Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!

tk1.gif (330695 bytes)

tk020.jpg (5616 bytes)

        พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร หรือพระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตรประดิษฐานอยู่ที่พระวิหารเนพระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นศิลปะพุทธปฏิมากรรมสมัยสุโขทัยบริสุทธิ์หรือยุคสมัยสุโขทัยรุ่งเรืองเหมือนถูกสร้างสรรค์ไว้ด้วยอำนาจเทวฤทธิ์ สร้างด้วยทองคำเนื้อเจ็ดมีอายุอยู่ในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระมหากษัตริย์จอมปราชญ์พระองค์ที่ ๓ แห่งราชวงศ์พระร่วง ถือได้ว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำแท้ที่เป็นสมบัติล้ำค่ายิ่งของพระพุทธศาสนาและของประเทศและเป็นพระพุทธรูปทองคำองค์แรกของเมืองไทยที่ถูกบันทึกความหัศจรรย์ยิ่งใหญ่ไว้ในหนังสือซึ่งเป็นหนังสือที่บันทึกสิ่งมหัศจรรย์ที่จัดว่าเป็นที่สุดของโลกไว้ถึง ๓ อย่างด้วยกันคือ

        ๑.มีขนาดขององค์พระใหญ่มหิมา มีหน้าตักกว้าง ๖ ศอก ๕ นิ้ว สูงถึง ๗ ศอก ๑ คืบ ๙ นิ้ว

        ๒. มีพระพุทธลักษณะที่อ่อนช้อยงดงามล้ำเลิศ สร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีมีอายุจนถึงปัจจุบัน ๗๐๐ กว่าปี

        ๓. สร้างด้วยโลหะทองคำแท้ มีมูลค่าตามที่ถูกบันทึกไว้ในหนังสือกินเนสบุ๊คถึง ๒๘.๕ ล้านปอนด์

        และในปี ๒๕๓๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานนามพระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตรเพื่อเป็นสรรพสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสือไป ปรากฎมงคลนามโดยทางราชการว่า "พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร"

พระพุทธรูปทองคำ (สุโขทัยไตรมิตร)

วัดไตรมิตรวิทยาราม

ทางโบราณคดี

*ตรียัมปวาย*

(พลตรี ผจญ กิตติประวัติ)

        ล่าวกันว่า กาลเวลาล่วงใกล้กึ่งพุทธกาลเข้าไป มักจะมีปรากฎการณ์แปลก ๆ ในลักษณะต่าง ๆ กัน อุบัติขึ้นเสมอๆ สำหรับในกรณีอื่น ๆ นั้น ข้าพเจ้าจะยกเอาไว้เสีย จะกล่าวเฉพาะในวงการพระศาสนาเท่านั้น เราจะเห็นได้ว่า กรุพระเครื่องฯ และพระพุทธรูปแตกออกมาให้มหาชนได้พบเห็นสักการบูชามากแห่งด้วยกันในระยะหลัง ๆ นี้ และเมื่อต้นปีที่แล้วนี้ได้พบแหล่งพระพุทธรูปโบราณรวมสมัยต่าง ๆ อย่างเอนกอนันต์ ที่ระเบียงวิหารคตวัดพระเชตุพนฯ โดยพระพุทธรูปเหล่านั้นเดิมถูกห่อหุ้มไว้ด้วยปูน และกะเทาะออกให้แลเห็นเนื้อสัมฤทธิ์อันเป็นเนื้อแท้จริงภายใน จึงได้เกิดมีการกะเทาะปูนองค์อื่น ๆ โดยรอบระเบียงออก นับว่าเราได้เพิ่มแหล่งรวมพุทธศิลปอันล้ำค่าของชาติอีกแหล่งหนึ่งนอกจากที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และที่ระเบียงวิหารคด วัดเบญจมบพิตร บรรดาพระพุทธรูปโบราณที่วัดพระเชตุพน ฯ ดังกล่าวนี้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปเชิงสันนิษฐานจากจดหมายเหตุว่า สมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรฯ ทรงรวบรวมมาจากจังหวัดต่าง ๆ ในพระบรมราชโองการของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และสำหรับบรรดาพระพุทธรูปที่ระเบียงวิหารคต วัดเบญจมบพิตร ก็มีลักษณะการที่มาในทำนองเดียวกัน จากผลงานของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในพระบรมราชโองการของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง
            แต่การปรากฎความจริงที่น่าตื่นเต้นของบรรดาพระพุทธรูปในวัดพระเชตุพนฯ ที่กล่าวแล้วนี้ นับว่าหย่อนคลายความเข้มข้นลงไปมาก เมื่อหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับของเมืองไทยได้ลงข่าวเกรียวกราวว่า ได้พบพระพุทธรูปทองคำขนาดมหึมาที่วัดไตรมิตรฯ ซึ่งเดิมถูกอำพรางไว้ด้วยเนื้อปูนเช่นกัน เดิมทีเดียวข้าพเจ้ามีความสนใจไม่สู้จะมากนัก ทั้งนี้เพราะศรัทธาที่มีต่ออักษรพาดหัวหรือข่าวของหนังสือพิมพ์หลายฉบับในทุกวันนี้ มีน้อยมากสำหรับข้าพเจ้า อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าได้สดับตรับข่าวจากหนังสือพิมพ์ และการวิพากษ์วิจารณ์กันในหมู่นักพุทธปฏิมากรรมนิยมอยู่อย่างใกล้ชิด ทัศนะของบุคคลต่าง ๆ รวมทั้งนักโบราณคดี ได้ถูกนำลงในหน้าหนังสือพิมพ์ รวมทั้งเสียงวิจารณ์หลายกระแสซึ่งมีทั้งความปีติชื่นชมในความงามล้ำ และเสียงที่เป็นอกุศลต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ได้รบเร้าให้ข้าพเจ้าได้รีบรุดไปสู่วัดไตรมิตร ฯ เพื่อนมัสการและชมพระพุทธรูป อันเป็นข่าวใหญ่ในศตวรรษนี้
        เป็นความจริงทีเดียวที่ข้าพเจ้าใคร่จะสารภาพว่า นับตั้งแต่วาระแรก ที่จักษุสัมผัสของข้าพเจ้าได้ทอดจับองค์พระพุทธปฏิมานี้ความรู้สึกของข้าพเจ้าได้ตกอยู่ในความตะลึงราวกับถูกสะกดด้วยกระแสประหลาดอันเคร่งขลัง ความรู้สึกตะลึงตะไลต่อสุนทรียภาพของพระพุทธปฏิมาอันรุนแรงขนาดนี้ นับว่าได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในชีวิตของข้าพเจ้าโดยแท้ทีเดียว ความรู้สึกทำนองนี้ได้เคยเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เมื่อข้าพเจ้าได้มีโอกาสนมัสการพระพุทธชินราชที่จังหวัดพิษณุโลก แต่ก็มิได้รุนแรงถึงขนาดนี้ ทั้งนี้ก็โดยเหตุที่ในสมัยโน้นข้าพเจ้ายังไม่มีความรู้ทางพุทธศิลปพอที่จะให้เกิดความบันดาลใจได้มากเท่ากับในระยะหลังนี้ประการหนึ่ง

tk000.jpg (7482 bytes)      

