Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!

นิทานพื้นบ้าน

เรื่องที่  ๑    เด็กหญิงเล็กๆกับเห็ด

"ภายใต้ดวงอาทิตย์ ยังมีหลายชีวิตที่ต้องทำงานเพื่อตัวเอง"    เด็กหญิงเล็กๆสองคนเดินกลับบ้านถือตะกร้าใส่เห็ดมาเต็มตามทาง

ทั้งสองต้องผ่านทางรถไฟ ขณะอยู่บนทางรถไฟก็คิดว่ารถไฟยังไม่มา  จึงพากันเดินเล่นไปตามราง ...

...... ทันใดนั้นก็ได้ยินเสียงเครื่องยนต์ เด็กคนโตวิ่งกลับลงมาจากราง ออกไปข้างทาง ส่วนคนเล็กวิ่งข้ามรางรถไฟสะดุดเซ

ทำให้เห็ดในตะกร้าตกกระจาย    ด้วยความเสียดายเธอจึงกลับเข้ามาในรางอีกเพื่อเก็บเห็ดที่ตก   ทั้งๆที่พี่สาวตะโกนให้วิ่งเลยไปก่อนอย่าเพิ่งเก็บ

แต่เด็กน้อยก็ก้มลงเก็บทีละดอก ๆ   รถไฟใกล้เข้ามา พนักงานขับรถไฟเปิดหวูดเต็มที่

"ทิ้งเห็ดก่อน"!!!  เด็กหญิงคนพี่ตะโกนบอกน้องสาว แต่น้องสาวไม่ได้ยิน     กลับคิดว่าพี่สาวสั่งให้เก็บให้หมด เธอก้มคลานลงเก็บไปมาระหว่างรางรถไฟ

...พนักงานขับรถไฟไม่สามารถจะหยุดรถได้ทัน    พยายามเปิดหวูดเตือนอย่างเต็มที่แล้ววิ่งผ่านไป

พี่สาวตะโกนสุดเสียงและร้องไห้ คนโดยสารมองผ่านทางช่องหน้าต่าง    ตำรวจรถไฟวิ่งมาท้ายขบวนเพื่อดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเด็กหญิงเล็กๆนั้น

พอรถเลยไปทุกคนเห็นเด็กนั้นนอนนิ่งก้มหน้าอยู่ระหว่างรางรถ    เมื่อรถไฟผ่านพ้นไปแล้ว เธอก็เงยหน้าขึ้น คุกเข่าเก็บเห็ด ต่อไปจนหมด

แล้ววิ่งนำมาให้พี่สาว

( นิทานอมตะ ของ เคานต์ ลีโอ ตอลสตอย )

....พออ่านจบเราก็พบว่า ความรับผิดชอบต่องานหรือสิ่งที่ทำ

ไม่ได้วัดกันด้วยมูลค่าของงาน หรือ อายุ วุฒิภาวะของผู้รับผิดชอบ

แต่ว่าขึ้นอยู่กับจิตใจ สามัญสำนึกของผู้รับผิดชอบต่างหาก

..ลองดูเด็กหญิงตัวเล็กๆกับเห็ดในกร้าเธอ ซิ คุณเห็นอะไรบ้าง?

 

เรื่องที่   ๒   เจ้าชายไก่

               พระราชาองค์หนึ่ง  ปกครองเมืองเมืองหนึ่ง  พระองค์มีทหารเอกคู่พระทัยอยู่คนหนึ่ง  ซึ่งโดยปรกติแล้วทหารจะเป็นคน  แต่ทหารนี้เป็นไก่  และเป็นไก่ที่มีความสามารถเป็นอย่างยิ่ง  ขยันขันแข็ง  ทำงานทั้งเวลากลางวัน  และกลางคืนไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย  มีความมานะอดทนสูงมาก  จึงเป็นที่โปรดปรานของพระราชาเป็นที่สุด

           สำหรับในปีนี้ทหารไก่ทำนาตัวเดียวเริ่มตั้งแต่การไถคราด  ปักดำและเก็บเกี่ยวข้าว  นำมาลอมเรียงกันได้อย่างสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย

          วันหนึ่งพระราชาได้เสด็จทอดพระเนตรผลงานของไก่  เห็นลอมข้าวเต็มไปหมดก็ทรงมีความยินดียิ่งนัก  เพราะทรงเห็นว่าพระองค์เองจะได้ทรัพย์สมบัติเป็นเงินตรา ในการขายข้าวเป็นจำนวนมาก

          ส่วนไก่เมื่อจัดการนวดข้าวกองไว้ในลานเสร็จเรียบร้อยแล้ว  ก็รีบเข้าเฝ้าพระราชาทันที  เพื่อถามถึงส่วนแบ่งที่ตนเองจะได้รับในการทำนาครั้งนี้

           "ข้าแต่พระราชาผู้ยิ่งใหญ่  บัดนี้ข้าพระพุทธเจ้าได้จัดการนวดข้าวจากการทำนาในปีนี้ทั้งหมดเสร็จเรียบร้อยแล้ว  ข้าพระพุทธเจ้าใคร่จะทราบว่า  พระองค์จะทรงพระเมตตาแบ่งข้าวเปลือกให้ข้าพระพุทธเจ้าเป็นค่าตอบแทนในการทำนาจำนวนสักเท่าใดพระพุทธเจ้าข้า"  ไก่กราบทูลพระราชา

           พระราชาได้ยินไก่ถามดังนั้น  พระองค์ทรงคิดว่าข้าวทั้งหมดนี้ควรจะเป็นของพระองค์แต่เพียงผู้เดียว  ไก่นั้นเป็นทหารไม่ควรได้รับผลอะไรตอบแทน  แต่เพื่อไม่ให้ไก่เสียกำลังใจ  ท่านจึงตรัสตอบไก่ไปว่า

          "ส่วนแบ่งของเจ้าที่จะได้รับในครั้งนี้ก็คือ  จำนวนข้าวที่เจ้าสามารถนำใส่ลงไปในหูทั้งสองข้างของเจ้าเท่านั้น"

          ไก่เมื่อได้ยินพระราชาตรัสถึงส่วนแบ่งของตนดังนั้นก็ดีใจมาก  จึงกราบทูลต่อพระราชาว่า

          "เป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้  ข้าพระพุทธเจ้าจะจัดการนำข้าวใส่ลงไปในหูทั้งสองข้างของข้าพระพุทธเจ้า  ตามที่พระองค์ทรงอนุญาตเดี๋ยวนี้แหละพระพุทธเจ้าข้า"

          พูดจบแล้วไก่ก็เดินตรงไปยังกองข้าวเปลือกทันที  แล้วจัดการเอาข้าวใส่หูทั้งสองข้างของมัน  ในไม่ช้าข้าวเปลือกก็ค่อย ๆ หายเข้าไปอยู่ในหูของไก่จนหมดไม่มีเหลือสักเม็ดเดียว

           ฝ่ายพระราชาเมื่อทรงเห็นเหตุการณ์ดังนั้น  ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร  เพราะได้ตรัสไปแล้ว  ได้แต่ทอดพระเนตรไก่ขนข้าวใส่ลงไปในหูของมันด้วยความเสียดายยิ่งนัก

          ส่วนไก่เมื่อขนข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว  ก็เข้าไปกราบบังคมทูลลาพระราชาว่า

    "ข้าพระพุทธเจ้าได้อยู่กับพระองค์ท่านมาเป็นเวลานานแล้ว  ข้าพระพุทธเจ้าอยากจะไปเที่ยวยังเมืองอื่นบ้าง  พระองค์จะทรงอนุญาตหรือไม่  พระพุทธเจ้าข้า"

 

          "ตามใจเจ้าก็แล้วกัน  เรื่องนี้ข้าไม่ขัดข้อง"

          เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว  ไก่หนุ่มก็เดินทางออกจากเมืองเพื่อไปยังอีกเมืองหนึ่งซึ่งไก่หนุ่มทราบมาว่า  พระราชาทรงมีพระราชธิดาทรงพระสิริโฉมงดงามมาก

          ในขณะที่เดินทางผ่านป่าใหญ่  ก็พบหมาป่าตัวหนึ่งเดินสวนทางมา  หมาป่าถามไก่ว่า

          "นี่ท่านไก่จะเดินทางไปไหนหรือ?"

