขณสูตร จริง; แต่มันยังมีอันอื่นที่เป็นตน คือ เป็นอาตมัน. นี้ผมก็ถามว่า "อะไรที่ เรียกว่า อะไร" ในคัมภีร์ ของพุทธศาสนา ที่เรียกว่าอะไร? เขาก็บอกว่า มันนอกไปจาก ขันธ์ทั้ง ๕ นั้นแหละ นอกไปจาก รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ว่า เป็นอนัตตา ต้องมีอันหนึ่ง นอกไปจากนั้น ที่จะบรรลุนิพพาน หรือ จะอะไรก็สุดแท้ เราก็บอกว่า มันไม่มีอะไร นอกไปจากนั้น; แม้จิตที่รู้สึกคิดนึกได้ว่า มีตน มันก็คือ สังขาร อันนั้น, หรือ จิต ที่รู้สึกว่า เดี๋ยวนี้ เราหลุดพ้นแล้ว ถึงซึ่ง วิสังขารแล้ว, มันก็คือ จิตที่เป็น สังขาร นั่นแหละ รวมอยู่ใน ๕ ขันธ์นั่นแหละ ในที่สุด เราก็พูดกันไม่ได้ แล้วโดยมรรยาท เราก็ไม่ทะเลาะกัน ให้มากกว่านั้น คือ ไม่ถึงกับทะเลาะกัน ถ้ามัวไปทะเลาะกัน ก็บ้าเลย เขาก็ไม่ใช่ ผู้ที่เป็นอันธพาล ที่จะมาทะเลาะ กับผู้อื่น แล้วเราก็ไม่ต้องการ จะเป็นอันธพาล จะไปเถียง หรือทะเลาะ กับผู้อื่น ก็สรุปความได้ว่า พุทธศาสนา จะไม่ยอมให้สิ่งใด ควรเรียกว่า ตัวตน.

ทีนี้ ฝ่ายโน้น เห็นได้ชัดเลยว่า เขาอยากจะให้มี จิต หรือ มีอะไรก็สุดแท้ แต่เขาเรียกว่า อาตมัน; อาตมัน คือ ตน คือ ตัวตน นั้นแหละ มีอยู่ เป็นผู้เข้ามา สู่ร่างกายนี้ ซึ่งมี รูป มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอะไรอยู่ มาโง่ มาหลง มาติด มาจมอยู่ที่นี่ จนกว่าา จะได้รับการปรับปรุงแก้ไข แล้วมันก็หลุด ไปได้จากสิ่งเหล่านี้; ซึ่งเราก็ควรจะเห็นอยู่ว่า มันเป็นเพียง สติปัญญาของจิต หรือ จิตที่มีสติปัญญา สติปัญญานั้น ทำให้หลุดไปได้ จากการที่ถือว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้เป็นตัวตนของเรา.

ควรจะหยุดกันแค่นั้น ไม่มีตัวตนอีก เขาก็จะให้มีตัวตนอีก; ฉะนั้น คุณก็ควรจะทราบไว้ แล้วก็ไม่ต้องไปเถึยงกัน. บางทีจะเป็นเอามาก ถึงกับเถียงกัน ในระหว่างกันเอง ในชาวพุทธกันเอง แล้วทะเลาะกัน นี้อย่าไปเถียงกัน กับฝ่ายที่เขามีตัวตน แล้วก็ยังมีที่รวม แห่งตัวตน ทำนองพระเจ้า พระเป็นเจ้าตัวตน ธรรมดาของคนๆหนึ่ง เป็นปัจเจกชน นี้ก็เรียกว่า อาตมัน หรือ เรียกเป็นบาลีว่า อตฺตา นี้มีตัวตนเป็นใหญ่ เป็นสากลทั่วไปหมด ก็เรียกว่า ป-ร-ม อัตตา หรือ ปรมาตมัน. ถ้ามีพระเจ้า มีพรหม มีอะไร เขาก็ไปอยู่ที่นั่น อยู่ที่ปรมาตมัน เขาไปจบที่นั่น เป็นนิรันดรที่นั่น คือ ไปอยู่อย่างนิรันดร. มีการอยู่อย่างนิรันดร.

ทีนี้ ของเรามันก็ว่า ว่างอย่างนิรันดร คือไม่มีตัวตน อย่างนิรันดร; ส่วนรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันก็กระจายออกไป เป็นธาตุ: ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ หรือว่าจะเป็น รูปธาตุ เวทนาธาตุ สัญญาธาตุ สังขารธาตุ วิญญาณธาตุ ก็ได้ทั้งนั้น มันเหลือกระจายลงไป เป็นธาตุ ไม่ใช่เป็นตัวตน หรือ เป็นพระเจ้าอะไร คนโบราณเขาก็พูดเป็นว่า ตายลง ดินก็ไปเป็นดิน น้ำก็ไปเป็นน้ำ ไฟก็ไปเป็นไฟ ลมไปเป็นลม อากาศก็ไปเป็นอากาศ; แต่ที่ว่า วิญญาณไปเป็นวิญญาณ ธาตุนั้น เขาพูดไม่เป็น ปู่ ย่า ตา ยาย เราพูดไม่เป็น.

