Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
RANGSAN
โลกแห่งสมุนไพร
   ::รังสรรค์ ชุณหวรากรณ์::

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูกพืชสมุนไพร

 

การที่พืชสมุนไพรจะเจริญเติบโตแข็งแรงได้ดีนั้น หาได้ขึ้นอยู่กับการให้น้ำและให้ปุ๋ยอย่างเพียงพอเท่านั้นไม่แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชสมุนไพรอยู่อีกหลายประการ ที่ผู้ปลูกเลี้ยงควรจะรู้และทำความเข้าใจเอาไว้

สิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูกพืชสมุนไพรมีอยู่ด้วยกันหลายประการดังนี้

  1. ดิน
  2. แสงสว่าง
  3. น้ำ และความชื้น
  4. อุณหภูมิ
  5. ธาตุอาหาร
  6. อากาศ

ดิน

ดิน คือสิ่งที่พืชใช้ยึดเกาะเพื่อการทรงตัวและใช้รากชอนไชหาอาหาร จึงถือได้ว่าดินนั้นคือแหล่งอาหารของพืช เพราะว่าในดินนั้นประกอบด้วยธาตุอาหารต่าง ๆ มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับวัตถุต้นกำเนิดดินดินที่มีความเหมาะสมในการปลูกพืชจะต้องเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง คือจะต้องมีธาตุอาหารที่พืชต้องการอยู่อย่างครบถ้วนหรือเกือบจะครบ แต่ในยุคปัจจุบันนี้ เราจะหาดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ดังกล่าวจากธรรมชาติได้ยากมาก จึงต้องอาศัยการปรุงแต่งจากภายนอกโดยการเพิ่มธาตุอาหารหรืออินทรีย์วัตถุต่างๆลงไป เพื่อปรับสภาพโครงสร้างของดิน ให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกพืชและการเจริญเติบโตของพืชดินที่เราพบเห็นกันโดยทั่วไปมีอยู่ 3 ประเภท คือ ดินร่วน ดินทรายและดินเหนียว ในบรรดาดินทั้ง 3 ประเภทนี้ ดินร่วนถือได้ว่าเป็นดินที่มีความเหมาะสมในการปลูกพืชมากที่สุดเพราะสามารถเก็บความชื้น ระบายน้ำและระบายอากาศได้เป็นอย่างดี ดินทรายเป็นดินที่มีเม็ดดินใหญ่ อุ้มน้ำได้น้อย ไม่พอกับความต้องการของพืช ส่วนดินเหนียวนั้นเป็นดินที่มีขนาดของเม็ดดินเล็กมากจนละเอียดก็ว่าได้ ซึ่งเมื่อได้รับความชื้นเข้าไปจะจับตัวกันแน่นอุ้มน้ำได้ดี แต่ไม่สามารถจะถ่ายเทได้สะดวก

ถึงอย่างไรก็ตามทั้งดินทรายและดินเหนียวต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย การที่จะนำมาใช้ประโยชน์นั้นจะต้องพิจารณาถึงชนิด ความต้องการและประเภทของพืชเป็นหลักด้วย

ดินที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของพืช ควรจะมีส่วนประกอบโดยปริมาตรดังนี้

1. แร่ธาตุ
45
เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตร
2. อินทรีย์วัตถุ
5
เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตร
3. น้ำ
25
เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตร
4. อากาศ
25
เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตร

รวม 100 เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตร แร่ธาตุ และอินทรีย์วัตถุซึ่งเป็นส่วนที่เป็นของแข็งรวมกันเป็นครึ่งหนึ่งของปริมาตรของดินทั้งหมด ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นน้ำ และอากาศซึ่งจะบรรจุอยู่ในช่องว่าง ระหว่างเม็ดดิน น้ำและอากาศในดินมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เพราะบรรจุอยู่ในช่องว่างระหว่าง เม็ดดินอันเดียวกัน เมื่อมีน้ำมาก น้ำจะไล่ที่อากาศ ทำให้อากาศน้อยและเมื่อมีน้ำน้อยอากาศก็จะเข้ามา แทนที่น้ำที่หายไป

