Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
RANGSAN
โลกแห่งสมุนไพร
   ::รังสรรค์ ชุณหวรากรณ์::

กานพลู

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ Syzygium aromaticum (L.) Merr. Et perry
(Syn. Eugenia caryophyllus (Sprengel) Bullock et Harrison) *
วงศ์ MYRTACEAE
ชื่ออื่น ๆ ขจันจี่ (ภาคเหนือ)
ลักษณะของพืช เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กสูง 5–14 เมตร ใบเดี่ยวติดกับลำต้นแบบตรงข้ามเนื้อในหนาเป็นมัน เมื่อส่องกับแสงแดดจะเห็นจุดน้ำมัน ตัวใบรีหรือรูปไข่เกือบขอบขนาน ปลายใบและโคนใบแหลม ใบมีขนาดกว้าง 2–5 ซม. ดอกออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ประกอบด้วย 3–20 ดอกเมื่อแก่ดอกจะยาว 1–2 ซม. สีแดงอมชมพู ผลรูปรีหรือรูปไข่ สีแดงเข้มยาว 2–3 ซม. ภายในมีเมล็ด1–2 เมล็ด
ส่วนที่ใช้เป็นยา ดอก (ดอกกานพลูที่ดีจะต้องเป็นดอกที่มิได้สกัดเอาน้ำมันออก และมีกลิ่นฉุนรสเผ็ดจัด)
สรรพคุณและวิธีใช้
  1. แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และปวดท้อง ใช้ดอกแห้ง 5–8 ดอก (0.12–0.6 กรัม) ต้มหรือบดเป็นผงรับประทาน (ดอกกานพลู 3 ดอก ทุบแล้วแช่ในน้ำเดือด 1 ขวดเหล้า ใช้ชงนมเด็กจะช่วยป้องกันไม่ให้เด็กท้องขื้น ท้องเฟ้อได้
  2. แก้อาการปวดฟัน กลั่นเอาน้ำมันใส่ฟันหรือใช้ทั้งดอกเคี้ยวแล้วอมไว้ตรงบริเวณฟันที่ปวดเพื่อระงับอาการปวดฟัน
การขยายพันธุ์ ใช้ทั้งการเพาะเมล็ด และการตอนกิ่ง
สภาพดินฟ้าอากาศ ดินควรเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารพืช และควรปลูกในฤดูฝน
การปลูก ขุดหลุมให้ กว้างประมาณ 60 ซม. ยาว 60 ซม. ลึก 60 ซม. ตากดินไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อให้แสงแดดฆ่าเชื้อโรคในดิน จากนั้นใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยอินทรีย์รองก้นหลุม นำต้นลงปลูกแล้วจึงกลบและพูนดินที่โคนต้น เพื่อป้องกันน้ำขัง กานพลูไม่ชอบน้ำขัง เมื่อปลูกใหม่ ๆ ต้องทำร่มให้ด้วยหลุมละ 1 ต้น กลบดินให้แน่นรดน้ำให้ชุ่ม
การบำรุงรักษา คอยดูแลการระบายน้ำให้ดี อย่าให้น้ำขัง กานพลูที่สมบูรณ์จะให้ผลเมื่ออายุย่างเข้าปีที่ 4 และจะให้ผลผลิตสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในอายุประมาณ 20 ปี

( * ชื่อวิทยาศาสตร์ แก้ไขตาม Chantararanothai, P. et 1994. Thai For. Bull. 21: 38–39)

 
   
   
 
Copyright 2002 คำนำสารบัญเกี่ยวกับผู้จัดทำโรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์จังหวัดนนทบุรี บรรณานุกรม