Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
 




มองถูกทุกข์คลาย

 

มองอะไร ให้เห็น เป็นครูสอน

มองไม้ขอน หรือมองคน ถ้าค้นหา

มีสิ่งสอน เสมอกัน มีปัญญา

จะพบว่า ล้วนมีพิษ อนิจจัง

 

จะมองทุกข์ หรือมองสุข มองให้ดี

ว่าจะเป็น อย่างที่ เรานึกหวัง

หรือเป็นไป ตามปัจจัย ให้ระวัง

อย่าคลุ้มคลั่ง จะมองเห็น เป็นธรรมดา

 

มองโดยนัย ให้มันสอน จะถอนโศก

มองเยกโยก มันไม่สอน นอนเป็นบ้า

มองไม่เป็น จะโทษใคร ที่ไหนมา

มองถูกท่า ทุกข์ก็คลาย สลายเองฯ  

 

ให้เขาเถิด

 

เขาอยากดี เท่าไร ให้เขาเถิด

ไม่ต้องเกิด แข่งดี มีแต่เสีย

ริษยา คือทุรกรรม ทำให้เพลีย

ทั้งลูกเมีย พลอยลำบาก มันมากความ

 

เขาอยากเด่น เท่าไร ให้เขาเถิด

จะไม่เกิด กรรมกะลี ที่ซ่ำสาม

มุทิตา สาธุกรรม ทำให้งาม

สมานความ รักใคร่ เป็นไมตรี

 

เขาอยากดัง เท่าไร ให้เขาเถิด

ช่วยชูเชิด ให้ประจักษ์ ด้วยศักดิ์ศรี

ให้ดังก้อง ท้องฟ้า อย่างอสนี

ต่างฝ่ายมี ผลงาม ตามเรื่องตนฯ  

 

 

อิทธิบาท ๔

คำว่า อิทธิบาท แปลว่า บาทฐานแห่งความสำเร็จ หมายถึง สิ่งซึ่งมีคุณธรรม เครื่องให้ลุถึงความสำเร็จตามที่ตนประสงค์ ผู้หวังความสำเร็จในสิ่งใด ต้องทำตนให้สมบูรณ์ ด้วยสิ่งที่เรียกว่า อิทธิบาท ซึ่งจำแนกไว้เป็น ๔ คือ

๑. ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น
๒. วิริยะ ความพากเพียรในสิ่งนั้น
๓. จิตตะ ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น
๔. วิมังสา ความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น

ธรรม ๔ อย่างนี้ ย่อมเนื่องกัน แต่ละอย่างๆ มีหน้าที่เฉพาะของตน 

ฉันทะ คือความพอใจ ในฐานะเป็นสิ่งที่ ตนถือว่า ดีที่สุด ที่มนุษย์เรา ควรจะได้ ข้อนี้ เป็นกำลังใจ อันแรก ที่ทำให้เกิด คุณธรรม ข้อต่อไป ทุกข้อ

วิริยะ คือความพากเพียร หมายถึง การการะทำที่ติดต่อ ไม่ขาดตอน เป็นระยะยาว จนประสบ ความสำเร็จ คำนี้ มีความหมายของ ความกล้าหาญ เจืออยู่ด้วย ส่วนหนึ่ง

จิตตะ หมายถึงความไม่ทอดทิ้ง สิ่งนั้น ไปจากความรู้สึก ของตัว ทำสิ่งซึ่งเป็น วัตถุประสงค์ นั้นให้เด่นชัด อยู่ในใจเสมอ คำนี้ รวมความหมาย ของคำว่า สมาธิ อยู่ด้วยอย่างเต็มที่

วิมังสา หมายถึงความสอดส่องใน เหตุและผล แห่งความสำเร็จ เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ให้ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไปตลอดเวลา คำนี้ รวมความหมาย ของคำว่า ปัญญา ไว้อย่างเต็มที่