แสงสว่าง

แสงเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการสังเคราะห์แสง และเป็นพลังงานที่พืชใช้ปรุงอาหาร แสงสว่างที่ส่องมายังใบของพืชจะต้องมีปริมาณเพียงพอแก่ความต้องการของพืชแต่ละชนิด เนื่องจากพืชแต่ละชนิดต้องการปริมาณแสงที่แตกต่างกัน จำต้องดูแลให้เหมาะสม มิฉะนั้นพืชจะปรุงอาหารไม่เต็มที่หรือมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติเช่น ต้นแคระแกร็น ไม่ออกดอกหรือผล เป็นต้น

นอกจากที่กล่าวแล้ว แสงยังเป็นภาวะที่จำเป็นในการงอกของเมล็ดพืช เมื่อพืชออกต้นอ่อนแล้ว พืชจะต้องการแสงเพิ่มขึ้น เพราะแสงสว่างจากดวงอาทิตย์เป็นพลังงานที่จะทำให้พืชเจริญเติบโต

ประโยชน์ของแสงสว่างที่มีต่อพืชมีดังนี้

  1. เป็นพลังงานที่พืชใช้ในการปรุงอาหาร แสงสว่างที่ส่องลงมาจะต้องมีปริมาณเพียงพอแก่ความต้องการของพืชแต่ละชนิดเพราะพืชต่าง ๆใช้แสงสว่างไม่เท่ากันแสงน้อยเกินไปพืชจะปรุงอาหาร ไม่ได้ ดังนั้นในการดูแลรักษาต้นไม้ จำเป็นต้องตัดแต่งกิ่งให้แสงสว่างส่องลงให้ทั่วถึงทั้งต้น เพื่อให้ใบทุกใบทำหน้าที่ปรุงอาหารได้เต็มที
  2. เกี่ยวกับการงอกของเมล็ดพืช เพราะแสงแดดมีแสงอินฟราเรด เป็นแสงที่ช่วยให้พืชงอกงามเร็ว นอกจากจะเกี่ยวกับการงอกงามของเมล็ดแล้ว แสงสว่างยังช่วยให้ลำต้นเจริญรวดเร็วด้วย จะเห็นได้จากต้นไม้มักจะเอนเข้าหาแสงสว่างอยู่เมอ ด้านที่ถูกแสงสว่างมากมักจะเจริญรวดเร็วกว่าด้านที่ไม่ถูกแสงสว่าง
  3. เกี่ยวกับสรีระภายใน พืชบางชนิดจะออกดอกในเมื่อได้รับแสงสว่างเพียงพอ แสงมากเกินไปหรือน้อยเกินไปพืชก็จะไม่ออกดอก ผู้ปลูกจะต้องทราบว่าพืชสมุนไพรแต่ละชนิด ต้องการแสงสว่างมากหรือน้อยเพียงใด ถ้าแสงแดดมากเกินไปใบก็จะไหม้ ใบก็ไม่สามารถจะทำหน้าที่ปรุงอาหารได้ เมื่อปรุงอาหารไม่ได้พืชสมุนไพรที่ปลูกก็จะชะงักการเจริญเติบโต และในทางตรงกันข้าม ถ้านำพืช สมุนไพรที่ชอบอยู่กลางแจ้งไปปลูกในร่มที่ไม่ได้รับแสง พืชก็จะไม่เจริญเติบโตเพราะไม่มีแสงแดดสำหรับช่วยเป็นพลังงานในการสังเคราะห์แสง

น้ำและความชื้น

สิ่งมีชีวิตทุกชนิดจะต้องมีน้ำเป็นส่วนประกอบของร่างกายด้วยกันทั้งนั้น พืชก็เช่นกัน เพราะพืชมีความจำเป็นที่จะต้องใช้น้ำในขบวนการสังเคราะห์แสงและหล่อเลี้ยงเซลล์และยังเป็นตัวละลายแร่ธาตุต่าง ๆ ก่อนที่จะลำเลียงเข้าสู่ต้นพืชอีกด้วย พืชทุกชนิดจะต้องการน้ำในปริมาณที่ต่างกัน และความต้องการน้ำของพืชย่อมขึ้นอยู่กับขนาดและอายุของพืช ถิ่นกำเนิดของพืชบางครั้งก็สามารถที่จะบอกได้ถึงความต้องการน้ำของพืชนั้น ๆ เช่นพืชที่เกิดอยู่ในแถบที่มีความแห้งแล้งย่อมจะต้องการปริมาณน้ำน้อยกว่าพืชที่เคยอยู่ในที่ ๆ ชุ่มชื้นมาก่อน พืชบางชนิดต้องการความชื้นสูง เช่น กระวาน กานพลู เป็นต้น สำหรับความชื้นในอากาศนั้นถือว่าเป็นปัจจัยทางอ้อม ที่มีผลต่อปริมาณความต้องการ น้ำของพืชคือถ้าความชื้นในอากาศมีมาก พืชก็จะคายน้ำน้อยลง ทำให้พืชสามารถคงความสดชื่นอยู่ได้ แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่ความชื้นในอากาศลดลง พืชก็จะคายน้ำมากขึ้นและนั่นก็แน่นอนว่าพืชจะต้องการน้ำ เพื่อมาชดเชยปริมาณน้ำที่สูญเสียไปมากขึ้นเช่นกัน

