Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!


Java-Disable mode ,Show text only......
You can get Java plug-in Here. (ดาวน์โหลด Java Piug-in ได้ที่นี่)
เวบเพจนี้ จำเป็นต้องใช้ Java ในการแสดงผล

ดาวลูกไก่ และ กระจุกดาวอื่นๆ
Pleiades (M45) & Other Star Clusters


ดาวลูกไก่ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่หลายๆคนมองหา บนท้องฟ้ายามราตรี มาตั้งแต่สมัยเด็กๆ ดาวเล็ก 7ดวง รวมกลุ่มกันอยู่ สะดุดตา หาพบได้ไม่ยากนักในวันที่ฟ้าใส และมืดสนิท
แต่ถ้าคุณส่องดูด้วยกล้องดูดาว หรือกล้องส่องทางไกลจะเห็นภาพที่สวยยิ่งกว่า ดวงดาวสีขาว-น้ำเงิน ระยิบระยับ จะเพิ่มเป็น 9-20ดวง และจะยิ่งมากขึ้น เมื่อส่องดูด้วยกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายสูง

หลายชาติหลายวัฒนธรรม ต่างรู้จักดาวลูกไก่ และมีชื่อเรียกต่างๆกันไป เช่นในญี่ปุ่นเรียกว่าซูบารุ (คุณอาจเคยสังเกตเห็นดวงดาว บนเครื่องหมายของรถซูบารุ) ทางยุโรป (อังกฤษและเยอรมันโบราณ) เปรียบเทียบมันกับ แม่ไก่และลูกไก่
ชาติตะวันตกมักจะเรียกว่า Pleiades หรือ Seven Sisters ตามตำนานโรมันโบราณ และตั้งชื่อตามตำนานให้ดาวแต่ละดวง คือลูกสาวทั้งเจ็ด (Alcyone, Asterope, Electra, Maia, Merope, Taygeta and Celaeno) ของAtlas(ผู้เป็นพ่อ ตามตำนาน) และPleione(ผู้เป็นแม่ ที่มาของชื่อกระจุกดาว Pleiades)
ดาวลูกไก่ เป็นตัวอย่างหนึ่งของดาวฤกษ์ที่อยู่กันเป็นกลุ่ม หรือที่เรียกว่ากระจุกดาว(Star cluster) อยู่รวมกันด้วยแรงดึงดูด (แรงโน้มถ่วง) ของกันและกัน และเคลื่อนที่ไปด้วยกัน ในกาแล็กซี ทางช้างเผือกของเรา กระจุกดาวลูกไก่กินอาณาบริเวณกว้างประมาณ 13ปีแสง ไม่ไกลจากโลกมากนัก เพียงแค่ประมาณ 380ปีแสงเท่านั้น
กระจุกดาวลูกไก่มีอายุค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับดวงดาวอื่นๆในเอกภพ มันเพิ่งก่อตัวขึ้นเมื่อประมาณ 80-100ล้านปีมานี้เอง (เทียบคร่าวๆก็ประมาณยุคของไดโนเสาร์) และมีผู้คำนวณไว้ว่า อีกประมาณ 250ล้านปี ก็จะเริ่มแยกจากกัน กลายเป็นดาวเดี่ยวๆแต่ละดวง
เมื่อมองกระจุกดาวลูกไก่ด้วยตาเปล่า คุณอาจนับดวงดาวได้ 6-7ดวง แต่ในคืนฟ้าใสไม่มีเมฆและมืดสนิท อาจจะนับได้ถึง 9ดวง ในอดีตโจฮานน์ เคปเลอร์ (Johann Kepler ผู้คิดค้น Kepler's law) สามารถนับดวงดาวในกระจุกดาวลูกไก่ได้ถึง 14ดวง
ในปัจจุบัน ด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่มีประสิทธิภาพสูง พบว่ามีดวงดาวในกระจุกดาวลูกไก่มากกว่า 3,000ดวง และมีลักษณะต่างๆกัน เมื่อถ่ายรูปดาวลูกไก่ในแต่ละย่านสเป็คตรัม

เมื่อสังเกตรายละเอียดจากภาพถ่ายของกระจุกดาวลูกไก่ จะพบว่า มีกลุ่มก๊าซอยู่รอบๆดาวแต่ละดวง ซึ่งพบได้บ่อย ในกระจุกดาวที่ อายุค่อนข้างน้อย ก๊าซเหล่านี้มักจะเป็นสิ่งที่เหลืออยู่ จากการก่อตัวของดาวฤกษ์ แต่ในกรณีของดาวลูกไก่ เป็นฝุ่นก๊าซในเอกภพที่ถูกแรงโน้มถ่วงของดาวฤกษ์จับไว้ ในขณะที่กระจุกดาวลูกไก่เคลื่อนผ่านไป
ลักษณะของกลุ่มฝุ่นก๊าซนี้ เรียกว่า เนบิวลา (Nebula แปลว่าหมอกหรือเมฆในภาษาละติน) เนบิวลาที่พบในกระจุกดาวลูกไก่ มีแสงเรืองสีน้ำเงินเนื่องจาก สะท้อนแสงจากดวงดาวที่อยู่ใกล้เคียง จัดเป็นเนบิวลาประเภท Reflection Nebula ( อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับเนบิวลา ได้ในเรื่องดาวไถ )

