Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
RANGSAN
โลกแห่งสมุนไพร
   ::รังสรรค์ ชุณหวรากรณ์::

การเก็บเกี่ยวสมุนไพร จัดรูปผลผลิตเพื่อการพืชจำหน่ายและการกำหนดราคา

 

การเก็บเกี่ยว (Havesting)

การเก็บเกี่ยว หมายถึงการปฏิบัติการต่อพืชขั้นสุดท้าย ซึ่งเกี่ยวกับการเก็บเอาผลผลิตของพืชจากแปลงปลูกพืชเพื่อการบริโภค เพื่อการแปรรูปหรือจัดจำหน่ายต่อไป การปลูกพืชตั้งแต่ขั้นต้นผ่านการปฏิบัติ ดูแลรักษา มาจนถึงระยะของการเก็บเกี่ยวผลผลิตนั้น ก็อาจเรียกว่าเป็นขั้นสุดท้ายของการผลิตดังนั้นผู้ผลิตจะต้องรู้วิธีการเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างถูกต้องและรวดเร็วทันต่อเวลา มิฉะนั้นอาจทำให้ผลผลิตเกิดความเสียหายตลอดจนคุณภาพของผลผลิตพืชไม่ตรงกับความต้องการของตลาด

หลักเกณฑ์การเก็บเกี่ยวพืชสมุนไพร

การเก็บเกี่ยวพืชสมุนไพรเพื่อนำมาใช้เป็นยานั้นผู้เก็บจำเป็นต้องรู้ในเรืองรูปร่าง ลักษณะสัณฐานของพืชและยังต้องอาศัยความรู้ทางด้านสรีรวิทยาและขบวนชีวสังเคราะห์ในพืชด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ได้สารสำคัญ (Active constituents) ซึ่งมีฤทธิ์ในการบำบัดรักษาในปริมาณที่สูงที่สุด สรรพคุณของพืชสมุนไพรจะขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของสารสำคัญในพืชสมุนไพรนั้นๆปัจจัยอย่างหนึ่งที่มีผลต่อคุณภาพของสมุนไพรได้แก่ การเก็บเกี่ยว ช่วงเวลาที่เก็บสมุนไพร และวิธีการเก็บสมุน ไพร จะมีผลต่อปริมาณสารสำคัญในสมุนไพร นอกจากนี้การเก็บเกี่ยวพืชสมุนไพรยังต้องคำนึงถึงการเก็บสมุนไพรให้ถูกต้นและเก็บให้ถูกส่วนอีกด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้จะมีผลต่อปริมาณของสารสำคัญ ซึ่งจะเกี่ยวโยงถึงผลในการรักษาโรคของสมุนไพรนั้น ๆ

หลักสำคัญในการเก็บเกี่ยวพืชสมุนไพร มีดังนี้

  1. เก็บเกี่ยวถูกระยะเวลา ที่มีปริมาณสารสำคัญสูงสุด การนำพืชสุมนไพรไปใช้ประโยชน์ให้ได้สูงสุดนั้น ในพืชจะต้องมีปริมาณสารสำคัญมากที่สุด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาที่เก็บเกี่ยวพืชสมุนไพร ดังนั้นการเก็บเกี่ยวสมุนไพร จึงต้องคำนึงถึงทั้งอายุเก็บเกี่ยว และช่วงระยะเวลาที่พืชให้สารสำคัญสูงสุดด้วย
  2. เก็บเกี่ยวถูกวิธี โดยทั่วไปการเก็บส่วนของพืชสมุนไพรแบ่งออกตามส่วนที่ใช้เป็นยาดังนี้
  3. 2.1 ประเภทรากหรือหัว เช่น กระชาย, ข่า, ขิง และ ไพล เป็นต้น ควรเก็บในช่วงที่พืชหยุดการเจริญเติบโต ใบและดอกร่วงหมด หรือเก็บในช่วงต้นฤดูหนาวถึงปลายฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงที่รากและหัวมีการสะสมปริมาณสารสำคัญไว้ค่อนข้างสูง
    วิธีเก็บ ใช้วิธีขุดอย่างระมัดระวัง ตัดรากฝอยออก