อุณหภูมิ

อุณหภูมิ คือความร้อนเย็นของอากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่มีผลต่อการเจริญ เติบโตของพืช จะเห็นได้ว่าอุณหภูมิหรือความร้อนในอากาศยิ่งสูงขึ้นมากเท่าไร พืชก็จะคายน้ำมากขึ้น เท่านั้น รวมไปถึงการระเหยของน้ำที่อยู่รอบ ๆ บริเวณต้นพืชด้วย ในทางตรงกันข้ามถ้าอุณหภูมิต่ำการคายน้ำของพืชก็จะน้อยลงไปด้วยอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชคืออุณหภูมิที่อยู่ในช่วง 15 - 40o C ดังนั้น การที่จะนำพืชสมุนไพรมาปลูกนั้น ผู้ปลูกเลี้ยงจะต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมและอุณหภูมิที่พืชเหล่านั้นต้องการด้วย

ความสำคัญของอุณหภูมิ

อุณหภูมิมีความสำคัญต่อพืชสมุนไพรดังนี้

  1. การเจริญเติบโต
  2. การเกิดตาดอก
  3. การสังเคราะห์แสง
  4. การหายใจ
  5. การคายน้ำ
  6. การขยายพันธุ์

ดังนั้น อุณหภูมิมีบทบาทต่อกระบวนการต่าง ๆ ทางด้านสรีระวิทยา และกระบวนการทางชีวเคมีของพืชสมุนไพรทุกชนิด

ธาตุอาหารพืช

ธาตุอาหารพืช หมายถึง แร่ธาตุที่พืชจำเป็นต้องใช้ในการสร้างความเจริญเติบโตและให้ผลผลิตถ้าพืชได้รับธาตุอาหารไม่เพียงพอก็จะชะงักการเจริญเติบโต หรือแคระแกร็น

ธาตุอาหารพืชที่พืชต้องการ มีทั้งหมด 16 ธาตุ ได้แก่

ชื่อธาตุ สัญญลักษณ์ ชื่อธาตุ สัญญลักษณ์
1. คาร์บอน C 9. กำมะถัน S
2. ไฮโดรเจน H 10. แมงกานีส Mn
3. ออกซิเจน O 11. โบรอน B
4. ไนโตรเจน N 12. ทองแดง Cu
5. ฟอสฟอรัส P 13. สังกะสี Zn
6. พอแทสเซียม K 14. เหล็ก Fe
7. แคลเซี่ยม Ca 15. โมลิบดินัม Mo
8. แมกนีเซียม Mg 16. คลอรีน Cl

ประเภทของธาตุอาหารพืช

ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช จัดแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. ธาตุอาหารหลัก

ธาตุอาหารหลัก เป็นธาตุอาหารที่พืชใช้ในการสร้างความเจริญเติบโต และให้ผลผลิตพืชต้องการในปริมาณมากขาดไม่ได้ ปกติมีอยู่แล้วในดิน ได้แก่ ธาตุไนโตรเจน (N) ธาตุฟอสฟอรัส (P) และธาตุพอแทสเซียม (K) แต่เนื่องจากพื้นที่เกษตรทั่ว ๆ ไป มักจะเกิดการชะล้างธาตุไนโตรเจน (N) และ ธาตุพอแทสเซียม (K) ออกไปหมด จึงทำให้ธาตุอาหารหลักมีไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้ของพืช จำเป็นต้องเติมธาตุอาหาร N-P-K ลงไปในดินในรูปของปุ๋ยชนิดต่าง ๆ ธาตุอาหารหลักทั้ง 3 ธาตุ มีหน้าที่และความสำคัญต่อพืชดังนี้