นี่เป็นเหตุให้เราเห็นได้ว่า คนบางพวกเขา ได้รับคำสั่งสอนอย่างฝ่ายโน้น อย่างฝ่ายมีตัวตนแน่นแฟ้น เหมือนกัน อ้าว! มันกลายเป็น เรื่องประวัติศาสตร์ ไปแล้ว ไม่ใช่ประยุกต์แล้ว คือจะบอกว่า ลัทธิฮินดู ที่สูงขึ้น เป็นลัทธิพราหมณ์ ลัทธิอะไรนี้ มันมาก่อน มาสู่แผ่นดินแถวนี้ก่อน แล้วเขาก็เลยสอนไว้ในรูปนั้น กระทั่งภาษา ก็ภาษาของคน พวกนั้นก่อน มาก่อนจึงมาเป็น ภาษาสันสกฤต. ถ้าคุณยังไม่เข้าใจ หรือไม่ทราบ ก็ระวังหน่อยนะ ภาษาสันสกฤต กับ ภาษาบาลี นั้น ไม่ใช่อันเดียวกัน; พวกพราหมณ์ พวกอะไรที่เขาเป็น ครูบาอาจารย์ นั่น เขาใช้ ภาษาสันสกฤต, แล้วเขามาก่อน ฉะนั้นเขาสอนภาษาสันสกฤต ให้แก่คนที่อยู่แถวนี้ก่อน แล้วเขาก็ เอาวัฒนธรรม อย่างอินเดีย มาให้ เขาสอนศาสนา ให้อย่างที่เขาถืออยู่; ฉะนั้น เขาก็สอน เรื่องตัวตน มีตัวตน เวียนว่ายตายเกิด เรื่อยไป จนกว่าจะไปอยู่ กับพระเจ้า หรือ พระพรหม หรือ อัตตาใหญ่ บรมอัตตา.

พวกบรรพบุรุษของเรา เคยได้รับคำสั่งสอน อย่างที่กล่าวนี้มาแล้ว ครั้นพระพุทธศาสนาเข้ามา นี้ก็ยาก ยากที่จะมาทำลาย ความรู้อันก่อนได้ เพราะความรู้ก่อนนั้น มันเข้ารูปกัน กับความรู้สึกในสามัญสำนึก ของคนทั่วไป คือมีตัวตน; ตัวตน มันเข้ารูปกัน ได้ง่าย มันเห็นได้ง่าย มันตรงกับ สัญชาตญาณ อะไรทุกอย่าง แล้วเขาก็รู้กัน อยู่อย่างนั้น แล้วก็พูดกันอยู่ โดยโวหาร อย่างนั้น ทั้งบ้านทั้งเมือง ทั่วไปหมด นี้ปัญหา มันมาตกอยู่ แก่พวกเรา รุ่นนี้ ที่ต้องการ จะศึกษา พุทธศาสนา ให้รู้จริง ในข้อที่ว่า ไม่มีตัวตน มันก็เลยต้องศึกษา กันอย่างที่เรียกว่า ตรงกันข้าม. ฉะนั้น ผมจึงพูดให้ฟัง ในลักษณะอย่างนี้ ให้มันเข้าใจได้ จะให้มัน มาประยุกต์ ในทางประวัติศาสตร์ก่อน แล้วก็จึงมาถึง เรื่องของการปฏิบัติ.

การศึกษาเรื่องไม่มีตัวตน จำต้องอนุโลมตามความรู้สึกสามัญสำนึกก่อน

ทีนี้ก็จะนึกกันออกไปถึงข้อที่ว่า พุทธศาสนายอมรับ ทั้งว่า มีตัวตน แล้วก็ยืนยัน ทั้งในข้อที่ว่า ไม่มีตัวตน. เราจะถือว่า พุทธศาสนา พูดอย่างไรกันแน่ นี้พูดอย่างไร จึงจะไม่ขัดกัน กับข้อที่ พระพุทธเจ้า ท่านตรัส ชวนคนหนุ่ม พวกนั้นว่า มาหาตนกัน ท่านตรัส ชวนคนหนุ่ม พวกนั้นว่า "มาหาตนกันนา, มาแสวงหาตนกันนา" มันก็มีปัญหาที่ว่า เขามีความสนใจ ขึ้นมาอย่างไร? แล้วท่านใช้ โวหารอย่างนี้ว่า "มาหาตน" นี้ มันเป็นโวหาร ชั้นไหน? เราจะต้องถือว่า คนหนุ่ม ที่เป็นชาวบ้านธรรมดา กลุ่มนั้น เขาก็ต้อง มีการศึกษา ได้รับการอบรม สั่งสอน ในทางลัทธิศาสนา ว่ามีตัวตน เป็นแน่นอน ตามธรรมเนียม ตามแบบของ บุคคลทั่วไป ในยุคนั้น; ฉะนั้น เมื่อพระพุทธเจ้า ท่านตรัสว่า มาหาตนกันซิ พวกนั้นยินดีรับทันที ยินดีที่จะสละ แก้วแหวน เงินทอง ที่ผู้หญิงคนนั้น เขาขโมยไป เขาคงจะรู้สึกว่า ตัวตนๆ ที่เราเคยรู้ เคยได้ยิน ได้ฟังกันมาก่อน นั้นแหละ เราจะได้พบกัน คราวนี้แหละ โดยครูคนนี้ จะเป็นผู้ช่วย ให้พบตัวตน ฉะนั้น จึงมายอมให้ทำการ แสวงหาตัวตน.

