Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
 



 

 

 

 

วันคืนแห่งกรรมฐาน

(จดหมายในสวนโมกข์ฯ)

ภิกษุ ผู้อาศัยอยู่ ในสวนโมกข์ฯ ไม่มีการพบ และสนทนากัน ในสมัยภาวนา หากจะมี ข้อบอกเล่า แก่กัน ก็ใช้การเขียน ใส่กระดาษ ทิ้งไว้ให้กัน ตามสถานกลาง เช่น ที่อ่านหนังสือ เป็นต้น จึงมีจดหมาย ที่เขียน เต็มไปด้วย ข้อธรรม หรือ วิธีปฏิบัติธรรม บางอย่าง เราจะเสาะแสวง มาลงเผยแผ่ ในหนังสือพิมพ์ พุทธสาสนา เป็นพิเศษเสมอ. -บ.พ. 

กระต็อบ ๒, สวนโมกข์ฯ,
๒๑ สิงหาคม ๒๔๗๗

สาสนปัชโชตภิกขุ ที่นับถือ.

ผมอยากจะซ้อม หรือ ย้ำความเข้าใจ ในหลักการฝึกภาวนา สำหรับ ฐานะอย่างเราๆ ด้วยกัน อีกว่า ขอให้มีการคิด (วิปัสสนา) ให้มากที่สุด อย่าสงบ (สมถะ) เสียตะพืด หรือ มากจนเกินควร เพราะเหตุไร? เพราะเหตุว่า ไม่มีใครเคย บรรลุวิมุตติ ด้วยการสงบเลย บรรลุด้วย การคิด จนปลงตก ทั้งนั้น ปลงตก คือ เห็นทะลุ แจ้งฉาน ซึมซาบใจ ในสิ่งนั้น จริงอยู่ ที่หลักธรรม บ่งว่า สมถะอยู่หน้า วิปัสสนาอยู่ข้างหลัง, แต่ถ้าเราไม่ก้าวหน้า เราจะไปได้อย่างไร? สมถะจำเป็นแต่ในเมื่อวิตก ชั่วร้าย รบกวน ถ้ามัน ไม่รบกวนแล้ว อย่าไปคิดถึง สมถะ เลย เว้นไว้แต่ คิดแล้วมัน ฟุ้งเกินไป เท่านั้น เรามี สมถะ ไว้กำราบเมื่อฟุ้ง ดีกว่า นอนใจ ใช้ให้ ทำหน้าที่ ข่มอย่างเดียว อกุศลวิตก ที่เกิดขึ้น ถ้าข่มได้ด้วย สมถะ ก็ต้อง ข่มกัน เรื่อยไป สู้ทำลายมันเสียให้ แหลกละเอียด ด้วยการคิด (คือ วิปัสสนา) ไม่ได้. อีกอย่างหนึ่ง สมถะ หรือ สมาธิ เอาไว้เป็น การเข้าอยู่ พักผ่อน เพื่อความสุข ในบางคราว เท่านั้น ก็ได้, ถ้ายังมีหน้าที่ ทำลายกิเลส แล้ว จงจำไว้ว่า ต้อง "วิปัสสนา" เท่านั้น สมถะ ไม่ให้สำเร็จประโยชน์ ถึงที่สุดได้

