Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
RANGSAN
โลกแห่งสมุนไพร
   ::รังสรรค์ ชุณหวรากรณ์::

มังคุด

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ Garcinia mangostana Linn.
วงศ์ GUTTIFERAE
ชื่ออื่น ๆ แมงคุด
ลักษณะของพืช เป็นไม้ยืนต้นที่อาจพบได้สูงถึง 10 เมตร มียางสีเหลืองข้น ใบ เดี่ยวขนาดใหญ่เนื้อใบหนาและเป็นมัน ดอกมีทั้งดอกตัวผู้และดอกตัวเมีย ดอกตัวผู้สีเหลืองอมแดงหรือสีม่วงออกเป็นช่อ ดอกตัวเมียมักออกดอกเดี่ยวหรือเป็นคู่ สีชมพูเข้ม ผลรูปค่อนข้างกลม ขนาดใหญ่ไม่เกิน 10 ซม. เปลือกผลหนาและเรียบ สีน้ำตาลแดงหรือสีอิฐ มีส่วนปลายของเกสรตัวเมียและกลีบรองกลีบดอกขยายติดอยู่ที่ผลด้วย ภายในผลมีเมล็ด 4–8 เมล็ด
ส่วนที่ใช้เป็นยา เปลือกผลแก่แห้ง
สรรพคุณและวิธีใช้
  1. แก้อาการท้องเดิน (ที่ไม่ใช่บิดหรืออหิวาตกโรค) ใช้เปลือกผล 1/2 ผล ต้มกับน้ำปูนใส ดื่มแต่น้ำ หรือใช้ครึ่งผล ฝนกับน้ำ รับประทานครั้งละ 2–5 ช้อนชา
  2. แก้บิด (ปวดเบ่งและมีมูก หรืออาจมีเลือดด้วย) ใช้เปลือกผลแห้ง 1/2 ผล ย่างไฟให้เกรียม ฝนกับน้ำปูนประมาณครึ่งแก้ว หรือ บดเป็นผงละลายน้ำข้าว (น้ำข้าวเช็ด) หรือน้ำสุกรับประทานทุก 2 ชั่วโมง
การขยายพันธุ์ มีหลายวิธี เป็นต้นว่า ใช้วิธีการเพาะเมล็ดหรือการตอนกิ่ง แต่ที่นิยมกันมากได้แก่การตอนกิ่ง การตอนกิ่งควรเริ่มตอนในระยะเริ่มฤดูฝน และกิ่งตอนจะออกรากภายในระยะเวลา 30–45 วัน
สภาพดินฟ้าอากาศ ขึ้นได้ในดินเกือบทุกประเภท ชอบดินเหนียวปนทรายและอากาศร้อนชุ่มชื้น
การปลูก กล้าไม้มังคุดต้องมีอายุอย่างน้อย 3 ปี นับจากวันเพาะ และแตกแขนงมาจากยอด จึงนำไปปลูกได้โดยขุดหลุมให้ใหญ่พอควร แล้วใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ไว้ก้นหลุม เมื่อนำต้นมังคุดลงปลูกต้องกลบดินให้แน่นและมีไม้ยึดลำต้นกันโยก ถ้าแดดจัดต้องพรางแสงแดดในระยะแรกปลูกด้วย แม้มังคุดโตแล้วก็ต้องมีร่มไม้อื่นเป็นร่มเงาให้ ร่มเงานี้จึงจำเป็นสำหรับมังคุดมาก
การบำรุงรักษา ในระยะแรกปลูกถ้าฝนไม่ตก ควรให้น้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และคอยกำจัดวัชพืชบริเวณรอบต้นบ้าง ต้นมังคุดจะให้ผลเมื่ออายุประมาณ 10 ปี

 
   
   
 
Copyright 2002 คำนำสารบัญเกี่ยวกับผู้จัดทำโรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์จังหวัดนนทบุรี บรรณานุกรม