ทีนี้ เมื่อมีการแสวงหาตัวตน กันเข้า กลับพบว่าไม่มีตัวตน ก็เป็นเรื่องที่น่าหวัว; เพราะว่า จุดหมาย ของการแสวงหานั้น คือ ความไม่มีตัวตน, หรือจะพูดว่า "หาตนดีกว่า ก็หาจนพบว่า ไม่มีตัวตน หรือ จะเลยไปถึงว่า ฝึกตนดีกว่า ก็ฝึกๆๆๆจนตนมันหมดไป นั่นแหละ ฝึกตน; ฉะนั้น คำว่า "ได้ตนมา" หรือ ได้สิ่งที่ดีที่สุด ที่ตนควรจะได้นี้ ก็กลายเป็นความจริงที่ว่า ไม่มีตัวตน. พูดสั้นๆ ก็ว่า หาตนจนพบ แล้วเอาสิ่งที่พบสูงสุดนั่นแหละ มาเป็นตัวตน เช่นว่า พบความไม่มีตัวตน จนจิตไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ก็เลยบรรลุนิพพาน ไม่มีความทุกข์เลย ก็เอานี้เป็นตัวตน มันก็เป็นได้.

ในชั้นแรกมันก็เป็นได้ คือ เอานิพพานเป็นตน โดยมาดหมายไว้ หรือ โดยยังไม่เข้าใจถึงที่สุด; ฉะนั้น การปฏิเสธครั้งสุดท้าย ในพระคัมภีร์ ทางพุทธศาสนา ก็คือ ปฏิเสธ นิพพาน นั่นแหละว่า ไม่ใช่ตน , ไม่ใช่ตนของนิพพาน, ไม่ใช่นิพพานเป็นตนของเรา, ไม่ใช่นิพพานเป็นตน ของนิพพาน, ตนของเราก็ไม่มี ตนของนิพพานก็ไม่มี; นี่การพบตนคือ พบอย่างนี้, ฝึกตน ก็คือ ฝึกจนรู้สึกอย่างนี้; ทำตนให้เป็นที่พึ่งของตน ก็เป็นคำพูดสมมติ ไปทันทีว่า เอาตนสมมตินี้ มาเป็นตน เอามาเป็น ที่พึ่งของตน ความดับทุกข์ หรือ นิพพาน ก็เป็น ของสมมติ ว่าเป็นตน.

เราไปแยกเอาเองเถอะว่า ในประโยคไหนพระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่าง ทิฎฐธัมมิกโวหาร พูดกับชาวบ้านธรรมดา; ถ้าอย่างในสมัยนี้ ก็เรียกว่า คำพูดประเภทโฆษณาชวนเชื่อ. คำพูดประเภทชวนเชื่อนี้ ไม่ต้องอาศัยความจริง ทุกกระเบียดนิ้วมาพูด; มันเป็นความมุ่งหมาย ให้เกิดความสนใจ แล้วติดตามไป ติดตามไป จนกว่าจะถึงที่สุด ของเรื่องนั้น ฉะนั้นการที่พระพุทธเจ้า ท่านตรัสใ นบางประโยค แก่บุคคลบางคน ในบางครั้ง นั้นก็ว่า มีตน เป็นการพูดกันอย่าง ทิฎฐธัมมิกโวหาร หรือ มิฉะนั้น ก็คล้ายกับ เลยไปถึงกับว่า เอาสิ่งสูงสุดที่ดีที่สุด มาเรียกอย่างว่า มีตัวตน สำหรับคนพวกนี้ อย่างขอไปทีก่อน; เพราะว่า ทุกคนรักตน ยิ่งกว่าสิ่งใดหมด; ถึงแม้พระพุทธภาษิต ก็มีว่า "ไม่มีสิ่งใดเป็นที่รัก เสมอด้วยตน". ฉะนั้นคนหนุ่มเหล่านั้น พอได้ยินว่า แสวงหาตนอย่างนี้ เขาก็สมัครเต็มที่ เพราะว่ารักตน เหลือประมาณ อยากจะให้ตน ปรากฏเด่นชัด ออกมา อยู่ในความรู้สึก ของเรา อยู่ในความ ยึดครอง ของเรา เป็นความสุขอะไร ของเรา นี่เรื่องของตน หรือ มิใช่ตน ที่พูดกันไม่รู้จักจบจักสิ้นนั้น มีใจความ ของเรื่อง เพียงเท่านี้.