นับว่า พระพุทธรูปองค์นี้มีอำนาจดึงดูดอย่างประหลาด เพราะทำให้ข้าพเจ้าต้องไปนมัสการและเฝ้าชมอย่างใกล้ชิดอีก ๓ ครั้ง รวมเป็น ๔ ครั้งด้วยกัน และด้วยการศึกษาพระพุทธรูปองค์นี้อย่างใกล้ชิด โดยได้รับความอนุเคราะห์จากพระวีรธรรมุนี ท่านเจ้าอาวาส เป็นพิเศษ โดยมิต้องไปเบียดเสียดกับฝูงชนอันหนาแน่นทั้งจำนวนและแรงศรัทธาในการไหลหลั่งเข้ามานมัสการนั้น ข้าพเจ้าได้เกิดจินตนาการข้อคิดเห็นขึ้นหลายประการ สำหรับพระพุทธปฏิมาที่กล่าวถึงนี้ ซึ่งแน่เหลือเกินในบางประการอาจจะมีทัศนะขัดแย้งกับท่านผู้อื่นที่ได้ให้คำวิเคราะห์พระพุทธรูปองค์นี้มาก่อน และสำหรับบุคคลอีกประเภทหนึ่งที่พูดพล่อย ๆ ทำให้อาจเกิดความเข้าใจผิดกันขึ้นได้นั้น จะต้องถูกลงโทษอย่างให้อภัยไม่ได้ในบทความนี้ซึ่งข้าพเจ้าจะวิจารณ์แต่ละกรณีดังต่อไปนี้
ในเรื่องของการกำหนดอายุสมัย นับว่าไม่มีปัญหาอันใดแม้แต่น้อย ในการที่จะระบุว่า พระพุทธปฏิมาองค์นี้เป็นพระพุทธรูปในยุคและสกุลช่างสุโขทัย ข้าพเจ้ามีความเห็นเช่นเดียวกันกับนักโบราณคดีและบุคคลทั่วไปในปัญหาข้อนี้ เพราะนับว่าเป็นงานที่ง่ายมากสำหรับการวิจัยปัญหาสกุลช่างและยุคสมัยของพระพุทธรูปองค์นี้ ทั้งนี้ก็โดยที่รายการในฝีมือกระบวนช่างที่ปรากฎ ได้แสดงออกมาให้เห็นอย่างโจ่งแจ้งว่าเป็นศิลปสุโขทัยบริสุทธิ์ปราศจากการเจือปนจากศิลปสกุลอื่นเลยแม้แต่น้อย การพิจารณาศิลปกุลช่างสำหรับพระพุทธรูปองค์นี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาจากองค์จริง มิใช่จากภาพถ่ายเพราะพิจารณารูปถ่ายแล้ว จะเห็นว่าลักษณะในภาพผิดไปจากของจริงมากทีเดียว เช่น ดูคล้ายกับทรวดทรงชะลูดเกินไป แววพระพักตร์เคร่งเครียด ช่วงพระเพลากว้างและแข็งเกินไปซึ่งทั้ง ๓ ลักษณะนี้ คล้ายกับพระพุทธรูปสกุลช่างอู่ทองแบบหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดี แม้แต่เพียงรูปภาพถ้าหากว่าใช้ความสังเกตพิจารณาสักเล็กน้อย กายวิภาคทุกส่วนสัดเป็นของสกุลช่างสุโขทัยโดยแท้ ความวิปริตผิดเพี้ยนไปนั้นเกิดจากการ สะท้อนแสงและเงา ซึ่งพาดเป็นลำสีขาวแววดำในแนวดิ่ง (Vertical of shadow and light) ผ่านตลอดพระพักตร์ลงมายังลำพระองค์ และตลอดลำพระพาหา (ท่อนแขน) ทั้ง ๒ ข้าง นอกจากนั้นเงาขาวดำที่ตัดกันอย่างเข้มในแนวระดับ (Horizon) ของพระเพลานั้นทำให้ดูประหนึ่งลีลาของพระเพลาแข็งไปจากความจริง และที่ร้ายยิ่งกว่านี้ เงาสะท้อนที่เกิดจากพวงแก้วไฟฟ้า ซึ่งติดห้อยอยู่ที่บริเวณกึ่งกลางพระวิหารเบื้องหน้าพระพุทธรูปนั้นได้ประทับเป็นเงาที่น่าเกลียดจับพระพักตร์และพระศอในรูปถ่าย ซึ่งทำให้แววพระพักตร์ของพระพุทธรูปกลายเป็นแววเหี่ยวย่นบูดบึ้งไปอย่างตรงข้ามกับความเป็นจริง ฉะนั้นการพิจารณาแต่เพียงรูปภาพจึงทำให้การประเมินศิลปสกุลช่าง และค่าทางสุนทรีย์ (Asetatic) ของพระพุทธรูปองค์นี้ผิดพลาดไปจากความจริงอย่างน่าประหลาด ถ้าจะมีการถ่ายภาพพระพุทธรูปองค์นี้ให้งาม จะต้องปลดพวงแก้วไฟฟ้าออก และไม่ใช้นีออนทั้ง ๒ ข้าง โดยจัดระยะหน้ากล้องและการใช้แสงไฟให้เหมาะสม
เมื่อได้กำหนดถึงศิลปสกุลช่างของพระพุทธปฏิมาองค์นี้ว่าเป็นสกุลช่างสุโขทัยแล้วจำเป็นจะต้องระบุว่าเป็นศิลปสุโขทัยรุ่นใดเพราะด้วยเสียงวิจารณ์บางรายอีกนั่นแหละที่ว่าเป็นสุโขทัยยุคปลาย ซึ่งเป็นการผิดพลาดทางหลักวิชาและข้อเท็จจริงอย่างมหันต์ ความจริงที่แน่นอนที่สุดคือ เป็นพุทธปฏิมากรรมยุค Classic ของสุโขทัย กล่าวคือพุทธศิลปแบบนี้ เกิดขึ้นในระหว่างรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงถึงพระเจ้าลิไทยมหาธรรมราชา คือมีอายุการสร้างประมาณอยู่ในราวปี พ.ศ.๑๘๒๑ ถึง พ.ศ.๑๙๒๑ สมัยก่อนนั้นขึ้นไป เป็นสมัยเริ่มแรกของสุโขทัย (Primitive of Sukhothai) และสมัยหลังลงมาจากนี้เป็นสมัยเสื่อม (Degenerate of Sukhothai)
        อนึ่ง แม้ว่าทางพิพิธภัณฑสถาน หรือ กรมศิลปากรยังไม่อาจวางกฎเกณฑ์ระบุแน่ชัดลงไปว่า พุทธปฏิมากรรมฝีมือสกุลช่างสุโขทัยนั้น จำแนกออกเป็นกี่ยุคกี่สมัย เพียงแต่จัดเป็นหมวดๆ ไว้ ตามลักษณะประเภทที่คล้ายคลึงกันได้ ๕ หมวด และใช้หลักเกณฑ์อย่างกว้าง ๆ ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จัดแบ่งความก่อนหลังของพระพุทธรูปสกุลช่างนี้ออกได้เป็น ๓ แบบ หรือ ๓ ยุค คือยุคแรกได้แก่พระพุทธรูปที่มีลักษณะซึ่งเราเรียกว่า "แบบตะกวน" ในขณะนี้ ซึ่งเป็นแบบที่ได้รับอิทธิพลจากสกุลช่างเชียงแสนและลังกาเคล้าคละกัน ยุคกลางได้แก่หมวดที่ ๑ คือหมวดใหญ่ หรือกล่าวในภาษาศิลปได้ว่า เป็นแบบสุโขทัยบริสุทธิ์ และยุคหลังได้แก่แบบพระพุทธชินราช ส่วนการจัดหมวดพระพุทธรูปของพิพิธภัณฑสถาน ซึ่งจัดออกเป็นหมวดหมู่ดังกล่าวแล้วนั้น มีดังนี้คือ หมวดใหญ่, หมวดกรุงสุโขทัย, หมวดพระพุทธชินราช, หมวพิษณุโลกชั้นหลัง และหมวดเบ็ดเตล็ด
อย่างไรก็ดี เมื่อข้าพเจ้าจะกำหนดยุคหรือแบบของพระพุทธรูปทองคำองค์นี้จำเป็นที่จะต้องกล่าวเท้าความตามหลักวิชาเสียก่อน เพื่อให้เป็นหลักฐานสำหรับการยืนยันต่อไป กล่าวคือ เมื่อเราเอาหลักวิวัฒนาการทางศิลปเข้ามาเป็นเครื่องมือสำหรับวิจัยร่วมกัน คือ การจัดหมวดทั้ง ๕ และแบบหรือยุคทั้ง ๓ ดังกล่าวแต่ข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า ห้วงแห่งวิวัฒนาการของศิลปตามหลักของธรรมชาติ ที่สากลนิยมใช้เป็นหลักวิเคราะห์อายุของศิลปวัตถุนั้น เขาแบ่งออกได้เป็น ๓ ห้วง หรือ ๓ ยุค คือยุคเริ่มแรก (Primitive) ยุครุ่งเรือง (Classic) และยุคเสื่อม (Degenerate)
สำหรับยุคเริ่มแรกนั้น เนื่องจากเป็นการริเริ่มของฝีมือสกุลช่าง (Invention of school of arts) ลักษณะจึงยังขาดความประณีตชำนาญ ความกลมกล่อมยังมีน้อยทำให้ศิลปมีลักษณะขัด ๆ และเทอะทะ (Clamsy)   ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงไม่อาจที่จะจัดพระพุทธรูปสุโขทัยแบบตะกวน ให้เข้าอยู่ในหมวดยุคเริ่มแรกได้ เพราะพระพุทธรูปแบบตะกวน หาได้อยู่ในหมวดดังกล่าวนี้ไม่ แต่ข้าพเจ้ามองไปยังพระพุทธรูปสุโขทัยแบบตะกวนนี้น่าจะอยู่ในยุค (Primitive) นี้ นั่นคือเส้นลำพระพาหาและลำพระองค์ใหญ่เป็นแบบที่เรียกกันว่า "แบบลาว" นั่นเอง
