Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
RANGSAN
โลกแห่งสมุนไพร
   ::รังสรรค์ ชุณหวรากรณ์::

พริกไทย

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ Piper nigrum Linn.
วงศ์ PIPERACEAE
ชื่ออื่น ๆ พริกน้อย (ภาคเหนือ)
ลักษณะของพืช เป็นไม้เลื้อยมีทั้งต้นตัวผู้และต้นตัวเมีย ลำต้นมีข้อและปล้องชัดเจน ใบเดี่ยวออกสลับ รูปไข่หรือรี ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือแหลมเล็กน้อย ใบกว้าง 3.5–6 ซม. ยาว 7–10 ซม. ก้านใบยาว 10–20 มม. ดอกออกเป็นช่ออยู่ตามข้อตรงข้ามกับใบ ช่อดอกตัวเมียมีกลีบประดับรูปเกือบกลม ขนาด 4–5 มม. ติดอยู่ตามแกนช่อดอกรองรับดอก รังไข่กลมปลายเกสรแยก 3–5 แฉกช่อดอกตัวผู้ที่มีดอกเกสรตัวผู้ 2 อัน ผลอยู่รวมกันบนช่อยาว 5–15 ซม. ผลรูปทรงกลมขนาด 3–6 มม. แก่แล้วมีสีดำ ภายในมี 1 เมล็ด
ส่วนที่ใช้เป็นยา ผล (ซึ่งเรียกว่า พริกไทยดำ) หรือ เมล็ด (ซึ่งเรียกว่า พริกไทยร่อน หรือ พริกไทยขาว
สรรพคุณและวิธีใช้ แก้อาการปวดท้อง ท้องอืด และท้องเฟ้อ ใช้ผล หรือเมล็ดตำเป็นผง ครั้งละ 0.5 ช้อนชา หรือหนัก 0.5–1 กรัม ผสมน้ำสุก รับประทาน วันละ 3 ครั้ง เหมาะสำหรับผู้ใหญ่
การขยายพันธุ์ ใช้ปักชำ
สภาพดินฟ้าอากาศ ขึ้นได้ในดินทั่วไป แต่ชอบดินที่มีอินทรียวัตถุสูง มีการระบายน้ำดีชอบอากาศอบอุ่นและชื้น ควรปลูกในฤดูฝน
การปลูก โดยทั่วไปนิยมปลูกโดยใช้ค้าง ก่อนปลูกเตรียมดินโดยขุดหลุมขนาดกว้าง 40 ซม. ยาว 60 ซม. และลึก 40 ซม. ใช้ปุ๋ยคอกผสมดินรองก้นหลุม นำยอดพันธุ์ลงปลูกในหลุม ยอดพันธุ์นั้นใช้ลำต้นส่วนยอดหรือส่วนอื่นที่ไม่แก่จัด อายุ 1 ปี มีขนาดยาว 40–50 ซม. และมีข้ออยู่ 5–7 ข้อ ปักชำไว้จนออกรากแข็งแรงก่อนนำลง ปลูกหรือตัดยอดลงปลูกเลยก็ได้ อีกวิธีหนึ่งอาจปลูกโดยไม่ใช้ค้างก็ได้ เนื่องจากการปลูกโดยใช้ค้างมีต้นทุนสูง แต่มีข้อเสียคือ ผลผลิตจะน้อยกว่าการปลูกโดยวิธีแรก การปลูกวิธีนี้มีการเตรียมพันธุ์แตกต่างจากวิธีแรกเล็กน้อย โดยตัดกิ่งพันธุ์ออกเป็นข้อ ๆ ทุกข้อ การตัดจะตัดระหว่างกลางของแต่ละปล้อง นำไปชำในแปลงปักชำซึ่งอยู่ในที่ร่มรำไร หลังจากนั้น 1–2 เดือน จึงขุดใส่ถุง ต่อมาอีก 1 เดือนจึงนำไปปลูกเช่นเดียวกับวิธีแรก
การบำรุงรักษา พริกไทยเป็นพืชที่ต้องการความเอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิด เมื่อเริ่มปลูกต้องบังร่มให้ รดน้ำวันเว้นวัน เมื่ออายุ 1 เดือนจึงเอาร่มบังออก การปลูกใช้ค้างเมื่อต้นเริ่มแตกยอดอ่อนและยาวพอสมควร ต้องใช้เชือกฟางหรือเถาวัลย์ผูกยอดให้แนบค้าง ปลิดยอดอ่อนที่ไม่แข็งแรงออกบ้าง เหลือยอดที่สมบูรณ์ที่สุดไว้เพียงต้นละ 2–3 ยอด เพื่อไม่ให้แย่งอาหารกัน การผูกยอดและตัดแต่งนี้ต้องทำทุกสัปดาห์จนกว่าพริกไทยจะสูงถึงยอดค้าง พูนดินและใส่ปุ๋ยคอกหลังกำจัดวัชพืชรอบโคนต้น ในฤดูแล้งควรคลุมโคนต้นด้วยหญ้า ฟาง หรือเปลือกถั่ว เพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดิน และเป็นปุ๋ยให้พริกไทยเมื่อเน่าสลาย นอกจากนี้ ต้องคอยระวังโรคและแมลงศัตรูให้ด้วย สำหรับการปลูกโดยไม่ใช้ค้าง หลังจากปลูก 30–50 วัน ต้องคอยเด็ดยอดที่โผล่มาจากดินตามโคนทิ้ง เพื่อให้กิ่งแขนงแตกกิ่งก้านสาขามากขึ้น เมื่อต้นออกดอกก่อนอายุครบ 1 ปีควรเด็ดดอกทิ้งให้หมด ถ้าปล่อยไว้ต้นจะแคระแกรน เมื่อต้นยังเล็กหมั่นถอนวัชพืชที่โคนต้น เมื่อต้นเจริญเติบโตแตกกิ่งแขนงออกจากกิ่งเดิม ต้องหาไม้เล็ก ๆ ค้ำยันกิ่งแขนงเดิมให้ตั้งตรงจนกว่าจะแข็งแรงพอที่จะพยุงลำต้นได้ ทุก ๆ ปีควรใส่ปุ๋ยอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง นอกจากนี้ก็ต้องคอยระวังโรคและแมลงให้ด้วย

 
   
   
 
Copyright 2002 คำนำสารบัญเกี่ยวกับผู้จัดทำโรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์จังหวัดนนทบุรี บรรณานุกรม