Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!

tt.gif (14754 bytes)

ชั้นและที่ตั้งวัด

วัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ ๖๖๑ ทางทิศตะวันตกของสถานีรถไฟหัวลำโพง ถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐

เขตและอุปจารวัด

วัดไตรมิตรวิทยารามเดิมมีพื้นที่ราบลุ่ม มีลักษณะน้ำขังได้ทั่วไป ปัจจุบันนี้ได้ทำการปรับปรุงพื้นที่ของวัดทั้งหมดเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทั่วทั้งภายในบริเวณวัด และวัดมีเขตอุปจารวัดดังนี้

ทิศเหนือ จรดกับถนนพระราม๔
ทิศใต้ จรดกับถนนตรีมิตร
ทิศตะวันออก จรดกับซอยสุกร๑
ทิศตะวันตก จรดกับถนนเจริญกรุง

ที่วัดและที่ธรณีสงฆ์

        วัดไตรมิตรวิทยารามมีเนื้อที่ที่ดินของวัดรวมทั้งสิ้น ๑๔ ไร่ ๒ งาน ๓๑ ตารางวา ปรากฎตามโฉนดที่ ๒๒๖๔ และมีที่ธรณีสงฆ์อีก ๑ ตารางวากับ ๑ ตารางศอก ตามโฉนดที่ ๓๕๙๑ ปัจจุบันโฉนดที่ดินของวัดได้จัดเก็บรักษาไว้ที่กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร

ประวัติและนามของวัด

        วัดไตรมิตรวิทยารามเป็นวัดโบราณปรากฎตามหลักฐานในการขอพระราชทานยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง พ.ศ. ๒๔๙๙ ว่าสร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ประมาณ พ.ศ.๒๓๗๔ เดิมชื่อว่าวัดสามจีนได้มีคำเล่ากันว่าวัดสามจีนเดิมมีอยู่ ๓ วัด คือวัดสามจีนในคลองบางอ้อด้านตรงกันข้ามกับเทเวศน์วัดหนึ่ง วัดสามจีนเหนือบ้างก็ว่าอยู่ที่บางขุนพรหม บ้างก็ว่าอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี สำหรับวัดสามจีนที่อยู่ที่บางขุนพรหมนั้นได้แก่วัดสังเวชวิศยาราม แขวงวัดสามพระยาม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ส่วนวัดสามจีนที่อยู่จังหวัดนนทบุรีนั้น ได้แก่วัดโชติการาม อำเภอเมืองนนทบรี จังหวัดนนทบุรี ส่วนวัดสามจีนใต้นั้น ได้แก่วัดไตรมิตรวิทยาราม เขตสัมพันธวงศ์ เหตุที่เรียกว่าวัดสามจีนเนื่องด้วยเหตุว่ามีชาวจีนซึ่งเป็นมิตรสหายรักใคร่กัน ๓ คน ได้มีความสมัครสมานสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันก่อสร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานที่บำเพ็ญกุศล จึงได้นามว่า "วัดสามจีน"