มีปัญหาว่า ถ้าไม่มีตน ทำให้หมดกำลังใจ ต้องพิจารณาให้ถูก

ทีนี้ ปัญหาที่ตามมา เป็นปัญหา อยู่ข้างๆ สำหรับพวกเราเดี๋ยวนี้ มันก็เกิดขึ้นอีก; อย่างคุณอาจจะกำลังนึกหรือสงสัยอยู่ว่า ถ้าเราไปถือว่า ไม่มีตนอย่างนี้ มันก็เป็นเรื่อง ล้มละลาย ยิ่งกว่า การล้มละลายใดๆ หมด คือ จิตมันจะไม่มีกำลัง ไม่หวังอะไร ไม่ต้องการอะไร มันก็ไม่ทำอะไร มันก็จะไม่เรียนอะไร หรือ ไม่ทำอะไรเอาเสียเลย แล้วบางคน ก็ถือว่า คำสั่งสอนข้อนี้ ในพระพุทธศาสนา นี่เป็นอันตราย แก่บ้านเมือง เป็นอันตราย แก่ประเทศชาติ เพราะจะทำให้ คนไม่ทำอะไร ไม่ต้องการอะไร ไม่ทำอะไร หรือว่า ไม่มีกำลังใจ จะทำอะไร.

นี่คุณจะโทษใคร: จะโทษหลักพระพุทธศาสนาที่มีอยู่อย่างนี้ หรือ จะโทษว่า พระพุทธเจ้าตรัสไว้ไม่มีประโยชน์อย่างนี้, หรือจะด่าผมว่า เอาเรื่องที่ไม่ควรพูดมาพูด ซึ่งผมถูกด่าอยู่ตลอดเวลาหลายปีมาแล้ว ว่า เอาเรื่องที่ไม่ควรจะพูดมาพูด มาเปิดเผยอย่างนี้ ก็ลองคิดดูเถอะ มันก็เป็นประยุกต์เหมือนกัน คือ เขาต้องผ่านไปให้ได้ เกี่ยวกับข้อนี้ ผมยืนยันเต็มที่เลยว่า มันไม่ใช่อย่างนั้น ความรู้เรื่อง ไม่มีตัวตนนี้ ไม่ได้ทำใคร ให้หมดเรี่ยว หมดแรง ที่จะทำการ ทำงาน ความรู้นี้ ถ้ารู้กันจริงแล้ว จะทำให้ ทำงานสนุก ทำงานไม่เหนื่อย หรือว่า ทำงานอย่างไม่เห็นแก่ตน เป็นการทำงานที่ประเสริฐกว่า, แล้วความรู้นี้ มันประเสริฐที่สุด ตรงที่ว่า จะนำมาซึ่งสันติภาพแก่มนุษย์

มนุษย์จะไม่มีสันติภาพ ทั้งโลกและตลอดกาลนิรันดร; ถ้ามีตัวตนจัดแล้ว ไม่มีสันติภาพได้ คือพอเกิดขึ้นเท่านั้น ในภายในของคนๆหนึ่ง ก็ไม่มีสันติสสุขแล้ว เพราะพอยึดถืออันนี้เป็นหลัก มันเห็นแก่ตน เห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นศัตรูอันร้ายกาจของมนุษย์ ความเห็นแก่ตัว เป็นสิ่งที่ เลวร้ายที่สุด ของมนุษย์ ทำให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง แล้วทำให้ เดือดร้อน กันไปทั้งโลก ตลอดกาลนิรันดร เหมือนกัน ถ้าเข้าถึงอนัตตาโดยถูกต้อง ต้องใช้คำว่า "โดยถูกต้อง" คุณต้องขึดไว้ว่า โดยถูกต้อง เพราะมัน โดยผิดก็ได้; ถ้าเข้าถึงความรู้ เรื่องอนัตตา โดยถูกต้อง จึงจะมีผลดี ทั้งส่วนบุคคล และส่วนรวม ของสังคม

ที่ว่า โดยไม่ถูกต้องนั้น คือ โดยมิจฉาทิฎฐิ โดยอันธพาลนั้น เหมือนพวกจิตว่างอันธพาลนั้น เขาว่า เอาอย่างนั้น ไม่มีเหตุ ไม่มีผล ว่าจิตว่างแล้ว มันก็กอบโกยเห็นแก่ตน ไม่ต้องถือธรรมะอะไรเมื่อจิตว่าง, ที่แท้ ถ้าจิตว่างแล้ว ทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะจิตมันว่าง จากความเห็นแก่ตน ว่างจากความหมายมั่นว่า เป็นตัวตน หรือเป็นของตน ฉะนั้น จิตว่าง มันทำอย่างนั้นไม่ได้ จะทำได้ แต่ที่ถูกต้อง บริสุทธิ์ งดงาม เป็นธรรมอะไรนั้น แต่ก็มี พวกจิตว่าง อันธพาล ที่เข้าใจคำว่า จิตว่างผิด ที่เขาไปเขียนด่า เขียนล้อว่า พอจิตว่าง ก็จะไม่ทำอะไร ที่เป็นประโยชน์ แก่ประเทศชาติ อย่างนี้ก็จะอย่างเดียวกัน หรือ ความหมายเดียวกันกับที่ว่า ถ้าเห็นอนัตตาแล้ว ก็จะไม่ทำอะไร ที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง หรือ แก่ผุ้อื่น. นี่ในที่สุด มันก็เหลือ คาราคาซังอยู่ เป็นสิ่งที่เข้าใจไม่ได้ สำหรับผู้ที่ไม่ถึง : ความรู้ไม่ถึง, สติปัญญายังไม่ถึง ก็ยังมีตัวตนอยู่เรื่อยไป.