    2.2 การเก็บเปลือกรากหรือเปลือกต้น เช่น เปลือกต้นของ เปลือกสีเสียด เปลือกทับทิม มักเก็บ ในช่วงระหว่างฤดูร้อนต่อกับฤดูฝน ซึ่งมีปริมาณสารสำคัญในเปลือกจะสูง และเปลือกลอกออกง่าย ส่วนเปลือกรากควรเก็บในช่วงต้นฤดูฝนเพราะจะลอกได้ง่าย
    วิธีเก็บ การลอกเปลือกต้นอย่าลอกออกรอบทั้งต้นควรลอกออกจากส่วนกิ่งหรือแขนงย่อยหรือใช้วิธีลอกออกในลักษณะครึ่งวงกลมก็ได้ เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อระบบการลำเลียงอาหารของพืช และไม่ควรลอกส่วนลำต้นใหญ่ของต้นซึ่งอาจทำให้พืชตายได้

    2.3 ประเภทใบหรือเก็บทั้งต้น เช่น กะเพรา ฟ้าทะลายโจร ชุมเห็ดเทศ ควรเก็บในช่วงที่พืชเจริญเติบโตมากที่สุด บางชนิดจะระบุช่วงเวลาที่เก็บ ซึ่งช่วงเวลานั้นใบมีสารสำคัญมากที่สุด เช่น เก็บใบแก่ หรือใบไม่อ่อนไม่แก่เกินไป (ใบเพสลาด) เป็นต้น
    วิธีเก็บ ใช้วิธีเด็ดหรือตัด

    2.4 ประเภทดอก เช่น ดอกคำฝอย ดอกเบญจมาศโดยทั่วไปเก็บในช่วงดอกเริ่มบาน แต่บางชนิด ก็ระบุว่าให้เก็บในช่วงที่ดอกยังตูมอยู่ เช่น กานพลู เป็นต้น
    วิธีเก็บ ใช้วิธีเด็ดหรือตัด

    2.5 ประเภทผลและเมล็ด โดยทั่วไปมักเก็บตอนผลแก่เต็มที่แล้ว เช่น มะแว้ง ดีปลี ชุมเห็ดไทย แต่บางชนิดก็ระบุให้เก็บในช่วงที่ผลยังดิบอยู่ เช่นฝรั่ง เป็นต้น
    วิธีเก็บ ใช้วิธีเด็ดหรือวิธีตัด

พืชที่ให้น้ำมันระเหย ควรเก็บขณะดอกกำลังบานและสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมควรจะเก็บในเวลาเช้า มืดเพื่อให้สารที่เป็นยาซึ่งอยู่ในน้ำมันหอมระเหยนั้นไม่ระเหยหายไปกับแสงแดดเช่น กะเพรา เป็นต้น

วิธีการเก็บสมุนไพรที่ถูกต้องเหมาะสมนั้น โดยทั่วไปไม่มีอะไรสลับซับซ้อนประเภทใบหรือดอก ใช้วิธีเด็ดธรรมดา ส่วนแบบราก หัว หรือเก็บทั้งต้น ใช้วิธีขุดอย่างระมัดระวัง เพื่อประกันให้ได้ส่วนที่เป็น ยามากที่สุด สำหรับเปลือกต้นหรือเปลือกราก มีผลต่อการดำรงชีวิตของต้นพืชสมุนไพร ดังนั้นจึงควรสนใจวิธีการเก็บดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

ตารางแสดงการเก็บเกี่ยวพืชสมุนไพรบางชนิด
พืช ส่วนที่เก็บเกี่ยว การเก็บเกี่ยวเพื่อให้ได้สารสำคัญสูงสุด
อายุการให้ผลผลิต สภาพต้นพืช
ขมิ้นชัน เหง้า 9-10 เดือน เหง้าแกร่ง ต้นแห้งฟุบ
ขี้เหล็ก ใบ 1-10 ปีขึ้นไป เก็บใบอ่อน 5 ใบโดยนับจากยอด
คำฝอย เกสร เมล็ด 90-100 วัน
120 -150 วัน
ลำต้น ใบ ช่อดอก แห้ง ไม่มีช่อดอก
ตะไคร้หอม ใบ 8 เดือน -3 ปี ต้นมีข้อเด่นชัด ระยะก่อนออกดอก
บุก หัวใต้ดิน
หัวบนใบ
2-3 ปี
1 ปี
ต้นแห้ง ไม่มีใบสด
ประมาณเดือน ส.ค-ก.ย.
ไพล เหง้า 1-3 ปี อายุ 2 ปีขึ้นไป ต้นฟุบ ไม่เก็บช่วงฝนหรือเมื่อแตกหน่อใหม่
ฟ้าทะลายโจร ใบ 110-120 วัน เริ่มออกดอกไม่ควรให้เริ่มติดเมล็ด
มะขามแขก ใบ
ฝัก
50-90 วัน
80-120 วัน
เมื่อเริ่มออกดอก
เก็บฝักอายุ 20-23 วัน เท่านั้น ฝักไม่แก่ เริ่มมีเมล็ดใส ๆ
มะแว้งเครือ ผล 8 เดือน ผลแก่แต่ยังไม่สุก เริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมส้ม
ส้มแขก ผล 8-10 ปี ผลสุก แก่ขนาดโตเต็มที่
ดีปลี ผล 1-5 ปีขึ้นไป แก่จัดแต่ไม่สุก สีเหลืองอมส้ม

