Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
 



 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

"ประโยชน์ของเก้าอี้มีก็ต่อเมื่อมันว่าง"

 

 

มีตน ทั้งที่ไม่มีตน

ศาสนาพุทธ สอนให้รู้จัก มีตัวตนชนิดที่ไม่ใช่ตน; "ไม่ใช่ตน" นี้ หมายความว่า สัญชาตญาณ แห่งความรู้สึก ว่า "เรามีอยู่" นี้ ต้องถูกควบคุม; egoism ที่มัน เจริญวัฒนา ขึ้นมา เรื่อยนี้ ต้องถูก ควบคุม ยิ่งขึ้นๆ ยิ่งขึ้น ตามส่วน ที่มันวิวัฒนา เหมือนกัน; ไม่อย่างนั้น มนุษย์จะมี ความทุกข์ มากกว่า สัตว์เดรัจฉาน แล้วก็ มากกว่า ต้นไม้ มากกว่า อะไรอีกมาก มากจน เหลือที่จะ เป็นมนุษย์ ที่สมควร แก่คำว่า "มนุษย์" คือ มันมีความทุกข์ มากเกินไป. ฉะนั้น ความรู้ อันนี้ เกิดขึ้น เป็นความรู้ สำหรับ ควบคุมความรู้สึก ที่ว่า เรามีอยู่ หรือ ตัวกูมีอยู่ นี่ ให้มัน ไม่เป็นอันตราย. ความรู้ ส่วนนี้ เราเรียกว่า อภิธรรม ในที่นี้ เพราะคำอื่น ก็ไม่เหมาะ.

นี่อยากจะให้ สูตรท่องจำ formula สำหรับท่องจำว่า "คนมีได้ ทั้งที่ไม่มีคน" ถ้าคุณเข้าใจ ประโยคนี้ ก็เข้าใจเรื่องนี้แหละ; ถ้าไม่เข้าใจประโยคนี้ ก็ไม่เข้าใจ. จะไป พูดกับชาวบ้าน หรือ จะไปพูดกับ พวกฝรั่ง อะไรก็ตาม เขาก็คงจะ หัวเราะ แล้วก็ ไม่เข้าใจ ไปจนกว่า เขาจะเข้าใจ; เพราะว่า เราพูดว่า "คนมีได้ และมีอยู่ ทั้งที่ไม่ใช่คน ทั้งที่ไม่มีคน", "คนมีได้ ทั้งที่ไม่มีคน" ให้มัน สั้นที่สุด อย่างนั้น หมายความว่า ตามธรรมชาติ อันแท้จริงนั้น มันเป็นเพียง วิวัฒนาการ ของสิ่งที่มีชีวิต : เป็นต้นไม้ เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นมนุษย์ ไปตามกฏเกณฑ์ ของธรรมชาติ แล้วก็เป็น ตัวธรรมชาติ.

ทีนี้ ในตัวธรรมนั้น มีความรู้สึกว่า เราเป็นเราเกิดขึ้นมา, เกิดขึ้นมาเข้มข้นขึ้นทุกที. ถ้าธรรมชาตินี้ยังไม่วิวัฒนาการ ความรู้สึกตัวเรา เป็นเรามันก็มีน้อย มีน้อยๆ น้อยจนแทบไม่ปรากฏ; เช่นในต้นไม้นี้ ความรู้สึกที่ว่า เราเป็นเรานี้ มันน้อยเกินไป จนไม่เป็น ความรู้สึก ที่รุนแรง หรือเดือดร้อน ต้อนไม้ก็อยู่ได้ หาเลี้ยงชีวิตได้ เจริญงอกงามขึ้นมาได้ พอเป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็มากกว่านั้น, พอเป็นคนก็มากกว่านั้น; ฉะนั้น คนจึงเป็น สัตว์รับบาป ถึงที่สุด คือ มีความทุกข์ เพราะมีตัวกู นี้ มากกว่า สัตว์เดรัจฉาน หรือ ต้นไม้

