Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
RANGSAN
โลกแห่งสมุนไพร
   ::รังสรรค์ ชุณหวรากรณ์::

การปลูกและการดูแลรักษาพืชสมุนไพร

 

หลักการทั่วไปของการปลูกและการดูแลรักษาพืชทั่วไปและพืชสมุนไพรไม่แตกต่างกันแต่ ความอุดมสมบูรณ์ของพืชสมุนไพรจะเป็นเครื่องชี้บอกคุณภาพของสมุนไพรได้ พืชสมุนไพรต้องการการปลูก และการดูแลรักษาใกล้เคียงกับลักษณะธรรมชาติของพืชสมุนไพรนั้นมากที่สุด เช่นว่านหางจระเข้ ต้องการดินปนทราย และอุดมสมบูรณ์ แดดพอเหมาะ หรือ ต้นเหงือกปลาหมอ ชอบขึ้นในที่ดินเป็นเลนและที่ดินกร่อยชุ่มชื้น เป็นต้น หากผู้ปลูกสมุนไพรเข้าใจสิ่งเหล่านี้จะทำให้สามารถเลือกวิธีปลูกและจัดสภาพแวดล้อมของต้นไม้ได้เหมาะสมพืชสมุนไพรก็จะเจริญเติบโตดี เป็นผลทำให้คุณภาพพืชสมุนไพรที่นำมารักษาโรคมีฤทธิ์ดีขึ้นด้วย

การปลูกและการบำรุงรักษาพืชสมุนไพร โดยอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย ยังไม่จริงจังเท่าที่ควร บางประเทศได้ทดลองเพื่อหาคำตอบว่า สภาพแวดล้อมอย่างไรจึงจะทำให้สาระสำคัญในพืชสมุนไพรชนิดนั้น ๆ มากที่สุด ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือมากกว่าหนึ่งหน่วยงาน หรือการหาคำตอบว่าวิธีการขยายพันธุ์พืชสมุนไพรแต่ละชนิดจะทำอย่างไร จึงจะเหมาะสมและประหยัดมากที่สุด ในประเทศไทยหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีงานวิจัยด้านนี้อยู่บ้างและกำลังค้นคว้าไปต่อไป การปลูกพืชสมุนไพรเป็นการนำเอาส่วนของพืช เช่น เมล็ด หน่อ กิ่ง หัว ผ่านการเพาะหรือการชำหรือวิธีการอื่นๆ ใส่ลงในดิน หรือวัสดุอื่น เพื่อให้งอกหรือเจริญเติบโตต่อไป

ลักษณะการปลูกพืชสมุนไพร

  1. การปลูกพืชสมุนไพรบนพื้นดิน หมายถึงการนำเอาพันธุ์ไม้มาปลูกในสถานที่ที่เป็นพื้นดิน ถ้าพันธุ์ที่ปลูกเป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นหรือไม้พุ่ม จะปลูกเป็นต้น ๆ ไป โดยขุดหลุมให้มีขนาดกว้างและยาว ประมาณ 1 เมตร ลึกประมาณ 70 เซนติเมตร เวลาขุดเอาดินบนกองไว้ข้างหนึ่ง เอาดินล่างกองไว้อีกข้างหนึ่ง เสร็จแล้วหาหญ้าแห้ง ฟางแห้งและปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักมาใส่ลงในหลุมพอประมาณ แล้วเอาดินบนใส่ลงไปประมาณครึ่งหลุม เพราะดินบนมีความอุดมสมบูรณ์กว่า จากนั้นคลุกเคล้าดินที่เหลือกับปุ๋ยให้เข้ากันดีนำใส่ลงในหลุมและนำต้นไม้ลงปลูกหลุมละ 1 ต้น กดดินให้แน่นพอควร หากพืชต้นสูงก็ควรหาไม้มาปักค้ำยันจนกว่าจะตั้งตัวได้ พืชสมุนไพรส่วนใหญ่จะใช้ปลูกโดยวิธีนี้เนื่องจากพืชสมุนไพรส่วนใหญ่เป็นไม้ยืนต้น เช่น ต้นสะเดา,ชุมเห็ดเทศ,เพกา เป็นต้น
  2. การปลูกในแปลง เตรียมดินโดยการขุดดินและยกร่องให้เป็นแปลงขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 4 เมตร พืชสมุนไพรที่ใช้ปลูกโดยวิธีนี้มักเป็นพืชต้นเล็ก อายุสั้นเพียงฤดูเดียวหรือ สองฤดู เช่น ต้นกะเพรา, หอม, กระเทียม, ฟักทอง เป็นต้น
  3. การปลูกในภาชนะ ปลูกโดยใช้ดินที่ผสมแล้ว มีผลดีคือสามารถเคลื่อนย้ายได้ตามความพอใจ ดูแลรักษาง่าย พืชที่นิยมใช้ปลูกเช่น ต้นฟ้าทะลายโจร, ว่านมหากาฬ, เสลดพังพอน เป็นต้น