          "เราจะไปเมืองไกล  เพื่อไปชมโฉมพระราชธิดาแห่งเมืองนั้นว่าจะทรงมีพระสิริโฉมงดงามสักเพียงใด"  ไก่ตอบ

          "ข้าขอเดินทางไปกับท่านด้วยจะได้มั้ย"  หมาป่าขอร้อง

          "เจ้าอย่าไปเลย  เพราะระยะทางไกลมาก  หนทางก็ลำบาก  ข้าวปลาอาหารก็ไม่ค่อยจะมี"  ไก่อธิบาย

          "เอาเถอะน่า  ถึงจะไกลและลำบากยากเข็ญอย่างไร  ข้าก็อยากจะไปกับท่าน  ให้ข้าไปด้วยเถอะนะท่านนะ"  หมาป่าพูดเซ้าซี้ต่อ

           "เอ้าตกลงไปก็ไป  จะได้เป็นเพื่อนเดินทางกัน"  ไก่ตอบตกลง  แล้วไก่กับหมาป่าก็เดินทางไปด้วยกัน

          เดินทางไปได้สักพักใหญ่ ๆ หมาป่าก็เริ่มเหนื่อย  เพราะทางทุรกันดารลำบากมาก  หมาป่าจึงพูดกับไก่ว่า

          "ข้าเดินไม่ไหวแล้ว  ปวดเมื่อยไปหมดทั้งตัวเลย  ท่านช่วยข้าด้วยเถิด"

           "เราบอกเจ้าแล้วว่าอย่าตามเรามาเลย  เจ้าก็ไม่เชื่อเอาเถอะไหน ๆ เจ้าก็มากับเราแล้ว  เราจะช่วยเจ้า  เอ้าเข้าไปในหูของเรานี้"

          หมาป่าดีใจมากที่ไม่ต้องเดินก็รีบเข้าไปอยู่ในหูของไก่ทันที  แล้วไก่ก็เดินทางต่อไป

           ในขณะที่ไก่เดินทางไปนั้น  ก็พบกับหมาจิ้งจอกกลางทาง  หมาจิ้งจอกเห็นไก่เดินผ่านมาก็ถามว่า

          "นี่พี่ไก่  วันนี้พี่จะเดินทางไปไหนหรือ"

          "เราจะไปเมืองไกล  เพื่อไปชมโฉมพระธิดาแห่งเมืองนั้นว่าจะทรงมีพระสิริโฉมงดงามสักเพียงใด"  ไก่ตอบเหมือนกับที่เคยตอบหมาป่ามาแล้ว

           "ผมขอเดินทางไปกับพี่ด้วยจะได้มั้ยครับ"  หมาจิ้งจอกขอร้อง

          "เจ้าอย่าไปเลย  เพราะระยะทางไกลมาก  หนทางก็ลำบาก  ข้าวปลาอาหารก็ไม่ค่อยมี"  ไก่อธิบาย

          "ถึงจะไกลและลำบากอย่างไร  ผมก็อยากจะไปกับพี่  ให้ผมไปด้วยเถอะนะพี่นะ"  สุนัขจิ้งจอกพูดเซ้าซี้ต่อ

           "เอ้า  ตกลงไปก็ไป  จะได้เป็นเพื่อนกันเดินทาง  แต่เจ้าอย่าบ่นนะ"

 

          เดินทางไปได้สักพักใหญ่ ๆ หมาจิ้งจอกก็เริ่มเหนื่อย  ชักจะเดินต่อไปไม่ไหว  หมาจิ้งจอกจึงพูดกับไก่ว่า

          "พี่ไก่ครับ  ผมเดินไม่ไหวแล้ว  หยุดพักเหนื่อยสักประเดี๋ยวจะได้มั้ยครับ"