วัดไตรมิตรวิทยาราม ก่อนการบูรณะปรับปรุง

        สภาพวัดไตรมิตรวิทยารามครั้งนั้นมีนามว่า วัดสามจีนใต้ สภาพบริเวณทั่วๆไปในบริเวณวัดนั้นเต็มไปด้วยสิ่งโสโครก ดังที่ได้ปรากฎเอกสารรายงานการประชุมคณะกรรมการปรับปรุงสุขลักษณะวัดสามจีนใต้วันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๘ ความตอนหนึ่งว่า
        "เวลา ๑๐.๐๐ น. ผู้มาประชุมได้มาพร้อมกันแล้ว ท่านเจ้าอาวาสขอให้นายสนิท เทวินทรภักติ พาคณะกรรมการดูสถานที่"
        วัดนี้ตั้งอยู่ที่ตำบลสามแยก อำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร มีอาณาเขตติดต่อกันดังนี้
        ทิศเหนือ    จรดกำแพงหลังตึกแถวถนนพระราม ๔
        ทิศตะวันตก    จรดที่ดินพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ ส่วนหนึ่ง แล้วต่อมาติดกำแพงหลังตึกแถวถนนกลันตัน
        ทิศใต้   จรดกำแพงหลังตึกถนนเจริญกรุง
        ทิศตะวันออก   จรดแนวคลองวัดสามจีนใต้ ซึ่งกรมโยธาเทศบาลกำลังจัดถมอยู่แล้วย่อหักมุมไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือตามแนวคูวัด ซึ่งราษฎรที่เช่าตึกแถวทางถนนหน้าโรงฆ่าสุกรหัวลำโพงได้ปลูกเพิงรุกล้ำเนื้อที่คูซึ่งเป็นที่สาธารณะนี้ออกมารกรุงรังเพื่อเป็นที่พักสุกรสำหรับส่งเข้าโรงฆ่า

สิ่งที่ปลูกสร้างอยู่ในพื้นที่นี้

        ด้านทิศเหนือ มีโรงเรือนเป็นตึก ๓ ชั้น กำลังปลูกอยู่ดัดไปถึงประตูและถนนทางเข้า แล้วจึงถึงที่ดินผืนหนึ่ง ที่วัดให้มีผู้เช่าตัดตอนไปปลูกเป็นห้องแถวชั้นเดียวเตี้ย ๆ หลายแถวให้บุคคลเช่าอาศัยอยู่ ห้องแถวเหล่านี้หลังคาฝาและพื้นชำรุดทรุดโทรม ปุปะ เบียดเสียดยัดเยียดกัน มีซอกทางเดินแต่เพียงไม่เกิน ๑ เมตร แถมมีน้ำโสโครกขังเฉอะแฉะอยู่ที่ถนนและข้างถนน กับใต้ห้องแถวเหล่านี้ทั่วไป   มีฝูงเป็ดและสุกรหาอาหารระเกะระกะ มีอุจจาระและกลิ่นปัสสาวะตลบอบอวล ผู้มีอาชีพในการกระทำเส้นบะหมี่ก็มี ได้ตากเส้นบะหมี่ไว้หน้าห้องแถวเลอะเทอะตลอดไป ที่หาบของเร่ขายได้วางสินค้าไว้เลเพลาดพาด ที่ทำขนมก็มีเศษอาหารทิ้งเกลื่อนกล่น แมลงวันตอมเป็นหมู่ใหญ่หญิงเช่าห้องรวมกันอยู่หลาย ๆ คน มีท่าทางอันน่าสงสัยจะซ่อนเร้นกระทำการอันลับลี้ที่ผิดศีลธรรมก็มีสภาพของบริเวณนี้นอกจากทำให้สภาพที่โสมมเพาะเชื้อโรคแล้วยังเป็นสถานที่ซึ่งมิบังควรจะอยู่ในที่ของลานวัดใกล้กุฏิ พระภิกษุถึงเพียงนี้ อันจะเป็นเหตุนำความเสื่อมเสียแก่พุทธศาสนาเป็นอันมาก
