Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
 



ไกวัลยธรรม คำกลอน

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ย่อมชี้ว่า ทุกสิ่ง ดูน่าขำ

เกิดเบื่อหน่าย คลายโศก พร้อมสิ้นกรรม

นั่นคือการ ถึงธรรม แห่งไกวัลย์

เปรียบสามี เห็นภรรยา ว่ามีชู้

เคยรักอยู่ หย่าขาด ไม่เหหัน

อายตนะ ทั้งหก ก็เหมือนกัน

เปลี่ยนทุกวัน คบชู้ สู่อารมณ์

จงเจริญ ปัญญา หาความรู้ 

เพื่อกอบกู้ จิตคืน ตื่นจากขม

พบความหวาน ซ่านสุข ทุกอารมณ์

ปราชญ์ชื่นชม จิตว่าง สร้างนิพพาน

สุขจริงหนอ ขอบอก คือสุขจิต

เพระากิเลส หมดฤทธิ์ ถูกประหาร

กลายเป็นน้ำ อมฤต ตลอดกาล

เชิญทุกท่าน ดื่มกิน สิ้นกังวล

พบพระเจ้า ในตน พ้นกิจสร้าง

พบทุกอย่าง มีอยู่ ไม่สับสน

เป็นพระเจ้า เสียเอง อยู่เหนือคน

ชื่นกมล ดับเย็น เป็นนิพพาน.

 

- ชุติวัญญ์ -

 

 

-๒-
ไกวัลยธรรม
ในฐานะเป็นสิ่งที่ควรแก่นามว่า
ธรรมทั้งปวง

ดังกล่าวแล้วว่า มีบุคคลพวกหนึ่ง ที่แสวงหา ปฐมเหตุของสิ่งทั้งปวง ทั้งในทางวิทยาศาสตร์ ในทางจิตวิทยา และในทางศาสนา แต่ถึงกระนั้น ก็ย่อมมีอีกพวกหนึ่ง ที่อดจะสงสัยไม่ได้ว่า "มีความจำเป็นอะไรหรือ ที่จะต้องไปรู้จักสิ่งนี้" ทำนองเดียวกับไก่ ที่ไม่รู้จักพลอย พบแล้วทิ้งไปเสีย ด้วยความเข้าใจว่า ไม่เห็นมีประโยชน์อะไร สู้ข้าวสารเมล็ดเดียว ก็ไม่ได้ นี่เป็นการแสดงให้เห็นถึง ความแตกต่าง ของการแสวงหา ระหว่างทางโลก กับทางธรรม.. ทางธรรมแสวงหาพลอย แต่ทางโลกแสวงหาข้าวสาร ซึ่งหมายถึง สิ่งที่มีค่าต่างกัน. (๓๕)

ลักษณะของสิ่งที่มีอยู่ก่อนสิ่งทั้งปวง

ไกวัลยธรรม ตั้งอยู่ในฐานะเป็น แม่ของสิ่งทั้งปวง เพราะสิ่งทั้งปวง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ในไกวัลยธรรม เมื่อรู้ได้ว่า สิ่งทั้งปวง เป็นเพียงขี้ฝุ่น ที่ออกมาจาก แม่ของมัน ก็จะทำให้ทุกคน เป็นคนเดียวกัน คือไม่มีเขา ไม่มีเรา มีแต่ธรรมชาติ ที่มีสภาวะ เป็นหนึ่งเดียว การรู้จักสิ่งนี้ จึงนับว่า "มีประโยชน์มาก" เพราะจะทำให้ เข้าถึงธรรมะตัวแท้. (๓๖)

พวกเก่าโบราณที่บัญญัติถึง "สิ่งที่มีอยู่ก่อนสิ่งทั้งปวง" ในฐานะเป็นปฐมเหตุได้แก่ ชาวฮินดู ดังมีชื่อเรียกว่า "พรหม ปรมาตมัน ไกวัลย์" อันเรียกแตกต่างไปตามนิกาย แต่มีใจความตรงกัน คือ หมายถึง "สิ่งที่มีอยู่ก่อนสิ่งใด". (๓๗)