ส่วนยุครุ่งเรืองนั้นมีหลายประเภทด้วยกัน นอกจากนี้ ยังมีอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า "สุโขทัยล้ออินเดีย" (ซึ่งคำนี้ดูออกจะแปลกหูอยู่สักหน่อย สำหรับทั้งทางพิพิธภัณฑ์และในวงการนักพระพุทธรูป พระพุทธรูปที่ส่งเข้าประกวดในงานวัดพระเชตุพนฯ ในนามของ พล.ต.ต.เนื่อง อาขุบุตร แลพระพุทธรูปปางลีลาศ ของห้างวิวิธภูษาคาร ทั้ง๒ องค์นี้เป็นพระพุทธรูปในแบบที่กล่าวนี้สำหรับองค์แรก คณะกรรมการตัดสินได้กำหนดศิลปสกุลช่างผิดพลาดไปถนัด โดยเข้าใจเสียว่าเป็นแบบตะกวน ซึ่งความจริงหาได้มีลักษณะแบบตะกวนแม้แต่น้อยไม่ ความจริงพระพุทธรูปองค์นั้น เป็นฝีมือสกุลช่างสุโขทัยล้อ แบบหนึ่งของพระรูปแบบอมรวดีอินเดีย แววพระพักตร์และกายวิภาค (Anatomy) ต่าง ๆ ล้ออินเดียอย่างเห็นได้ชัดแต่ลีลา (Moving) และสิ่งตกแต่งต่าง ๆ เป็นแบบอย่างของสุโขทัย) ฝีมือช่างชั้นคลาสสิก (Classical artisan) ของทุกสกุลช่าง ย่อมสามารถจะบันดาลผลิตกรรมของตนให้วิจิตรพิสดารแหวกแนว หรือล้อเลียนสกุลช่างใด ๆ ก็ได้อย่างงดงาม หรือจะเนรมิตรแบบอย่างอันตายตัวของตน มิให้ยุคหลังติดตามได้ทันก็ย่อมทำได้ ดังนั้น พระพุทธรูปแบบหมวดใหญ่ก็ดี, หมวดพระพุทธชินราชก็ดี หรือแบบตะกวนก็ดี ไม่เป็นปัญหา มีอายุการสร้างร่วมกันอยู่ในยุคนี้แน่นอน ลักษณะของพระพุทธรรูปเหล่านี้อาจแผกเพี้ยนกันไปบ้างเล็กๆ น้อย ๆ ตามวิธีช่างประจำสำนักของตน แต่โครงส่วนใหญ่นั้นอยู่ในลักษณะทำนองเดียวกัน พระพุทธรูปงาม ๆ ของไทย เช่น พระพุทธชินราช (พิษณุโลก) พระพุทธชินสีห์ (วัดบวรฯ) พระศรีศาสดา (วัดบวรฯ) พระศรีสักยมุนี (วัดสุทัศน์ฯ) พระอัฏฐารศ (วัดสระเกศ) พระสุรภีพุทธพิมพ์(วัดปรินายก) พระร่วงโรจนฤทธิ์ (วัดพระปฐมเจดีย์) พระเสริม (วัดมหรรณพ) และอีกเป็นอันมากที่วัดพระเชตุพนฯ วัดเบญจมบพิตร และในพิพิธภัณฑสถาน ฯลฯ เป็นต้น จัดอยู่ในปฏิมากรรมยุค Classic ของสุโขทัยทั้งสิ้น
ยุคเสื่อม สำหรับพระพุทธรูปสุโขทัยในยุคนี้ ได้แก่หมวดกำแพงเพชรชั้นหลังหมวดพิษณุโลกชั้นหลัง และหมวดเบ็ดเตล็ดพระพุทธรูปเหล่านี้สร้างในสมัยสุโขทัยยุคหลัง มีเค้าโครงพุธศิลปสกุลสุโขทัย แต่จัดอยู่ในสมัยอยุธยาที่คาบเกี่ยบถ่ายทอดศิลปกันลงมาพระพุทธรูปเหล่านี้มีลักษณะจืดชืด (Cool)   ช่วงพระองค์มักจะเรียวชะลูด หรือมิฉะนั้นก็ไม่สู้จะสละสลวยนัก
สำหรับพุทธลักษณะและฝีมือช่างทั้ง ๕ ยุค ของสุโขทัยนี้ ข้าพเจ้าไม่อาจกล่าวโดยละเอียด ณ ที่นี้ได้ เพราะจะบรรจุบทความยืดยาวเกินไป ที่หยิบยกมาแสดงไว้ก็เพื่อเป็นหลักเปรียบเทียบเข้าหาพระพุทธรูปทองคำของวัดไตรมิตรฯ ต่อไปเท่านั้น
จากหลักเกณฑ์ที่แสดงไว้จะเห็นได้ว่า พระพุทธรูปทองนั้น จัดอยู่ในจำพวกหนึ่งของหมวดใหญ่สมัย Classic อย่างไม่เป็นปัญหาลักษณะอันงดงามเยี่ยม ตามแบบฉบับของหมวดที่ ๑ ดังนี้
พระเศียร ทุย พองนูนขึ้นเบื้องบน เม็ดพระศก เป็นขมวดปุ่มใหญ่ พระเกตุ ยาวเรียวแบบเปลวไฟ
แววพระพักตร์คมคาย ในลักษณะสกุลช่างสุโขทัยสมัย Classic แววพระพักตร์ชนิดนี้ อย่าว่าแต่ศิลปสกุลช่างอื่นจะล้อเลียนไม่ได้ แม้สกุลช่างสุโขทัยด้วยกัน แต่ไม่ใช่ฝีมือช่าง Classic ก็หาเนรมิตรให้เหมือนได้ไม่ อนึ่ง แววพระพักตร์ของพระพุทธรูปนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ยิ่งกว่ารายการใด ๆ ในการพิจารณากำหนดสกุลช่าง ในทางพุทธปฏิมากรรม เพราะแต่ละสกุลช่างชั้นเยี่ยมของยุคหนึ่งๆ สามารถบรรจุความมีชีวิต (Lifeforce) ไว้ให้ปรากฎในพระพุทธรูปของตนได้ต่างกัน ส่วนรายการอื่น ๆ นั้น แม้การล้อเลียนจะทำได้ไม่เหมือนทีเดียวแต่ช่างฝีมืออื่น ๆ หรือยุคหลัง ๆ ก็สามารถทำได้คล้ายคลึง ใช้เป็นเครื่องกำหนดชี้ขาดได้ยากกว่าแววพระพักตร์ น่าประหลาดที่ว่าพระพักตร์ของพระพุทธรูปฝีมือเยี่ยม ๆ นั้น มีอาการสำแดงออกซึ่งแววแห่งความมีชีวิตชีวา (Shiny expression of lie force) ดุจแววแห่งความมีชีวิตของคนเรา ฉะนั้นต่างกันอยู่ที่ว่า แววแห่งพระพักตร์พระพุทธรูปนั้น สำเร็จขึ้นด้วยฝีมืออันล้ำเลิศของนักปฏิมากรรม ซึ่งมีความเข้าซึ้ง (Association) ถึงพุทธลักษณะในปฏิมารมย์ (Imagination)
ทรวดทรงทางกายวิภาค (Anatomy) และการวางลีลา (Moving) ท่าที (Posture) ของพระพุทธรูปทององค์นี้มีทั้งความงามสง่า (Grandlous) และความอ่อนโยนสละสววย (Graceful) เป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าการแสดงส่วนโค้งนูน (Curvature) ของลอนพระนาภี จะไม่ปรากฎชัด แต่ก็ได้แสดงไว้พองามในส่วนเต้าพระถันทั้ง ๒ แนวพระอังสามีส่วนลาดโค้งที่งดงาม, พระรากขวัญมีส่วนโค้งลาดลงมารับกับเต้าพระถัน, พระอังสกุฏใหญ่ และมีลักษณะมนลงมา รับกับพระพาหาทั้ง ๒ ข้าง   ทำให้และเห็นถึงความงามสง่าชองช่วงพระอังสา และพระอุระที่กว้างการหักพระกัปปะระทั้ง ๒ ได้จังหวะของความประสาน (Harmony) คือ ไม่แข็งและไม่อ่อนเกินไป พระกฤษฎีคอดเล็กน้อย ไม่แสดงให้เห็นเด่นชัด ในประการนี้ส่วนโค้งที่ลาดลงมาจากพระกฤษฎีทั้ง ๒ ข้างลงมายังพระเพลานั้น งามอ่อนโค้งยิ่งนัก การวงพระกรข้างขวานั้น แนบเนียนและอ่อนไหวเป็นที่สุดการเล่นนิ้วพระหัตถ์มีเล็กน้อย เพราะเป็นพระพุทธปฏิมาขนาดใหญ่ และแสดงนิ้วพระหัตถ์ไม่เสมอกัน ตามสูตรลักษณะ (Empirical formula) ของหมวดที่ ๑ ส่วนโค้งของพระเพลางามอ่อนช้อยทีเดียว ไม่แข็งดังที่วิจารณ์กัน พระบาทมีลักษณะเรียบ ๆ ไม่เล่นนิ้วพระบาท เพราะเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ดังกล่าว
สิ่งประกอบสำคัญคือ พระสังฆาฎิ ที่เล่นชายแบบ "เขี้ยวตะขาบ" ซึ่งเป็นลัญญลักษณ์สำคัญของฝีมือ Classic สุโขทัยแบบหนึ่ง
เป็นพระพุทธปฏิมาขนาดใหญ่มากองค์หนึ่ง คือ กว้างหนักตัก ๖ ศอก ๕ นิ้ว (๓.๑๐ เมตร) พระเกตุยาว ๑ ศอก ๑ คือ (๗๕ ซ.ม.) นี่เป็นหลักฐานที่ได้จากท่านเจ้าอาวาส ไม่ทราบแน่ว่าความยาวของพระเกตุที่ได้ตัวเลขมานี้ นับรวมทั้งก้าน พระเกตุตอนที่สวมลงไปบนพระเมาฬีด้วยหรือไม่ เพราะลืมถามท่านในข้อนี้ ในที่นี้จะถือว่าไม่รวมทั้งก้านที่สวมทั้งนี้เพื่อใช้คำนวณหาความสูงขององค์พระ เพราะไม่ได้มีใครวัดไว้ โดยการคำนวณจากภาพถ่าย ได้ความสูงขณะยังไม่ได้สรวมพระเกตุ (ไม่คิดพระอาสนะ) ๖ ศอก ๗ นิ้ว (๓.๑๖ เมตร) และเมื่อสรวมพระเกตุแล้ว จะมีความสูงทั้งหมด ๗ ศอก ๗ คืบ ๗ นิ้ว (๓.๙๑ เมตร)
พระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สร้างได้งามเช่นนี้ นับว่าหาได้ยาก มีไม่กี่องค์นัก ในบ้านเมืองของเรา และนับได้ว่าพระพุทธรูปองค์นี้ มีความงามถึงจุดยอดในกระบวนฝีมือสกุลช่างสุโขทัย Classic ได้อย่างแท้จริง ศิลปินนักปฏิมากรรมผู้แผนแบบ (Design) และแสดงฝีมือนั้นได้สำแดงให้เห็นถึงความสามารถในเชิงศิลป (Artistry) ไว้เป็นอย่างสูงกล่าวคือ สามารถสร้างความบันดาลใจโดยนัยแห่งจิตตารมย์ (Meaning Inspiration of the abstract) ในความหมายแห่งพุทธภาวะ (Buddist condition) อันเป็นศิลปที่แสดงความล้ำลึกยิ่งกว่าปฏิมากรรมแบบ   Realism ของกรีกและโรมัน ซึ่งปฏิมากรรมเหล่านั้นยังส่อสำแดงไปในด้านความรู้สึกทางเพศ (Sex appeal) อย่างแก้ไม่ได้ นักปฏิมากรรมของสกุลช่างสุโขทัยสามารถ่ายทอดความบริสุทธิ์อันไม่มีเพศ (Asextual) ลงสู่พุทธปฏิมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ และพระพุทธปฏิมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ และพระพุทธรูปทององค์นี้ มีลักษณะดังกล่าวสมบูรณ์ตามแบบฉบับทุกประการ ความรู้สึกทางบันดาลใจในเมื่อได้พิจารณาก็คือ บอกถึงลักษณะของปฏิมาว่าเป็นปฏิมาแห่งนักพรต (Aesthetics) แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่เหนืออัจฉริยะธรรมดา (Ultra marvellous one's) เป็นผู้ถึงแล้วซึ่งพระอภิธรรม (Metaphysies) และความเป็นผู้บรรลุแล้วซึ่งโลกุตรสัมมาทิฏฐิ (Ultra mundane right attainabel) ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น ลักษณะทางใจเหล่านี้ศิลปินยุคเฟื่องฟูจริง ๆ (Prosperity ages) เท่านั้นจึงจะสามารถเนรมิตรขึ้นมาได้