เดี๋ยวนี้ เราก็มาศึกษาเรื่องนี้เอง ให้รู้จักความเป็นคน ที่มีได้ โดยไม่ต้องมีคน แล้วควบคุมมันให้ได้; ฉะนั้น ความรู้ที่สำคัญนี้ ก็คือ ความรู้ ที่จะควบคุมความรู้สึก ว่าตัวกูนี้ให้ได้ จะเป็นการ ควบคุมชนิดที่ ไม่ให้มันทำผิด, หรือว่าจะเป็นการ ควบคุมให้มันรู้สึกว่า เป็นตัวกูเสียเลย นี้แล้วแต่ จะสามารถทำได้เท่าไร.

ดูๆ มันก็เป็นเรื่อง น่าหวัวก็ได้ น่าสงสารก็ได้; เป็นคนแล้ว ก็มาสอนกันถึงเรื่อง ให้รู้ว่าไม่ใช่คน มันยากที่จะเข้าใจ แก่คนที่หลงใน ความเป็นคนมาก โดยเฉพาะคนในสมัยนี้ แม้เรียน จากมหาวิทยาลัย เป็นโปรเฟสเซอร์; เป็นแล้วก็ ยิ่งมีความหลง ในความเป็นคนมากขึ้น.

เรื่องยากของพุทธศาสนา คือ เรื่องสุญญตา, ไม่มีคน

นี้คือ เรื่องยากของพุทธศาสนา ที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา ที่มันยากถึงขนาดที่ว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ก็ทรงลังเลว่า จะสอนดีหรือไม่สอนดี เพราะเรื่องนี้ มันลึกเกินไป. ครั้งแรก ก็ทรงน้อมพระทัย ไปในทางที่ว่า ไม่สอน มันยากเกินไป; แต่ความลังเล ยังมีอยู่ แล้วความกรุณา มันมาช่วยสมทบ พระพุทธเจ้า ท่านจึง กลับพระทัยใหม่ ว่า เอ้า, สอน เผื่อว่า คนบางคนจะเข้าใจได้.

ถ้าไม่ทรงสอน คนบางคนนั่นแหละ จะสูญเสียประโยชน์ ที่ควรจะได้รับ; ฉะนั้น จึงทรงสอน เรื่องหัวใจของธรรมะ คือ เรื่องไม่มีคน ที่เรียกว่า เรื่อง อนัตตา หรือ เรื่องสุญญตา : มีแต่ธรรมชาติ ล้วนๆ เป็นไปตาม ธรรมชาติ. ถ้าในนั้น เกิดความรู้สึกที่ถูกต้อง ก็ไม่มีทุกข์, ถ้าในนั้น เกิดความรู้สึก ที่ไม่ถูกต้อง ในธรรมชาตินั้น ก็จะเป็นทุกข์ขึ้นมา; ไม่ต้องเอา มาจากไหน เอามาจากภายใน ในตัวธรรมชาตินั้น เพราะฉะนั้น อะไรๆ มันจึง มารวมอยู่ในคน ในสิ่งที่เรียกว่า คนนี้, ปัญหาต่างๆ มันมารวม อยู่ในสิ่งที่เรียกว่า คน.

ทีนี้ คำว่า "คน" ในภาษาธรรมดา เราก็หมายถึงคนๆหนึ่ง มีกาย กับใจ เป็นคนหนึ่ง; แต่ในภาษาธรรมะ อันลึกซึ้ง คำว่า "คน" หมายถึง ความโง่. ความยึดมั่นสำคัญผิดว่า ฉัน ว่าคน คนคือผลิตผลของมิจฉาทิฎฐิ, หรือว่า ความเห็น ที่ยังไม่ตรง เข้าใจว่า เราเป็นคน นี่อย่าเอาไปปนกัน คนในฝ่ายฟิสิคส์ หมายถึง ร่างกาย ที่ยาววาหนึ่งนี้ มีความคิดนึกได้นี้; แต่คนทางฝ่าย spiritualism หมายถึง ความเข้าใจผิด ที่เรียกว่า อุปาทาน ว่า มีตัวฉัน มีคน นั้นเป็นมายา อย่างยิ่งเลย แต่ใครจะไปรู้ว่า มันเป็นมายา; เพราะว่า เมื่อจิตนี้ถือเสียว่า ฉันเป็นคน แล้วมันก็ว่า เป็นของจริง เป็นของจริงของจิต ที่กำลังไม่รู้อะไร.