ก็เมื่อ เสนาสนะ ของเรา สงัดดีพอ วิสภาคารมณ์ ต่างๆ ก็มีน้อย ถึงปานนี้แล้ว สมถะ ส่วนซึ่ง จำเป็นเฉพาะ เสนาสนะคลุกคลี มี วิสภาคารมณ์ มากนั้น ก็เกือบไม่จำเป็นสำหรับเรา ผมใคร่ครวญ เรื่องนี้ เป็นอย่างมาก ทั้งวิธี เจริญสมาธิ ของต่างประเทศ หรือ ฝ่ายมหายาน เขาฝึกใจ ด้วยการข่ม หรือ ทรมาน กันแต่ในเบื้องต้น เป็นส่วนน้อย จะให้ได้ผลดี ต้องคิดให้ตกไป ในเรื่องนั้นๆ สมาธิ เป็นเหมือน เอาของหนัก ทับความชั่ว ไว้ ส่วนปัญญา หรือ วิปัสสนา เป็นการ ตัดต้นไฟ ได้แก่ การขุดทิ้ง รื้อทิ้ง ทีเดียว สมถะ ย่อม ชวนเพลิน และ เป็นความสุข ก็จริง แต่เป็นอันตราย ต่อเมื่อ เปลี่ยนสถานที่ หรือ กระทบ วิสภาคารมณ์ สมถะ ที่ได้ อุคคหนิมิต หรือ ปฏิภาคนิมิต จะมีอำนาจ ต่อเมื่อเจริญ สำเร็จ ได้คล่องแคล่ว ตามปรารถนา และ อาจสู้รบ วิสภาคารมณ์ได้ เช่น เราจำ อุคคหนิมิต ของอสุภ อันหนึ่งได้สำเร็จ พออารมณ์ ยั่วยวนผ่าน เรานึกนิมิต นั้นมาเป็นรั้ว เช่นนี้ ย่อมสำเร็จผลดี แต่ขอให้เข้าใจว่า นั่นไม่ใช่ กิริยาแห่งสมถะ (สงบ) แท้ เป็น ตัววิปัสสนา ส่วนหนึ่งทีเดียว ขอให้ สังเกตให้มาก.

เราไม่พึงเชื่อ ลัทธิ เกี่ยวกับ ความสงบ ชนิด ยึดมั่น ถือมั่น อย่างโบราณ บางอย่าง ซึ่งไม่ได้ผลแท้จริง เป็นเกณฑ์ หรือ เครื่องวัด เขาเอาพิธี และกิริยาอาการ หรือ ของแปลกๆ เป็นเครื่องวัด ผลที่ได้ จึงไม่ตรง ตามที่ทรงประสงค์ ขอจงสังเกตดู ในบาลีให้มาก จะเห็นได้ว่า ไม่มีกล่าวถึงวิธีของสมถะนัก, แต่มามี อย่างวิตถาร ในคัมภีร์ ชั้นหลังๆ ส่วนที่กล่าวทำนอง วิปัสสนา ย่อมมีดาษดื่น ทีเดียว อย่าลืมว่า เราต้องการพ้นทุกข์ เราต้องมุ่งเฉพาะ สิ่งที่ดับทุกข์ได้ และสิ่งนั้น เราต้องคิดเห็น ได้เอง อย่างประจักษ์ใจ ไม่ต้องเชื่อ อารมณ์ ผู้สอนกรรมฐาน ดายไป ผู้สำเร็จสมาธิ หรือ สมาบัติ ยังเข้าตะรางได้ ส่วนผู้มีวิปัสสนา จะไม่เข้าตะรางเลย พวกเราหวัง ปัญญาวิมุตติ ไม่หวังเจโตวิมุตติ

ผมมั่นใจว่า คุณเป็นนักค้นคว้า และเห็นแก่ การศึกษาแท้ ผมจึงพูดตรงๆ ชนิดที่ ไม่พูดกะ คนทั่วไป เพราะจะเป็นผลร้าย ขออย่าให้เชื่อดายไป ในพิธีแห่งสมาธิ ที่สืบกันมา อย่างปรัมปรา ด้วยการ ทำตามๆ กันก็ดี หรือด้วย หนังสือบางเล่มก็ดี จงเลือกเอา เฉพาะที่ไว้ใจได้ และใคร่ครวญ เห็นเหตุผล เสียก่อน จึงยึดเอา เป็นหลักในใจ ข้อสำคัญ อยู่ที่การ ใคร่ครวญ เท่านั้น

