Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
 



ไกวัลยธรรม คำกลอน

มนุษย์รบรา ฆ่ากัน แต่สร้างโลก

วิปโยค แย่งดื่มยา พิษผสม

ในน้ำหวาน หาญท้า ว่าสุขจม

เป็นสุขปลอม เปรียบลม ว่าสุขจริง

สำคัญผิด คิดว่าสุข ไม่เห็นร้อน

เป็นไฟฟอน เผาโลก ดุจผีสิง

แม้บัดนี้ มีอยู่ ไม่ประวิง

แย่งกันจริง สิ่งเรียกว่า คืออาจม

จำเป็นต้อง มีปราชญ์ ฉลาดสอน

เรียกศาสดา กล้าถอน พิษยาขม

ชี้ทางสุข ตามจริง สิ่งนิยม

เป็นปฐม เหตุให้ ได้พึ่งพิง

ปรมาตมัน ไกวัลยธรรม และพระเจ้า

รวมกันเข้า เป็นหนึ่งเดียว เหนือทุกสิ่ง

หากใครตาม คำสอน จนรู้จริง

ไม่ประวิง หยุดทุกข์ สุขนิรันดร์

ในวงการ ศาสนา ยังท้าแข่ง

ไม่แจ่มแจ้ง ธรรมดา ดูน่าขัน

อวดความรู้ แห่งตน คนสำคัญ

ศาสนาเกิด ทะเลาะกัน โลกพึ่งใคร

มีทางเดียว รู้เห็น เป็นไกวัลย์

ทุกศาสนา รวมกัน ไม่หวั่นไหว

ปฐมเหตุ เดียวกัน รวมน้ำใจ

โลกเป็นไท เพราะศาสนา มาเข้ากัน

ไกวัลยธรรม จำเป็น แก่มนุษย์

เข้าถึงแดน บริสุทธิ์ แสนสุขสันติ์

ด้วยการทำ จิตว่าง ห่างโทษทัณฑ์

มนุษยชาติ รวมกัน เป็นหนึ่งเดียว.

 

 - ชุติวัณณ์ -

 

 

-๘-
ไกวัลยธรรม
ในฐานะที่เป็นกฏชีววัฒนาการ

สิ่งที่เรียกว่า "ไกวัลยธรรม" ก็คือสิ่งที่เป็น "ไกวัลย์" ไกวัลย์ ก็คือความเป็นอันเดียวกันทั้งหมด และความที่มันเป็นอย่างนั้น เรียก "ไกวัลยตา" นี่คือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังสิ่งทั้งปวง เข้าใจได้อย่างนี้จะทำให้เชื่อมั่นในกฏเกณฑ์ต่างๆ อันมีอำนาจเหนือสิ่งทั้งปวง เช่น "กฏแห่งกรรม" เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังเป็นการทำความเข้าใจ และสร้างความเป็นอันหนึ่งเดียวให้เกิดขึ้น ในระหว่างชาติและศาสนา โดยความหมายที่ทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกัน ยิ่งกว่านั้น ยังทำให้มองไกลไปถึงกับว่า สัตว์ พืช และสิ่งที่ไม่มีชีวิต ก็เป็นธรรมชาติอย่างเดียวกัน จะเป็นการทำให้รักสิ่งที่มีชีวิต หรือรักสิ่งทั้งปวงเหมือนกันหมด นี่คือ จุดมุ่งหมายของการบรรยาย เรื่อง "ไกวัลยธรรม"

"ถ้าใครรู้จักไกวัลยตา" คือ ความเป็นสิ่งเดียวกันหมด จะทำให้เป็นผู้มีใจกว้าง เมื่อทำสิ่งใดย่อมเห็นแก่ผู้อื่น หรือสิ่งเหล่าอื่น รักเคารพนับถือ และเอาใจใส่ในทุกชีวิต และทุกสิ่ง ในฐานะที่เป็นอย่างเดียวกัน ไม่มีการเห็นแก่ตัว และไม่ทำร้ายเบียดเบียนสิ่งใด.

ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ ในสิ่งที่มีชีวิต

ดังกล่าวแล้วว่า สิ่งทั้งปวงมีธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ เพราะทุกสิ่งล้วนเป็นปรากฏการณ์ของไกวัลยธรรม แต่ในที่นี้ จักกล่าวเฉพาะ ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะในสิ่งที่มีชีวิต.

ธรรมชาติแห่งความมีชีวิต กับธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ มีความเกี่ยวข้อง สัมพันธ์กันตามกฏเกณฑ์แห่งวิวัฒนาการ คือ ความเจริญงอกงาม ทั้งนี้โดยอาศัยความรู้สึกเป็นตัวนำ หมายความว่า ความรู้สึกของชีวิตทำให้เกิดวิวัฒนาการไปสู่ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ และทั้งหมดนี้ย่อมถูกควบคุมอยู่ด้วยความเป็น "ไกวัลยะ"

เมื่อมีความเข้าใจว่า สิ่งทั้งปวงมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในความหมายของ "ไกวัลยะ" ย่อมทำให้มองเห็นว่า ไม่มีความแตกต่างกันในระหว่างบุคคล ระหว่างหมู่คณะ ระหว่างชาติพันธุ์  และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระหว่างศาสนา แล้วจักทำให้เป็นผู้มีจิตเมตตากรุณาอย่างกว้างขวาง ไม่มีขอบเขต

การทะเลาะกันระหว่างศาสนา เนื่องมาจากการไม่เข้าใจถึงตัวแท้แห่งศาสนาของตนเอง เพราะถ้าเข้าใจว่า ทุกศาสนามีความหมายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความแตกแยก การขัดแย้ง ตลอดจนการทะเลาะวิวาทกันระหว่างศาสนาจักไม่เกิดขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น ในทางพุทธศาสนา ย่อมมีไกวัลยตา อันมีสภาพเหมือนพระเจ้าในศาสนาอื่น นั่นคือ ธรรมะกับพระเจ้าย่อมเป็นสิ่งเดียวกัน ตามความหมายที่ว่า ทุกสิ่งอันสำเร็จมาจากพระเจ้าของศาสนาอื่น ก็ตรงกับความหมายในทางพุทธศาสนาที่ว่า ทุกสิ่งสำเร็จมาจากไกวัลยธรรม ฉะนั้น ถ้ามีการเข้าถึงตัวจริงแก่นแท้ของศาสนาแห่งตนแล้ว ปัญหาการขัดแย้งการทะเลาะวิวาทกันระหว่างศาสนาก็หมดไป

ความเป็นอันเดียวกันของสิ่งที่มีชีวิต

คำบรรยายชุดนี้ มีความมุ่งหมายที่จะทำความเข้าใจในระหว่างศาสนาเป็นที่สุด ในเมื่อทุกศาสนาบัญญัติขึ้นเพื่อชีวิต และทุกชีวิตก็คือสิ่งเดียวกัน ฉะนั้น ทุกศาสนาย่อมมีจุดหมายอันเดียวกัน คือการบรรลุสันติสุขของชีวิต โดยเหตุนี้ ควรทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่า ชีวิตมีความเป็นหนึ่งเดียวอย่างไร

