Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
 




 

ตัวอย่าง ปฏิจจสมุปบาท ในชีวิตประจำวัน ๔

ทีนี้ จะไม่พูดถึง คนนั้นคนนี้ แต่จะพูดว่า ใครคนใดคนหนึ่ง กำลังเคี้ยวอาหาร อย่างเอร็ดอร่อย อยู่ในปาก กินของเอร็ดอร่อยนั้น คนธรรมดา ต้องขาดสติเสมอ ต้องเผลอสติ ต้องมีอวิชชา ครอบงำเสมอ ขอให้เข้าใจไว้อย่างนี้ เมื่อกำลังกิน อะไรอร่อยที่สุดนี้ มันเป็นเวลา ที่เผลอสติ เพราะความอร่อย มี อวิชชา ผสมอยู่ด้วยเสร็จ ทีนี้ ความคิดของมัน ที่อร่อยทางลิ้นนี้ เป็นปฏิจจสมุปบาทเต็มรอบ อยู่แล้ว โดยลักษณะอย่างเดียวกัน รสกระทบกับลิ้น เกิด ชิวหาวิญญาณ สร้างนามรูปใหม่ขึ้นมา สำหรับจะเป็ฯทุกข์ หรือ เปลี่ยนนามรูปธรรมดานี้ ขึ้นมาเป็น นามรูปใหม่ ที่จะเป็นทุกข์ นี่ นามรูป เกิด แล้วก็เกิด อายตนะ ที่พร้อม ที่จะให้มันเกิด ผัสสะ และเวทนา ชนิดที่จะเป็น ทุกขเวทนา เกี่ยวกับกรณีนี้ หรือเป็น สุขเวทนา เกี่ยวกับกรณีนี้ ถ้าอร่อยมันเป็นสุข ตามภาษาชาวบ้านพูด แต่พอไปยึดถือ ความอร่อยเข้าเท่านั้น เป็นอุปาทาน ก็กลายไปในทาง ที่จะเป็นทุกข์ เพราะ หวงในความอร่อย แล้วความอร่อย หรือความสุขนั้น ก็กลายเป็นทุกข์ ขึ้นมาทันที นี่กูอร่อย! กูมีความสุข! กูว่ามีความสุขก็จริง แต่ว่าหัวใจ มันเป็นทาสของความสุข เพราะร้อน เพราะ ยึดมั่นในความสุข นั้น นี่แยบยล ของปฏิจจสมุปบาท มันลึกซึ้งไปอย่างนี้ ถ้าชาวบ้านพูดก็ว่า เป็นสุข ถ้าปฏิจจสมุปบาท พูดก็กลายเป็น ตัวทุกข์ นี้ส่วนที่เขาอร่อย มันก็เกิดเป็น ปฏิจจสมุปบาท เสร็จไปเต็มรอบแล้ว

ทีนี้ มันยังมีต่อไปว่า เพราะเขากินอร่อย นั่นแหละ เขาจึงคิดว่า พรุ่งนี้ กูจะไปขโมยมากินอีก เขาเกิดเป็นโจร ขึ้นมาในขณะนั้น นี้คิดจะขโมย ก็มีความคิดอย่างโจร เกิดขึ้น ก็กลายเป็นโจร สมมติว่า มันไปขโมยทุเรียน ของสวนข้างบ้าน มากินอร่อย แล้วคิดว่า พรุ่งนี้ กูจะไปขโมยอีก ความคิดเป็นโจร หรือ กลายเป็นโจร เป็นภพๆหนึ่ง เกิดขึ้นในใจ หรือว่า ถ้ามันกินเนื้อสัตว์อร่อย พรุ่งนี้จะไปยิง ไปฆ่ามากินอีก นี้ มันก็เกิดเป็น นายพรานขึ้นมา หรือแม้แต่ว่า มันหลงอร่อยจริง อร่อยจัง มันก็เกิดเป็นเทวดา ที่กลุ้มอยู่ ด้วยความอร่อย หรือ ถ้ามันอร่อย ถึงขนาดที่ว่า ปากเคี้ยวไม่ทันใจอยาก นี้มันเป็นเปรต เพราะ มันอร่อย จนปากเคี้ยวไม่ทัน ไม่ทันกับ ความอร่อยของมัน

ลองคิดดูเถิดว่า ชั่วแต่เคี้ยวอาหาร อร่อยในปากนี้ ยังเป็นปฏิจจสมุปบาท ได้หลายชนิด ฉะนั้น ขอให้สังเกต ให้ดีๆ ว่า ปฏิจจสมุปบาทนี้ คือ เรื่องวงจรของความทุกข์ ปฏิจจสมุปบาทนี้ คือ การบรรยาย ให้ทราบถึงความทุกข์ ที่เกิดขึ้นมาเต็มรูป เพราะ อำนาจความยึดถือ ต้องมีอุปาทาน ความยึดถือด้วย จึงจะเป็นความทุกข์ ตามความหมาย ของปฏิจจสมุปบาท ถ้ายังไม่ทันยึดถือ แม้จะมีความทุกข์อย่างไร ก็ไม่ใช่ความทุกข์ ในปฏิจจสมุปบาท

คัดจาก หนังสือเรื่อง "เรื่องสำคัญที่สุดสำหรับพุทธบริษัท ปฏิจจสมุปบาท หลักปฏิบัติอริยสัจจ์ที่สมบูรณ์แบบ" พุทธทาสภิกขุ พิมพ์โดย ธรรมสภา