Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
 

 
สวรรค์ในทุกอิริยาบถ

"ของขวัญชิ้นที่สอง ในการทำบุญล้ออายุ ปี ๒๕๒๘ คือสวรรค์ในทุกอิริยาบถ. หลายคนคงจะคิดว่าเป็นไปไม่ได้ แต่อาตมา ก็ขอร้องให้พยายามทำความเข้าใจ ให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้ ก็เชื่อว่าจะเข้าใจได้ และทำให้เกิดขึ้นได้ เป็นสวรรค์ที่นี่และเดี๋ยวนี้. สวรรค์ต่อตายแล้วขึ้นอยู่กับสวรรค์ชนิดนี้ ถ้าไม่มีสวรรค์ชนิดนี้ สวรรค์ชนิดที่จะได้รับต่อตายแล้ว ก็มีไม่ได้. ข้อนี้มาจากความรู้อย่างแจ่มแจ้งว่า การทำหน้าที่ที่ถูกต้อง นั่นแหละคือ ธรรมะที่แท้จริง ดังนั้น เมื่อทำหน้าที่อยู่ในอิริยาบถใด ก็ระลึกนึกถึงความจริงข้อนี้ แล้วพอใจอย่างยิ่ง ในการปฏิบัตินั้น จนถึงกับยกมือไหว้ตัวเองได้ ชื่นใจอยู่ในการกระทำของตนเอง ในหน้าที่ที่กระทำอยู่ทุกอิริยาบถ"

พุทธทาสภิกขุ

 

 

 

สวรรค์ในทุกอิริยาบถ. 

เพื่อนสหธรรมิกและท่านสาธุชนทั้งหลาย! 

การบรรยาย ไม่อาจจะทำไปในรูปของธรรมเทศนา แต่จะทำไปในรูปของการปราศรัยตามธรรมดา ตามที่จะทำได้ ดังที่เป็นที่ทราบกันอยู่ดีแล้วว่า ผู้บรรยายอยู่ในฐานะมีโรคภัยเบียดเบียน แต่จะไม่พูดไม่บรรยายกันเสียเลย มันก็ไม่ถูกต้อง ดังนั้น ขอทำการบรรยายในรูปของการปราศรัย เหมือนอย่างครั้งที่แล้วมาเมื่อตอนเช้า.

เมื่อตอนเช้านั้น ได้ให้ของขวัญ คือเสรีภาพในการรับถือธรรมะเพื่อชีวิต และก็ได้บอกถึงเรื่องที่สำคัญ คือเรื่องเพชรและเครื่องขุดเพชร อันมีอยู่ในพระไตรปิฎก ในส่วนที่เป็นหัวใจ เพชรนั้นคือธรรมะที่เป็นเครื่องดับทุกข์โดยตรง ขอย้ำในที่นี้อีกทีหนึ่งว่า ความรู้ว่าสิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นั่นเป็น ความรู้ที่เป็นเพชร แล้วการปฏิบัติที่ปฏิบัติไปเพื่อความไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใด นั่นแหละเป็น การปฏิบัติที่เป็นเพชร; ทีนี้ได้รับผล ที่เป็นผลจากการปฏิบัติไม่ยึดมั่นถือมั่น นั่นเป็น ผลของการปฏิบัติที่เป็นเพชร ขอให้มีความรู้ความเข้าใจ และสามารถปฏิบัติได้ ในการที่จะได้รับของขวัญ ดังที่กล่าวแล้ว คือเสรีภาพในการรับถือธรรมะเพื่อชีวิต แล้วก็เพชรและเครื่องขุดเพชร คือ หลัก ๑๐ ประการ ที่เรียกว่า กาลามสูตร นี้ขอให้รับเอาไปด้วยกัน จงทุกคน ในฐานะเป็นของขวัญ.

ของขวัญชิ้นที่สอง

ทีนี้ ก็มาถึงเรื่องของขวัญชิ้นที่สอง ซึ่งเรียกชื่อของขวัญนั้นว่า สวรรค์ในทุกอิริยาบถ บางคนจะรู้สึกแปลก หรือ ฉงน หรือ ตกใจ ก็ได้ ; สวรรค์ในทุกอิริยาบถนี้ เป็นสิ่งที่มีได้ และอาตมากำลังพยายามที่จะทำความเข้าใจให้มันเกิดมีขึ้นมา และมอบให้ท่านทั้งหลายในฐานะเป็นของขวัญชิ้นที่สอง ขอให้ตั้งใจฟังให้ดี!