ศาสดาทั้งหลาย เคยพบสิ่งที่มีอยู่ก่อนสิ่งทั้งปวง

เหลาจื๊อ นักปราชญ์ของจีน ได้กล่าวว่า "มีสิ่งอยู่สิ่งหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่รูป ไม่ใช่นาม มีอยู่ก่อนแล้วในโลก สิ่งนั้นเรียกว่า "เต๋า" คำว่า "เต๋า" แปลว่า "ธรรม" (๓๘)

คัมภีร์ไบเบิ้ล ที่ใช้รวมกันทั้งยิว และทั้งคริสเตียน ก็บัญญัติ สิ่งที่มีอยู่ก่อนสิ่งทั้งปวง ว่า "พระคำ" หรือ The Word, พระคำ หมายถึง พระเจ้า อันเป็นผู้สร้างสิ่งทั้งปวง ถ้าไม่มีพระคำ ก็จักไม่มีอะไร ที่ถูกสร้างขึ้น พระคำ เป็นสิ่งที่มีอยู่ ทุกหนทุกแห่ง และมีอยู่ตลอดเวลา อันนี้ย่อมหมายถึง คำพูดของธรรมชาติ. (๓๙)

สิ่งที่มีอยู่ก่อนสิ่งทั้งปวงนี้ เรียก "ไกวัลยธรรม" ได้แก่ สิ่งที่มีอยู่ตลอดไกวัลย์ ทั้งของกาลเวลา และ ของเนื้อที่. (๔๐)

คัมภีร์ฝ่ายพุทธบริษัท
มีคำตรัสถึงสิ่งที่มีอยู่ก่อน คือ ธรรมธาตุ

พระพุทธเจ้า ตรัสว่า "ตถาคต จะเกิดขึ้น หรือจะไม่เกิดขึ้น" ฐิตา ว สา ธาตุ - ธาตุนั้น ตั้งอยู่แล้วนั่นเทียว" คำว่า "ธาตุ" ในที่นี้ หมายถึง ธาตุพิเศษ ได้แก่ "อสังขตธาตุ" คือ สิ่งที่ไม่มีการปรุงแต่ง. (๔๑)

พระพุทธเจ้า ทุกพระองค์ เป็นเพียงผู้ตรัสรู้สิ่งนี้ ดังบทบาลีว่า "อภิสมฺพุชฺฌติ อภิสเมติ" ดังนี้

อภิสมฺพุชฺฌติ - รู้พร้อมยิ่ง
อภิสเมติ - เข้าถึงเฉพาะซึ่งสิ่งนี้ 
(๔๒)

ครั้นเข้าถึงแล้ว ย่อมมีการบอก การแสดง การบัญญัติ การตั้งขึ้นไว้ การเปิดเผย การแจกให้คนอื่นรู้ การทำให้เป็นของง่าย ตามคำบาลี มีดังนี้ -

๑. อาจิกฺขติ - บอก

๒. เทเสติ - แสดง

๓. ปญฺญเปติ - บัญญัติ

๔. ปฏฺฐเปติ - ตั้งขึ้นไว้

๕. วิวรติ - เปิดเผย

๖. วิภชติ - แจกให้คนอื่นรู้

๗. อุตตานี กโรติ - กระทำให้เป็นของเห็นได้ง่าย เหมือนกับหงายของที่คว่ำอยู่ (๔๓)

สิ่งที่ตรัสรู้มีมาก เหลือประมาณ แต่นำมาสอน เพียงนิดเดียว เท่าที่จำเป็น แก่การดับทุกข์ เท่านั้น สิ่งที่ตรัสรู้ มีมาก เปรียบใบไม้ในป่า แต่สิ่งที่นำมาสอน เปรียบใบไม้ในกำมือ (๔๔)

ธรรมธาตุ เรียกชื่อใหม่ว่า "ไกวัลยธรรม"

สิ่งที่เรียกว่า "ธรรมธาตุ" นั้น ได้ทรงนำมาแสดงใน ๓ รูปด้วยกันคือ ไตรลักษณ์ ปฏิจจสมุปบาท และ อริยสัจจ์๔ ทั้งหมดนี้เป็น "กฏ" ตายตัว ที่บังคับให้ทุกสิ่ง เป็นไปตามนั้น.  (๔๕)