ในการปลูกต้นไม้ในภาชนะในบ้านเรา ส่วนใหญ่ใช้กระถางดินเผาเพราะหาได้ง่ายและมีหลายขนาดให้เลือกหรือจะใช้ถุงดำก็จะประหยัดมากขึ้น

การปลูกทำได้หลายวิธี คือ

การปลูกด้วยเมล็ดโดยตรง วิธีนี้ไม่ต้องเพาะเป็นต้นกล้าก่อน นำเมล็ดมาหว่านลงแปลงได้เลย หลังจากนั้นใช้ดินร่วน หรือทรายหยาบโรยทับบาง ๆ รดน้ำให้ชื้นตลอดทั้งวัน เมื่อเมล็ดงอก เป็นต้นอ่อนจึงถอนต้นอ่อนแอออก เพื่อให้มีระยะห่างตามสมควร ปกติมักใช้ในการปลูกผักหรือพืชล้มลุกและพืชอายุสั้น เช่น กะเพรา โหระพา

ส่วนการหยอดลงหลุมโดยตรง มักใช้กับพืชที่มีเมล็ดใหญ่ เช่น ฟักทอง โดยหยอดในแต่ละหลุมมากกว่าจำนวนต้นที่ต้องการ แล้วถอนออกภายหลัง

การปลูกด้วยต้นกล้าหรือกิ่งชำ ปลูกโดยการนำเมล็ดหรือกิ่งชำ ปลูกให้แข็งแรงดีในถุงพลาสติก หรือในกระถางแล้วย้ายไปปลูกในพื้นที่ที่ต้องการ การย้ายต้นอ่อนจากภาชนะเดิมไปยังพื้นที่ที่ต้องการต้องไม่ทำลายราก ถ้าเป็นถุงพลาสติกก็ใช้มีดกรีดถุงออกถ้าเป็นกระถางถอดกระถางออกโดยใช้มือดันรูกลมที่ก้นกระถาง ถ้าดินแน่นมาก ให้ใช้เสียมแซะดินแล้วใช้น้ำหล่อก่อน จะทำให้ถอน ง่ายขึ้น หลุมที่เตรียมปลูกควรกว้างกว่ากระถางหรือถุงพลาสติกเล็กน้อย จึงทำให้ต้นอ่อนเจริญเติบโตได้สะดวก วางต้นไม้ให้ระดับรอยต่อระหว่างลำต้นกับราก อยู่เสมอกับระดับขอบหลุม พอดีแล้วกลบด้วยดินร่วนซุยหรือดินร่วนปนทราย กดดินให้แน่นพอประมาณ นำเศษไม้ใบหญ้ามาคลุมไว้รอบโคนต้น เพื่อรักษาความชุ่มชื้นและป้องกันแรงกระแทกเวลารดน้ำ หาไม้หลักซึ่งสูงมากกว่าต้นไม้มาปักไว้ข้าง ๆ ผูกเชือกยึดกับต้นไม้ คอยพยุงไม้ให้ต้นไม้ล้มหรือโยกคลอนได้ ปกติใช้กับต้น คูน แคบ้าน ชุมเห็ดเทศ สะแก ขี้เหล็ก เป็นต้น หรือใช้กับพันธุ์ไม้ที่งอกยากหรือมีราคาแพง จึงจำเป็นต้องเพาะเมล็ดก่อน