        ถัดไปเป็นที่ของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ มีห้องแถวชั้นเดียวหลายแถว สภาพของห้องแถว ผู้อาศัยเช่า และพื้นที่มีลักษณะอย่างเดียวกับห้องแถวที่ปลูกอยู่ในที่วัด ซ้ำมืดครึ้มและอบอ้าว กรรมการทุกท่านเมื่อสำรวจถึงพื้นที่เหล่านั้น รู้สึกรังเกียจและสะอิดสะเอียนในสภาพและความเป็นไปของห้องแถวทั้งสองตอนเป็นอย่างยิ่ง มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า สมควรให้รื้อเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานที่นี้ให้มีสภาพและใช้ประโยชน์ให้ถูกทางจนดีขึ้น
ต่อจากห้องแถวในที่ดินทั้งสองแปลงดังที่กล่าวมาแล้ว มีทางเดินกว้างประมาณเมตรเศษ กับรั้วเตี้ย ๆ กันอยู่ครึ่งหนึ่ง เป็นกุฏิบ้าง หอระฆังบ้าง หอไตรบ้าง ปลูกสลับซับซ้อนสูง ๆ ต่ำๆ ไม่เป็นแถวเป็นแนว ระเกะระกะชำรุดทรุดโทรมเก่าคร่ำคร่า ปุปะ รั่วไหลจนเหลือที่จะซ่อมให้ดีได้ ปลูกตลอดไปหลายหลังจนจรดแนวหลังตึกทางด้านถนนเจริญกรุง มีสิ่งปลูกสร้างที่มีเช่นเดียวกับที่กล่าวแล้ว ซ้ำมีกุฏิที่เดียงกระเท่เร่อีกหลายหลังจนไม่น่าไว้ใจที่จะใช้เป็นที่อศัยของพระภิกษุกุฏิชนิดนี้มีปลูกตลอดมาจนจรดแนวคลองข้างวัดสามจีน
        ถัดจากนี้ ตอนกลางคือโบสถ์ หมู่เจดีย์แล้วถึงลานแคบ ๆ ข้างโบสถ์ ทางแนวริมคลองต่อไป มีศาลาหลังหนึ่งมีฝาด้านเดียวอีกสามด้านไม่มีฝา ใช้สบงจีวรเก่า ๆ แขวนนุงนังบังแดด ที่นี้กใช้เป็นที่อาศัยของพระภิกษุด้วย ถัดจากศาลานี้ไป เป็นที่เก็บศพและเผาศพด้วยเตาใหญ่ใช้ฟื้น มีปล่องระบายควัน
        ต่อจากนี้เป็นโรงเรียนไม้สองชั้น
        ถัดไปถึงเจดีย์องค์ใหญ่แล้วถึงโรงเรียน ๒ ชั้น ข้างล่างก่ออิฐ ข้างบนเป็นไม้ ซึ่งเป็นโรงเรียนเก่าของวัดสามจีน บริเวณทั้ง ๓ หลังนี้ได้กันรั้วกันเขตไว้ กำลังจัดการถมรื้อถอนถากถางก่อสร้างจัดทำเพื่อให้ถูกสุขลักษณะ