คำว่า "กฏ" คือ ความที่สิ่งนั้น ต้องเป็นอย่างนั้น เช่น กฏเกี่ยวกับ ไตรลักษณ์ 

สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา - สังขารทั้งหลายทั้งปวง ไม่เที่ยง
สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา -
สังขารทั้งหลายทั้งปวง เป็นทุกข์
สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา -
ธรรมทั้งหลายทั้งปวง เป็นอนัตตา  
(๔๖)

สังขารก็ดี ธรรมก็ดี ต้องเป็นไปตามกฏนี้ ไม่มีทางที่จะบัญญัติ เป็นอย่างอื่นได้ สิ่งที่ทำให้สังขาร หรือธรรมทั้งปวงเป็นอย่างนี้ อันนี้เรียกว่า "กฏ" คือ "ธรรมธาตุ" หรือ ตถตา อวิตตา อนัญญตา ธัมมัฏฐิตตา ธรรมนิยามตา อันเป็นชื่อที่เรียก แทนกันได้.  (๔๗)

กฏเกี่ยวกับเรื่องปฏิจจสมุปบาท ก็บังคับตายตัว อยู่อย่างนั้น เป็นไปตาม กฏของธรรมชาติ อย่างนั้น ไม่มีใครสามารถตั้งขึ้น หรือ เปลี่ยนแปลง ให้เป็นอย่างอื่นได้ แม้กระทั่ง กฏของอริยสัจจ์๔ ก็เช่นเดียวกัน.  (๔๘)

สิ่งที่เป็นตัว "กฏ" เป็นสิ่งที่ ควบคุมบังคับ สภาวธรรม หมายความว่า สภาวธรรม ทั้งหลาย ต้องเป็นไปตามกฏ โดยเหตุนี้ พระพุทธเจ้า จึงตรัสว่า "ตถาคต จะเกิดขึ้น หรือ จะไม่เกิดขึ้น อันนั้นมีอยู่แล้ว ตั้งอยู่เสร็จแล้ว" ดังนี้ สิ่งที่มีอยู่แล้วคือ "กฏ" ตถาคตที่เกิดขึ้นตามกฏ เป็น "สภาวธรรม" (๔๙)

สิ่งที่มีอยู่แล้ว ตั้งอยู่ก่อนสิ่งอื่นทั้งหมด มีอยู่ในที่ทั่วไป ในเวลาทั่วไป ไม่มีจำกัด ตั้งต้น หรือ สุดท้าย เรียกชื่อ ในที่นี้ว่า "ไกวัลยธรรม" ได้แก่ ธรรมอันมีทั่ว ทุกหนทุกแห่ง และเป็นอันเดียวกันหมด (ไกวัลย์ แปลว่า อันเดียวกันหมด). (๕๐)

สภาวะเดิมของธรรม
คือไกวัลยธรรม

สิ่งที่เรียกว่า "ไกวัลย์" เป็นต้นตอของสิ่งที่เรียกว่า "ธรรม" ตามหลักที่ว่า "สิ่งนี้มีอยู่ก่อนสิ่งทั้งปวง แล้วสิ่งทั้งปวงออกมาจากสิ่งนี้"นั้น ย่อมทำให้กล่าวได้ว่า "พระพุทธเจ้า ก็ออกมาจากสิ่งนี้" จะกล่าวถึง พระพุทธเจ้า ในส่วนไหน แง่ไหน ปริยายใด ความหมายไหน ก็ล้วนออกมาจาก สิ่งนี้สิ่งเดียว เพราะว่า สิ่งนี้มันคือกฏ เป็นกฏตายตัว ของธรรมชาติที่ว่า "นั่นต้องเป็นอย่างนั้น". (๕๑)

ทุกสิ่งออกมาจาก
"กฏ" ตายตัวของธรรมธาตุ

ทุกสิ่งทุกอย่าง ออกมาจากสิ่งที่เรียกว่า "กฏ" คือ "ธรรมธาตุ" หรือ ตถตา เป็นต้น แม้องค์พระพุทธเจ้า ทั้งที่เป็นรูปธรรม และที่เป็นนามธรรม ที่แท้ ก็คือ สภาวธรรม ที่ออกมาจากกฏ หรือเป็นไปตามกฏ นั่นคือ ทั้งร่างกายจิตใจ และคุณธรรม ที่อยู่ในจิตใจ ของพระองค์ท่าน ล้วนเป็นไปตามกฏ เกิดดับไป ตามอำนาจ ของสิ่งที่เรียกว่า กฏ (๕๒)