ลักษณะของเนบิวลาในกระจุกดาวลูกไก่ ถูกพบเห็นเป็นครั้งแรกในปีค.ศ.1859โดยวิลเฮล์ม เทมเพล(Wilhelm Tempel) เขาพบลักษณะของฝุ่นก๊าซ (Tempel's Nebula หรือ NGC 1435) อยู่รอบๆดาวMerope ในกระจุกดาวลูกไก่
ต่อมาอี.อี.บาร์นาร์ด(E.E. Barnard) พบเนบิวลาที่มีลักษณะต่างออกไป บริเวณใกล้ดาวMerope ปัจจุบันรู้จักกันในนาม Bernard's Merope Nebula (IC 349) เมื่อกล้องฮับเบิลได้มีโอกาสถ่ายภาพในบริเวณนี้ ก็พบลักษณะปฏิกิริยารุนแรงของฝุ่นก๊าซที่ถูกแสงของดาวMerope ปรากฎ เป็นลักษณะแปลกตาดังรูป

ใกล้ๆกับตำแหน่งของดาวลูกไก่บนท้องฟ้า มีกระจุกดาวอีกกลุ่มหนึ่ง เรียกวาดาวธง(Hyades) มีอายุมากกว่า และกระจายตัวกัน มากกว่าดาวลูกไก่ มองเห็นเป็นลักษณะของตัวอักษร V หรือใบหน้าของกลุ่มดาววัว(Taurus)
Java-Disable mode.

ทั้งดาวลูกไก่(Pleiades)และดาวธง(Hyades) เป็นกระจุกดาวเปิด(Open clusters) คือดาวแต่ละดวงกระจายตัวกันอยู่ห่างๆ คุณสามารถพบ กระจุกดาวแบบนี้ ตามแนวระนาบของกาแล็กซีทางช้างเผือก (บางครั้งเราจึงเรียกว่า Galactic clusters) มักจะประกอบด้วย ดาวที่อายุไม่มากนัก รูปร่างของกระจุกดาวไม่แน่นอน

กระจุกดาวอีกประเภทหนึ่ง เรียกว่ากระจุกดาวทรงกลม(Globular clusters) ประกอบด้วยดวงดาวจำนวนมหาศาล (เป็นพันถึงหลายล้านดวง) อยู่กันหนาแน่น ด้วยแรงโน้มถ่วงของกันและกัน จนแลเห็นเป็นทรงกลม ประมาณว่าท้องฟ้าของดาวที่อยู่กลางวง จะสว่างไสวตลอดทั้งวันคืน เพราะมีดาวมากมายเรียงแน่นอยู่เต็มฟ้า
ดวงดาวที่ประกอบกันเป็นกระจุกดาวทรงกลม เป็นดวงดาวที่มีอายุมาก จึงไม่เหลือกลุ่มก๊าซจาก การก่อตัวของดวงดาวอยู่ภายใน เคยมีผู้คำนวณอายุ ของดวงดาวเหล่านี้ออกมา พบว่ามีอายุประมาณ 12,000 - 18,000 ล้านปี แสดงว่ามันอาจมีอายุพอๆกับเอกภพ สร้างความประหลาดใจ ให้กับนักดาราศาสตร์ในปัจจุบันมากมายทีเดียว
กระจุกดาวทรงกลมจะอยู่ตามที่ว่าง ด้านบนและด้านล่างของ แนวระนาบกาแล็กซีทางช้างเผือก พบมากที่บริเวณศูนย์กลางกาแล็กซี

ผู้ที่สนใจศึกษาดวงดาวบนท้องฟ้า หลังจากคุ้นเคยกับกลุ่มดาวที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าแล้ว การมองหาและศึกษาแต่ละกระจุกดาว ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะอุปกรณ์ที่ใช้เพิ่มก็เพียงแค่ กล้องส่องทางไกลธรรมดา (ที่ใช้กันทั่วไป เช่นใช้ดูนก) และแผนที่ดาวที่ละเอียดกว่าปรกติ
แต่การศึกษากระจุกดาวที่มีความสว่างค่อนข้างน้อย ก็คงจำเป็นต้องใช้กล้องดูดาวขนาดใหญ่ขึ้น หรืออาจต้องศึกษาจากภาพถ่าย




จบบันทึกเรื่องดาวลูกไก่
Last updated 02/09/2001