เรื่องมันก็เหลืออยู่ว่า ต้องทำความเข้าใจ ทำให้เข้าถึง ทำให้มองเห็น นับตั้งแต่ ข้อเท็จจริง อันแรก ว่า ไม่มีอะไร ที่ควรเรียกว่าตัวตน, แล้วข้อเท็จจริง อันที่สอง ก็คือว่า เมื่อคนมีความรู้สึก ถึงขั้นนี้แล้ว จะไม่มีความทุกข์เลย แล้วข้อเท็จจริง อันที่สาม ต่อไปอีก ก็คือว่า เขาจะเป็นคนที่ ทำประโยชน์ผู้อื่น ได้มากที่สุด เพราะ ไม่มีความเห็นแก่ตัว. เรื่องที่เราจะประยุกต์ ก็ควรจะเป็น ๓ ข้อนี้คือ :-

ข้อที่ ๑. ทำการศึกษาในภายใน จากความรู้สึกโดยตรงในภายใน ทุกเรื่องทุกราว จนเห็นว่า อ้อ, นี่มันเป็นธรรมชาติปรุงแต่งของจิต เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า ตัวตน เป็นมายา; แต่เมื่อไม่รู้ว่าเป็นมายา มันก็ยึดมั่นเป็นตัวตน เราก็เป็นทุกข์อยู่ทุกที ที่มันเกิดขึ้น จนถึงกับ พูดได้ว่า ทุกทีที่ตัวตนเกิดเป็นความรู้สึกขึ้นมา แล้วเราก็ต้อง เป็นทุกข์ทุกที เหมือนกัน

ข้อที่ ๒. อาการอย่างนี้ ไม่มีประโยชน์ ที่จะอ่านจากหนังสือ หรือว่า ฟังผมพูด หรือเชื่อตามคนอื่น ไม่มีประโยชน์เลย; พอมาถึงขั้นนี้ ต้องกำหนดเอา ที่ความรู้สึก ในภายใน ความรู้สึกชนิดนี้ เป็นตัวตน ที่ตรงไหน แล้วเกิดขึ้นมา แล้วมันเผาลนอย่างไร นี้เรียนจากข้างในนี้ แล้วประยุกต์ต่อไป ก็คือว่า คอยเฝ้าดูว่า เมื่อไม่เกิดความรู้สึกอันนี้ ทำไมมันจึงรู้สึกสบาย สบายบอกไม่ถูก หรือมันกลัดกลุ้ม อยู่ด้วยความรู้สึกอันนี้ พอเราสลัดออกไปได้ มันก็สบาย บอกไม่ถูก อีกเหมือนกัน, ความไม่มีตัวตน อยู่ในจิต มันสบาย บอกไม่ถูก.

ข้อที่ ๓. ถึงข้อที่เกี่ยวกับผู้อื่น คนที่มีจิตอย่างนี้ เอาตัวเองเป็นหลัก ก็แล้วกัน ว่าจะขี้เกียจไหม, จะนอนเสียไหม, หรือว่า เมื่อไม่มีตัวตนนี้แล้ว มันจะมีเมตตา กรุณา ต่อผู้อื่น โดยอัตโนมัติ เช่น พระพุทธเจ้า หรือ พระอรหันต์ ทั้งหลาย ท่านก็ไม่ได้ขี้เกียจ ไม่ได้นอนเสีย ไม่ได้เห็นแก่ ความสุขส่วนตัว มันมีกำลังอะไรอันหนึ่ง คือกำลัง ที่ว่างจากตัวตน นั่นแหละ เชื้อเชิญท่าน ไปช่วยทำประโยชน์ แก่ผู้อื่น; พูดอย่าง สัมปรายิกโวหาร สูงสุด ก็ต้องบอกว่า ความว่างนั่นแหละ คือเมตตากรุณาสูงสุด.

ผมเคยพูด แต่ทุกคราว ไม่มีใครเข้าใจ รวมทั้ง คนชั้นครูบาอาจารย์ แม้พวกฝรั่ง ชั้นครูบาอาจารย์ เขาก็ไม่เข้าใจ เมื่อพูดว่า ความว่างนั่นแหละ คือ เมตตากรุณา ถึงที่สุด; เพราะเขาพูดว่า ต้องมีคน ๒ คน คนหนึ่งเมตตา และอีกคนหนึ่ง รับการเมตตา มีทั้งสองตน สองตัว จึงจะมีเมตตา ขึ้นมาได้ และรักใคร่ อะไรกัน ให้ถึงที่สุด นี่ก็ไปตามแบบนั้นแหละ มีตัวตน แต่เราบอกว่า พอว่างจากตัวตน เป็นสุญญตา จิตเข้าถึงสุญญตานี้ ความเห็นแก่ผู้อื่น ความรักผู้อื่นนั้น เป็นอัตโนมัติ แล้วก็ถึงที่สุด นี้ก็ไม่มีทาง จะพิสูจน์ เพราะว่า เขาก็ยังไม่หมดกิเลส เราก็ไม่ทำให้ เขาเข้าใจได้ ในเรื่องของการหมดกิเลส ก็ได้แต่ฝากไว้ เรื่องนี้จึง ถึงได้ ฝากไว้ ให้พวกคุณเอาไปคิดดู ก็แล้วกัน พอไม่เห็นแก่ตัว เมื่อไร นั้นแหละ คือเมตตาถึงที่สุด นี้เรียกว่า เรื่องตัวตน หรือ มิใช่ตัวตนนี้ มันเกี่ยวพันกัน จนกระทั่ง ถึงเรื่องสันติภาพ สันติสุข ของมนุษยชาติ คือมนุษย์ทั้งหมด.