เท่าที่กล่าวนี้ เป็นแต่เพียงคุณค่าทางพุทธศิลปเท่านั้น   ยังมิได้กล่าวถึงเนื้อโลหะที่เป็นทองเลย ซึ่งจากการพิสูจน์และสอบสวนโดยใกล้ชิดพระพุทธรูปองค์นี้เป็นเนื้อทองจริง ๆ มิต้องสงสัย เปอร์เซ็นต์ของทองลดหลั่นกันลงมาตามลำดับ จากส่วนบนลงมาล่าง ตามท่อนที่ถอดได้ทั้ง ๙ ท่อน วงพระพักตร์นั้น สังเกตได้ชัดว่าเป็นเนื้อทองเปอร์เซ็นต์สูงมากตามความรู้สึกจากการสังเกตของข้าพเจ้าเชื่อว่าไม่ต่ำกว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าเองมิใช่ผู้ชำนาญในการพิสูจน์เนื้อทองและก็มิได้มีการพิสูจน์กันอย่างแท้จริงด้วยส่วนผู้ที่ไม่ทราบข้อเท็จจริงพากันกล่าวมุสาว่าได้ใช้ยาขัดตั้งปีบ เพื่อให้เนื้อพระสุกใสก็ดีหรือใช้กระดาษทรายขัดสนิมก่อนก็ดี เป็นความเท็จทั้งสิ้น เพราะทางวัดใช้แต่เพียงน้ำมันเบนซินล้างคราบรักเท่านั้น จะใช้ยาขัดโลหะแต่เพียงเล็กน้อยไม่ถึงครึ่งอับ เพราะใช้ขัดตรงบริเวณรอยต่อซึ่งมิใช่เนื้อทองของเดิมเท่านั้น ส่วนกระดาษทรายหรือของมีคมมีคายมิได้ใช้เลย ส่วนพระพักตร์นั้น พอกะเทาะปูนออกก็เป็นเนื้อทองสุกปลั่งดังที่เห็นกันอยู่ ณ บัดนี้ทีเดียว มิได้ใช้สิ่งใดขัดถูเลย นอกจากใช้สักหลาดเช็ดลูบตามผิวพื้นองค์พระเท่านั้น
เดิมทีเดียว มีเนื้อปูนพอกจับอยู่หนาไม่น้อยกว่า ๒-๓ เซ็นติเมตร และมีรักเป็นผิวปกคลุมอยู่ส่วนบนด้วย และเมื่อกะเทาะปูนออกแล้ว เนื้อทองยังถูกปกคลุมอยู่ด้วยรักอีกชั้นหนึ่งดังกล่าวแล้ว ทางวัดได้เริ่มกะเทาะปูนตกแต่งและประกอบเป็นรูปสมบูรณ์ เมื่อประมาณ ๓ เดือนล่วงมาแล้ว และเพิ่งมาทราบว่าเป็นเนื้อทอง เมื่อ ๒๕ ธันวาคม ๒๔๙๘ นี้เอง
การถอดพระเกตุนั้น พอกะเทาะปูนออก ก็ดึงออกมาได้เลยทันที และเมื่อเห็นว่าเป็นเนื้อทองแล้วท่านเจ้าอาวาสก็ส่งไปฝากไว้ยังที่แห่งหนึ่ง นอกจากช่างที่ถอด และผู้ใกล้ชิดในขณะถอดแล้ว ไม่มีใครได้เห็นพระเกตุอีกเลย ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงจับโกหกบุคคลซึ่งอ้างว่าเขาได้เห็นขณะที่ไม่สรวม ได้อีกรายหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีบางคนที่กล้ากล่าวกับข้าพเจ้าว่า พระพุทธรูปองค์นี้เป็นของใหม่ที่ถูกถอดแบบจากองค์เดิมนั้น ถูกยักยอกหรือหลอมเสียแล้ว ข้าพเจ้าไม่ทราบจะหาคำอะไรมากล่าววิจารณ์คำพูดอันบัดซบเหล่านี้ให้ถึงใจได้ ทั้งนี้อย่าว่าแต่มนุษย์ธรรมดาเลย ต่อให้เอาเทวดามาเนรมิตพระพุทธรูปองค์หนึ่งให้เหมือนองค์เดิม ก็ไม่อาจทำได้ ขอให้ดูพระพุทธชินราชองค์จำลองที่วัดเบญจมบพิตร เป็นอุทาหรณ์ที่ดี ซึ่งเราต้องนับว่าช่างที่จำลองนั้นฝีมือสูงมากก็จริง แต่หากแววพระพักตร์นั้น จำลองได้ไม่ใกล้ความจริงเลย กล่าวคือแววพระพักตร์จืดกว่าองค์ที่พิษณุโลกเป็นไหน ๆ ถ้าหากว่าพระพุทธรูปองค์นี้ถูกจำลองมาจากองค์เดิม ก็ใคร่จะถามเสียสักหน่อยว่า ทางวัดเอาทัพพสัมภาระที่ไหนมาสร้างได้มากมายก่ายกองเป็นองค์พระขนาดมหึมาเช่นนี้จะต้องมีการเรี่ยไรกันอย่างเอิกเกริกและจะผสมโลหะอย่างไรจึงจะเป็นเนื้อทองสุกปลั่งดังที่เห็น บางท่านอ้างว่า โหละผสมสมัยใหม่เมื่อใช้ยาขัดให้ถึงขนาด ก็จะมีความสดใสเป็นเงางามและทนได้นานเหมือนกันขอเรียนว่าโหละชนิดดังกล่าวข้าพเจ้าก็พอมีอยู่บ้าง และได้ขัดอยู่เสมอ เป็นเงาสุกสว่างจริง แต่ความซึ้งในเนื้อโลหะ มันต่างกันกับเนื้อทองมากนักหนา มีบางคนกล่าวกับข้าพเจ้าว่า พระพุทธรูปองค์นี้หากจะมีทองผสมก็คงไม่เกิน ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งข้าพเจ้าเข้าใจว่าน่าจะมากกว่านั้น คืออย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่า ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ตามส่วนเฉลี่ย วันหนึ่งทางวัดคงจะวัดเปอร์เซ็นต์ของเนื้องทองแล้วจะได้ทราบความจริงกันต่อไป
อนึ่ง หนังสือพิมพ์บางฉบับก็ได้ลงข่าวอุตริทำนองนี้เช่นกัน จึงใคร่จะขอถือโอกาสตักเตือนไว้ ณที่นี้ด้วยว่า หนังสือพิมพ์ที่ชอบแต่ลงข่าวที่มิได้เป็นความจริงเพียงหวังประโยชน์ให้ประชาชนื่นเต้น อันเป็นทางให้ได้สถิติในทางจำหน่างสูงขึ้น น่าจะพึงสังวรในความจริงไว้ข้อหนึ่งว่า การลงข่าวที่ไม่เป็นความจริงนั้น จะเป็นการขุดหลุมฝังตัวเองเข้าสักวาระหนึ่ง นั่นคือขาดความเชื่อถือของผู้อ่าน หนังสือพิมพ์สมัยนี้พากันวิจารณ์ให้ใครต่อใครพิจารณาตัวเอง แต่ทางที่ถูกนั้น หนังสือพิมพ์ควรจะได้พิจารณาตัวเองเสียบ้าง เพราะมาตรฐานหนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับ ที่เปรียบเทียบกับของประเทศใด ๆ เขามิได้เลย ฉะนั้น พึงสงวนศรีของฐานันดรศักดิ์ที่ ๔ ไว้ให้จงดี เพื่อคามเจริญของตนเองและส่วนรวม
สำหรับการวิจัยพระพุทธรูปองค์นี้ทางโบราณคดี ก็ยังนับว่ามีความเห็นแตกต่างกันไปบ้าง บางท่านกล่าวว่า พระพุทธรูปองค์นี้อาจจะเป็นพระพุทธรูปที่ปรากฎในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง เพราะในจารึกนั้นได้กล่าวถึงพระพุทธรูปทองไว้องค์หนึ่งแต่บางท่านมีทัศนะว่า คงจะไม่ใช่ เพราะคำว่าทองนั้น โบราณใช้คำว่า"คำ" ส่วนคำว่า "ทอง" นั้นหมายถึงสัมฤทธิ์ ซึ่งคำว่า "พระพุทธรูปทอง" ในจารึกควรจะหมายถึง "พระศรีสักยมุนี" มากกว่า เพราะพระพุทธรูปของวัดไตรมิตรฯ เป็นเนื้อทอง มิใช่สัมฤทธิ์
ความจริงนับว่าเป็นงานที่ง่ายมากสำหรับการจะพิสูจน์ว่า พระพุทธรูปองค์นี้เป็นองค์ที่ปรากฎชื่อในศิลาจารึกดังกล่าว ก่อนที่ข้าพเจ้าจะพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันนี้ ใคร่จะขอคัดข้อความที่ปรากฎในศิลาจารึกตอนนี้มาแสดงไว้ ณ ที่นี้ด้วย ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๒๓-๒๖ มีความจารึกว่า
"...กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารศ มีพระพุทธรูป มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม..."
ข้าพเจ้าจะใช้หลักศิลาจารึกอันนี้เป็นหลักฐานสำหรับการพิสูจน์ยืนยันว่า พระพุทธรูปทองของวัดไตรมิตรฯ องค์นี้มีส่วนที่จะเป็นพระพุทธรูปทองในศิลาจารึกได้เป็นอย่างดีที่สุดโดยเหตุผลดังต่อไปนี้
