Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
 




 

ตัวอย่าง ปฏิจจสมุปบาท ในชีวิตประจำวัน ๕

ความทุกข์ ในปฏิจจสมุปบาท ต้องอาศัยความยึดถือเสมอไป เหมือนอย่างชาวนา ตากแดดตากลม ดำนาอยู่ในทุ่งนา ร้อนเหลือเกิน แต่ถ้าไม่เกิดความยึดถือแล้ว ที่เรียกว่า "ร้อนเหลือเกิน" นั้น มันเป็นความทุกข์ตามธรรมดา ยังไม่ใช่ความทุกข์ ในปฏิจจสมุปบาท ถ้าความทุกข์ ในปฏิจจสมุปบาท มันต้องยึดถือถึงกับกระวนกระวาย เกี่ยวกับ "ตัวกู" ถึงกับน้อยใจว่า กูเกิดมาเป็นชาวนา เป็นเวรเป็นกรรม ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ ถ้าคิดไปถึงอย่างนี้แล้ว อย่างนี้เป็นทุกข์ ตามแบบปฏิจจสมุปบาท ถ้ามันร้อนจนแสบหลังเฉยๆ รู้สึกว่าร้อน รู้สึกว่าอะไรอย่างนี้ ไม่ได้ยึดถือถึงขนาดเป็นตัวกูขึ้นมาอย่างนี้ ยังไม่ใช่ความทุกข์ ตามแบบของปฏิจจสมุปบาท

ฉะนั้น ขอให้สังเกตให้ดี แล้วแยกกัน เสียตอนนี้ว่า ถ้าความทุกข์ ที่ถูกยึดถือ เป็นทุกข์ที่สมบูรณ์แล้ว เป็นทุกข์ในปฏิจจสมุปบาท อย่างสมมติว่า เราทำมีดที่คมๆ บาดมือ เช่น มีดโกนบาดมือ เลือดไหลแดงร่า รู้สึกว่า เจ็บเท่านั้น แต่ ยังไม่ถึงกับ ยึดถือ ก็ไม่ถึงกับ เป็นทุกข์ อย่างปฏิจจสมุปบาท อย่าเอาไปปนกันเสีย ความทุกข์ ในปฏิจจสมุปบาท ต้องไปจาก อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ เสมอไป มันต้องครบอย่างนี้ จึงจะเรียกว่า เป็นความทุกข์ ตามแบบ ปฏิจจสมุปบาท

ทีนี้ ถ้าพูดเป็นหลักสั้นๆ ผู้ที่เรียน ธัมมะธัมโม มาแล้ว อาจจะเข้าใจว่า อายตนะภายใน ได้พบกันกับ อายตนะภายนอก ที่มีค่า หรือมีความหมาย อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วเป็น ที่ตั้งแห่งอวิชชา ยกตัวอย่างทางตา เช่น ทอดสายตาไปอย่างนี้ ก็เห็นต้นไม้ เห็นก้อนหิน เห็นอะไรก็ตามแต่ ไม่มีความทุกข์เลย เพราะว่า สิ่งที่เห็นนั้นยังไม่มีค่า ไม่มีความหมาย สำหรับเรา แต่ถ้าเราเห็นเสือ หรือว่า เห็นอะไร ที่มันมีความหมาย เห็นผู้หญิงหรือว่า เห็นอะไรที่มีความหมาย นี้มันผิดกัน เพราะ อย่างหนึ่งมีความหมาย อย่างหนึ่งไม่มีความหมาย หรือว่า ถ้าสุนัขตัวผู้ เห็นผู้หญิงสาวสวยๆ มันก็ไม่มีความหมาย แต่ถ้าเป็นชายหนุ่ม เห็นหญิงสาวสวยๆ นี้มันมีความหมาย คือผู้หญิงนั้น มีความหมาย สำหรับเขา ฉะนั้น การเห็นของสุนัข ไม่อยู่ใน เรื่อง ปฏิจจสมุปบาท แต่การเห็น ของชายหนุ่มนั้น อยู่ในเรื่องของ ปฏิจจสมุปบาท

เดี๋ยวนี้ เรากำลังพูดถึงคน คนเป็นผู้เห็น พอทอดสายตา ไปเห็นอะไร ตามธรรมดานี้ แต่ไม่เกิดความหมาย อย่างนี้ ยังไม่มีเรื่องของ ปฏิจจสมุปบาท เหลือบตาไปดูซิ รอบๆนี้ มีต้นไม้ มีหญ้า มีก้อนหิน ไม่มีความหมาย อะไรเลย เว้นไว้แต่ เป็นกรณี ที่มีความหมาย เช่น เมื่อมันเป็นเพชร ขึ้นมา หรือเป็น ก้อนหินศักดิ์สิทธิ์ อะไรขึ้นมา อย่างเป็น ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ขึ้นมา มันจึงจะมีความหมาย แล้วมันจึง จะเกิดเรื่อง ในจิตใจ แล้วมันจึง จะเป็น ปฏิจจสมุปบาท เพราะฉะนั้น เราจึงจำกัดความ ลงไปว่า อายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบกับ อายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ต้องเป็นสิ่งที่ มีความหมาย ด้วยแล้ว เป็นที่ตั้งแห่ง อวิชชา คือ เป็นที่ตั้ง แห่งความโง่ ความหลง ด้วย

เมื่อนั้นแหละ การกระทบ ระหว่าง อายตนะภายใน กับ อายตนะภายนอก จึงจะทำให้เกิด วิญญาณ วิญญาณที่สร้างขึ้นมา ปุ๊บเดียว จากการกระทบนี้ แล้วมันก็จะเกิด สังขาร คือ อำนาจอีกอันหนึ่ง ที่จะปรุงแต่ง ต่อไปอีก หมายความว่า ปรุงแต่ง นามรูป คือ กาย กับใจ ของผู้เห็นนี้ ให้เปลี่ยนเป็น กายกับใจ ชนิดที่บ้า ขึ้นมาทันที หรือมันโง่ ขึ้นมาทันที คือ มันพร้อมที่จะเป็นทุกข์ เมื่อร่างกายจิตใจเปลี่ยน ก็หมายความว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้มันก็เปลี่ยนไปด้วย เป็นอายตนะที่จะ "บ้า" ด้วยกัน แล้วมันก็เกิด ผัสสะ ที่บ้า เวทนาที่บ้า ตัณหา อุปาทาน ที่บ้า จนได้เป็นทุกข์ ไปจบลงที่เป็นตัวกูที่ ชาติ ตัวกูเต็มที่ที่คำว่า ชาติ ทีนี้ ความแก่ ความเจ็บ ความไข้ ความตาย ความทุกข์อะไร มันก็เกิดเป็น สิ่งที่มีความหมาย ขึ้นมาทันที เพราะว่ามัน ยึดถือ และยึดถือว่า ของกู นี่คือ เรื่องปฏิจจสมุปบาท ที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน

 

คัดจาก หนังสือเรื่อง "เรื่องสำคัญที่สุดสำหรับพุทธบริษัท ปฏิจจสมุปบาท หลักปฏิบัติอริยสัจจ์ที่สมบูรณ์แบบ" พุทธทาสภิกขุ พิมพ์โดย ธรรมสภา