สมุนไพรแห้ง

การจัดรูปผลผลิตเพื่อการจำหน่ายพืชสมุนไพร

พืชสมุนไพร ที่เก็บเกี่ยวมานั้นจะขายได้ง่ายและราคาดีจะต้องมองดูดี น่าซื้อ สิ่งที่จะช่วยให้พืชสมุนไพรดูดีและน่าซื้อก็คือ พืชนั้นต้องสมบูรณ์ เจริญงอกงามดี ภาชนะที่ใช้ปลูกต้องสะอาด และถ้าเป็นส่วนของพืชสมุนไพรที่ต้องจำหน่าย ในรูปตากแห้ง ในรูปบดเป็นผง หรือเป็นชิ้นส่วนสดแล้วจะต้องเก็บเกี่ยวให้ถูกวิธีเพื่อให้ได้สรรพคุณของพืชสมุนไพรทางยาได้ครบถ้วนและสะอาดไม่มีสิ่งปลอมปนไม่มี เชื้อราและไม่เก็บไว้จนนานเกินไปจนพืชสมุนไพรเปลี่ยนรูปร่างหรือสรรพคุณเปลี่ยนไป สิ่งสำคัญภาชนะ ที่จะใช้หีบห่อต้องสะอาด ป้องกันความชื้นได้ดี

พืชสมุนไพรโดยทั่วไปมีทั้งการใช้สดและการใช้แห้ง การใช้สดนั้นมีข้อดีตรงสะดวกใช้ง่าย แต่ว่าฤทธิ์การรักษาของยาสมุนไพรไม่คงที่ บางครั้งฤทธิ์ดีบางครั้งฤทธิ์ไม่ดียาที่ใช้สดมีหลายอย่างเช่น ว่านหาง จระเข้ รากหญ้าคา เป็นต้น แต่การใช้ยาสมุนไพรส่วนมากนิยมใช้แห้ง เพราะจะได้คุณภาพของยาที่คงที่ โดยเลือกเก็บยาสมุนไพรที่ต้องการตามฤดูกาลเก็บของพืชแล้วนำมาแปรสภาพโดยผ่านขบวนการที่เหมาะ สมเพื่อเก็บยาไว้ได้เป็นเวลานาน

กระบวนการจัดรูปผลผลิตพืชสมุนไพรที่เหมาะนั้นโดยทั่วไปนำส่วนที่เป็นยามาแล้ว ผ่านการคัดเลือก การล้าง การตัดเป็นชิ้นที่เหมะสม แล้วใช้ความร้อนทำให้แห้งเพื่อสะดวกในการเก็บรักษา วิธีการแปรสภาพพืชสมุนไพรนั้นแตกต่างกันไปตามชนิดของพืช ส่วนที่ใช้เป็นยาและความเคยชินของแต่ละท้องที่ วิธีการที่ใช้บ่อยในการจัดรูปผลผลิต โดยแยกกล่าวตามส่วนที่ใช้เป็นยา มีดังนี้