nb000.jpg (7902 bytes)
พระพุทธรูปหน้าพระอุโบสถ

        จะเห็นได้ว่า    สภาพของวัดสามจีนในเวลานั้นมีสภาพอย่างไร คณะกรรมการปรับปรุงลักษณะวัดสามจีนในครั้งนั้นมี นายนาวาโท หลวงศุภชลาศัย ร.น. อธิบดีกรมพลศึกษา เป็นประธานคณะกรรมการปรับปรุงคณะกรรมการปรับปรุงวัดสามจีนได้เริ่มงานตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๗๗ ในระยะแรกได้พบอุปสรรคมากมายหลายประการ ต่อมาในพ.ศ. ๒๔๘๐ จึงได้อนุมัติจากมหาเถรสมาคมให้ดำเนินการจัดการรื้อถอนห้องแถวรุงรังในลานวัด และกุฏิเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมออกเสีย แล้วจัดการถมพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มตลอดคลองคูและสระให้เป็นที่สะอาดราบเรียบ เพื่อใช้เป็นที่ก่อสร้างเสนาสนะสงฆ์ โรงเรียนมัธยมวัดสามจีนใต้ ให้ถูกสุขลักษณะ

การก่อสร้างครั้งปรับปรุงวัด

        การก่อสร้างกุฏิสงฆ์ในครั้งนั้น ได้วางผังการก่อสร้างให้กุฏิอยู่เป็นแถวเป็นแนว ไม่สับสนปนเป ให้มีจำนวนห้องที่อยู่อาศัยพอทั้งพระภิกษุสามเณรและศิษย์วัด ตลอดกระทั่งให้มีห้องน้ำห้องส้วมพร้อม และได้วางกุฏิให้เพียงพอต่อพระภิกษุประมาณ ๗๐-๘๐ รูปเท่านั้น ฉะนั้น ในปีพ.ศ. ๒๔๘๐ จึงได้สร้างกุฏิคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น จำนวน ๑๔ หลัง ขึ้นแทนกุฏิที่ได้ทำการรื้อถอนไปนั้น
        ศาลาการเปรียญของวัดเป็นศาลาไม้มีสภาพที่ชำรุดทรุดโทรมลงอย่างมาก จวนจะพังมิพังแหล่ คณะกรรมการได้จัดการรื้อถอนแล้วได้สร้างศาลาการเปรียญเป็นศาลาคอนกรีต ๒ ชั้น ขึ้นแทนของเก่า
        ศาลารายที่ใช้เป็นโรงเรียนสอนบาลีและนักธรรมนั้น มีสภาพเก่าคร่ำคร่าซวนเซก็ได้ทำการรื้อถอนออกแล้วสร้างเป็นตึกคอนกรีต ๒ ชั้นขึ้นแทน สำหรับใช้เป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมเพื่อเล่าเรียนบาลีและนักธรรม
        เตาเผาศพของเก่าได้รื้อออกแล้วสร้างเตาเผาแบบทันสมัยขึ้นแทน

ถาวรวัตถุ

        พระอุโบสถ พระอุโบสถหลังเดิมเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน รูปทรงเป็นแบบไทยผสมศิลปะจีน หลังคาลดสามชั้น มีเสาหารโดยรอบหลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี หน้าบันประดับด้วยเครื่องเบญจรงค์เป็นรูปดอกพุดตานซุ้มปรตูหน้าต่าง ประดับปูนปั้นลายดอกพุดตาน มีประตูด้านหน้า ๒ ประตู ด้านหลัง ๒ ประตู หน้าต่างด้านละ ๕ ช่อง ด้านหน้าพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางถวายเนตร พระพุทธรูปองค์นี้มีศิลปะการครองจีวรเป็นแบบห่มหนีบ(มังกร)
        ภายในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังทั้ง ๔ ด้าน เป็นรูปภาพอดีตพระพุทธพจ้าโดยรอบ เหนือขอบหน้าต่างตอนบนระหว่างหน้าต่างและประตูเป็นรูปทศชาติ กล่าวกันว่า จิตรกรรมภายในพระอุโบสถวัดสามจีนใต้กับวัดดวงแขมีลักษณะเช่นเดียวกัน
        พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง มีพระนามว่า "พระพุทธทศพลญาณ"   มีพระพุทธลักษณะงดงามมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงทราบว่า พระประธานวัดสามจีนได้มีพุทธลักษณะงดงามได้เคยเสด็จมาทอดพระเนตรให้ประจักษ์แก่พระเนตร ว่างามสมคำเล่าลือกันหรือไม่ แม้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ก็ยังได้เสด็จมาชมพระประธานของวัดสามจีนเสมอเมื่อทรงว่างจากพระภารกิจ