๑.   เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองตรงกัน ซึ่งยังไม่เคยปรากฎว่ามีพระพุทธรูปขนาดใหญ่สร้างด้วยเนื้อทองมาก่อนเลย ส่วนความเห็นที่ว่า คำว่า "พระพุทธรูปทอง" ในศิลาจารึกหมายถึง "พระพุทธรูปสัมฤทธิ์" โดยอ้างว่า คำว่า "ทอง" นี้น่าจะมีความหมายว่า "สัมฤทธิ์" ในสมัยสุโขทัยนั้น นับว่าปราศจากหลักฐานทีเดียว ยิ่งกว่านั้นมีหลักฐานลบล้างคำกล่าวนี้ด้วยหลักฐานอันนี้ก็อยู่ในศิลาจารึกหลักเดียวกันนั่นเองคือมีอยู่หลายตอนในจารึกที่กล่าวถึงทองคำ และใช้คำว่าทองเช่น
พ่อขุนรามคำแหง ทรงจารึกคุณธรรมด้านกตัญญูกตเวทีแด่องค์พระราชบิดาของพระองค์ไว้ว่า "..ได้ปั่วได้นางได้เงินได้ทอง กูเอามาเวรแก่พ่อกู.."
และทรงจารึกถึงความเสรีในการพาณิชย์ของกรุงสุโขทัย ในครั้งกระนั้นว่า "...ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงินค้าทองค้า..."
อีกตอนหนึ่งทรงแสดงพระราชอัธยาศัย ปูนบำเหน็จรางวัลแก่เขกบ้านแขกเมืองและเจ้าเมืองน้อยใหญ่ที่เข้ามารวมขอบขัณฑ์ราชสีมา ความว่า "คนใดขี่ช้างมาหา พาเมืองมาสู่ ช่วยเหลือเฟือกูมันบ่อมีช้างช่มีม้า บ่มีปั่วบ่มีนาง บ่มีเงินบ่มีทอง ให้แก่มัน" (ผู้มีลัษณะดังกล่าว จะได้รับการเอื้อเฟื้อจากพระองค์ หากขาดช้างม้า ข้าทาสหญิงชาย หรือเงินทองก็ดี พระองค์จะทรงประทานให้)
        อนึ่ง ในจารึกตอนหนึ่ง ที่ผู้จารึกอธิบายถึงช้างเผือกทรงของพ่อขุนรามคำแหงที่พระองค์ทรงเสด็จไป นมัสการพระมหาเถรสังฆราช ณ วัดอรัญญิก บรรยายความว่า ช้างตัวนี้ชื่อรูจาครี ประกอบเครื่องด้วยสายรับกูบ มีภู่ประดับที่ศีรษะและที่งาทั้งซ้ายขวาประกอบด้วยเครื่องทองรัด ความว่า "...วันเดือนดับ เดือนเต็ม ท่านแต่งช้างเผือกกระพัดลยางเที้ยรย่อมทองงา ... ขวาชื่อรูจาครี พ่อขุนรามคำแหงขึ้นขี่ไปนบพระ ...อรัญญิกแล้วเข้ามา.."
หลักฐานที่นำมาแสดงนี้ เป็นเครื่องชี้ขาดตายตัวว่าภาษาของชาวนครสุโขทัยใช้คำว่า "ทอง" ในความหมายของโลหะทองคำ กล่าวคือพระองค์คงจะไม่บำเรอพระราชบิดาด้วยเงินและสัมฤทธิ์ ในด้านการค้าก็หมายถึงการค้าเงินทองมิใช่ค้าเงินกับสัมฤทธิ์ การพระราชทานสิ่งของแก่เจ้าเมืองน้อยใหญ่ คงพระราชทานเงินทอง มิใช่พระราชทานเงินและสัมฤทธิ์คู่กันไป และสิ่งที่ประดับงาของช้างทรงรูจาครีนั้นต้องเป็นทองแน่นอน หาใช่เอาสัมฤทธิ์มาทำปลอกไม่ การใช้เงินและทองคู่กันไปในจารึกนั้น ได้ความสมบูรณ์ในตัวเอง แต่ถ้าตีความหมายของคำว่าทอง เป็นสัมฤทธิ์ ย่อมขัดต่อความจริงอย่างน่าเกลียด และไม่มีหนทางจะเป็นไปได้ทีเดียว และนอกจากศิลาจารึกหลักที่ ๑ แล้ว ยังมีคำว่าทองอีกเป็นอันมากในจารึกอื่น ๆ ของสุโขทัยแทบทุกหลักส่วนคำว่า "คำ" เป็นภาษาของไทยลานนาหรือสายพ่อขุนเม็งราย ทุกวันนี้คนทางลานนายังใช้อยู่ และในตำนานภาษาเมืองของคนทางเหนือใช้คำว่า "คำ" แทนความหมายของทองอยู่โดยตลอด เช่น จะปรากฎอยู่เป็นอันมากในตำนานพระบรมธาตุต่างๆ ส่วนทางกรุงสุโขทัยไม่มีการใช้คำว่า "คำ" แทนทองเลย ส่วนคำว่า "ทองคำ" นั้นเป็นคำรวมแห่งคำทั้งสองมีความหมายเช่นเดียวกันเพราะไทยภาคกลางเป็นสายรวมจึงรวมคำทั้งสองไว้ด้วยกัน ทั้งนี้เพราะเป็นภาษาไทยด้วยกันทั้งคู่ จะตัดคำใดออกก็คงจะเสียดาย อีกประการหนึ่ง คำว่าทองคำ บางแห่งหมายถึง ทองเนื้อเก้า หรือทองสุกก็ได้
๒.  เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ เนื่องจากเป็นพุทธปฏิมาขนาดใหญ่ จึงเป็นน้ำหนักในการยืนยันเป็นอย่างดีว่าสมควรจะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญหนักแน่นพอแก่การที่ควรจะได้รับการจารึกไว้ในหลักศิลา ในทำนองเป็นของคู่บ้านคู่เมือง หากพระพุทธรูปที่วัดไตรมิตรฯ องค์นี้เป็นปฏิมากรรมขนาดย่อมเยา ก็จะเสียน้ำหนักในการสันนิษฐานในข้อนี้ไปเป็นอันมากทีเดียว
๓.   เป็นปฏิมากรรมสกุลช่างสุโขทัยชั้น Classic โดยอาศัยหลักเกณฑ์ที่เราใช้วิจัย แบ่งซอยยุคสมัยของพระพุทธรูปสกุลช่างสุโขทัยในขณะนี้ ซึ่งดังได้กล่าวมาบ้างแล้วแต่ตอนต้นว่า พุทธปฏิมากรรม รุ่น Classic ของสุโขทัยนั้น จะต้องอยู่ในห้วงเวลาของรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหง ถึงรัชสมัยของพระเจ้าลิไทยมหาธรรมราชา ทั้งนี้ พระพุทธรูปองค์นี้เป็นฝีมือช่างชั้นเยี่ยม หรือ Classic ซึ่งโดยธรรมชาติของศิลปนั้น ย่อมมีพฤติการณ์อันแทบจะถือเป็นกฎเกณฑ์ได้ทีเดียวว่าจะวิวัฒนาการรุ่งเรืองขึ้นพร้อม ๆ กัน ไปกับความเจริญในด้านอื่น ๆ ของบ้านเมือง ในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหง นับว่าเป็นยุคที่รุ่งเรืองที่สุด ทั้งในด้านการทหาร การเกษตรกรรม การพาณิชย์ และการศาสนา ส่วนในรัชสมัยของพระเจ้าลิไทยนั้น รุ่งเรืองในดานพระศาสนาประการเดียว ทางด้านการทหารอ่อนแอที่สุด แต่อย่างไรก็ดีเนื่องจากกิจการในด้านพระศาสนาได้รับการเกื้อหนุนจากพระมหากษัตริย์เป็นพิเศษฉะนั้นพระพุทธรูปองค์นี้ อาจจะสร้างในรัชสมัยนี้ก็ได้ สำหรับในหัวข้อนี้ เราต้องการแต่เพียงกำหนดว่า พระพุทธรูปองค์นี้มีอายุกาลในระหว่างรัชสมัยทั้ง ๒ นี้เท่านั้น
๔.   ไม่มีโอกาสที่จะเป็นพระพุทธปฏิมาในรัชสมัยพระเจ้าลิไทยมหาธรรมราชาในประการนี้ข้าพเจ้าใคร่จะขอชี้ให้เหตุผลและหลักฐานต่าง ๆ ซึ่งจะประมวลมาแสดง ณ ที่นี้ว่า พระพุทธรูปองค์นี้เห็นจะไม่มีทางเป็นพุทธปฏิมากรรมในรัชสมัยพระเจ้าลิไทย โดยเหตุผลต่อไปนี้คือ
ในสมัยพระเจ้าลิไทยนั้น อำนาจอธิปไตยของกรุงสุโขทัยลดศักดิ์ศรีลงไปมากบ้านเมืองไม่อยู่ในยุครุ่งเรือง ถึงขนาดมีกรณีพิพาทกับไทยทางอู่ทองอยู่เสมอ พระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ประกาศแข็งเมืองไม่ยอมขึ้นอยู่ด้วยเมื่อปีพ.ศ.๑๘๙๓ ขุนหลวงพะงั่วลิดรอนหัวเมืองน้อยใหญ่ของสุโขทัยอยู่ตลอดเวลา ระหว่างปีพ.ศ.๑๙๐๔ ถึงพ.ศ.๑๙๒๑ เป็นเวลา ๗ ปีเต็ม ๆ เศรษฐกิจของกรุงสุโขทัยย่อมถูกกระทบกระเทือนมาก เพราะโดยที่มีศึกสงครามและการเสียอาณาเขต คงจะไม่มีฐานะฟุ่มเฟือยพอที่จะสร้างพระพุทธรูปทองขนาดมหึมาได้เป็นแน่ ทั้งนี้แม้ว่าพระองค์จะทรงเอื้อเฟื้อต่อพระศาสนาอย่างยิ่งยวด ทรงสถาปนาวัดว่าอาราม บรรจุพระบรมธาตุ และสร้างพระพุทธรูปกับพระเครื่องฯ อย่างไพศาลก็ดี
อนึ่ง เป็นของแน่ที่สุดว่า พระพุทธรูปทององค์มหึมานี้ต้องเป็นปฏิมากรรมที่กษัตริย์ทรงสร้าง สามัญชนหามีสติกำลังพอที่จะสร้างขึ้นได้ไม่ และด้วยเหตุนี้เป็นข้อพิจารณาได้อีกกระแสหนึ่งว่า พระมหาธรรมราชาลิไทยต้องไม่เป็นผู้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ทั้งนี้ก็โดยที่พระองค์ได้ทรงสร้างพระพุทธรูปสำคัญ เป็นอนุสรณ์ในศรัทธาบารมีส่วนพระองค์ขึ้นไว้องค์หนึ่งแล้วต่างหาก ดังความปรากฎขึ้นในศิลาจารึกหลักที่ ๔ ด้านที ๒ บรรทัดที่ ๓๐-๓๑ ความว่า