ขอทำความเข้าใจปลีกย่อยสักนิดหนึ่งก่อนว่า มีคนจำนวนหนึ่ง กล่าวหาอาตมาว่า ยกเลิกสวรรค์ ยกเลิกนรก ว่าไม่มีสวรรค์ ไม่มีนรก; เดี๋ยวนี้จงเป็นพยานกันทุกคนเถิดว่า อาตมากำลังพูดว่า มีสวรรค์ได้ทุกอิริยาบถที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องรอต่อตายแล้ว สำหรับสวรรค์เดิมๆ ของพวกที่ว่า จะได้ต่อตายแล้วนั้น อาตมาไม่ไปแตะต้อง ไม่ต้องไปยกเลิกให้มันเหนื่อย ให้มันเป็นสวรรค์ในความหวัง เรื่อยๆ กันไปเถิด. แต่ถ้าสวรรค์ที่เป็นความจริง ที่จะได้กันที่นี่และเดี๋ยวนี้ และทุกอิริยาบถ นั่นแหละต้องการจะให้ทราบ ต้องการจะให้ปฏิบัติ และต้องการให้ได้รับ จนมีสวรรค์อยู่ในทุกอิริยาบถ.

ของขวัญที่ไม่เหลือวิสัย

ทีนี้ ข้อนี้ฟังดูมันก็เป็นเรื่องใหญ่โต คล้ายกับว่าจะเหลือวิสัย : บางคนจะนึกล่วงหน้าไว้แล้วว่า มันเหลือวิสัย ไม่ฟังก็ได้ ไม่สนใจก็ได้ สำหรับสวรรค์ในทุกอิริยาบถ. แต่อาตมาขอยืนยันว่า มันเป็นสิ่งที่มีได้ ไม่เหลือวิสัย ทำได้และสนุกในการทำด้วย ขอให้สนใจฟังให้ดีๆ เพราะเราไม่สนใจทำอะไรอย่างลึกซึ้ง อย่างประณีตอย่างละเอียด แล้วมันยังน่าหัวต่อไปอีกว่า สวรรค์ในทุกอิริยาบถนี้ ไม่ต้องลงทุนเป็นเงินเป็นทอง ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยอะไร ให้มากไปกว่าที่เคยทำอยู่ก่อนแล้ว คือขอให้ทุกคนทำหน้าที่ของตนตามที่มีอยู่แล้วเป็นประจำวันในชีวิต แต่ขอเพิ่มอีกนิดเดียวว่า จงมีธรรมานุสสติ ในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่นั้นๆ เท่านั้น ฟังให้ดีๆ : ไม่ได้เพิ่มอะไร อะไรที่ทำกันอยู่แล้ว ขอให้ทำกันต่อไปด้วยสติ.

ชาวนาทำนา ชาวสวนทำสวน คนค้าขายก็ค้าขาย ข้าราชการก็ทำราชการ กรรมกรก็ทำกรรมกร กระทั่งว่า คนขอทาน ก็นั่งขอทานไปตามเดิม ทำตามที่เคยทำอยู่อย่างเดิม แต่ขอเพิ่มอีกนิดเดียวว่า ขณะที่ทำนั้นจงมีธรรมานุสสติ คือสติระลึกถึงธรรม. ความลับมันมีอยู่ตรงที่คำว่า "ธรรม" นั่นเอง. คนมันไม่มีธรรมจริง มันไม่รู้จักธรรมจริง ไม่อาจจะทำให้ธรรมเกิดขึ้น ได้แต่ออกเสียงทางปากว่า ธรรมๆ แต่ไม่ได้ทำให้ธรรมะอันแท้จริงเกิดขึ้นในใจ ทีนี้ การที่จะทำให้ธรรมะอันแท้จริงเกิดขึ้นนั้น จะต้องมีการทำความเข้าใจ หรือปรับปรุงการกระทำกันสักหน่อย; มันเป็นเรื่องละเอียดเร้นลับ คือ ความลับในข้อที่ว่า ธรรมนั้นอยู่ในความหมายของคำว่า "หน้าที่".

ธรรม นั้นคือ สิ่งที่เป็นหน้าที่ : สิ่งที่เป็นหน้าที่แหละ คือ ธรรม. เมื่อพูดอย่างนี้ คนจำนวนหนึ่งหาว่าบ้าแล้ว. นั่นคือมันไม่รู้ มันไม่รู้ความลับ ของที่ว่าธรรมคือหน้าที่ การปฏิบัติธรรมคือการทำหน้าที่; เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ต้องพูดเลยไปถึงเรื่องธรรมนี้เป็นพิเศษว่า ธรรมๆ ที่จะเป็นที่พึ่งได้โดยแท้จริง นั้นคืออะไร. ใครๆ ก็ได้ยินกันอยู่ทั่วไปแล้วว่า ธรรมคือสิ่งที่จะทรงผู้ปฏิบัติ ไม่ให้ตกลงไปในกองทุกข์ หรือในความชั่ว แต่จะทรงผู้ปฏิบัติให้อยู่เหนือความทุกข์: ธรรมนั้นจะสามารถทรงผู้ปฏิบัติธรรมให้อยู่เหนือความทุกข์เสมอไป.