        ต่อมาเมื่อเกิดมหาสงครามโลกครั้งที่ ๒ ลูกระเบิดได้ลงในที่ไม่ไกลจากพระอุโบสถเท่าไรนัก แรงสั่นสะเทือนของอำนาจระเบิดทำให้พระอุโบสถร้าวทั้งหลัง ยากต่อการบูรณะปฏิสังขรณ์ ตกอยู่ในสภาพที่เป็นอันตรายได้ จึงได้ทำการรื้อลงเมื่อพ.ศ.๒๔๙๓ หลังจากที่ได้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่แล้ว
        พระอุโบสถหลังปัจจุบันนี้ เป็นพระอุโบสถที่ได้สร้างขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐ โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนชัยนาทนเรนทร เสด็จมาวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๐ หลวงวิศาลศิลปกรรมเป็นผู้ออกแบบพระอุโบสถ การก่อสร้างเป็นเฟอร์โรคอนกรีต ทรงจตุรมุข หลังคาสามชั้น มีชานรอบพระอุโบสถ บานประตู หน้าต่างเขียนลายรดน้ำ และพระอุโบสถหลังใหม่นี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาใหม่เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๐ กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร ประกอบการผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๓
        พระวิหารเป็นอาคารหมู่ทรงไทย มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีเขียว ลักษณะ ๒ ชั้น กว้าง ๒๔ เมตร สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.๒๔๙๗ เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระสุโขทัยไตรมิตร
        ศาลาการเปรียญเป็นอาคารสร้างใหม่ตัวอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหลัก ๒ ชั้น กว้าง ๑๘ เมตร ยาว ๒๔ เมตร ลักษณะเป็นเฟอร์โรคอนกรีต สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐
        ศาลาวิสุทธิผลและศาลานครหลวงประกันชีวิต เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทยประยุกต์ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ โดยนายห้างกำธร วิสุทธิผล
        กุฏิสงฆ์จำนวน ๑๔ หลัง สร้างขึ้นใหม่หมดเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๐ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ทรงไทย ๒ ชั้น
        เมรุ สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหลัง สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๐ กว้าง ๑๐.๕๐ เมตร ยาว ๒๐.๕๐ เมตรโดยชายญี่ปุ่นรับเหมาสร้าง
        โรงเรียนพระปริยัติธรรมเดิมสร้างเป็นอาคารทรงไทย สร้างตด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กเมื่อพ.ศ.๒๔๘๐ ต่อมาการศึกษาได้เจริญขึ้นจึงได้สร้างขึ้นใหม่เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๒ ชั้น เป็นอาคารลักษณะทรงไทย ขนาด ๘ ห้องเรียน เมื่อพ.ศ. ๒๕๐๐ ต่อมาในพ.ศ.๒๕๐๓ ได้ขยายเป็นอาคารตรีมุข และขยายห้องเรียนจากขนาด ๘ ห้องเรียนเป็น ๑๒ ห้องเรียน
        อาคารเรียนโรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัยสร้างเมื่อพ.ศ.๒๔๗๘ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๓ ชั้น ต่อมาได้รื้อลงเมื่อพ.ศ.๒๕๒๓ ปัจจุบันเป็นอาคารเรียนที่สร้างขึ้นใหม่ซึ่งได้ทำการวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๓ โดยพระเดชพระคุณพระวิสุทธาธิบดี เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นประธานในพิธี
        อาคารเรียนโรงเรียนมหาวีรานุวัตรเป็นอาคารคอนกรีต ๓ ชั้น เป็นโรงเรียนระดับประถม สร้างเมื่อพ.ศ. ๒๔๙๘ เปิดทำการสอนเมื่อพ.ศ.๒๕๐๐