  1. รากและส่วนที่อยู่ใต้ดิน ก่อนอื่นคัดขนาดที่พอ ๆ กันเอาไว้ด้วยกัน เพื่อจะให้สะดวกในการแปรสภาพต่อไป จากนั้นล้างดินและสิ่งสกปรกที่ติดอยู่ให้สะอาด เอารากฝอยออกให้หมดหากว่าเป็นพืชที่มีเนื้อแข็ง แห้งได้ยาก ต้องหั่นเป็นชิ้นให้เหมาะสม หากว่าเป็นพืชที่ไม่แข็งนำมาผ่านขบวนการให้ความร้อนตามแต่ชนิดของพืชนั้น พืชที่ใช้หัวและรากส่วนมากประกอบด้วยโปรตีน แป้ง เอนไซม์ หากผ่านการให้ความร้อนแบบต้มนึ่งจะทำให้สะดวกในตอนทำให้แห้ง หลังจากผ่านความร้อน นำมาตัดเป็นชิ้น แล้วอบให้แห้งในอุณหภูมิที่เหมาะสม
  2. เปลือก หั่นเป็นชิ้นขนาดพอดี ตากให้แห้ง
  3. ใบและทั้งต้น ในพืชบางอย่างที่มีน้ำมันหอมระเหยควรผึ่งไว้ในที่ร่ม ไม่ควรตากแดด และ ก่อนที่ยาจะแห้งสนิท ควรมัดเป็นกำป้องกันการหลุดร่วงง่าย เช่น กะเพราแดง สะระแหน่ เป็นต้น โดยทั่วไปเก็บใบหรือลำต้นมาล้างให้สะอาด แล้วนำมาตากแดดให้แห้งสนิท จากนั้นจึงเก็บให้มิดชิด ระวังอย่าให้ขึ้นราได้
  4. ดอก หลังจากเก็บมาแล้ว ตากแห้งหรืออบให้แห้ง แต่ควรรักษารูปดอกไว้ให้สมบูรณ์ ไม่ให้ตัวยาถูกทำลายสูญเสียไป เช่น ดอกกานพลู
  5. ผล โดยทั่วไปเก็บแล้วก็ตากแดดให้แห้งได้เลย มีเพียงบางอย่างเท่านั้น ที่ต้องหั่นเป็นชิ้นก่อนตาก หรืออบด้วยความร้อน
  6. เมล็ด เก็บผลมาตากให้แห้ง แล้วจึงเอาเปลือกออก เช่นชุมเห็ดไทย บางอย่างเก็บแบบผลแห้งเลยก็มี

พืชที่ใช้เป็นยาสมุนไพรนั้น การแปรสภาพในขั้นต้น โดยมากใช้วิธีทำให้แห้งดังนี้

  1. วิธีตากแดดให้แห้ง
  2. วิธีอบให้แห้ง
  3. วิธีผึ่งลมให้แห้ง

อุณหภูมิที่ทำให้แห้งโดยทั่วไป อุณหภูมิ 50-60 องศาเซลเซียสกำลังเหมาะสม เพราะสามารถระงับบทบาทของเอนไซม์ที่มีอยู่ในต้นพืชได้ และทำให้สารสำคัญในพืช เช่น ไกลโคไซด์และอัลคาลอยด์ในพืชไม่สลายตัวไป

ตารางแสดงขอบเขตของอุณหภูมิที่ใช้อบสมุนไพรให้แห้ง
ชนิดของสมุนไพร อุณหภูมิที่ทำให้แห้ง (องศาเซลเซียส)
ดอก ใบ ทั้งต้น 20 - 30
ราก กิ่งราก ผิว 30 - 65
ผล 70 - 90
พืชสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหย 25 - 30
พืชสมุนไพรที่มีไกลโคไซด์และอัลคาลอยด์ 50 - 60

การเก็บรักษาสมุนไพร

การเก็บรักษาสมุนไพร ไว้เป็นเวลานานมักจะเกิดการขึ้นรา มีหนอน เปลี่ยนลักษณะสี กลิ่น ทำให้ยาสมุนไพรนั้นเสื่อมคุณภาพลง ทำให้มีผลไม่ดีต่อฤทธิ์การรักษาหรือสูญเสียฤทธิ์การรักษาไปเลย ดังนั้นจึงควรจะมีการจัดการเก็บรักษาที่ดี เพื่อจะประกันคุณภาพและฤทธิ์การรักษาของยาสมุนไพรนั้น การเก็บรักษาควรสนใจสิ่งต่อไปนี้

  1. สมุนไพรที่จะเก็บรักษาไว้จะต้องทำให้แห้ง เพื่อป้องกันการขึ้นราและการเปลี่ยนลักษณะเกิดออกซิไดซ์ (Oxidize) สมุนไพรที่ขึ้นราง่ายต้องหมั่นเอาออกตากแดดเป็นประจำ
  2. สถานที่ที่เก็บรักษา จะต้องแห้ง เย็น การถ่ายเทของอากาศดี
  3. ควรเก็บแบ่งเป็นสัดส่วน พืชสมุนไพรที่มีพิษ พืชสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม ควรเก็บแยกไว้ในที่มิดชิดป้องกันการสับสนปะปนกัน
  4. สนใจป้องกัน ไฟ หนอน หนู และแมลงต่าง ๆ