สรุปความ กันเสียทีก็ว่า ไปสังเกตุดูให้ดีว่า ที่เราจะต้องพูด ตามความรู้สึก หรือ พูดกับ คนที่ยังมีความรู้สึก แบบมีตัวตน ก็ต้องพูดว่า มีตัวตน; เราก็อยู่ในพวกนั้น และเราก็ไม่อาจจะ มองเห็นความจริง หรือ ข้อเท็จจริงอะไร ของพวกที่ หมดกิเลสตัณหาได้ จึงต้องพยายามต่อไป ตามที่ท่านแนะไว้ ว่าให้พิจารณาอย่างไร จึงจะเห็นว่า อ้าว, มันไม่ใช่ตัวตน มีแต่การปรุงแต่งของ ธาตุดิน ธาติน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ หรือว่า ธาตุรูป ธาตุเวทนา ธาตุสัญญา ธาตุสังขาร ธาตุวิญญาณ เป็นต้นแล้ว ก็เลยเป็น เรื่องสูงสุด ในพุทธศาสนาไป

เดี๋ยวนี้ผมก็ กำลังทำผิด ก็ได้ คือ ทำผิดตรงที่ว่า เอาเรื่องสูงสุด มาพูดเป็น เรื่องเบื้องต้น และพูดแก่พวกคุณ ที่กำลังจะเริ่มการศึกษา อย่างนี้; แต่ผมก็ไม่ทราบว่า จะทำอย่างไร เพราะเรื่องมัน เนื่องกัน แยกกัน ไม่ออก คุณจะทราบ หรือ ไม่ทราบ ก็ตามใจ ตามข้อเท็จจริง แล้วมันไม่ได้มีตัวตน; แต่เดี๋ยวนี้ คุณก็มีความรู้สึก อย่างคนธรรมดาสามัญ ก็ว่ามีตัวตน ก็ต้องสอนกันต่อไปว่า ให้รักตน ให้พยายามช่วยตน ถอนตน เหมือนกับที่ หมายมั่นปั้นมือไว้ : จะเล่าเรียน จะประสบความสำเร็จ ในการเรียน ในการงาน ในการเป็นพลเมืองที่ดี ของประเทศชาติ แต่ถ้ามันเป็นทุกข์ เพราะเหตุนั้นละก็ รีบสนใจเรื่องนี้ สนใจเรื่องที่มี หมายมั่นเป็นตัวตน, แล้วก็รีบถือเอาประโยชน์ ให้ได้ตรงที่ว่า ถ้ายังมีตัวตนอยู่ ก็ช่วยตัวตน ให้ได้เสียก่อน.

เดี๋ยวนี้ อยากจะไปช่วย พวกชนกรรมาชีพ กันใช่ไหม? ช่วยตัวตนได้หรือยัง? ลัทธิที่มันทำให้เกิด แบ่งแยกเป็นนายทุน เป็นชนกรรมาชีพ อะไรนี่ ก็ดูเอาเถอะ มันก็คือ เรื่องตัวตนทั้งดุ้น แล้วเรายังไม่รู้ว่า เราอยู่ที่ไหนสักที; เรามีจุดยืน อยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ ตัวตนของเรา เราก็ไม่รู้จัก ยังแก้ปัญหาของตัว ก็ไม่ได้, แล้วก็จะไป ช่วยผู้อื่น มันก็เป็น เรื่องน่าหวัว พอๆ กันกับที่พูดว่า คนหนุ่มพวกนั้น เขาจะไปตามหาผู้หญิง ไม่ตามหาตัวเอง ให้พบเสียก่อน.

ขอให้หมดปัญหา สำหรับจะทะเลาะกัน ในเรื่องนี้เสียที ว่า ถ้าพูดอย่าง ทิฎฐธัมมิกโวหาร ตัวตนมี; แต่พูดอย่าง สัมปรายิกโวหาร ตัวตนไม่มี ให้รู้จักเสีย ทั้งสองอย่าง. นี่เป็นการประยุกต์ ลัทธิคำสอน เรื่องอัตตา เรื่องอนัตตา อย่างดีที่สุด อยู่ที่ตรงนี้ วันนี้ก็กล่าวไว้ เพียงหลักใหญ่ๆ ที่เป็นใจความสำคัญ ซึ่งมีอยู่อย่างนี้ รายละเอียด ปลีกย่อย นั้น มีอีกมาก ไปติดตามศึกษา แล้วจะค่อยๆ เข้าใจยิ่งขึ้นไปตามลำดับ.

