Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
RANGSAN
โลกแห่งสมุนไพร
   ::รังสรรค์ ชุณหวรากรณ์::

ดีปลี

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ Piper retrofractum Vahl.
วงศ์ PIPERACEAE
ชื่ออื่น ๆ ดีปลีเชือก (ภาคใต้) ประดงข้อ ปานนุ (ภาคกลาง)
ลักษณะของพืช เป็นไม้เลื้อยที่มีรากออกตามข้อและเกาะพันสิ่งอื่นได้ ส่วนของลำต้นค่อนข้างกลมและเรียบ มีทั้งต้นตัวผู้และต้นตัวเมีย ใบเดี่ยวออกสลับ ตัวใบคล้ายรูปไข่ แกมขอบขนานหรือรูปไข่เรียว ปลายใบแหลม โคนใบมักมนกลมหรือแหลม เนื้อโคนใบสองข้างไม่เท่ากัน ผิวใบด้านบนมัน ใบมีขนาดกว้าง 3–8 ซม. ยาว 6–18 ซม. เส้นใบที่บริเวณโคนใบมี 3–5 เส้น ดอกออกเป็นช่อและออกตรงข้ามกับใบ ช่อรูปคล้ายทรงกระบอกปลายเรียวมน เมื่อเป็นผลมีรูปค่อนข้างกลม ฝังตัวแน่นอยู่กับแกนช่อรูปทรงกระบอกปลายเรียวมนยาว 2.5–7 ซม. เมื่อแก่มีสีแดงสด
ส่วนที่ใช้เป็นยา ดอกแก่ (ช่อผลแก่) หรือเถา
สรรพคุณและวิธีใช้
  1. แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และปวดท้อง และแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (เกิดจากธาตุไม่ปกติ) ใช้ดอกแก่ 1 กำมือ (ประมาณ 10–15 ดอก) ต้มเอาน้ำดื่ม ถ้าไม่มีดอกใช้ เถาต้มแทนได้
  2. แก้ไอและขับเสมหะ ใช้ดอกแก่แห้ง หรือช่อผลแก่แห้งประมาณครึ่งช่อ ฝนกับน้ำมะนาวแทรก เกลือกวาดคอหรือจิบบ่อย ๆ
การขยายพันธุ์ ใช้เพาะเมล็ดหรือเถา ส่วนมากนิยมใช้เถา
สภาพดินฟ้าอากาศ ชอบดินร่วน ไม่มีน้ำขัง มีอินทรียวัตถุมาก ทนความแห้งแล้งได้ดี ฤดูที่เหมาะสมคือ ต้นฤดูฝน
การปลูก ใช้เสาไม้แก่น หรือเสาซีเมนต์ หรือวัตถุอื่น ๆ ที่ทนทานหลายปี ความยาวของเสา 4–5 เมตร ฝังลงดิน 0.5–1 เมตร เอาเถาดีปลีที่ชำจนแตกรากใหม่มีข้อและแตกยอดใหม่แล้วเกาะติดกับต้นเสา ในระยะแรกต้องใช้ลวดหรือเชือกช่วยยึดหลวม ๆ ขึ้นไปตามลำดับ จนกว่าเถาดีปลีจะเกาะต้นเสาได้ดีจึงไม่ต้องใช้เชือกยึด
การบำรุงรักษา ในฤดูร้อนควรให้น้ำสม่ำเสมอ อย่าให้น้ำขังท่วมราก หากรากแช่น้ำข้ามคืนดีปลีจะตาย ใส่ปุ๋ยบ้างเพื่อให้ต้นแข็งแรงและผลดก ศัตรูของดีปลีได้แก่ เพลี้ยแป้งและมด

 
   
   
 
Copyright 2002 คำนำสารบัญเกี่ยวกับผู้จัดทำโรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์จังหวัดนนทบุรี บรรณานุกรม