ในความเห็นของวิทยาศาสตร์ทางวัตถุแสดงไว้ว่า แต่เดิมโลกที่เราอาศัยอยู่นี้ เป็นลูกไฟลูกหนึ่งที่ออกมาจากดวงอาทิตย์ ครั้นต่อมาเมื่อเย็นลงจึงเกิดสิ่งที่มีชีวิตขึ้น นับตั้งแต่สัตว์เซลล์เดียว จนกระทั่งวิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์ นี่แสดงว่า มันมีเชื้อแห่งชีวิตอยู่แล้ว ในลูกไฟที่ลุกโพลงอยู่นั้น เปรียบไข่ที่ฟักออกเป็นตัว ในสภาพที่เป็นไข่ ไม่ปรากฏว่ามีตัวอะไรอยู่ในนั้น แต่ครั้นมีการฟักอย่างถูกวิธี ไข่นั้นก็ปรากฏออกมาเป็นตัว แล้วมีความรู้สึกนึกคิดตามมา นั่นคือตัวที่ฟักออกมานั้น ย่อมมีเชื้ออยู่แล้วในไข่นั้น ฉันใดก็ฉันนั้น. (๓๗๐)

เมื่อทุกชีวิตถือกำเนิดมาจากสิ่งเดียวกัน มีการดำรงอยู่อย่างเดียวกันและในที่สุด ก็มีการแตกสลายไปเหมือนกันหมด โดยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่า ทุกชีวิตมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน. (๓๗๑)

ในโลกนี้เป็นอย่างไร ในดวงอาทิตย์ก็ย่อมเป็นอย่างนั้น คือเมื่อดวงอาทิตย์เย็นลง ก็ย่อมเป็นอย่างเดียวกันกับโลก ในความหมายนี้ย่อมกล่าวได้ว่า ทุกจักรวาลก็ย่อมเป็นอย่างเดียวกัน ความที่มีเหมือนกันอย่างเดียวกันเช่นนี้ จัดเป็น "ไกวัลยธรรม" นี่แสดงว่า "ไกวัลยตา" ย่อมครอบคลุมไปทั่วหมดทุกจักรวาล ดังนี้.

โดยนัยเดียวกันนี้ เป็นอันกล่าวได้ว่า ในสภาพที่ลุกเป็นไฟนั้น ย่อมมีเชื้อแห่งความเป็นพุทธะ คือมีจิตที่พร้อมจะรู้สึกอะไรได้ เรียกว่า "ความเป็น" คือ "ไม่ตาย" นั่นคือความเป็นแห่งชีวิต ย่อมมีเชื้อของพุทธะอยู่แล้วในไฟนั่นเอง เพราะความไม่ตายหมายถึง "อมตธรรม" แห่งพุทธภาวะ และอำนาจแห่งการวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ก็มีอยู่ในไฟนั้นเช่นเดียวกัน พอไฟเย็นลง มันก็เป็นธาตุแข็งขึ้นมา แล้วก็กระจายออกไปเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นธาตุทั้งหลาย. (๓๗๓)

ธาตุที่สำคัญที่สุด คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม : ธาตุดิน คือ คุณภาพแห่งการกินเนื้อที่ ธาตุน้ำ คือคุณภาพแห่งการเกาะกุมยึดเหนี่ยวซึ่งกันและกัน ธาตุไฟ คือคุณภาพแห่งการเผาไหม้ ให้เปลี่ยนแปลงไปสู่ความเจริญ ธาตุลม คือคุณภาพแห่งการระเหย. (๓๗๔)

เป็นอันได้ความว่า ชีวิตเป็นสิ่งเดียวกัน มีกำเนิดมาจากที่เดียวกัน แม้จะมีการแบ่งแยกตัวออกไป ก็ไม่ทิ้งความหมายเดิม คือ ความหมายของชีวิต ความหมายของความรู้สึก และความหมายของการวิวัฒนาการ เป็นต้น (๓๗๕)

ทุกสิ่งมีกฏและเป็นไปตามกฏ

สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นย่อมมีกฏ และต้องเป็นไปตามกฏ สิ่งที่เรียกว่า "กฏ" คือ อำนาจชนิดหนึ่งซึ่งบังคับสิ่งทั้งปลายทั้งปวงให้เป็นไป โดยที่มิให้คลาดเคลื่อนเป็นอย่างอื่นไปได้ อันมีลักษณะอย่างเดียวกันกับพระเจ้า ซึ่งมีเสียงคล้ายกัน คือ "GOD" นั่นคือ "กฏ" กับ "GOD" มีความหมายอย่างเดียวกัน. (๓๗๖)