"...ครั้นออกพรรษาแล้ว เสด็จทรงทำมหาทานฉลองพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ที่ทรงหล่อ เท่ากันกับพระองค์พระพุทธ"
หลักศิลาจารึกหลักที่ ๕ ด้านที่ ๓ บรรทัดที่ ๖-๑๒ มีข้อความเช่นเดียวกัน แต่ขยายออกไปอีก ถึงที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปสัมฤทธ์ของพระองค์ ดังนี้
"...จึงให้อาราธนา มหาสามีสังฆราชเข้าพรรษาสิ้นไตรมาส เมื่อแล้วออกพรรษาจึงกระทำมหาทาน ฉลองพระสัมฤทธิ์อันหล.. ตนพระพุทธเจ้า เอาประดิษฐานกลางเมืองสุโขทัย ซึ่งล่วงตะวันออกพระศรีรัตนมหาธาตุนั้น..."
เป็นการประหลาดที่ว่าศิลาจารึกทั้ง ๒ หลักนี้กล่าวถึงเรื่องพระพุทธรูปอทงเหมือนกันแต่ก็ไม่ได้แสดงว่า พระเจ้าลิไทยเป็นผู้สร้างเลยแม้แต่น้อย คือ
ศิลาจารึกหลักที่ ๔ ด้านเดียวกัน (คือด้านที่ ๒) บรรทัดที่ ๓๐-๔๗ มีความดังนี้
"อัญศรีสุรียะพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช สมาทานศีล เป็นดาบสเฉพาะเนตรพระสุวรรณปฏิมากร อันประดิษฐานบนพระราชมณเฑียร พระองค์ออกบรรพาเป็นสามเณร เมื่อจะทรงผนวชขอศีลนั้น พระบาทกัมรเดงอัญศรีสุริพงศ์รามมหาธรรมราชธิราชเสด็จยืนขึ้น ยกพระหัตถ์อัญชลีนมัสการ พระสุวรรณปฏิมากร และพระไตรปิดกที่เก็บไว้บนราชมณเฑียร กับพระมหาสามีสังฆราช"
ศิลาจารึกหลักที่ ๕ ด้านเดียวกัน (คือด้านที่ ๓ ) บรรทัดที่ ๒๔- ๔๒ มีความเช่นเดียวกันคือ
"...พระยาศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช...หากสมาทานทศศีลเป็นดาบส...(ความลบเลือนหายไป เข้าใจว่าเป็นคำว่า"อาราธ" เพราะจะรับกับคำว่า "นา" ในบรรทัดต่อไป ทั้งนี้เพราะในจารึกหลักนี้ มีใช้คำว่าอาราธนาอยู่ด้วย) นาพระพุทธรูปทองอันประดิษฐานไว้เหนือราชมณเฑียรอันตนแต่ง...วันนั้นแล แล้วจึงอัญเชิญมหาสามีสังฆราชด้วยเถรานุเถรภิกษุสงฆ์ทั้งหลายขึ้นเมื่อเถิงราชมนเฑียร.. องจึง บวชเป็นสามเณรที่นั้นเมื่อจัก...ศีลนั้น พระยาศรีสูรพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช จึงจะยืนยอมือนบพระพุทธรูปทอง นบทั้งพระปิฎกตรัย... ไว้ที่นั้น นบทั้งมหาสามีสังฆราช จึงจักอธิษฐานว่าดังนี้ด้วย"
จะเห็นได้ว่าจารึกไม่ได้แสดงเรื่องราวว่า พระเจ้าลิไทยได้ทรงสร้างพระพุทธรูปทองเลย   ตรงกันข้ามกลับแสดงไว้โดยแจ่มแจ้งว่า พระองค์ทรงสร้างพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ไว้ และพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ดังกล่าว   ก็คือพระศรีสักยมุนีนั่นเอง   เพราะตามคติของโบราณนั้น ย่อมถือว่า   พระวรกายของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ของเรามีความสูงใหญ่โตมาก นี่เป็นเครื่องพิสูจน์ได้อีกข้อหนึ่งว่า   ชาวสุโขทัยใช้คำว่า   สัมฤทธิ์เช่นเดียวกับในปัจจุบัน   อนึ่งการสร้างพระพุทธรูปทองนั้นย่อมถือเป็นมงคลการอันยิ่งใหญ่   ถ้าหากพระองค์เป็นผู้ทรงสร้างเหตุไฉนความจึงไม่ปรากฎ   ไม่เป็นปัญหาเลยสำหรับการที่เราจะต้องเข้าใจว่า   พระสุวรรณปฏิมากร หรือพระพุทธรูปทอง ที่ปรากฎเรื่องราวในศิลาจารึกทั้ง ๒ หลักของพระเจ้าลิไทยนั้น   เป็นองค์เดียวกับที่ปรากฎในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัยจากศึกสงครามอาจทำให้พระเจ้าลิไทย อัญเชิญพระพุทธรูปทององค์นี้มาจากที่ประดิษฐานเดิม   เอาเข้ามาไว้ในพระราชฐาน   และประดิษฐานพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ที่ทรงสร้างขึ้นไว้แทนที่   ทั้งนี้เพราะความในจารึกทั้ง ๓ หลัก (หลักที่๑,๔ และ ๕) กล่าวเช่นนั้น ส่วนปัญหาที่ว่า พระราชมณเฑียรหมายถึงสร้างด้วยไม้   จะไม่อาจทนรับน้ำหนักพระพุทธรูปทองอันใหญ่โตได้นั้นเป็นอันว่าตัดปัญหาออกไป เพราะถ้าจะอัญเชิญมาไว้ในพระราชมณเฑียรให้ได้แล้ว ก็จะต้องมีวิธีการมิให้พระราชมณเฑียรพังได้ เช่นอาจใช้ฐานรับน้ำหนักเป็นอิฐหรือปูนก็ได้   ซึ่งรับน้ำหนักลงสู่พื้นดินโดยตรง   และอีกประการหนึ่ง   พระราชมณเฑียรอาจก่อสร้างด้วยอิฐก็ได้   ไม่จำเป็นจะต้องเป็นไม้เสมอไป อนึ่ง พระพุทธรูปทององค์นี้จัดเข้าอยู่ในหมวดใหญ่ถ้าหากจัดอยู่ในประเภทพระพุทธชินราช คือมีนิ้วพระหัตถ์เสมอกันทั้ง ๔ นิ้ว ก็จะไม่เป็นปัญหาอันใด ที่จะระบุได้ว่าสร้างในรัชสมัยพระเจ้าลิไทยมหาธรรมราชาอย่างแน่แท้ แต่ก็หาเป็นเช่นนั้นไม่
๕.   เป็นพุทธปฏิมาในรัชชสมัยพ่อขุนรามคำแหง เมื่อไม่อาจจะกล่าวได้ว่า   พระพุทธรูปองค์นี้เป็นปฏิมากรรมสมัยพระเจ้าลิไทยมหาธรรมราชาได้แล้ว   ก็เหลือรัชสมัยเดียวที่มีหลักฐาน   เหตุผลแวดล้อมมากที่สุดก็จะเป็นคือรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงนั่นเอง   โดยเหตุผลที่กล่าวแล้วแต่ตอนต้น ๆ ว่า   พระพุทธรูปทององค์นี้ต้องสร้างขึ้นในยุค Classic และรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหง จัดว่าเป็นยุค Classic   และยุครุ่งเรืองเฟื่องฟู (Prosperity) ที่แท้จริง   สมัยก่อนหน้านั้นขึ้นไปเป็นสมัยของการก่อร่างสร้างตัว   เต็มไปด้วยการรบพุ่งกู้อิสรภาพจากขอม   เป็นระยะฟักตัวของศิลปสุโขทัย   จึงจัดเข้าเป็นยุคเริ่มแรก (Primitive) ดังกล่าวแต่ข้างต้น   ส่วนสมัยของขุนบาลเมืองนั้นก็มีอายุสั้นมากเกินไป   รัชสมัยของพระยาเลอไทยก็เช่นกัน   มีบรรยากาศอันเย็นชืด ปราศจากความเด่นชัดในแง่ใด ๆ หัวเมืองมอญก็เป็นกบฎ ไม่อาจปราบปรามได้สำเร็จทั้งอายุก็สั้นเช่นเดียวกัน สำหรับในรัชสมัยพระยาไสยฤาไทย ลงมาจนถึงพระมหาธรรมราชาที่ ๔ นั้น เป็นสมัยของความเสื่อมโทรมแห่งอาณาจักร ทั้งสกุลช่างก็ถูกปนคละด้วยฝีมือช่างอยุธยา   ซึ่งพระพุทธรูปสมัยดังกล่าวนี้เรียกกันว่า "สมัยพิษณุโลก" ด้วยเหตุนี้   จึงจัดได้ว่าเป็นสมัยเสื่อมทางศิลป (Degenerate)