การปลูกด้วยหัว ปกติจะมีหัวที่เกิดจากรากและลำต้น เรียกชื่อแตกต่างกัน ในที่นี้จะรวมเรียกเป็นหัวหมด โดยไม่แยกรายละเอียดไว้

สำหรับการปลูกไม้ประเภทหัว ควรปลูกในที่ระบายน้ำได้ดี มิฉะนั้นจะเน่าได้ การปลูกก็โดยการฝังหัวให้ลึกพอประมาณ (ปกติลึกไม่เกิน 3 เท่า ของความกว้างหัว) กดดินให้แน่นพอสมควร คลุมแปลงปลูกด้วยฟางหรือหญ้าแห้ง เช่น การปลูกหอม กระเทียม การปลูกด้วยหน่อหรือเหง้านั้น อ่านรายละเอียดในการขยายพันธุ์พืชสมุนไพรทบทวนได้ในใบความรู้ลำดับที่ 7

การปลูกด้วยไหล ปกตินิยมเอาส่วนของไหลมาชำไว้ก่อน แล้วจึงย้ายปลูกในพื้นที่ที่เตรียมไว้อีกครั้งหนึ่ง เช่น บัวบก แห้วหมู

การปลูกด้วยจุก หรือตะเกียง โดยการนำจุกหรือตะเกียง มาชำไว้ในดินที่เตรียมไว้ โดยให้ตะเกียงตั้งขึ้นตามปกติ กลบดินเฉพาะด้านล่าง เช่นสับปะรด

การปลูกด้วยใบ เหมาะสำหรับพืชที่มีใบหนาใหญ่และแข็งแรง คล้ายกับการปลูกด้วยส่วนของกิ่งและลำต้น คือการตัดใบไปปักหรือวางบนดินที่ชุ่มชื้นให้เกิดต้นใหม่ เช่น ว่านลิ้นมังกร

การปลูกด้วยราก โดยตัดส่วนของรากไปปักชำให้เกิดต้นใหม่ เช่น ดีปลี เป็นต้น

การปลูกด้วยหน่อหรือเหง้า ในกรณีที่มีต้นพันธุ์อยู่แล้วทำการแยกหน่อที่แข็งแรง โดยตัดแยกหน่อจากต้นแม่ นำหน่อที่ได้ มาตัดรากที่ช้ำหรือใบที่มากเกินไปออกบ้าง แล้วจึงนำไปปลูกในดินที่เตรียมไว้ กดดินให้แน่นและรดน้ำให้ชุ่ม ควรบังร่มเงาให้จนกว่าต้นจะแข็งแรง

สำหรับการปลูกพืชสมุนไพรในกระถางมีขั้นตอนในการปลูกพืช ดังนี้

  1. ก่อนที่จะปลูกต้นไม้ลงในกระถาง จะต้องเลือกกระถางให้มีขนาดที่พอเหมาะกับต้นไม้นั้น เมื่อได้กระถางมาแล้ว ก็ใช้เศษกระถางแตกขนาดประมาณ 2-3 นิ้ว วางปิดรูก้นกระถาง ทุบอิฐมอญเป็นก้อนเล็ก ๆ ใส่ลงก้นกระถางให้สูงประมาณ 1 นิ้วเพื่อช่วยให้เก็บความชื้นและระบายน้ำได้ดีขึ้น
  2. ใช้ดินที่ผสมแล้วใส่ลงไปประมาณครึ่งกระถาง นำต้นไม้วางลงตรงกลางแล้วใส่ดินผสมลงในกระถางจนเกือบเต็ม โดยให้ต่ำกว่าขอบกระถาง 1 นิ้ว กดดินให้แน่นพอประมาณ เพื่อไม่ให้ต้นไม้ล้ม
  3. รดน้ำให้ชุ่มแล้วยกวางในร่มหรือในเรือนเพาะชำจนกว่าต้นไม้จะทรงตัว แล้วจึงยกออกวางกลางแจ้งได้