โดยเฉพาะสิ่งที่มีชีวิต ย่อมเกิดขึ้นและเป็นไปตามกฏ นับตั้งแต่ชีวิตที่ยังเป็นเพียงสักว่าเชื้อ จนกระทั่งเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นพืช สัตว์ และคน ย่อมมีความหมายเดียวกันหมด คือ "ความเป็น" นี่คือ สภาพของสิ่งที่เรียกว่า "ชีวิต" ถ้า "เป็น" ก็คือชีวิต. (๓๗๗)

เปรียบด้วยเชื้อราที่เจริญขึ้นเป็นดอกเห็ด แสดงว่าในเชื้อราย่อมมีชีวิตแล้วมันถึงเจริญขึ้นเป็นชีวิต ในความหมายนี้ เมื่อถอยหลังไปถึงชีวิตที่เป็นไกวัลย์ แม้จะมองไม่เห็นตัว ก็ให้ถือว่ามันเป็นสิ่งที่มีอยู่ในลักษณะเป็นไกวัลย์ อย่างนิรันดร ถ้าอยู่ในสภาพเดิมอย่างนี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่พอแตกออกมาเป็นส่วนย่อย คือถูกสร้างขึ้นมาเป็นชีวิต ย่อมตั้งอยู่ในกฏของความเปลี่ยนแปลง สภาพของความเปลี่ยนแปลงก็ชื่อว่า เป็นกฏอันหนึ่งของไกวัลยธรรม เพราะเป็นอย่างไม่มีขอบเขตจำกัดเช่นกัน.  (๓๗๘)

กฏและสิ่งทั้งปวง มีธรรมชาติแห่งความเป็นหนึ่ง

กฏที่ปรุงแต่งชีวิต และบังคับชีวิตให้เป็นไป อันตั้งอยู่ในฐานะเป็นพระเจ้า จัดเป็นไกวัลยธรรม และสิ่งที่ถูกปรุงแต่ง เช่น กฏอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่มีอยู่ในทุกสิ่งก็เป็นไกวัลยธรรม คือมีสภาพเป็นหนึ่งเดียว โดยเหตุนี้ จึงทำให้กล่าวได้ว่า ไม่มีอะไรที่ไม่เป็นไกวัลยธรรมต่อกันและกัน นั่นคือทุกสิ่งเป็นอันเดียวกัน. (๓๗๙)

การมองชีวิตในลักษณะที่เป็นไกวัลยธรรมอย่างนี้ จะทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนกับว่า ได้เข้าไปอยู่ในชีวิตใหญ่ ชีวิตมหาศาล คือ ไกวัลยธรรมที่เป็นตัวชีวิต อันมีความเป็นหนึ่งเดียวทุกเวลาทุกสถานที่ เมื่อเห็นว่า ทุกชีวิตเป็นอันเดียวกันอย่างนี้ ย่อมจะไม่มีการเบียดเบียนกัน เพราะไม่มีเขาไม่มีเรา จักมีแต่ความเมตตากรุณาต่อกัน. (๓๘๐)

เพื่อความแจ่มแจ้งในเรื่องนี้ ต้องทำความเข้าใจในความหมายของสิ่งที่เรียกว่า "วิวัฒนาการ" คือสภาพแห่งความไหลเวียนเปลี่ยนแปลง จงเพ่งดูให้เห็นภาพรวมในข้อที่ว่า จากลูกไฟดวงเดียวมาเป็นมนุษย์ หรือว่าโลกที่ใหญ่โตเหลือประมาณนี้ ย่อมเต็มไปด้วยชีวิต ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับความหมายของวิวัฒนาการที่ว่า มีสิ่งหนึ่งซึ่งมีเชื้อแห่งชีวิต และได้มีการเพาะหว่านให้งอกงามยิ่งขึ้นตามกฏแห่งวิวัฒนาการ จนนับประมาณมิได้. (๓๘๑)