ในส่วนที่เป็นพระธรรม ดังพระดำรัสที่ว่า "ธรรมที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วนี้ จะอยู่เป็นศาสดา ของพวกเธอทั้งหลาย" ดังนี้ แม้นี้ก็ต้องเป็นไปตามกฏ อยู่ได้ตามกฏ หรือมิฉะนั้น ก็รวมเข้าเป็นสิ่งเดียวกับสิ่งที่เรียกว่า "กฏ" (๕๓)

ถ้ารวมเข้ากับสิ่งที่เป็นกฏ ก็กลายเป็น "ไกวัลยธรรม" เป็น พระพุทธเจ้า ที่เป็นไกวัลย์ คือ ไม่รู้จักตาย ไม่รู้จักสิ้นสูญ มีอยู่ตลอดกาล และมีอยู่ในที่ทั้งปวง แต่ไม่มีใคร กล้าพูดอย่างนี้ เพราะ กลัวจะไปตรงกับ พระเจ้า ความจริง พระพุทธเจ้า ที่แท้ก็คือ พระเจ้า เพราะเนื้อหนังร่างกาย มิใช่ตถาคต ต่อเมื่อ "ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นตถาคต" ธรรมในที่นี้ หมายถึง กฏ"อิทัปปัจจยตา" นั่นเอง (๕๔)

การเห็นพระพุทธเจ้า
คือเห็นธรรม

การเห็นธรรมที่ไหนเมื่อไรก็ได้ ย่อมหมายถึง การเห็นพระพุทธเจ้า ทั้งนั้น มิได้หมายความว่า เห็นเฉพาะเมื่อพระพุทธเจ้า ท่านยังทรงมีชีวิตอยู่ ในความหมายนี้ แสดงว่า พระพุทธเจ้า ทรงมีอยู่ ตลอดอนันตกาล ดังพระพุทธดำรัส มีว่า "ธรรม อันเราแสดงแล้ว วินัย อันเราบัญญัติแล้ว นั่นจักอยู่ เป็นศาสดา สำหรับพวกเธอ ตลอดกาล" ดังนี้ (๕๕)

ธรรมที่ทรงแสดงแล้ว ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า กฏ ที่เป็นตัวไกวัลยธรรม อันมีอยู่ ตลอดกาล พระองค์ตรัสรู้แล้ว ก็ทรงนำมาสั่งสอน เพื่อให้สาวกทั้งหลาย ได้ถือว่า นั่นคือ ตถาคต ที่จะอยู่กับเธอทั้งหลาย ตลอดกาลนาน. (๕๖)

การเห็นธรรม
หมายถึง การเห็นกฏ หรือ ไกวัลยธรรม

คำว่า "ธรรม" หมายถึง "กฏ" เมื่อพูดว่า "ธรรม" ต้องหมายถึง ตัวกฏ จึงจะเป็นตัวจริง อย่าไปเล็งถึง ตัวหนังสือ หรือ คำพูด อย่างที่ใน อริยสัจจ์ ๔ ธรรมชาติ ได้กำหนดตายตัว ลงไปว่า ทุกข์ เป็นอย่างนี้ๆ เหตุให้เกิดทุกข์ เป็นอย่างนี้ๆ ภาวะดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ๆ การปฏิบัติ เพื่อให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้ๆ ต้องเป็นอย่างนี้ๆ เท่านั้น เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ลักษณะอย่างนี้เรียกว่า "กฏ" เมื่อมีการปฏิบัติตามกฏ ก็จะได้รับผล ตามสมควร แก่การปฏิบัติ (๕๗)

กฏอันนี้มีอยู่แล้ว แม้พระพุทธเจ้า จะเกิดขึ้น หรือ จะไม่เกิดขึ้น ก็ตาม พระองค์เพียงแต่ได้เข้าถึงกฏนี้ ได้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกฏนี้ แล้วนำมาแสดง ให้คนอื่นรู้ นั่นคือ ทรงแสดง สิ่งที่เป็นกฏ แล้วสิ่งที่เรียกว่า กฏ นั้น ต้องมีอยู่ในลักษณะ เป็น ไกวัลย์ ไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดสถานที่ เป็นธรรมธาตุ ที่ตั้งอยู่ตลอดกาล (๕๘)