เวลาสำหรับพูดหมดแล้ว เหลืออยู่เป็น เวลาสำหรับถาม ฉะนั้น ถ้าใครมีความสงสัย จะถามอะไร ก็ถามได้ ในขอบเขต ของประเด็นที่ว่า ตัวตน หรือ มิใช่ตัวตน.

คำอธิบายตอบปัญหา

(ถาม) ที่อาจารย์บอกว่า คนที่ละตัวตนได้ จะช่วยเหลือสังคม ไม่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ ประโยชน์ ของคนอื่น แล้วจะเอาอะไร มาวัดว่า คนที่กระทำตัว เพื่อเห็นแก่ ประโยชน์แก่สังคม ไม่มีตัวตน อย่างเช่น พวกที่ไป ช่วยเหลือชนบท ไปช่วยเหลือ อะไรต่ออะไร ทำเพื่อคนอื่น ทุกอย่าง แล้วเราจะบอกได้อย่างไรว่า เขายังมีตัวตนอยู่ ที่อาจารย์ว่ามีตัวตน.

(ตอบ) อ้าว! คนที่มีตัวตนนั้น ก็อยากได้ หรือประสงค์อะไรหลายๆ อย่าง ตามอำนาจของสิ่งที่เรียกว่า ตัวตน คือ ความรู้สึกที่เป็นตัวตน ที่เป็นมายา ถ้าเรามีความรู้สึกตามธรรมดาสามัญ ขั้นรุนแรง ในเรื่องตัวตนอย่างนี้ เราก็จะหมายมั่นปั้นมือมาก ในเรื่องกิน กินอย่างวิเศษเลย, แล้วก็ หมายมั่นปั้นมือมาก ในเรื่องกาม ในเรื่องกามารมณ์ แล้วก็อันสุดท้าย ก็หมายมั่นปั้นมือมาก ในเรื่องเกียรติ แล้วเราก็เอาตัวตน แบกเกียรตินี้ ไปช่วยกลุ่มไหนก็ได้ ที่เขาถือว่า ควรจะช่วย ถ้าว่าไปช่วย ชนกรรมาชีพ ด้วยตัวตน ที่แบกเกียรติ ไปนี้ ก็เรียกว่า ไปด้วยอำนาจของตัวตน; แต่ถ้าว่าไปด้วย ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี เมตตากรุณา อันบริสุทธิ์ ก็เรียกว่า ด้วยความไม่เห็นแก่ตน อย่างเดียวกับ ที่พระพุทธเจ้า ท่านทรงลำบาก เหลือประมาณ ไปช่วยเหลือ สัตว์ทั้งหลาย. เพราะฉะนั้น การช่วย ก็เกิดมีอย ู่เป็น ๒ ชนิด : ในจิตใจ ไปช่วยด้วยอำนาจแห่งตัวตน แม้ตัวตนอย่างดี อย่างมีเกียรตินี้ มันก็อย่างหนึ่ง ช่วยด้วยความไม่เห็นแก่ตัว แต่เห็นแก่ ความยุติธรรม หรืออะไร ก็มีอยู่อีกอย่างหนึ่ง.

ทีนี้ ตัวเองไปช่วย หรือไปทำหน้าที่นี้ ด้วยความรู้สึก อย่างไหน ตัวเองก็รู้เอง คนอื่นไม่ควร จะไปบอก หรือบอกไม่ได้ เพราะมันเป็น ความรู้สึกส่วนตัว; ฉะนั้น เราก็ทดสอบตัวเองดู ที่เราจะทำอะไร ในเรื่องการเมือง หรือเรื่องอะไรต่างๆ ของโลก ช่วยโลกอะไรนั้น มันทำด้วยอะไร เราอาจจะหวังถึงว่า ช่วยโลกทั้งโลกก็ได้นา ไม่ใช่เฉพาะช่วย ชนกรรมาชีพ แต่มันด้วยความรู้สึก นึกคิดของอะไร; ถ้าของตัวตน มันก็ ของตัวตน นั่นแหละ ถ้าของตัวตน มันจัดๆ หนักเข้า มันก็ไม่คิดกลัวตาย เหมือนกัน ไม่กลัวตาย ไม่คิดตาย เสียสละ ถ้ามันเป็นเรื่องจริง เรื่องตรง มันก็มีประโยชน์ ไปตามแบบ ของผู้มีตัวตน เขาเรียกว่า ดี; แต่ถ้าว่ามันอยู่เหนือความมีตัวตน ละก็ มันเหนือดี พ้นดี ไม่เกี่ยวกับว่าดี ไม่เกี่ยวกับเกียรติ ไม่เกี่ยวกับ อะไรหมด.