ปูชนียวัตถุ

        พระพุทธทศพลญาณ พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ปูนปั้นลงรักปิดทอง ประชาชนทั่วไปเรียกว่า "หลวงพ่อโตวัดสามจีน" บ้าง "หลวงพ่อวัดสามจีน" บ้าง มีประชาชนมาบนบานกันเสมอ ๆ ด้วยพวงมาลัยดอกมะลิ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินมานมัสการ และได้ตรัสยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพระพุทธลักษณะงดงามยิ่งนัก "หลวงพ่อโม" อดีตเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม เคยได้ทำพระเครื่องแจกครั้งหนึ่งโดยทำเป็นรูปพระพุทธทศพลญาณ สร้างด้วยเนื้อชิน เรียกว่าหลวงพ่อโตวัดสามจีน ปรากฎว่าเป็นที่นิยมนับถือของคนทั่วไปว่า ศักดิ์สิทธิ์นัก ปัจจุบันนี้หายากแล้ว

naibot1.jpg (13628 bytes)
หลวงพ่อพระประธานในพระอุโบสถ (หลวงพ่อโต)

ได้รับการสถาปนาเป็นพระอารามหลวง

        วัดไตรมิตรวิทยาราม หลังจากที่ได้รับการปรับปรุงทั้งด้านถาวรวัตถุ การปกครอง การศึกษา และการเผยแผ่ ก็ด้วยความสามารถของเจ้าอาวาสรูปที่ ๙ อีกทั้งวัดไตรมิตรวิทยารามเป็นอารามที่มีสิ่งสำคัญเช่น พระพุทธรูปทองคำ ดังที่ปรากฎตามรายงานการประชุมสังฆมนตรีดังนี้
        รายงานการประชุมคณะสังฆมนตรี ครั้งที่ ๑๒/๒๔๙๙ วันเสาร์ ที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๔๙๙ ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตร

สังฆมนตรีที่มาประชุมคือ

                ๑.   สมเด็จพระวันรัต สังฆนายก องค์การปกครอง
                ๒.   พระธรรมโกศาจารย์ สังฆมนตรี ช่วยว่าการองค์การปกครอง
                ๓.   พระเทพเมธี สังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษา
                ๔.   พระศาสนโสภณ สังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่
                ๕.   พระธรรมปาโมกข์   สังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การสาธารณูปการ
                ๖.   พระธรรมดิลก สังฆมนตรี
                ๗.   พระธรรมปิฏก สังฆมนตรี

สังฆมนตรีที่มิได้มาประชุมคือ

                ๑.   สมเด็จพระพุฒาจารย์ สังฆมนตรีว่าการองค์การสาธารณูปการ ลาประชุม
                ๒.   พระพรหมมุนี สังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การเผยแผ่ ลาประชุม

        สมเด็จพระวันรัต สังฆนายก เป็นประธาน เริ่มประชุมเวลา ๑๔.๑๕ ฯ. เรื่องที่ประชุมคือ ฯลฯ
        เรื่อง ขออนุญาตยกวัดราษฎร์เป็นพระอารามหลวง

        ปรึกษาเรื่องพระวีรธรรมมุนี เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม อำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร ขออนุมัติยกวัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นพระอารามหลวง โดยที่วัดนี้สร้างมาแต่ พ.ศ. ๒๓๗๔ เป็นวัดโบราณมาแต่เดิม มีเสนาสนะเป็นหลักฐานมั่นคง เป็นระเบียบเรียบร้อย และโดยที่

        ๑.   วัดนี้มีการศึกษาพระปริยัติธรรม และมีโรงเรียนภาษาไทย ถึงชั้นอุดมศึกษา
        ๒.   มีปูชนียวัตถุ คือพระพุทธรูปทองคำพร้อมด้วยวิหารเป็นที่ประดิษฐานมั่นคง
        ๓.   เคยเป็นที่ประกอบพิธีของราชการเป็นครั้งคราว
        ๔.  รัชกาลที่ ๕ เคยเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระกฐิน และได้พระราชทานธรรมาสน์เทศน์
        ๕.     เคยได้รับพระบรมราชานุเคราะห์และได้รับการอุปถัมภ์จากทางราชการเป็นพิเศษคือได้รับเงินบำรุงจากทางราชการสมทบทุนสร้างอุโบสถ ๕ หมื่นบาท
        ๖.   มีพระภิกษุสามเณรจำพรรษาตั้งแต่พ.ศ.๒๔๙๕ ถึงพ.ศ. ๒๔๙๙ มีจำนวนตั้งแต่ ๗๐ รูปถึง ๘๐ รูป ทุกปี

        ข้อความละเอียดปรากฎตามหนังสือของเจ้าอาวาส ได้นำเสนอมาด้วยแล้ว ตลอดถึงสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองพิจารณาเห็นเป็นการสมควร และที่ประชุมกระทรวงวัฒนธรรมเห็นชอบด้วยแล้ว ที่ประชุมพิจารณาแล้ว เห็นสมควรให้ยกเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร

        ครั้นถึงวันที่๒๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๙๙ วัดไตรมิตรวิทยารามได้รับพระบรมราชูปถัมภ์ และได้รับพระบรมราชานุญาตให้ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร

3demail.gif (25156 bytes) analai60@hotmail.com