Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!


Java-Disable mode ,Show text only......
You can get Java plug-in Here. (ดาวน์โหลด Java Piug-in ได้ที่นี่)
เวบเพจนี้ จำเป็นต้องใช้ Java ในการแสดงผล

ดาวไถ
Orion's Belt and Orion Nebula


ดาวสามดวงเรียงกัน เห็นได้ชัดในช่วงฤดูหนาว แทบจะเป็นกลุ่มดาวที่หาง่ายที่สุดบนท้องฟ้า เราเห็นมันจนชินตา แต่เมื่อมองลึกลงไป จะรู้สึกว่ามันไม่ธรรมดาเลยทีเดียว
การศึกษาดวงดาวแต่ละดวงในกลุ่มดาวไถ นอกจากจะได้เห็นภาพที่สวยงามมากมายแล้ว มันยังอาจบอกเราถึง การก่อตัวของดวงดาว และการกำเนิดของดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์อีกด้วย

ดาวไถในแต่ละชาติแต่ละภาษา อาจเรียกแตกต่างกันไป คนไทยอาจเห็นเป็นไถ อยู่ในกลุ่มดาวเต่า
แต่ชาติตะวันตกเห็นเป็นนายพรานโอไรออน (Orion) ตามตำนานเทพของกรีกโบราณ ส่วนดาวสามดวงเรียงกัน เขาเห็นเป็นเข็มขัดนายพราน ส่วนคันไถนั้นเป็นดาบของโอไรออน
ที่จริงดาวสามดวงเรียงกันนั้น ไม่ได้อยู่ห่างเท่าๆกันเหมือนที่เราเห็น แต่ตำแหน่งที่เรามองจากโลก ทำให้เรามองเห็นว่า แต่ละดวงอยู่ห่างเท่าๆกัน
ถ้าเรามองลึกลงไปในบริเวณดาวดวงแรก(Zeta Orionis) ที่อยู่ตรงมุมของคันไถ จะมีเมฆสีดำ เป็นกลุ่มก๊าซที่รวมตัวกัน จนมากพอจะบังแสงจากเบื้องหลังได้ (Dark Nebula) ถ้าสังเกตให้ดี จะพบว่ามี ลักษณะคล้ายหัวม้าหมากรุก จึงมีชื่อเรียกว่า เนบิวลาหัวม้า(Horsehead Nebula - IC 434)
เนบิวลา(Nebula) แปลว่าหมอกหรือเมฆในภาษาละติน คือฝุ่นหรือก๊าซที่รวมกลุ่มกัน จนดูคล้ายกลุ่มเมฆ เมื่อมองผ่านกล้องโทรทรรศน์