พืชสมุนไพรบางชนิดที่ปลูกโดยการเพาะเมล็ด
พืช ระยะปลูก
(ต้น แถว)
อัตราการใช้พันธุ์ การเพาะเมล็ด
กระเจี๊ยบแดง 1 x 1.2 ม. ใช้เมล็ด 300 กรัม / ไร่ หยอดหลุมละ 3-5 เมล็ด แล้วถอนแยกเมื่อต้นสูง 20-25 ซม.
กานพลู 4.5 6 ม. จำนวน 60 ต้น / ไร่ เลือกเมล็ดสุกซึ่งมีสีดำ เพาะเมล็ดทันทีเพราะจะสูญเสียอัตรางอกภายใน 1 สัปดาห์
กะเพราแดง 5 15 ซม. ใช้เมล็ด 2 กก. / ไร่ ใช้วิธีหว่าน
ขี้เหล็ก 2 2 ม. จำนวน 400 ต้น / ไร่ แช่เมล็ดในน้ำอุ่น 50 องศาเซลเซียส
3-5 นาที
คำฝอย 30 30-50 ซม. ใช้เมล็ด 2-2.5 กก. / ไร่ ต้องการความชื้น แต่อย่าให้แฉะเมล็ด จะเน่า
ชุมเห็ดเทศ 3 4 ม. จำนวน 130 ต้น / ไร่ เพาะเมล็ดจากฝักแก่จัด เมล็ดสีเทาอมน้ำตาล
มะขามแขก 50 100 ซม. จำนวน 3,000 ต้น / ไร่ หยอดหลุมละ 2-3 เมล็ด แล้วถอนออกให้เหลือหลุมละต้น
ฟ้าทะลายโจร 15 20 ซม. ใช้เมล็ด 400 กรัม / ไร่ เลือกเมล็ดแก่สีน้ำตาลแดงแช่น้ำอุ่น 3-5 นาที โรยเมล็ดบาง ๆ ให้น้ำใน แปลงเพาะอย่างสม่ำเสมอ
มะแว้งเครือ 1 1 ม. จำนวน 1,600 ต้น / ไร่ แช่เมล็ดในน้ำอุ่น 50 องศาเซลเซียส 3-5 นาที เพาะในกระบะ 1 เดือน จึง ย้ายปลูก
ส้มแขก 9 9 ม. จำนวน 20 ต้น / ไร่ มีทั้งต้นตัวผู้และตัวเมีย จึงควรเสียบ ยอดพันธุ์ดีของต้นตัวเมียบนต้นตอที่ เพาะจากเมล็ดอีกครั้งหนึ่ง