วิธีที่ผมชอบ ในบัดนี้ คือ สติสัมปชัญญะ เป็นตัวยาม ระวังเหตุ ให้แก่ใจ อยู่เสมอ ทุกข์, บาปอกุศล, ลามกธรรม, อันใดผ่านมา เป็นต้นว่า ความกำหนัด ความอาลัย ระลึถึง ความห่วงใย ความหงุดหงิด ความมึนชา ฯลฯ ผ่านมา แม้เล็กน้อย สติสัมปชัญญะ ที่บำรุง ฝึกฝนไว้ จะเป็นผู้จับมันส่งไปยังกองปัญญา (วิปัสสนา) ทันที, ค้นหาว่า นี่มันมา อย่างไรกัน? อะไรเป็นเหตุ? อะไรเป็นผล? จะให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง? ทำลายมัน ได้อย่างไร ในกาลต่อไป? ป้องกันอย่างไร? แล้วก็ กระทำโดยวิธีนั้นๆ นี่แหละ ควรเป็น ความเป็นอยู่ วันหนึ่งๆ ของนักภาวนา ตามที่ผมเข้าใจ และเห็นว่าดีที่สุด การฆ่ากิเลส ที่เข้ามาติดตาข่าย ของเรา เสมอไป ทุกครั้ง นั่นคือ "พระนิพพาน" น้อยๆ ของเราทุกครั้ง นิพพานแห่งกิเลส! อริยมรรคน้อยๆ ก็ตัด กิเลส ตัวน้อยๆ ขุดราก ของมัน ออกทีละน้อยๆ เราได้หน่วง อริยผล ทีละน้อยๆ เสมอไปทุกคราว, จะได้ ไปถึงไหน แล้วนั้น อย่าคิดเลย คิดอย่างเดียว โดดๆ คือ เราจะก้าวหน้า เรื่อยไป เท่านั้น ก็พอแล้ว เมื่อเห็นว่า กิริยา เช่นนี้ ขูดเกลา กิเลสแล้ว เป็นลงมือ ทันที เพราะฉะนั้น จึงขอเตือน คุณผู้ที่ผมถือเป็นน้องชาย โดยพรรษาอายุ ว่า อย่าทำลายเวลา ให้หมดไปด้วย "การสงบตะพึด" เสียท่าเดียว มันจะไม่เป็นการก้าวหน้า และจะถอยหลัง ในเมื่อ รสชาติ แห่งความสงบ มันจืดจางลง เพราะยังเป็น โลกิยะ

ที่ทวารทั้ง ๖ เฉพาะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ควรขึงตาข่าย ไว้พอสมควร เสนาสนะ ของเรา สงัดพอแล้ว และเราก็ ตัดการคลุกคลี ลงไปแล้ว เป็นอย่างมาก ตลอดถึง อาหาร ก็ปราศจากโทษ ยังเหลือแต่ ทวารที่ ๖ คือ ใจ นี่แหละสำคัญนัก จงขึงตาข่าย กล่าวคือ สติสัมปชัญญะ ให้ละเอียดถี่ยิบ ทีเดียว เพราะศัตรู ที่ลอดเข้าไป ถึงด่านนี้ ย่อมตัวเล็กมาก ต้องทำกะมัน โดยแยบคาย สำหรับคุณ มีบางอย่าง เยี่ยมกว่าผม เช่น กำลังใจ เป็นต้น จึงขอให้คุณ ตั้งหน้า พยายาม ให้เต็มที่เถิด จะต้องสำเร็จแน่นอน ไม่ต้องนึกถึงว่า เรียนมามาก เรียนมาน้อย ข้อนั้น ไม่สู้สำคัญ ในการจับกิเลสฆ่า ข้อนั้น มีประโยชน์ สำหรับ การบำเพ็ญ ประโยชน์ ผู้อื่น เท่านั้น และควรทำ แต่บางคน หรือ บางส่วนที่ควรทำ

สำหรับ การคิด, ถ้าไม่แยบคาย ก็ดูเหมือน จะไม่มีอะไรคิด ดูนั่น ก็ไม่เป็นเรื่อง นี่ก็ไม่เป็นเรื่อง เอาทีเดียว แต่ถ้าคิด ให้แยบคายแล้ว มีมากถมไป คอยคิด แต่เรื่องในใจ ของตน วันหนึ่ง ก็พอแล้ว คิดหาเหตุผล ลงไป เป็นชั้นๆ มันมี หลายร้อย หลายพันชั้น นัก คิดได้ลึกเท่าใด ก็ยิ่งวิเศษ เพราะจะรื้อรากของมันได้มากๆ นี่ผมกล่าวเฉพาะเรื่องแห่งความทุกข์ และการดับทุกข์ ปัญหา นิพพาน คืออะไร? นี่คิดได้ทุกวัน มีแง่ให้คิด กระทั่ง ทุกอิริยาบถ จนเมื่อฉัน ดื่ม ไปถาน ไปดูปลาในสระ ฯลฯ ก็ล้วนแต ่มีแง่ สำหรับคิด ทั้งนั้น พระพุทธองค์ ทรงเห็นสิ่งต่างๆ แล้ว คิดตีปัญหานั้น เรื่อยๆ จนทะลุปรุโปร่ง ไปหมด ก็เพราะทรงคิดมาแล้ว เป็นอย่างมาก นั่นเอง คิดมา ก่อนตรัสรู้! คิดมาแต่ชาติก่อน! การคิดได้ มารวบรวม เหตุผล ตัดสินเป็นหนึ่ง เด็ดขาด ลงไปในวันตรัสรู้ เพราะถึงที่สุด แห่งความคิด แต่เพียงนั้น เท่านั้นแล้ว ตอนแรก ทรงค้นคว้า เรื่อยๆ มาว่า อะไรคือทุกข์, อะไรให้เกิดทุกข์, อะไรดับทุกข์ได้, อะไรให้ถึง ความดับทุกข์นั้น? เมื่อรวบรวม เหตุผล ได้มากพอ ก็ทรงพบ ความจริงอันนี้ ถูกต้องคงที่ ไม่แปรปรวนอีก.