ความสำคัญของธาตุอาหารหลักที่มีต่อการเจริญเติบโตของพืช

ชื่อธาตุอาหาร หน้าที่และความสำคัญต่อพืช อาการของพืชที่ขาดธาตุอาหาร
ไนโตรเจน
(N)
  1. เป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นความเจริญเติบโตของใบและลำต้น
  2. ทำให้ใบมีสีเขียวเข้ม
  3. ทำให้พืชตั้งตัวเร็วในระยะเริ่มปลูก
  4. เพิ่มปริมาณโปรตีนแก่พืช
  5. ช่วยให้พืชสมุนไพรที่ใช้ใบและ ลำต้นมีคุณภาพดีขึ้น
  1. ใบซีด ใบเหลืองผิดปกติ โดยใบล่างจะเหลืองก่อน
  2. ใบแห้งหลุดร่วง
  3. ลำต้นผอมสูง กิ่งก้านลีบเล็ก
  4. พืชโตช้ามาก ให้ผลผลิตต่ำ คุณภาพเลว
ฟอสฟอรัส
(P)
  1. ช่วยในการออกดอก และสร้างเมล็ด พืช
  2. ช่วยให้รากฝอยรากแขนงเจริญเติบ โตเร็วในระยะเริ่มปลูก
  3. ช่วยเร่งให้พืชแก่เร็ว ลำต้นแข็งแรง
  1. ดอกและผลแคระแกร็น พืชบางชนิดอาจมีลำต้น หรือเถาบิด ต้นแคระแกร็น
  2. พืชพวกธัญพืชจะล้มง่าย
  3. ขอบใบของพืชบางชนิดเป็นสีม่วงเช่นข้าวโพด
  4. ต้นเตี้ย ออกดอกช้า
พอแทสเซียม
(K)
  1. ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโต ของราก หัว
  2. ช่วยให้ผลไม้มีรสชาติดีขึ้น
  3. ทำให้พืชมีความต้านทานโรค ทนแล้งได้ดี
  4. สร้างคาร์โบไฮเดรตแก่พืช เพิ่มปริมาณแป้งในพืชกินหัว
  1. ขอบใบเหลือง แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ปลายใบไหม้เหี่ยวแห้ง
  2. พืชที่ให้หัว จะมีแป้งน้อย มีน้ำมาก เนื้อฟ่าม
  3. พืชให้ฝัก จะมีเมล็ดไม่เต็มฝัก
  4. เมล็ดพืชจะลีบ มีน้ำหนักเบาผิดปกติ

2. ธาตุอาหารรอง

ธาตุอาหารรอง เป็นธาตุที่พืชมีความจำเป็นต้องใช้ในปริมาณมาก รองลงไปจากธาตุอาหาร หลัก เป็นส่วนประกอบของเซลล์พืชของคลอโรฟิลล์ (ส่วนที่เป็นสีเขียวของพืช) และโปรตีนในพืช ปกติในการใส่ปุ๋ยพวกธาตุอาหารหลักมักมีธาตุอาหารรองติดมาด้วย ส่วนในดินก็พบว่ามีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของพืช ได้แก่ ธาตุแมกนีเซียม (Mg) แคลเซียม (Ca) และกำมะถัน (S)

3. ธาตุอาหารเสริม มี 7 ธาตุ

ธาตุอาหารเสริม เป็นธาตุที่พืชจำเป็นต้องใช้ในขบวนการสร้างความเจริญเติบโต พืชต้อง การในปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับธาตุอื่น ๆ แต่จะขาดเสียมิได้ เปรียบได้กับวิตามินและเกลือแร่ที่ร่างกายมนุษย์ต้องการ ธาตุอาหารเสริม มี 7 ธาตุ คือ เหล็ก ( Fe) ทองแดง (Cu) สังกะสี (Zn) โบรอน (B) แมงกานีส (Mn) คลอรีน (Cl) และโมลิบดินัม (Mo) ซึ่งพบว่าดินที่มีอินทรียวัตถุโดยทั่ว ๆ ไป หรือดินป่าเบิกใหม่มักจะมีธาตุอาหารเสริมอยู่อย่างเพียงพอต่อความต้องการของพืช