พืชสมุนไพรบางชนิดที่ปลูกโดยการโดยใช้ส่วนต่าง ๆ ของลำต้น
พืช วิธีปลูก ระยะปลูก
(ต้น แถว)
อัตราพันธุ์ที่ใช้ต่อไร่ การเตรียมพันธุ์ปลูก
ดีปลี ปักชำ 1 1 ม. 1,600 ต้น / ไร่ ตัดเถายาว 4-6 ข้อ เพาะชำในถุง 60 วัน
พริกไทย ปักชำ 2 2 ม. 400 ต้น / ไร่ ใช้ยอดหรือส่วนที่ไม่แก่จัด อายุ 1-2 ปี ตัดเป็นท่อน 5-7 ข้อ
พลู ปักชำ 1.5 1.5 ม. 700 ต้น / ไร่ ตัดเถาเป็นท่อนให้มีใบ 3 - 5 ข้อ
พญายอ ปักชำ 50 50 ซม. 4,000 ต้น / ไร่ ตัดกิ่งพันธุ์ 6 - 8 นิ้ว มีตา 3 ตา ใบยอด 1/3 ของกิ่งพันธุ์
เจตมูลเพลิง ปักชำ 50 50 ซม. 4,000 ต้น / ไร่ ใช้กิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อนปักชำ
อบเชย กิ่งตอน 2 2 ซม. 400 ต้น / ไร่  
ฝรั่ง กิ่งตอน 4 4 ม. 100 ต้น / ไร่  
ขมิ้นชัน เหง้า 30 30 ซม. 10,000 ต้น / ไร่ เหง้าอายุ 7-9 เดือน แบ่งให้มีตาอย่างน้อย 3-5 ตา
ตะไคร้หอม เหง้า 1.5 1.5 ม. 600 หลุม / ไร่ ตัดแบ่งให้มีข้อ 2-3 ข้อ ตัดปลายใบออกปลูก 3 ต้น / หลุม
ไพล เหง้า 50 50 ซม. 4,000 ต้น / ไร่ เหง้าอายุมากกว่า 1 ปี มีตาสมบูรณ์ 3-5 ตา
บุก หัว 40 40 ซม. 6,000 หัว / ไร่ หัวขนาดประมาณ 200 กรัม ฝังลึกจากผิวดิน 3-5 ซม.
หางไหล ไหล 1.5 1.5 ม. 700 ต้น / ไร่ เลือกขนาดกิ่ง 0.7-1 ซม. มีข้อ 3-4 ข้อ
เร่ว หน่อ 1 1 ม. 1,600 ต้น / ไร่ ตัดแยกหน่อจากต้นเดิมให้มีลำต้นติดมาด้วย
ว่านหางจระเข้ หน่อ 50 70 ซม. 4,500 ต้น / ไร่ แยกหน่อขนาดสูง 10-15 ซม.

การดูแลรักษาพืชสมุนไพร

การพรางแสง พืชสมุนไพรหลายชนิดต้องการแสงน้อย จึงต้องมีการพรางแสงให้ตลอดเวลา การพรางแสงอาจใช้ตาข่ายพรางแสง หรืออาจปลูกร่วมกับพืชอื่นที่มีร่มเงา ปลูกบริเวณเชิงเขาหรือปลูกในฤดูฝนซึ่งมีช่วงแสงไม่เข้มนัก เช่น บุก ฟ้าทะลายโจร เร่ว หญ้าหนวดแมว เป็นต้น สำหรับพืชสมุนไพรทั่วไปที่อ่อนแออยู่ ก็ควรพรางแสงให้ชั่วระยะหนึ่งจนพืชนั้นตั้งตัวได้ จึงให้แสงตามปกติ การทำค้างในพืชเถาต่าง ๆ ควรทำค้างเพื่อสะดวกในการเก็บผลผลิต การดูแลรักษาและการเจริญเติบโตของพืช เช่น พริกไทย พลู มะแว้งเครือ อัญชัน เป็นต้น

การให้น้ำ ควรให้น้ำอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมโดยพิจารณาลักษณะของพืชแต่ละชนิดว่าต้องการน้ำมากหรือน้อย โดยปกติควรให้น้ำอย่างน้อยวันละครั้ง แต่หากเห็นว่าแฉะเกินไปก็เว้นช่วงได้ หรือแห้งเกินไปก็ให้น้ำเพิ่มเติม จึงต้องคอยสังเกตเนื่องจากแต่ละพื้นที่มีสภาพดินและภูมิอากาศแตกต่างกัน การให้น้ำควรให้จนกว่าพืชจะตั้งตัวได้