บุคคลเมื่อประกอบด้วย คุณธรรม ๔ อย่างนี้แล้ว ย่อมประสบ ความสำเร็จ ในสิ่งที่ ไม่เหลือวิสัย ของมนุษย์ ซึ่งโดยตรงทาง หมายถึง ความดับทุกข์โดยสิ้นเชิง ที่เรียกว่า นิพพาน ส่วนเรื่องอื่น นอกนั้นไป ถือว่าเป็น เรื่องพิเศษ และ ไม่มีขอบขีดจำกัด เพราะมีปัญหาเกี่ยวกับ เรื่องนอกเหนือ วิสัยธรรมดา อยู่มาก เช่นเรื่องที่ว่า คนเราอาจมีอายุยืน ถึงกัลป์ ด้วยอำนาจแห่งอิทธิบาททั้ง ๔ นี้ ซึ่งข้อนี้ มิได้มีความหมาย ขัดกัน ในข้อที่ว่า อิทธิบาท ๔ นี้ จะเป็นสิ่งที่ ทำให้อายุยืน ถึงปานนั้น ได้หรือไม่ แต่มีปัญหาอยู่ที่ว่า คนเราจะสามารถ เจริญอิทธบาท ให้มากถึงเท่านั้น ได้หรือไม่ ต่างหาก เพราะฉะนั้น ท่านจึงถือว่า หลักเกี่ยวกับอิทธิบาท นี้ คงมีความหมาย ไปตามตัวหนังสือ โดยไม่ต้อง มีขอบขีดจำกัด ว่าอะไรบ้าง สรุปความสั้นๆ ว่า วิสัยของใคร ทำให้เขา เจริญอิทธิบาท ได้มากเท่าใด เขาย่อมได้รับผล เต็มกำลัง ของอิทธิบาทนั้น แม้ในสิ่งที่บางคน ถือว่าเป็น ของเหลือวิสัย โดยเฉพาะเช่น การบรรลุนิพพาน

ในที่บางแห่ง ท่านเติมคำว่า อธิปเตยย เข้าข้างท้ายคำเหล่านี้ เป็น ฉันทาธิปไตย วิริยาธิปไตย วิมังสาธิปไตย ไปดังนี้ก็มี แปลว่า ความมีฉันทะเป็นใหญ่ เป็นต้น ซึ่งที่แท้ ก็ได้แก่ อิทธิบาท อย่างเดียวกัน นั่นเอง แต่ใช้คำว่า ที่มีความหมาย ที่เห็นได้ชัด ยิ่งขึ้นว่า ในการทำกิจใดๆ ก็ดี ย่อมมีฉันทะ เป็นต้น เหล่านี้เป็นใหญ่ หรือ เป็นประธาน ในความสำเร็จ เป็นการชวน ให้สนใจ ในสิ่งที่เรียกว่า อิทธิบาท นี้ยิ่งขึ้น มีพระพุทธภาษิต ยืนยัน อยู่ในที่ หลายแห่ง ว่า การตรัสรู้ อนุตรสัมมา สัมโพธิญาณ ของพระองค์เอง สำเร็จได้โดยมี อิทธิบาท๔ นี้ เป็นประธาน แห่งการกระทำ ในลำดับนั้นๆ ฉะนั้น จึงถือว่าเป็น อุปกรณ์ อัน ขาดเสียไม่ได้ ในความสำเร็จทุกชนิด ผู้ปฏิบัติ เพื่อความ ความดับทุกข์ จึงต้องสนใจ เป็นพิเศษ แม้การประกอบ ประโยชน์ ในทางโลก ก็ใช้หลักเกณฑ์ อันเดียวกันนี้ ได้เป็นอย่างดี โดยเท่าเทียมกัน แม้ที่สุด แต่ในกรณีที่เป็น การทำชั่ว ทำบาป ก็ยังอาจนำไปใช้ ให้บรรลุผล ได้ตามที่ ตนประสงค์ ฉะนั้น ท่านจึงจัดเป็น หลักธรรม ที่สำคัญ หมวดหนึ่ง ในบรรดา โพธิปักขิยธรรม ทั้งหลาย

นี้นับว่า เป็นอุปกรณ์ในฐานะเป็น เครื่องช่วยให้เกิดการปฏิบัต ดำเนินไปได้ โดยปราศจากอุปสรรค ตั้งแต่ต้น จนถึง จุดหมายปลายทาง

BACK NEXT

 

คัดจาก หนังสือ ศึกษาธรรมะอย่างถูกวิธี หรือ ธรรมวิภาค นวกภูมิ   
คำบรรยายธรรมะ ของ พุทธทาสภิกขุ ในพรรษา ปีพุทธศักราช ๒๕๐๐  พิมพ์โดย สำนักพิมพ์สุขภาพใจ