ส่วนที่น่าสนใจที่สุดของดาวไถ อยู่ที่ด้ามจับของไถ หรือคือบริเวณดาบของนายพราน
มองดูด้วยตาเปล่าในบริเวณด้ามจับของไถ คุณอาจเห็นเป็นลักษณะคล้าย ดวงดาวที่ต่อกันเป็นพืด แต่ถ้าส่องดูด้วยกล้องโทรทรรศน์ จะพบว่า แต่ละจุดสว่างประกอบไปด้วย ฝ้าจางๆ คล้ายกลุ่มเมฆ กลุ่มที่ใหญ่และสว่างที่สุด มีชื่อเรียกว่า โอไรออน เนบิวลา (Orion Nebula หรือ The great nebula in Orion - เนบิวลาใหญ่ในกลุ่มดาวนายพราน)
ลักษณะฝ้าจางๆของโอไรออนเนบิวลาถูกสังเกตเห็นครั้งแรก โดยนักดาราศาสตร์สมัครเล่น (เป็นทนายชาวฝรั่งเศส) ชื่อ นิโคลัส คล็อด ฟาบรี (Nicolas-Claude Fabri de Peiresc) ผู้ได้รับของขวัญเป็นกล้องโทรทรรศน์จากกาลิเลโอในปีคศ.1610 ในปีเดียวกันนั้นเอง เมื่อเขาส่องดูดวงดาวในกลุ่มดาวไถ เขาก็สังเกตเห็น ลักษณะฝ้าจางๆของ โอไรออนเนบิวลา
โอไรออนเนบิวลา มีลักษณะเป็นกลุ่มเมฆของฝุ่นหรือก๊าซ ที่มีแสงสว่างเรืองรองออกมา (Emission Nebula)
ใจกลางของโอไรออนเนบิวลา มองเห็นรายละเอียดไม่ชัดนักจากรูป เนื่องจากมีกลุ่มเมฆหนาบังอยู่ แต่เมื่อส่องดูด้วยกล้องดูดาว หรือกล้องส่องทางไกลแบบสองตา จะพอแยกได้เป็นดวงดาว 4ดวง เรียกรวมกันว่า ทราพีเซียม (Trapezium)
ทราพีเซียม เป็นดวงดาวเกิดใหม่ มีอายุประมาณ 3แสน ถึง 1ล้านปี (นับว่าเด็กมากเมื่อเทียบกับดวงอาทิตย์อายุ 4500ล้านปี) มีความร้อนสูงมาก (มากกว่าดวงอาทิตย์ของเราเสียอีก) เมื่อถ่ายภาพด้วย แสงอินฟราเรด(คลื่นรังสีความร้อน) จึงเห็นลักษณะของ ทราพีเซียมได้ชัดเจนขึ้น
ดวงดาวทราพีเซียมให้พลังงานแก่กลุ่มก๊าซโดยรอบ รังสีอัลตราไวโอเลตที่แผ่ออกมา ทำให้กลุ่มก๊าซข้างเคียง ส่องแสงเรืองรองออกมา ก๊าซไฮโดรเจนให้สีแดง ส่วนออกซิเจนให้สีเขียว บริเวณกลางโอไรออนเนบิวลาจึงมี แสงเรืองรองออกมาเป็นสีเหลือง

เมื่อกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลสามารถใช้การได้ดีในปี คศ.1993 เราก็ได้ภาพแสดงรายละเอียดมากมาย ของดวงดาวในโอไรออนเนบิวลา
บริเวณรอบๆทราพีเซียม พบว่ามีดวงดาวมากกว่าร้อยดวง และที่สำคัญมันแสดง ภาพของระยะต่างๆ ของการกำเนิดดวงดาว

ดาวฤกษ์ก่อตัวขึ้นจากก๊าซไฮโดรเจน และก๊าซอื่นๆในอวกาศ รวมกลุ่มกันเข้าด้วยแรงโน้มถ่วงของตน จนเกิดเป็นกลุ่มก๊าซที่หนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ
ยิ่งมวลสูงขึ้น และแต่ละโมเลกุลเข้าใกล้กันมากขึ้น แรงที่อัดแต่ละโมเลกุลเข้าหากันก็ยิ่งมากขึ้น กลุ่มก๊าซที่หนาแน่นนี้จะเริ่มหมุนวน และมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ ใช้เวลาหลายล้านปี จนกระทั่งอุณหภูมิสูงพอ ที่จะทำให้นิวเคลียสของไฮโดรเจน รวมตัวกันเกิดปฏิกริยานิวเคลียร์ฟิวชัน กลายเป็นฮีเลียม ปลดปล่อยพลังงานมหาศาลออกมา
ดาวดาวที่อยู่ช่วงก่อกำเนิดนี้ เรียกว่าโปรโตสตาร์(Protostar) มีอุณหภูมิสูงกว่าล้านองศาทีเดียว
พลังงานที่เกิดขึ้นจากปฏิกริยานิวเคลียร์ฟิวชัน ทำให้แกนกลางของโปรโตสตาร์มีอุณหภูมิสูงขึ้น และทำให้นิวเคลียสของไฮโดรเจนอะตอมอื่นๆที่อยู่ไม่ไกล รวมตัวกันเกิดปฏิกริยานิวเคลียร์ฟิวชันต่อไป และต่อไปถึงอะตอมอื่นๆ ไปเรื่อยๆเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่
พลังงานที่ปล่อยออกมาทำให้กลุ่มก๊าซที่อยู่รอบนอกของโปรโตสตาร์ ส่องแสงออกมา และเมื่อถึงจุดหนึ่ง นิวเคลียร์ฟิวชันที่แกนกลาง ก็จะมากพอ ที่จะมีแรงต้านการบีบอัดของแรงโน้มถ่วงได้ โปรโตสตาร์ก็จะสามารถ คงสภาพเป็นดาวฤกษ์


กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ให้ภาพที่แสดงลักษณะแปลกๆรอบดาวบางดวง ในโอไรออนเนบิวลา
เป็นลักษณะของแผ่นกลมๆแบนๆ อยู่รอบดวงดาวในระยะก่อกำเนิด เรียกแผ่นนี้ว่า Proto-planetary disks (Proplyds) ซึ่งคาดว่าจะเป็นต้นกำเนิด ของดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ในอนาคต
บริเวณดาบของนายพราน(หรือด้ามจับของคันไถ)นี้ ที่จริงไม่ได้มีกลุ่มก๊าซ หรือเนบิวลาเพียงกลุ่มเดียว
เหนือโอไรออนเนบิวลาขึ้นไปเพียงครึ่งองศา ก็มีอีกกลุ่มก๊าซหนึ่ง ซึ่งแม้จะประกอบด้วยเนบิวลาจำนวนถึง 3เนบิวลา (NGC 1973-75-77) แต่ก็มักจะถูกมองข้าม เนื่องจากความสว่างไสวของ โอไรออนเนบิวลา
NGC 1973-75-77 เป็นกลุ่มก๊าซที่สะท้อนแสงจากดวงดาวข้างเคียง จัดเป็นเนบิวลาอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า Reflection Nebula

หากเรามองต่ำจากโอไรออนเนบิวลาลงอีกมาเล็กน้อย (ใต้ลงมาประมาณลงมา 1องศา) ก็จะพบฝุ่นก๊าซอีกกลุ่มหนึ่ง สะท้อนแสงจากดวงดาวข้างเคียง จนปรากฎเป็นกลุ่มก๊าซสว่าง ดังรูปข้างบน จัดเป็นเนบิวลาแบบ Reflection Nebula เช่นกัน มีชื่อเรียกว่า NGC1999
กลุ่มก๊าซบริเวณกลาง NGC1999 ที่เห็นจากภาพ หนาทึบมากจนแสงผ่านได้น้อย เรียกกันว่า Bok Globule
และไกลออกไป ที่บริเวณเหนือดาว 3ดวงที่เรียงกันในกลุ่มดาวไถ ก็มี Reflection Nebula อีกกลุ่มหนึ่ง สวยงามแปลกตาไม่แพ้กลุ่มอื่นๆ ดังรูปข้างล่างนี้ มีชื่อว่า M78 (หรือ NGC 2068)
มีเนบิวลาอีกประเภทหนึ่ง ที่ยังไม่ได้กล่าวถึง คือ Planetary Nebula เป็นดาวฤกษ์ที่กำลังจะตาย มีการแยกตัวของดาวแกนกลางและเปลือกนอก ส่องแสงออกมาจางๆ เมื่อมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ จะเห็นคล้ายแสงของดาวเคราะห์ (Planet) ที่มีวงแหวนล้อมรอบ
คุณสามารถพบ Planetary Nebula ใกล้ๆกับกลุ่มดาวไถ ลงมาทางใต้ประมาณ 5องศา มีชื่อว่า IC 418 หรือ Spirograph Nebula อยู่ห่างจากโลกเราประมาณ 2000ปีแสง เป็นวาระสุดท้ายของ ดวงดาวประเภทที่คล้ายกับ ดวงอาทิตย์ของเรา
(อ่านรายละเอียดได้ในเรื่อง จุดจบของดวงดาว)





จบบันทึกเรื่องดาวไถ
Last updated 05/10/2001