ระยะเวลาในการให้น้ำที่เหมาะสมที่สุดคือเวลาเช้า เพราะช่วงเวลานี้พืชเริ่มได้รับแสงแดด มีการสังเคราะห์แสง และเริ่มดูดน้ำและแร่ธาตุต่าง ๆ จากดินขึ้นไปใช้ประโยชน์ในกระบวนการเจริญเติบโตและสามารถดูดได้ทั้งวัน ซึ่งเป็นระยะเวลายาวนาน(ตั้งแต่ 07.00-17.00 น.) น้ำที่ให้แก่พืชจึงถูกพืชดูดไปใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด ไม่ควรให้น้ำแก่พืชในเวลากลางคืนหรือเวลาเย็นมากเกินไปหรือเมื่อสิ้นแสงแดด เพราะใบของพืชอาจจะไม่แห้ง ซึ่งจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ง่ายในสภาพที่ใบพืชมีความชื้นสูง เช่น โรคราน้ำค้าง โรคเน่าคอดิน โรคใบไหม้เป็นต้น นอกจากนั้นน้ำที่ให้แก่พืชในเวลาเย็นจะเกิดประโยชน์ต่อพืชน้อยมากหรือ ๆไม่มีประโยชน์เลย เพราะเมื่อไม่มีแสงแดดพืชจะไม่ปรุงอาหารหรือสังเคราะห์แสง ทำให้พืชดูดน้ำได้น้อยหรือไม่ดูดน้ำเลย

การพรวนดิน เป็นการทำให้ดินร่วนซุย ระบายน้ำดีขึ้น ทั้งยังช่วยกำจัดวัชพืชอีกด้วย จึงควรมีการพรวนดินบ้างเป็นครั้งคราวโดยพรวนในขณะที่ดินแห้งพอสมควรและไม่ควรให้กระทบกระเทือน รากมากนัก

การใส่ปุ๋ยโดยปกติจะให้ก่อนการปลูกโดยรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ใน การให้ปุ๋ยกับพืชสมุนไพรแนะนำให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เพราะปุ๋ยจะค่อย ๆ ย่อยสลายและปล่อยแร่ธาตุที่มีประโยชน์ให้พืชอย่างช้า ๆ และสม่ำเสมอ และยังช่วยให้ดินอุ้มน้ำได้ดี การให้ปุ๋ยควรให้อย่างสม่ำ เสมอประมาณ 1-2 เดือนต่อครั้งโดยอาจใส่แบบเป็นแถวระหว่างพืชหรือใส่รอบ ๆ โคนต้นบริเวณทรงพุ่มก็ได้

การกำจัดศัตรูพืช ควรใช้วิธีธรรมชาติ เช่น

ปลูกพืชหลายชนิดบริเวณเดียวกัน และควรปลูกสมุนไพรที่มีกลิ่นฉุน และมีฤทธิ์ในการรบกวนแมลงแทรกอยู่ด้วย เช่น ดาวเรือง ตะไคร้หอม กะเพรา เสี้ยนดอกม่วง เป็นต้น

อาศัยธรรมชาติจัดสมดุลกันเอง ไม่ควรทำลายแมลงทุกชนิดเพราะบางชนิดเป็นประโยชน์ จะช่วยควบคุมและกำจัดแมลงที่เป็นศัตรูพืชให้ลดลง

ใช้สารจากธรรมชาติ โดยใช้พืชที่มีสารประกอบที่มีฤทธิ์ต่อแมลงที่เป็นศัตรูพืชมากำจัดโดยที่แต่ละพืชจะมีสารประกอบที่ออกฤทธิ์กับแมลงต่างชนิดกัน เช่น

สารสกัดจากสะเดา ด้วง เพลี้ยอ่อน เพลี้ยกระโดด
ยาสูบ เพลี้ยอ่อน ไรแดง โรครา
หางไหลแดง เพลี้ย ด้วง  

การบำรุงรักษาพืชสมุนไพร ควรเลือกวิธีดูแลรักษาให้เป็นไปตามธรรมชาติมากที่สุด และควรหลีกเลี่ยงสารเคมีไม่ว่าด้านการให้ปุ๋ย การกำจัดวัชพืชหรือศัตรูพืช เนื่องจากอาจมีพิษตกค้างในพืชและยังมีผลกับคุณภาพและปริมาณสารสำคัญในพืชอีกด้วย

 
   
   
 
<< PreviousNext >>
Copyright 2002 คำนำสารบัญเกี่ยวกับผู้จัดทำโรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์จังหวัดนนทบุรี บรรณานุกรม