ถ้ารู้จักไกวัลยธรรม
จะทำให้ชาวโลกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

เมื่อไกวัลยธรรม มีภาวะเป็น "หนึ่ง" คือ เป็นหนึ่งเดียว เป็นสิ่งเดียว ที่เต็มเปี่ยม อยู่ทุกหนทุกแห่ง อย่างเต็มพื้นที่ และในทุกเวลา อันเป็นที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ของทุกสิ่ง ทั้งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต เป็นสิ่งที่อยู่ในฐานะ เป็นภาวะเดิมแท้ ของสิ่งทั้งปวง ถ้าผู้ใด สามารถทำใจ กลับคืนเข้าสู่ภาวะเดิมได้ ก็จะเป็น อันเดียวกันกับไกวัลย์ จัดเป็นที่ ดับทุกข์ทั้งปวง ทุกคนทุกชีวิต จะมีความเป็น อันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อเป็นอย่างนี้ ย่อมไม่มีการแบ่งแยก เป็นพรรคเป็นพวก ให้เกิดมีการ ทะเลาะวิวาทกัน นั่นคือ ทุกคนเป็นคนเดียวกัน และมีชื่อเรียก เพียงชื่อเดียว คือ "ไกวัลย์" (๕๙)

กฏแห่งกรรมเป็น "ไกวัลย์"

ขึ้นชื่อว่า "กฏ" ต้องเป็นอย่างนี้ เช่น กฏแห่งกรรม เมื่อทำลงไปแล้ว ก็หนีผลกรรม ไม่พ้น ไม่ว่าจะหนีไปอยู่ที่ไหน เพราะมันจะติดตามผู้กระทำไป ทุกหนทุกแห่ง และมีลักษณะอย่างเดียวกัน กับสิ่งที่เรียกว่า "ไกวัลย์"

- มันละเอียดมาก จนนับไม่ไหว
- มันเป็นสิ่งเดียวโดด ไม่มีสอง
- มันมีความเต็มปรี่ ไปหมด ไม่มีช่องว่างเว้น
- มันแข็งแกร่ง ยิ่งกว่าสิ่งใด เพราะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมันได้
- มันเป็นสิ่งไม่รู้จักพอ เป็นอนันตะ คือ นำอะไรใส่ลงไป ก็ไม่รู้จักเต็ม และ นำออกมา ก็ไม่รู้จักหมด
(๖๐)

"ไกวัลย์"
มีความหมายตรงกับ "อสังขตะ"

สิ่งใดเป็นสัจจะ สิ่งนั้น ต้องเป็น "อสังขตะ" สัจจะ คือ ความจริง และ ความจริงก็คือ "กฏ" ดังนั้น กฏทั้งหลาย ก็ต้องเป็น อสังขตะ โดยนัยนี้ ไกวัลยะ ก็ต้องเป็นอสังขตะ คือ สิ่งที่อะไรทำมันไม่ได้ ปรุงแต่งขึ้นก็ไม่ได้ ควบคุมมันก็ไม่ได้ มันเป็นตัวของมันเอง มันชนะเหนือสิ่งทั้งปวง เป็นที่ออกมาแห่งสิ่งทั้งหลาย. (๖๑)

จากบาลี ธัมมนิยามสูตร แสดงว่า "ตถาคตจะเกิดขึ้น หรือจะไม่เกิดขึ้น ก็ตาม ฐิตา ว สา ธาตุ - ธาตุนั้นตั้งอยู่แล้วนั่นเทียว" คือ ธัมมัฏฐิตตา ธัมมนิยามตา ตถตา อวิตถตา เป็นคำไวพจน์ ที่พูดกันเท่าไหร่ มันก็ไม่หมด แต่ใจความมีนิดเดียว "มันเป็นอย่างนั้น" ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นอย่างอื่น เรียกสั้นๆ ด้วยคำเดียวว่า "ไกวัลยธรรม". (๖๒)


        
 
ไกวัลยธรรม คือ สิ่งที่มีอยู่ก่อนสิ่งทั้งปวง ไกวัลยธรรม ในฐานะธรรมทั้งปวง (ต่อ)

 คัดจาก หนังสือ ไกวัลยธรรม พุทธทาสภิกขุ ฉบับย่อ, ย่อโดย ภิกขุ ฉ.ช.วิมุตตยานันทะ