ตัววิวัฒนาการก็คือกฏอันหนึ่งของไกวัลยธรรม ซึ่งประกาศถึงธรรมชาติแห่งความเป็นเช่นนั้น(ตถตา) ความไม่ผิดไปจากความเป็นเช่นนั้น (อวิตถตา) ความไม่เป็นไปโดยประการอื่น (อนญฺญถตา). (๓๘๒)

วิวัฒนาการแห่งชีวิตที่เกี่ยวข้องกับตัวเรา

เราเป็นสัตว์มีชีวิตชนิดหนึ่งสมมติเรียกว่า "คน" แล้ววิวัฒนาการจนเป็น "มนุษย์" ความเป็นมาอย่างนี้ สำเร็จมาจากหน้าที่หลายอย่างหลายระดับ ส่วนที่เป็นชีวิตก็ทำหน้าที่ชีวิต ส่วนที่เป็นความรู้สึกก็ทำหน้าที่รู้สึก ส่วนที่เป็นความงอกงามก็ทำหน้าที่งอกงาม เมื่อรวมสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกันแล้ว เรียกว่า "เป็นชีวิตที่ประกอบอยู่ด้วยความรู้สึก" อันเพียงพอต่อการที่จะทำอะไรได้มากขึ้น ในรูปของวิวัฒนาการ. (๓๘๓)

สิ่งสำคัญที่เป็นองค์ประกอบของวิวัฒนาการ ได้แก่ พลังงาน คือ ความร้อนกับแสงสว่าง อันเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก จนเรียกได้ว่าอยู่ด้วยกัน สิ่งที่เรียกว่า แสงสว่างมี ๒ ประเภท คือ แสงสว่างที่มองเห็น เรียกว่า "แสงแดด" และแสงสว่างที่มองไม่เห็น เรียก "อาภา" แสงแดด หรือ แสงสว่างของดวงอาทิตย์เป็นแสงสว่างทางวัตถุ ย่อมทำให้วัตถุเจริญ เช่น ต้นไม้ เป็นต้น ส่วนแสงสว่างอีกชนิดหนึ่งที่ไม่มีตัว ย่อมทำความเจริญให้แก่จิต หรือความรู้สึกที่ไม่มีตัว นี่แสดงว่า การวิวัฒนาการทั้งทางวัตถุและทางจิตใจ ย่อมเป็นไปด้วยการอาศัยแสงสว่างเป็นองค์ประกอบสำคัญ แม้นี้ก็เป็นการแสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียวของชีวิต. (๓๘๔)

ความแตกต่างระหว่างจิตใจของสัตว์กับคนนั้น ดูแล้วจะเห็นว่า แตกต่างกันมาก ทั้งนี้เพราะการได้รับแสงสว่างแห่งวิวัฒนาการที่ต่างระดับกัน จนดูคล้ายๆ กับว่าเป็นคนละอย่าง แต่ความจริงทั้งคนและสัตว์ ย่อมมีธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะอย่างเดียวกัน ต่างกันเพียงระดับสูงต่ำกว่ากันเท่านั้น. (๓๘๕)

ถ้าเอาไกวัลยธรรมเป็นหลักจะเห็นว่า คนกับสัตว์ไม่มีความแตกต่างกันเลย เพราะมีธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะเหมือนกัน การบัญญัติว่าดีกว่าเลวกว่า หรือผิดถูก เป็นการบัญญัติตามความรู้สึกของมนุษย์ในภายหลัง แต่ตัววิวัฒนาการแท้ๆ หรือไกวัลยธรรมแท้ๆ ไม่มีดี ไม่มีเลว ไม่มีถูก ไม่มีผิด เป็นเพียงการปรุงแต่งไปตามเหตุปัจจัยที่ต่างกันของกฏแห่งวิวัฒนาการ เมื่อเห็นได้อย่างนี้จะทำให้มีความรู้สึกสูงสุด ฉลาดที่สุด คือ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง เพราะมองเห็นโดยความเป็นไกวัลยธรรมอันเดียวกันว่า ทุกสิ่งมาจากเบื้องหลังอันเดียวกัน ทั้งฝ่ายรูปธรรมและนามธรรม นับเป็นการมองที่มีประโยชน์ยิ่งใหญ่ที่สุด. (๓๘๖)

