Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!

 

วัดหลวง


วัดหลวง ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านวัดหลวง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.แพร่ สร้างเมื่อ พ.ศ. 1372 ทางกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้วัดหลวงเป็นโบราณสถานของชาติที่มีอายุเก่าแก่นับพันปี แม้ว่าวัดหลวงจะเป็นวัดที่มีประวัติการก่อสร้างมานาน ทว่าสภาพปัจจุบันของวัดยังสมบูรณ์มาก
วิหารด้านในมีพระเจ้าแสนหลวง พระพุทธรูปขนาดใหญ่ประทับนั่งปางสมาธิ สร้างโดยศิลปะล้านนาผสมกับสุโขทัย สภาพวิหารหลวงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เนื่องจากได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์มาตลอด ด้านหลังของวิหาร เป็นที่ตั้งของพระธาตุหลวงไชยช้างค้ำ เป็นที่ประดิษฐานพระธาตุที่นำมาจากเมืองหงสาวดี
วัดหลวงมีประตูวัดที่เก่าแก่ เรียกว่า "ประตูโขง" ใช้เป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นของเจ้าเมืองแพร่ สำหรับโบสถ์ของวัดหลวงมีชื่อว่า "โบสถ์เจ้าผู้ครองนคร"

โบราณวัตถุที่น่าสนใจของวัดหลวง ได้แก่ กลุ่มพระพุทธรูปซึ่งมีจำนวนหลายองค์ จารึกอายุ 500ปี ศิลาจารึกเจ้าผู้ครองนคร
วัดหลวงมีอาคารไม้สักหลังหนึ่ง ชื่อว่า "หอวัฒนธรรมเมืองแพร่" เป็นที่รวบรวมศิลปะพื้นบ้าน เช่น หีบสมบัติโบราณ โลงไม้แกะสลัก และสิ่งที่น่าสนใจในวัดหลวง คือ คุ้มพระลอ ซึ่งเป็นบ้านไม้หลังกะทัดรัด ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับหอวัฒนธรรมเมืองแพร่ เป็นอนุสรณ์สถานครั้งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ เสด็จทัศนศึกษา เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 ด้านล่างของคุ้ม มีเครื่องทอผ้าและล้อเกวียนเก่าจำนวนหนึ่ง ชั้นบนเป็นที่เก็บของโบราณ เช่น เตารีดสมัยโบราณแบบใช้ถ่าน เครื่องทอฝ้าย ร่มโบราณ ไม้แกะสลัก ฯลฯ และมีรูปถ่ายของแม่เจ้าบัวถา ชายาของเจ้าเมืองแพร่องค์หนึ่ง รวมทั้งรูปถ่ายของบ้านเจ้าเมืองแพร่ซึ่งเป็นต้นตระกูลเจ้าอาวาสวัดหลวงองค์หนึ่ง
ประวัติของวัดกล่าวไว้ว่า วัดหลวงสร้างมานานนับพันปี มีการสร้างวัดขึ้นในบริเวณทิศตะวันตกของคุ้มเจ้าหลวงเมื่อปี พ.ศ.1372 คือ มีการสร้างวิหารหลวงพลนคร เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าแสนหลวง พระประธานของเมืองพลนคร ต่อมาในปี พ.ศ. 1600 ชนชาติขอมได้ยกทัพเข้ารุกรานเมืองพลนคร ได้เผาทำลายเมืองรวมทั้งวัด และได้เผาลอกเอาทองหุ้มพระเจ้าแสนหลวงไป จากนั้น ขอมได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็น "เมืองโกศัย" จนถึง พ.ศ.1719 เมื่อพม่าขยายอิทธิพลมาสู่ดินแดนล้านนาและขับไล่ขอมออกไป พม่าได้เรียกเมืองพลว่า "เมืองแพล" ต่อมา พญาพีระไชยวงศ์ เจ้าเมืองแพลได้ทำไมตรีกับพม่าและร่วมกับส่างมังการะเจ้าเมืองพม่า ทำการบูรณะวัดหลวง เจ้าเมืองแพลและชาวเมืองแพลได้ร่วมกันสร้างพระธาตุหลวงไชยช้างค้ำ พร้อมกับได้หุ้มทองพระเจ้าแสนหลวงและให้ชื่อวัดเสียใหม่ว่า "วัดหลวงไชยวงศ์"

เรียบเรียงจาก ศูนย์วัฒนธรรม จังหวัดแพร่ และ กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๓๒

 

 

 

 

 

Back