จะต้องเข้าใจคำพูดนี้ให้ดีๆ ว่า พระพุทธเจ้า ท่านไม่ได้ทำอะไร เพื่อดี หรือ เพื่อเกียรติ หรือเพื่อบุญ หรือ เพื่อกุศล แรกศึกษา อาจจะไม่เข้าใจ ข้อเหล่านี้ก็ได้ ว่า ท่านเหล่านั้น ไม่ได้ทำเพื่อบุญ เพื่อกุศล เพื่อดี เพื่อเกียรติ เพื่อตัวตนอะไรนี้ ทีนี้เรานี่แหละ ถ้ามีตัวตน จะทำเพื่อดี เพื่อบุญ เพื่อกุศล เพื่อเกียรติ เพื่ออะไร ซึ่งเอามาเป็น ของกูทั้งนั้น เป็นเกียรติของกู เป็นบุญกุศลของกู เป็นความดีของกู มันต่างกันอยู่ แล้วทำไปในโลก ทำไป ตามมาตรฐาน อย่างโลกๆ ในความหมาย อย่างโลกๆ มันก็ได้ผล อย่างโลกๆ คือได้ดี ได้เกียรติ ได้อะไรก็สุดแท้.

ทีนี้ ถ้าว่าช่วยได้จริง มีสติปัญญาเพียงพอ มันก็จริง ก็ควรจะสรรเสริญว่า มันจริง ถูกต้องแล้ว อย่างโลกๆนี้ แต่ส่วนมาก ถ้ามันกลัดกลุ้ม อยู่ด้วยตัวกู แล้วเป็นคนหน้ามืด ก็ไม่มีสติปัญญาเพียงพอ ที่จะแก้ปัญหาต่างๆ อันลึกซึ้งนี้ได้ ใครเคยเห็นคนพวกไหน ผู้นำประเทศไหน ที่เต็มปรี่ อยู่ด้วยตัวตนนี้ ช่วยแก้ปัญหาใดๆ ในโลกได้.

ถ้าจะแก้ได้แท้จริง ต้องประกอบด้วยธรรม คือ ไม่เห็นแก่ตัว ถ้าแก้ได้เพียงแต่ว่า เพื่อประโยชน์ของตัว เพื่อรอดของตัว เพื่ออะไรของตัวนี้ มันก็ยังไม่จริง มันยังเป็นเรื่องโลกๆ เรามานึกถึง พระโพธิสัตว์. พระโพธิสัตว์ นั้นไม่ใช่พระพุทธเจ้า และไม่ใช่พระอรหันต์; มีอุดมคติ ช่วยผู้อื่น โดยไม่เห็นแก่ชีวิต ของตัว เป็นอุดมคติ พระโพธิสัตว์; ฉะนั้นเป็น ผู้มีตัวตนอย่างดี ไม่ใช่เป็นผู้พ้น จากตัวตน ที่เรียกว่า พระโพธิสัตว์สูงสุด จะเป็นพระพุทธเจ้า แล้วนั่นแหละ ยังมีตัวตนนะ แล้วก็มีตัวตน อย่างดีที่สุด เพราะเขาฝึกฝน มาแต่อย่างนั้น; จะช่วยผู้อื่น โดยไม่มีความหมาย แห่งชีวิตของตน บางทีจะช่วย อย่าง งมงาย ก็ได้ เพราะเอาผล เพียงแค่ เราไม่เห็นแก่ตน เท่านั้น อาจจะทำไปอย่าง งมงาย ได้ประโยชน์น้อยก็ได้ แต่มันได้ประโยชน์มาก ตรงที่ว่า ส่วนตัวเขานั้น ก็ไม่เห็นแก่ตน จะทำลายความรู้สึกว่า ตน นี้ อย่างนี้ก็เรียกว่า เป็นอุดมคติ แบบโพธิสัตว์ ก็ยังมีตัวตน ยึดมั่นในความดี

นี้เราอยู่ในพวกไหน ก็ไปทดสอบเองเถิด ถ้าเครียดด้วยตัวตน ก็ทำความดี ได้มากที่สุด และไม่มีตัวตน มันก็พ้นดีไป หรือ จะต้องจัดว่าเป็นดี อีกชนิดหนึ่ง อีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่ดี ตามความหมาย ที่ใช้อยู่ในโลกนี้. เราได้รับการสั่งสอนอบรม ให้เห็นแก่ตัว มาตั้งแต่เล็กแล้ว ไปคิดดู ตั้งแต่เล็ก สิ่งแวดล้อมทั้งหลาย จะแวดล้อมให้เห็นแก่ตน มีตัวตน มีของกู มีตัวกู กระทั่งว่า มีตัวกูใหญ่ ออกไป ใหญ่ออกไป เป็นบ้านเมืองของกู ประเทศของกูก็ได้ นี้เขาไม่ได้ถือว่าผิด แต่เป็นธรรมดา ถ้าว่า หมายมั่นมาก ก็เป็นทุกข์ด้วย ฉะนั้น ถ้าไม่ต้องเป็นทุกข์ ไม่ดีกว่าหรือ แล้วก็ทำประโยชน์ ได้เหมือนกัน หรือทำประโยชน์ ได้ดีกว่า ฉลาดกว่า.

โมก-ยุก ๑๗.ค/๔๐๘-๔๒๕

 

BACK 

 

คัดจาก หนังสือ ธรรมานุกรมธรรมโฆษณ์ ฉบับประมวลธรรม เล่ม ๒ เรียบเรียงโดย นาย พินิจ รักทองหล่อ พิมพ์ ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๔๐ โดย ธรรมทานมูลนิธิ