ส่วนการที่จะกล่าวว่า   รัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงเป็นสมัยที่รุ่งเรืองที่สุด และเหมาะสมสำหรับการที่จะสร้างพุทธปฏิมาขนาดใหญ่ได้เป็นอย่างดีน้น มีหลักฐานหลายประการสนับสนุนคือ นอกจากเป็นยุค Classic ดังกล่าว ถ้าหากพิจารณาทางด้านเศรษฐกิจก็นับได้ว่า กรุงสุโขทัยมีฐานะทางเศรษฐกิจอย่างดีเลิศ   มีการเดินเรือทะเลค้าขายถึงเมืองจีน, ชวา, มลายู และแม้กระทั่งลังกา และอินเดีย พ่อค้าวาณิชต่างประเทศเข้ามาค้าขายถึงกลางพระนคร   ความมั่งคั่งถึงขนาดที่ไม่เก็บภาษีจังกอบแก่เรือสินค้าต่างประเทศพลเมืองมั่งมีศรีสุขยิ่งนัก และโปรดอย่าลืมว่าสิ่งที่เป็นมาตรฐานการแลกเปลี่ยนในขณะนั้นคือทองคำ ซึ่งแน่เหลือเกินว่าในท้องพระคลังก็ดี ในหมู่ประชากรก็ดี จะต้องอุดมไปด้วยทองคำ ฉะนั้น จึงไม่เป็นการยากลำบากเลยในการที่พ่อขุนรามคำแหงจะสถาปนาพระพุทธรูปทองอันใหญ่หลวงนี้ขึ้นมา บรรดาพสกนิกรอันมั่งมีของพระองค์ จะต้องช่วยกันบริจาคเนื้อทองร่วมการกุศลด้วยแรงศรัทธาอันเปี่ยมล้น เพราะจะว่าถึงศรัทธาปสาทะของพระองค์ที่มีต่อพระศาสนาแล้ว ก็ดูจะไม่ยิ่งหย่อนกว่าพระมหาธรรมราชาลิไทยนัก ทั้งนี้โดยการรับเอาพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์เข้ามาจากนครศรีธรรมราช ทรงสร้างพระอารามน้อยใหญ่   รวมทั้งพระพุทธรูปและพระเครื่องจำนวนมหาศาล   และที่นับว่าประเสริฐที่สุดอยู่ประการหนึ่งก็คือ การสร้าง พระพุทธรูปและพระเครื่อง ฯ ปางลีลาศ ซึ่งสำแดงความเคลื่อนไหว (Moving Expression) ได้อย่างมหัศจรรย์   จัดว่าเป็นวิวัฒนาการทางศิลปปฏิมากรรมแบบแรกของเมืองไทย   โดยมิได้รับอิทธิพลจากฝ่ายตะวันตกเลย   พระพุทธรูปปางลีลาศนี้   เป็นสัญญลักษณ์ประจำชาติไทยของเราด้วย   โดยหมายถึงความรุ่งเรืองก้าวหน้า   พระสติปัญญาของพระองค์นั้น เจริญล้ำหน้าอยู่หนักหนา   ส่วนกิจการด้านการทหารแล้ว   นับได้ว่าเป็นหนึ่งไม่มีสองเพราะแม้แต่กุบลายข่าน จักรพรรดิ์เลือดมงโกลอันดุดัน ก็มิกล้าต่อกรกับพระองค์   ซึ่งในขณะเดียวกันได้ทำให้บรรยากาศของพม่าสะท้านร้อนสะท้านหนาวอยู่ครามครันทีเดียว ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วแต่ตอนต้นว่า   ศิลปนั้นจะเจริญถึงขีดสุด ในเมื่อบ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองในหลาย ๆ ด้าน ถึงขีดสุดเช่นกัน และการสร้างปฏิมากรรมด้วยเนื้อทองเป็นจำนวนมหาศาลนั้น ต้องเป็นยุคที่บ้านเมืองมีมาตรฐานทางเศรษฐกิจร่ำรวยถึงขนาดเท่านั้น หลักศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงก็ได้แสดงไว้แล้วอย่างแจ่มชัดว่า   กลางเมืองสุโขทัยนั้น มีพระพุทธรูปทองคำว่า มีในที่นี้ มิได้หมายความว่ามีอยู่ก่อน หากหมายความว่า มีในรัชสมัยของพระองค์นั่นเทียว และพระพุทธรูปทององค์ที่กล่าวไว้ในศิลาจารึกนี้ ก็คือองค์ที่อยู่ ณ วิหารวัดไตรมิตรฯ นี่เองมิใช่อื่นไกล นักโบราณคดีบางท่านอาจกล่าวว่า   ข้าพเจ้าดูออกจะเล็งผลเลิศเกินไปซึ่งข้าพเจ้ายอมรับว่าข้าพเจ้าเล็งผลเลิศจริง แต่ปฏิเสธคำว่า "เกินไป" เพราะข้อพิสูจน์ของข้าพเจ้าไม่เกิดเลยต่อความจริง   ถ้าจะเปรียบพระพุทธรูปองค์นี้กับพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งพระพุทธสิหิงค์นั้นเชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่อัญเชิญมาจากลังกาเป็นเบื้องแรก คือหมายความว่า   เป็นศิลปแบบลังกาบริสุทธิ์ ทั้ง ๆ ที่พุทธศิลปของพระองค์ท่านนั้น   เป็นสกุลช่างเชียงแสนยุคหลัง ๆ อย่างเห็นได้ถนัดชัดเจน ทำไมถึงยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ทั้งทางราชการและมหาชน ว่าเป็นพระพุทธรูปลังกาถึงแม้การวิจัยยุคสมัยของพระพุทธชินราช อันงามล้ำก็เถอะ เราได้หลักฐานจากพงศาวดารเหนือ ซึ่งมีเกียรตินิยมในความเชื่อถือแต่น้อยเท่านั้น เป็นเครื่องมือวิจัยและยืนยัน แต่เผอิญพงศาวดารเหนือเกิดมาแม่นยำในเรื่องของพระพุทธชินราชเข้าอย่างโชคดี จึงได้มีการพิสูจน์ยืนยันว่า เป็นพระพุทธรูปในรัชสมัยของพระเจ้าลิไทยมหาธรรมราชา ซึ่งความจริงก็ต้องเป็นเช่นนั้นแน่นอน แต่ทั้งนี้ก็ต้องตัดและแปลงความหมายจากพงศาวดารเล่มนี้ออกไปเสียงหลายแห่ง เพราะจะชวนให้เข้ารกเข้าพงอยู่เสมอ ส่วนหลักฐานที่ข้าพเจ้านำมาอ้างสำหรับพระพุทธรูปทององค์นี้นั้น คือหลักศิลาจารึก ซึ่งพออ้างถึงหลักศิลาจารึกเมื่อใด   นักโบราณคดีโดยมากเขามักจะยกมือให้เสมอ   และเป็นการโชคดีอยู่ด้วยที่ว่าศิลาจารึกที่เป็นหลักฐานสำคัญคือหลักที่๓ เสียด้วย ซึ่งได้รับเกียรตินิยมอย่างสูงเป็นพิเศษมิใช่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น   แต่หมายถึงทั่วโลกด้วย
    ถ้าหากว่า จะมีพระพุทธรูปทองฝีมือช่างสกุลสุโขทัยขนาดใหญ่เช่นนี้อุบัติขึ้นอีกเราก็จำเป็นที่จะต้องวิจัยกันต่อไป เพราะน้ำหนักที่วิจัยไปแล้วจะต้องถูกกระทบกระเทือน แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่า   มีทางที่จะเป็นไปได้ยากเพราะพระพุทธรูปทองขนาดใหญ่ มิใช่เป็นสิ่งที่จะสร้างกันได้เสมอๆ หรือมีมากองค์ได้ ทั้งนี้แม้ข้าพเจ้าจะแว่วมาบ้างว่า ที่มหาสถูปชะเวดากอง มีพระพุทธรูปทองอยู่องค์หนึ่ง มีข่าวว่าได้ไปจากไทยคราวกรุงแตกครั้งใดครั้งหนึ่งก็ตาม   ข้าพเจ้าก็ยังทำเป็นทองไม่รู้ร้อนอยู่เพราะยังมิทันได้เห็นก็เชื่อว่าถ้าหากจะมีจริงก็คงสู้องค์ของเรานี้ไม่ได้   ทั้งนี้จนกว่าจะได้มีการวิจัยยืนยันกอย่างแท้จริงว่า   พระพุทธรูปที่มหาสถูป ชะเวดากอง เป็นเนื้อทองและเป็นฝีมือสกุลช่างสุโขทัย ทั้งมีสัณฐานใหญ่โตเช่นของเรา จึงจะต้องลงมือสอบค้นกันอีกครั้งหนึ่ง ขณะนี้ยังขอสบายใจไว้ก่อน
    และเนื่องจากท่านเจ้าอาวาส ฯ ได้หารือว่า  อยากจะให้หลาย ๆ คนช่วยกันเลือกหาพระนามถวายแด่พระพุทธปฏิมาองค์นี้เพื่อถวายแด่องค์ประมุขของชาติ ให้ทรงตัดสินพระทัยเลือกพระราชทานมาทางวัดให้ถวายเป็นพระนามแต่พระพุทธรูปองค์นี้ต่อไป และประกอบกับข้าพเจ้า เคยถวายพระนามพระพุทธรูปของโรงพยาบาลสงฆ์เมื่อ ๒ ปีที่แล้วมานี้ว่า "พระพุทธสัมปทานะนิโรคาพาธ" ซึ่งแปลว่า "พระพุทธรูปอันประทานแล้วซึ่งความไม่มีโรค" ในบทความเกี่ยวกับพระพุทธรูปองค์นั้น   ซึ่งทางโรงพยาบาลสงฆ์ขอมาฉะนั้นด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงใคร่จะแสดงข้อคิดเห็นไว้ในประการนี้สักเล็กน้อย กล่าวคือเราควรจะเคารพในพระนามเดิมของพระพุทธรูปองค์นี้ ซึ่งปรากฎในหลักศิลาจารึก หลักที่ ๔ และที่ ๕ คือคำว่า "พระสุวรรณปฏิมากร" เพื่อให้เกิดสิริมงคลสืบไป แต่ทั้งนี้เราอาจจะประยุกต์คำเสียใหม่เล็กน้อย เพื่อเพิ่มและเน้นให้เนื้อความเด่นชัดขึ้นอีก (Accentuated) เป็น "พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากรบวรรังสี" คำว่า "มหา" เราใส่เข้าไป เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นพระพุทธรูปเนื้องทององค์ใหญ่ มิใช่ขนาดย่อม ๆ และคำว่า "บวรรังสี" นั้นแปลว่า "รังสีที่มีค่าล้ำ" หรือ "รังสีที่ประเสริฐยิ่ง" ซึ่งหมายถึงรังษี หรือวรรณะของเนื้อทองนั่นเอง ถ้าแปลพระนามนี้ทั้งหมด ก็จะได้ความว่า "พระพุทธรูปเนื้อทองขนาดใหญ่ ซึ่งมีรังสีอันประเสริฐ" รู้สึกว่าจะได้ความสมบูรณ์ บอกถึงลักษณะอันมีค่าของพระพุทธรูป ส่วนนามที่มีผู้เสนอขึ้นไว้ก่อนนั้น ซึ่งขึ้นต้นว่า "พระสุโขทัย ไตรมิตร..ฯลฯ ซึ่งต่อไปจำไม่ได้นั้น ขออภัยที่จะต้องขอทักท้วงว่า กระเดียดไปในทางเปิ่น ๆ มากกว่าอย่างอื่น ทั้งเป็นนามที่เยิ่นเย้อและอ่อนในเรื่องหลักภาษาอยู่มากด้วย เรามิจำเป็นที่จะต้องประกาศนามว่าเป็นพระสุโขทัย เพราะใครก็ทราบกันทั่ว ๆ ไปแล้ว และมิต้องเติมคำว่า "ไตรมิตร" ลงไปอีก เพราะดูไม่ได้ความหมาย คืบหน้าอะไรขึ้นมาอีกเลย นอกจากเป็นที่รู้กันเองว่าอยู่ที่วัดไตรมิตรฯ ก็เมื่อมหาชนทราบกันดีแล้วว่าอยู่ที่วัดไตรมิตรฯ จะต้องใส่คำนี้ลงไปอีกใยเล่า ประวัติศาสตร์จะต้องบันทึกเรื่องราวของพระพุทธรูปองค์นี้ลงไปแล้วไม่ต้องกริ่งเกรงว่านามของวัดไตรมิตรฯ จะหายไป นอกจากนี้ยังจำได้ว่า มีคำว่า "เตโชชัย" แปลว่า "ชัยชนะอันร้อนแรง" หรือ "ชัยชนะโดยใช้พระเดช" ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะนำมาใช้ในที่นี้ เพราะความจริงนั้น สมเด็จพระพุทธองค์ไม่เคยทรงใช้อำนาจ หรือพระเดชเอากับบุคคลผู้ใดเลย ข้าพเจ้าเองเคยใช้คำนี้มาก่อนในการขนานสมญานามของพระหูยานว่า "เตโชชยากร" แต่นั้นเป็นเพียงพระเครื่องฯ ซึ่งเป็นรสนิยมทางด้านอำนาจกฤติยาคมโดยเฉพาะ หาควรจะนำมาใช้กับพระพุทธรูปไม่