คนทุกคนในโลกเป็นคนเดียวกัน

ดังกล่าวแล้วว่า ทีแรกโลกเรานี้มีแต่ดวงไฟที่ลุกโชนอยู่ จัดเป็นรูปธรรมอย่างยิ่ง แต่ในรูปธรรมนั้น มีสิ่งที่มิใช่รูปธรรมรวมอยู่ด้วย แล้วก็แสดงออกมาให้เห็นเป็นสิ่งที่มีชีวิต นั่นคือ ในรูปธรรมนั้นมีชีวิตที่ยังไม่แสดงตัว ครั้นมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง จึงปรากฏเป็นชีวิตที่แสดงตัวออกมาและมีความรู้สึก จัดเป็นนามธรรม โดยเหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่า ทั้งโดยรูปธรรมและโดยนามธรรม ย่อมมาจากที่เดียวกัน. (๓๘๗)

นักวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์ว่า สิ่งที่เรียกว่า "สุริยจักรวาล" ได้แบ่งแยกเป็นหลายแสนหลายล้านจักรวาล และทุกจักรวาลย่อมมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันหมด และที่ตั้งขึ้นเป็นหน่วยๆ เช่นโลกเรานี้ จะเห็นได้ว่า ตั้งอยู่ในที่ว่างแห่งอากาศธาตุ และในอากาศธาตุนั้น ยังประกอบอยู่ด้วยสิ่งที่เรามองไม่เห็น อันเป็นส่วนที่จะทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตขึ้นได้ และสิ่งที่ตามองไม่เห็นนั้น ควรจะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของไกวัลยธรรม ได้เหมือนกัน. (๓๘๘)

โดยเหตุที่ความว่างย่อมเป็นพื้นฐานที่จะรองรับสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ฉะนั้นในความว่างย่อมมีความพร้อมที่จะทำสิ่งที่ไม่ว่างให้เกิดขึ้น นี่แสดงว่า ในไกวัลยธรรมย่อมมีการขยาย หรือวิวัฒนาการจากความว่าง ไปสู่ความไม่ว่าง และจากสิ่งที่ไม่มีชีวิต ไปสู่สิ่งที่มีชีวิต นั่นคือสิ่งทั้งหลายทั้ปวงมีสภาพอย่างเดียวกัน เพราะมาจากที่เดียวกัน ฉะนั้น เมื่อมาดูในความเป็นคนจะเห็นว่า "ไม่มีเรา ไม่มีเขา" มีแต่สภาพของสิ่งๆ หนึ่ง ที่ประกอบไปด้วยความรู้สึกอย่างเดียวกัน มีลักษณะอย่างเดียวกัน มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย เหมือนกัน ทำให้เรียกได้ว่า "เป็นคนเดียวกัน" . (๓๘๙)

สรุปความ

เรื่องกฏแห่งชีววัฒนาการ เป็นการแสดงถึงสิ่งที่เรียกว่าชีวิต อันมีอยู่หลายระดับ กล่าวโดยย่อมี ๒ ระดับ คือ ชีวิตที่ต้องคำนวณ ได้แก่ สิ่งที่มองไม่เห็นตัว ซึ่งยังอยู่ในดวงไฟที่กำลังลุกโพลงอยู่ และชีวิตที่ไม่ต้องคำนวณ ได้แก่ ชีวิตที่ปรากฏตัวออกมาให้มองเห็นได้ เป็นชีวิตที่มีความรู้สึกได้ แล้วมีความยึดมั่นเป็นตัวกู-ของกู จนกระทั่ง วิวัฒนาการไปสู่ความไม่มีตัวกู-ของกู ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่เพิ่งมาภายหลังชีวิตที่ต้องคำนวณ. (๓๙๐)