ส่วนธาตุอาหารอีก 3 ธาตุ ได้แก่ คาร์บอน (C) ไฮโดรเจน(H) ออกซิเจน(O) พืชได้รับอย่างเพียงพออยู่แล้วจากน้ำ และอากาศ โดยธาตุคาร์บอน (C) ส่วนใหญ่พืชดูดไปใช้ทางใบในรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ดินชนิดต่าง ๆ ย่อมมีส่วนประกอบและปริมาณของแร่ธาตุต่าง ๆ เหล่านี้ไม่เหมือนกัน บางแห่งก็มีธาตุต่าง ๆ อุดมสมบูรณ์ แต่บางแห่งก็มีน้อยและขาดธาตุใดธาตุหนึ่ง และ พืชจะขาดธาตุใดธาตุหนึ่งนั้น หรือทั้ง 16 ธาตุนี้ไม่ได้ ดังนั้นเมื่อในดินมีปริมาณธาตุต่าง ๆ ไม่พอเพียงต่อความเจริญเติบโตของพืช ก็จะต้องหาทางเพิ่มเติมอาหารของมันทางใดทางหนึ่ง ทางใดที่จะเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดินหรือแก่พืชนี้เรียกว่า การใส่ปุ๋ยบำรุงดิน

ธาตุอาหารหรือปุ๋ยที่เราเติมลงไปในดินให้กับพืชนั้น มีอยู่ 2 ชนิดคือ

  1. ปุ๋ยอินทรีย์ คือปุ๋ยที่เกิดจากซากพืชและซากสัตว์ ได้แก่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักและปุ๋ยเทศบาล เป็น ต้น
  2. ปุ๋ยอนินทรีย์ คือปุ๋ยที่เกิดจากการสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ได้แก่ปุ๋ยยูเรีย แอมโมเนียมซัล เฟต หรือร็อคฟอสเฟต ปุ๋ยพวกนี้มีทั้งเป็นปุ๋ยเดี่ยวและปุ๋ยรวมส่วนมากจะเรียกกันเป็นสูตร เช่น 46-0-0 หรือ 15-15-15 เป็นต้น

ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกนั้น นิยมใช้กับดินที่จะปลูกหรือรองก้นหลุมเพื่อให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์และร่วนซุย อีกทั้งยังเป็นตัวช่วยปรับสภาพโครงสร้างของดินให้ดีอีกด้วย แต่การให้ผลตอบสนองจะช้ากว่าปุ๋ยเคมีซึ่งปุ๋ยเคมีนั้นจะให้ผลตอบสนองรวดเร็วทันใจ แต่ผลเสียก็คือว่าดินจะจับตัวกันแน่นและโครงสร้างของดินก็จะเสียไปด้วยถ้าใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียแก่พืชสมุนไพร ในการใช้ปุ๋ยนั้นควรจะพิจารณาและเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสภาพของต้นไม้และดินด้วย

อากาศ

อากาศ ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งในอากาศมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และออกซิเจน ที่จำเป็นในการสร้างอาหารและการหายใจของพืชโดยพืชจะหายใจเอาออกซิเจนเข้าไปทางใบ เพื่อใช้ในขบวนการต่าง ๆ การหายใจของพืชไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ใบเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นที่รากอีกด้วย เราจะพบอยู่บ่อย ๆ ว่าพืชที่รากแช่อยู่ในน้ำนาน ๆ นั้นจะเหี่ยวเฉาและตายในที่สุด สาเหตุเพราะน้ำเข้าไปแทรกอยู่ในดินจนหมด ทำให้ไม่มีช่องว่างที่อากาศจะไหลเวียนเข้ามาได้ ดังนั้นในการปลูกพืชสมุนไพร ผู้ปลูกจะต้องมีการเตรียมดินให้ดี คือดินจะต้องมีความร่วนซุยพอ เพื่อให้อากาศในดินถ่ายเท ได้สะดวก.

 
   
   
 
<< PreviousNext >>
Copyright 2002 คำนำสารบัญเกี่ยวกับผู้จัดทำโรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์จังหวัดนนทบุรี บรรณานุกรม