การกำหนดราคา (Pricing) พืชสมุนไพร

การที่ผู้บริโภคจะตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ นอกจากจะพิจารณาถึงประโยชน์ของสินค้านั้นว่าจะสนองความพอใจของตนเองมากน้อยเพียงใดแล้ว ราคายังเป็นสิ่งสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจ ของผู้บริโภคด้วย โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้จำกัด และราคาก็มีผลต่อกำไรของธุรกิจนั้นด้วย

ในการกำหนดราคาของผลผลิตเกษตร เช่น พืชสมุนไพรก็พิจารณาในแง่ของผลกำไรให้คุ้มค่ากับค่าใช้จ่าย

ดังนั้นการกำหนดราคาของพืชสมุนไพรควรใช้วิธีการดังนี้

  1. ตั้งราคาตามตลาด โดยดูจากผลผลิตประเภทเดียวกันในตลาด
  2. ตั้งราคาตามคุณภาพของสินค้า ถ้าพืชสมุนไพรใด สมบูรณ์ก็ตั้งราคาสูง ส่วนที่มีคุณภาพ ไม่ดีก็ตั้งราคาต่ำ
  3. ตั้งราคาให้สูงกว่าต้นทุนของการผลิต ซึ่งวิธีการนี้เป็นวิธีการที่ดี แต่ต้องคำนึงถึงข้อ 1. และข้อ 2. ด้วย

วิธีการตั้งราคาให้สูงกว่าต้นทุนการผลิต มีวิธีการคิดคำนวณ ดังนี้

ผู้ปลูกจะต้องคิดต้นทุนในการผลิตทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นกิจการ เช่น ค่าเมล็ดพันธุ์พืช ดินและวัสดุปลูกชนิดต่าง ๆ รวมทั้งค่าแรง แล้วตกลงกันในกลุ่มว่าจะต้องการกำไรในการผลิตเท่าไร โดยพิจารณาจากคุณภาพของพันธุ์ไม้ ราคาพันธุ์ไม้ชนิดนั้นๆ ในท้องถิ่น แล้วใช้สูตรคำนวณง่าย ๆ ดังนี้

สูตร   กำไรที่ต้องการ  =
ต้นทุนการผลิต 5เปอร์เซ็นต์ของกำไรที่ต้องการ
 
100

ดังนั้นการกำหนดราคาขาย = ต้นทุนการผลิต + กำไรที่ต้องการ
ตัวอย่าง เช่น ต้นทุนการผลิต = 1,500 บาท
ถ้าต้องการกำไร = 30 %

กำไรที่ต้องการ  =
ต้นทุนการผลิต 5เปอร์เซ็นต์ของกำไรที่ต้องการ
100
=
1,500 x 30
100
=
450 บาท
ดังนั้นการกำหนดราคาขาย =
ต้นทุนการผลิต + กำไรที่ต้องการ
=
1,500 + 450
ราคาขาย =
1,950 บาท

การกำหนดราคาในทางปฏิบัติกระทำได้หลายวิธี ผู้ผลิตแต่ละรายจะเลือกใช้วิธีตามที่เห็นว่าเหมาะสมตามสภาพการณ์ของแต่ละกิจการ ซึ่งไม่สามารถกำหนดวิธีที่ตายตัวหรือเฉพาะเจาะจงได้ เพราะแต่ละกิจการหรือผู้ผลิตแต่ละรายมีสภาพการณ์ต้นทุนการผลิตและการขายที่แตกต่างกัน แต่ละกิจการจึงจำเป็นต้องเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมกับกิจการมากที่สุด

จากความรู้การคำนวณการกำหนดราคาขายดังกล่าวข้างต้นพอจะสรุปได้ว่าในการจัดจำหน่าย พืชสมุนไพร การคิดหาจำนวนต้นทุนการผลิตเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะจะทำให้สามารถกำหนดราคาขายเองได้ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญก็คือ การจดบันทึกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มดำเนินงาน จะเป็นข้อมูลสำคัญในการคิดคำนวณ และทำให้สามารถจำหน่ายพืชสมุนไพรได้กำไรตามต้องการ แต่ทั้งนี้จะต้องผลิตพืชสมุนไพรตามที่ตลาดต้องการ และให้สอดคล้องกับราคาในตลาดภายในท้องถิ่นด้วย

 
   
   
 
<< Previous
Copyright 2002 คำนำสารบัญเกี่ยวกับผู้จัดทำโรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์จังหวัดนนทบุรี บรรณานุกรม