มีธรรมะอยู่ในหน้าที่ที่ทำ

ทีนี้ จะปฏิบัติธรรมอย่างไร ให้มันอยู่เหนือความทุกข์ทุกอิริยาบถ? นั่นมันก็ต้องสวมรอยลงไปที่สิ่งที่ทำอยู่ทุกอิริยาบถนั่นเอง. อะไรเล่าที่ทำอยู่ทุกอิริยาบถ? ก็คือ ทำหน้าที่การงานตามที่เหมาะสม หรือต้องทำกันอยู่เป็นประจำ. มีหน้าที่โดยไม่ต้องบอกชื่อของหน้าที่ ก็คงจะรู้กันได้ ว่า ชาวนาก็ไถนา ชาวสวนก็ทำสวน พ่อค้าก็ค้าขาย; นี่เป็นหน้าที่โดยตรง เรียกว่า หน้าที่ในอาชีพ หน้าที่โดยความเป็นอาชีพ.

ทีนี้ หน้าที่อีกส่วนหนึ่ง ก็คือหน้าที่ในการบริหารชีวิต. หน้าที่ส่วนนี้ เพื่อให้ชีวิตรอดอยู่เป็นปรกติ ทางสุขภาพอนามัย เป็นต้น เช่น ต้องหาอาหาร ต้องกินอาหาร ต้องถ่าย ต้องอาบ ต้องบริหารร่างกาย และจะต้องทำอีกหลายๆ อย่าง ทั้งหมดนี้เพื่อบริหารชีวิตและร่างกาย.

ดังนั้น เราจะต้องทำหน้าที่ทั้งสองอย่าง หน้าที่โดยตรงคือ ประกอบการเลี้ยงชีวิต, หน้าที่โดยอ้อมคือ บริหารร่างกาย แต่ทุกอย่างก็เป็นหน้าที่ที่ต้องทำให้ถูกต้องตามที่ธรรมชาติต้องการ เราจะต้องกินอาหาร จะต้องถ่ายอุจจาระปัสสาวะ จะต้องอาบน้ำ จะต้องนุ่งผ้า จะต้องแต่งเนื้อแต่งตัว ให้เหมาะสม และเตรียมพร้อมที่จะไปทำงาน ทั้งสองหน้าที่รวมกันเรีกว่า ธรรม เป็นสิ่งที่ต้องทำให้มี อยู่กะเนื้อกะตัวตลอดเวลา อย่างน้อยที่สุด เช่นรู้สึกคันขึ้นมา มันก็ต้องเกา แม้ว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย คือจะต้องเกาเมื่อคันขึ้นมา มันก็เป็นหน้าที่ ที่จะต้องทำให้ดีให้ถูกต้อง แม้ทำหน้าที่อย่างนี้ก็จัดเป็นธรรมะเหมือนกัน

ธรรมะ แปลว่า หน้าที่, หน้าที่ แปลว่า ธรรมะ. ข้อนี้เป็นคำแปลก หรือเรื่องแปลกสำหรับท่านทั้งหลาย แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว มันเป็นอย่างนี้. ถ้าว่าโดยภาษาศาสตร์ เอาภาษาอินเดียเป็นหลัก ปทานุกรมในประเทศอินเดียนั้น คำว่า ธรรมแปลว่า หน้าที่ ไม่ได้แปลว่า คำสั่งสอนของใคร. ธรรมะแปลว่า หน้าที่ แต่แล้วคำสั่งสอนต่างๆ ก็คือ คำสั่งสอน ที่บอกหน้าที่ หรือวิธีทำหน้าที่ นั่นเอง มันก็มาเป็นสิ่งเดียวกันในตอนนี้.

 

 NEXT

 

คัดจากหนังสือ อสีติสังวัจฉรายุศมานุสรณ์ จาก ท่านพุทธทาสภิกขุ ในหัวข้อ ฟ้าสางทางสวรรค์ในทุกอิริยาบถ พิมพ์โดย ธรรมทานมูลนิธิ และ สนพ. สุขภาพใจ พิมพ์ครั้งที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๐