ทีนี้ มันก็เกิดมี ๒ คนขึ้นมา: คนทางร่างกาย, และคนทางมิจฉาทิฎฐิ หรือ อุปาทาน. สำหรับคนทางมิจฉาทิฎฐิ หรือ อุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นว่า ตัวตนนี้ ก็เห็นชัดอยู่แล้ว พูดชัดอยู่แล้วว่า มันเป็นอวิชชา ความโง่ ความเข้าใจผิด ความหลง ความลวง ของอวิชชา โดยไม่รู้สึกตัว.

ตัวคนฝ่ายฟิสิคส์ นี้ คือ ตัวตนที่มีร่างกายเป็นคน มีความรู้สึกคิดนึก อยู่ในนั้นได้ นี้มันก็เป็นคน; เราถือว่า คนมีอยู่จริง หรือไม่มีอยู่จริง ก็แล้วแต่ สติปัญญา เหมือนกัน ตามปกติ เราต้องถือว่า มีอยู่จริง; แต่ว่าสิ่งนั้น มันจะควรเรียกว่า คน หรือ ไม่ควรเรียกว่า คน นั้น มันอีกเรื่องหนึ่ง. ภาษาธรรมดา เขาถือว่า มันต้องเรียกว่า คน เพราะว่า พูดกันมา ตั้งแต่เกิดมา ก็ต้องเรียกว่า คน; ถ้าไม่อย่างนั้น จะพูดกันไม่รู้เรื่อง จะฟังกันไม่รู้เรื่อง ในภาษาพูด ตัวร่างกาย ที่ยาววาหนึ่งนี้ มีความรู้สึก คิดนึกได้นี้ คือ คน ในฝ่ายฟิสิคส์.

แต่แล้วความรู้สึก คิดนึกได้ ที่มีอยู่ในคน ฝ่ายฟิสิคส์นี้ จะเป็นต้นเหตุ ของความมีคน ในส่วนที่มันเป็นปัญหา เป็นปัญหาทางศาสนา: เพราะว่า ถ้าความรู้สึกอันนั้น เดินไปถึงขนาด มีความยึดมั่น ถือมั่นแล้ว จะมีความทุกข์ขึ้น ในคนนั้นแหละ ในร่างกาย ที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้. ถ้าไม่มีความเห็นผิดเกิดขึ้น ในร่างกายที่ยาววาหนึ่งนั้น ก็ยังไม่มีความทุกข์ หรือมีความไม่มีทุกข์อยู่.

เดี๋ยวก็มีความทุกข์ เดี๋ยวก็มีความไม่มีทุกข์ ในร่างกายที่ยาววาหนึ่งนี้; แล้วมูลเหตุ ที่เป็นอย่างนั้น คือ มูลเหตุที่ทำให้ทุกข์นั้น ก็มีอยู่ในนั้น หรือ สติปัญญา ที่จะทำให้ไม่ทุกข์ มันก็มีอยู่ในนั้น รู้จักควบคุมให้ได้ รู้จักแยกกันให้ได้ เอาแต่ฝ่ายที่มันจะไม่เกิดความทุกข์ ก็แล้วกัน, อะไรๆ ในร่างกาย ที่ยาววาหนึ่งนี้ เอาแต่ฝ่ายที่ไม่เกิดความทุกข์

เตกิจฉ ๑๗.ง/๓๒๒-๓๒๖ 

BACK 

 

คัดจาก หนังสือ ธรรมานุกรมธรรมโฆษณ์ ฉบับประมวลธรรม เล่ม ๒ เรียบเรียงโดย นาย พินิจ รักทองหล่อ พิมพ์ ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๔๐ โดย ธรรมทานมูลนิธิ