พวกเรา เป็นสาวก ของพระพุทธองค์ จะไม่เดิน ตามรอยพระยุคลบาท อย่างไรเล่า ถึงเราจะ ไม่เป็น พระพุทธเจ้า ก็จริง แต่เราต้องรู้ อริยสัจ อย่างเดียวกับ ที่พระองค์รู้ เพื่อความสิ้นทุกข์ ของเรา เราต้องพยายาม แต่เรื่องนี้ เท่านั้น เพราะฉะนั้น เราต้องคิด ต้องมีการคิดค้นคว้า พร้อมกับ การทดลอง ทำดูด้วย ในสิ่งที่ทำได้ เช่น ข้อที่ ทรงกล่าวว่า ทำอย่างนี้ๆ ช่วยเหลือ ในการคิด ให้ดำเนิน เป็นผลสำเร็จ โดยเร็ว. ศีล, ธุดงค์, สมาธิ เป็นเพียง อุปกรณ์ แห่งการคิด ข้อสำคัญ ตัวจริง อยู่ที่ การคิด เพราะฉะนั้น เป็นอัน สรุปความ ได้ว่า "วันคืนแห่งกรรมฐาน คือการคิด!" หาใช่ ความสงบรำงับ หาความสุข เกิดแต่ วิเวก ตะพึด ไปอย่างเดียวไม่. อาการสงบ เคร่งขรึม มีผู้เลื่อมใส นิยมมาก ก็จริง แต่ผลสำคัญ อยู่ที่การคิด เราสงบ เพื่อให้คิด ได้ลึกซึ้ง ไม่ใช่ เมื่อสงบ ก็พอแล้ว อาจกล่าว เป็นหลัก ได้ว่า ถ้าตามธรรมดา เราเป็น ผู้ที่คิดได้ เต็มที่ โดยไม่ใช่ เป็นนัก ราคจริต หรือ โทสจริตแล้ว เราก้าวหน้า การคิด อย่างเดียวก็พอ การคิดตก แล้วนั่นแหละ กลับเป็นอาวุธ สำหรับทำลาย ราคะ โทสะ โมหะ ที่แมั ยังไม่เคยผ่าน ออกมาปรากฏ แก่ใจเลย (อนุสัย) เมื่อคิดตกแล้ว สิ่งต่างๆ อันเป็นความชั่ว ก็พลอย ตกไป หมดสิ้น การคิดตก มีมากน้อย เป็นขั้นๆ แต่ไม่ค่อย มีใครนึก กี่คนดอกว่า นั่นแหละ คือสิ่งที่เรา เรียกกันเสียว่า บรรลุมรรคผล จึงทำให้เรา ไม่เห็นเต็มที่ ในคุณค่า ของการคิด ให้ตก คิดตกหมด ก็บรรลุพระนิพพาน นั่นเอง

วันคืนแห่งกรรมฐานที่แท้จริง คือ วันคืนแห่งการคิด!

พ. อินทปัญโญ.

BACK 

 

คัดจาก หนังสือ ชุมนุมข้อคิดอิสระ พุทธทาสภิกขุ  
พิมพ์ ครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๓๘ โดย สำนักพิมพ์สุขภาพใจ