        อนึ่ง การที่ข้าพเจ้าเสนอพระนามอันนี้ขึ้นมา อาจจะมีบางท่านเย้ยหยันว่า พระพุทธรูปองค์นี้มิใช่ทองบริสุทธิ์ หากเป็นโลหะอื่นผสมทอง เหตุใดจึงเสนอพระนามว่าพระพุทธรูปทอง ทั้งนี้เพราะเสียงอกุศลชนิดนี้มีอยู่หนาหูก่อนหน้านี้แล้ว จึงขอเรียนแก้ต่างไว้ก่อนว่า ถ้าหากจะถือกันในข้อเท็จจริงแล้ว ทองคำที่เรานับถือกันว่าเป็นทองบริสุทธิ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์นั้น ความจริงก็ไม่บริสุทธิ์ดังเข้าใจ เพราะอย่างเก่งก็ถึงเพียง ๙๙.๙๙ เปอร์เซ็นต์ ขอให้พึงสำนึกว่า ไม่มีวัตถุใดที่บริสุทธิ์สิ้นเชิงในโลก ยิ่งเป็นทองรูปพรรณด้วยแล้วเปอร์เซ็นต์ยิ่งต่ำลงไปตามลำดับของความแข็งแรงที่ต้องการ ก็โดยเหตุไฉน เมื่อเรามีพระพุทธรูปที่มีเนื้อทองจัด ๆ ที่มิใช่ Alloy ประเภทสัมฤทธิ์ จะเรียกว่าพระพุทธรูปทองมิได้เล่า จะเรียกว่าพระพุทธรูปนากก็ไม่ได้ เพราะมิใช่เนื้อนาก จะเรียกว่าอะไรมิได้ทั้งนั้นนอกจากพระพุทธรูปทอง หรือแม้จะใช้คำว่าพระพุทธรูปทองคำก็ยังถูกต้องดีกว่าเรียกเป็นอย่างอื่น อนึ่ง สำหรับการเทิดทูนของที่เป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาตินั้น โดยทั่วไปแล้วเขาถือเป็นหลักที่จะต้องปฏิบัติสำหรับอารยชนทีเดียว แม้จะเป็นเพียงการเรียกขานพานชื่อก็ตาม จะยกอุทาหรณ์ที่ใกล้เคียงในเรื่องนี้มากล่าวไว้สักหน่อยคือ การถวายพระนามพระแก้วอันเป็นมิ่งขวัญของชาวเราว่า "พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกต" นั้น เพื่อเป็นการเทิดทูนพระพุทธรูปอันประมาณค่ามิได้ของเราองค์นี้มากกว่าอย่างอื่น ทั้งนี้เพราะโดยแท้จริงแล้ว พระแก้วของเราเป็นเนื้อโมรา (Jaspers) ชนิดหนึ่งในตระกูล Quartz ซึ่งเป็นผลึกละเอียดเกาะกันทึบไม่บริสุทธิ์ หรือมิฉะนั้นก็เป็นหยก (Jadeites) ประเภท Nephites สีเขียวแก่ หนึ่งในสองประเภทนี้ และที่แน่ที่สุดคือไม่ใช่เป็นเนื้อมรกต เพราะเนื้อมรกตนั้นเปราะแตกง่าย ไม่อาจใช้สลักสร้างพระพุทธรรูปหรืออะไรได้ เนื้อเกาะกันละเอียดและสดใสไม่ทึบเหมือน Jaspers หรือ Nephites และที่สำคัญที่สุดคือมรกตไม่มีขนาดใหญ่ถึงเพียงนั้น แต่เหตุใดสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ่จึงทรวงถวยพระนามว่าเป็นมรกต พระองค์ท่านไม่ทรงทราบความจริงหรือ ? หามิได้ เพราะตำราอัญมณี หรือรัตนชาติ เรามีมาแต่โบราณ ซึ่งอธิบายลักษณะของนพรัตน์อย่างละเอียดพิสดาร ทั้งคัมภีร์ไสยศาสตร์ก็ยังกล่าวถึงมงคลในเรื่องเหล่านี้ไว้อีกกระแสหนึ่ง การที่ทรงถวายพระนามว่าเป็นมรกต ก็เพื่อเทิดทูนสมบัติของชาติเราไว้ต่างหากเล่า ก็ในเมื่อพระแก้วเป็นเนื้อ Jaspers หรือ Nephites เรายังเรียกว่า พระแก้วมรกตได้ ก็เหตุไฉนพระพุทธรูปของเราซึ่งเป็นเนื้อกษัตริย์อยู่แล้ว โดยชัดแจ้ง จะเรียกว่า พระพุทธรูปทองมิได้เล่า ยังจะมีอกุศลจิตอันใดมาขัดแย้งอีกหรือ ?
      ข้าพเจ้าปฏิบัติหน้าที่ของข้าพเจ้าในฐานะนักโบราณคดีซึ่งเทิดทูนและสร้างสรรค์จรรโลงปูชนียวัตถุอันเป็นสมบัติล้ำค่าของชาติโดยพฤตินัย และโดยเฉพาะพระพุทธรูปทององค์นี้ ต้องจัดว่าเป็นเอกวัตถุ (Unique piece) ในบรรดาพระพุทธรูปสกุลช่างสุโขทัยทั้งหลายอื่น ต่างก็เป็นวัตถุเฉพาะสิ่ง (Individuals) ด้วยกันทุกองค์อยู่แล้ว คือหมายถึงว่าพระพุทธรูปแต่ละองค์ย่อมมีพุทธลักษณะเฉพาะตัว (Characteristic) ไม่มีการซ้ำกันเลย ซึ่งการทั้งนี้จะได้มีผลส่วนได้ส่วนเสียกับวัดไตรมิตรฯ ประการใดก็หาไม่ บัดนี้ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติภารกิจอันนี้ลุล่วงไปตอนหนึ่งแล้ว สำหรับในตอนต่อไปอยู่ในปัญหาที่ว่า ความเป็นมาของพระพุทธรูปองค์นี้มีอยู่สถานใด เหตุใดจึงมาปรากฎอยู่ที่วัดพระยาไกร อันนี้เป็นเรื่องที่ขอมอบให้นักค้นคว้า หรือทางสำนักวัดไตรมิตร ฯ ผู้เป็นเจ้าของพระพุทธรูปช่วยสืบค้นคลี่คลายต่อไป ซึ่งข้าพเจ้าขอเรียนแนะแนวทางกว้าง ๆ ว่า พระพุทธรูปองค์นี้ต้องล่องลงมาจากอยุธยาตามลำน้ำเจ้าพระยาและมาขึ้นบกบริเวณท่าเรือ อิสท์เอเซียติก ผู้ที่นำพระพุทธรูปองค์นี้มาจะต้องเป็นพระยาไกร ผู้สร้างวัด พระยาไกรเป็นใคร ? จะต้องสืบค้นดูจากประวัติการสร้างวัดพระยาไกร พระยาไกรผู้นี้อาจเป็นได้ทั้งข้าราชบริพารของเจ้าฟ้าอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด) หรือเป็นข้าราชการวังบวรฯ ขนพระพุทธรูปจากหัวเมือง ต่างๆ ลงมาไว้ที่วัดพระเชตุพนฯ หรือประการอื่นใดหรืออาจจะเป็นอย่างอื่นก็ได้ อย่างไรก็ดี พระพุทธรูปองค์นี้ ต้องมีการพอกปูนซ่อนพรางมาแต่ก่อนกรุงแตกทั้ง ๒ ครั้ง มิฉะนั้นคงจะไม่พ้นมือพม่าข้าศึก แต่เท่าที่สังเกต พระพักตร์ตอนที่ยังไม่ได้กระเทาะปูนออก (จากรูปถ่าย) เข้าใจว่าปูนที่พอกมีอายุไม่เกินต้นรัตนโกสินทร์หรือปลายอยุธยา เพราะลักษณะฝืมือช่างแสดงให้ทราบเช่นนั้น แต่ในประการนี้   เราต้องคิดว่าปูนที่พอกนั้นอาจจะกระทำกันหลายครั้งหลายคลา เมื่อปูนเก่ากะเทาะออก ก็ต้องมีผู้รู้เห็น พอกเสริมเข้าไปอีกได้เสมอ
        อนึ่ง การที่นำมาไว้ยังวัดพระยาไกรนี้ เราจะเห็นได้ว่าเป็นความลับ พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์มิได้ทรงทราบความข้อนี้ เพราะหาไม่พระพุทธรูปองค์นี้คงจะไม่ถูกทอดทิ้งอยู่ที่วัดพระยาไกร เป็นเวลาร่วมศตวรรษ จนกระทั่งสมเด็จพระวันรัต เฮง (เขมจารี) มอบให้ทางวัดไตรมิตรฯ นำมาปฏิสังขรณ์เมื่อประมาณ ๒๐ ปีที่แล้ว พระยาไกรคงจะต้องพยายามประดิษฐานพระพุทธรูปองค์นี้ในวัดที่ตนสร้างแต่คงสิ้นชีวิตเสียก่อน ทั้งความลับก็มิได้แพร่งพรายไปถึงผู้ใดอีก พระพุทธรูปทองคำจึงถูกปกปิดจนมาปรากฎที่วัดไตรมิตรวิทยาราม

*********

แนะนำ/ติชม penemail.gif (18043 bytes) พระมหาอนาลัย   ธมฺมเมธี วัดไตรมิตรวิทยาราม