องค์ประกอบของการวิวัฒนาการมี ๓ อย่าง คือ ชีววิวัฒนาการ อาภาวิวัฒนาการ และจิตตวิวัฒนาการ ได้แก่ ธาตุที่เป็นชีวิต ธาตุที่เป็นแสงสว่าง และธาตุที่เป็นจิต หรือความรู้สึก ทั้ง ๓ อย่างนี้ ต้องไปด้วยกัน และเป็นไกวัลยธรรมเสมอกัน. (๓๙๒)

เนื่องจากสภาพเดิมแท้ เป็นไกวัลยธรรม เป็นนิรันดร วิวัฒนาการที่แปรสภาพออกมาเป็นชีวิต เป็นแสงสว่าง และเป็นจิต กล่าวรวมสภาพ ๓ อย่างนี้ ก็คือ ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ โดยเหตุนี้ ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ ย่อมกลายเป็นไกวัลยธรรมไปด้วย. (๓๙๒)

เมื่อเข้าถึงความหมายของไกวัลยธรรม ย่อมไม่มีการแบ่งแยกระหว่างมนุษย์ชาติ หรือระหว่างศาสนา เพราะทุกชีวิตเป็นอันเดียวกัน และมาจากที่เดียวกัน ผลสุดท้ายก็จะกลับคืนสู่สภาวะเดิมแท้อย่างเดียวกัน อันเป็นนิรันดรทำให้เกิดความสุขสงบ อย่างที่ศาสนาอื่นได้แสดงไว้ว่า เมื่อเข้าถึงปรมาตมันแล้วจะมีแต่ความสุขนิรันดร. (๓๙๓)

นั่นคือ ทุกศาสนาย่อมมีจุดหมายแห่งการเข้าไปรวมกับความเป็นหนึ่งอย่างนี้ ด้วยกันทั้งนั้น แต่เนื่องจากผู้นับถือศาสนา ไม่เข้าถึงศาสนาของตน จึงทำให้เกิดการแตกแยก ทะเลาะวิวาทกันระหว่างศาสนา แม้ในศาสนาของตนก็ยังมีการแตกแยกกัน อันเนื่องมาจากเหตุอันเดียวกัน คือ ความไม่รู้. (๓๙๔)

ในศาสนาอื่นมีจุดรวมของชีวิตอยู่ที่พระเจ้า ปรมาตมัน ไกวัลยะ ส่วนในทางพุทธศาสนาควรจะถือเอาคำว่า "พุทธะ" เป็นที่รวมแห่งชีวิต แสงสว่าง และจิต หรือความรู้สึก. 

โดยเฉพาะแสงสว่างชนิดที่มองไม่เห็นตัว ได้แก่ปัญญา หรือ ญาณทัศนะ ซึ่งจักนำไปสู่การบรรลุ มรรค ผล นิพพาน เป็นการทำจิตให้เจริญเต็มที่ จนเข้าถึงความเป็น "พุทธะ" ถึงระดับสูงสุด. (๓๙๕)


        
(ไกวัลยธรรม ตอนที่ ๘ จบ)

 
ไกวัลยธรรมในฐานะธรรมชาติแห่งพุทธภาวะ ไกวัลยธรรม ในฐานะที่เป็นสิ่งคงกระพันชาตรี

 คัดจาก หนังสือ ไกวัลยธรรม พุทธทาสภิกขุ ฉบับย่อ, ย่อโดย ภิกขุ ฉ.ช.วิมุตตยานันทะ