          "เราบอกเจ้าแล้ว  ว่าอย่าตามเรามาเลย  เจ้าก็ไม่เชื่อ  เราไม่มีเวลาหยุดหรอก  เราจะเดินทางต่อไป  แต่เราก็จะช่วยสงเคราะห์เจ้า  เอ้า  เข้าไปในหูของเรานี่"

           หมาจิ้งจอกก็รีบเข้าไปในหูของไก่ทันที  แล้วไก่ก็เดินทางต่อไป  ไปพบหมาไนตัวหนึ่งและก็ได้ติดตามไก่ไปด้วย  ในที่สุดหมาไนก็ต้องเข้าไปอยู่ในหูของไก่เป็นตัวที่สาม

           ไก่เดินทางมาใกล้จะถึงเมืองของพระราชาผู้มีพระราชธิดาทรงพระสิริโฉม  ก็พบกับสิงห์โตตัวหนึ่ง  ซึ่งก็ได้ตกลงเดินทางไปกับไก่ด้วย  และในที่สุดสิงห์โตก็ต้องเข้าไปอยู่ในหูของไก่เป็นตัวที่สี่

          ไก่ก็เดินทางต่อจนถึงเมืองที่ปรารถนา  เมื่อเข้าไปในเมืองได้  ไก่ก็ไปขอร้องแก่ทหารที่รักษาพระนครให้ไปกราบบังคมทูลพระราชา  ว่ามีแขกซึ่งเป็นไก่ต้องการเข้าเฝ้า  และมีความปรารถนาจะแต่งงานกับพระราชธิดาของพระองค์

           ทหารที่รักษาพระนคร  ก็รีบดำเนินการเข้าไปกราบบังคมทูลพระราชา  ตามที่ไก่ขอร้อง  เมื่อพระราชาได้ฟังดังนั้น  พระองค์กริ้วมาก  สั่งให้ทหารเข้าจับกุมไก่ทันที  แล้วให้นำไก่ผู้ทระนงตัวนั้นไปขังไว้ในเล้าใหญ่ในเมืองปนกับไก่อื่น ๆ

          เมื่อได้โอกาสเหมาะ  ไก่ที่มาจากแดนไกลก็เรียกให้หมาป่าออกมาจากหูของตน  หมาป่าก็ออกมากินไก่ของพระราชาจนหมดเล้า

           ฝ่ายพระราชาเมื่อทรงทราบเรื่องก็กริ้วมาก  ทรงให้จับไก่ผู้อวดดีตัวนั้นไปขังไว้ในคอกแพะอีก  เมื่อได้โอกาสเหมาะ  ไก่ที่มาจากแดนไกลก็เรียกให้หมาจิ้งจอกออกมาจากหูของตน  หมาจิ้งจอกก็จัดการกินแพะของพระราชาเสียหมดคอก

           ฝ่ายพระราชาเมื่อทรงทราบเรื่องก็ทรงตกพระทัยมาก  จึงสั่งให้ย้ายไก่ไปขังไว้ในคอกแกะอีก

           เมื่อได้โอกาสเหมาะ  ไก่ก็เรียกหมาไนออกมาจากหูของตน  หมาไนก็จัดการกินแกะของพระราชาเสียจนหมดคอกอีกเช่นเคย

          ฝ่ายนายประตูเมื่อเห็นไก่ตัวนี้มีฤทธิ์มาก  จึงได้เข้าไปกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ  พระราชากริ้วมาก  สั่งให้นำไก่เข้าเฝ้าหน้าพระที่นั่ง  เพื่อจะได้ลงโทษด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง

           เมื่อไก่ถึงหน้าพระที่นั่ง  ก็เรียกให้สิงห์โตเจ้าป่าออกมากจากหูของตน  สิงห์โตก็ออกมาร้องคำรามเสียงดัง  ทำให้เกิดเหตุการณ์โกลาหลขึ้น  เพราะทหารที่อยู่ใกล้ ๆ ต้องวิ่งหนีกันกระเจิดกระเจิงไป

           ในที่สุดก็เหลือแต่พระราชาเพียงพระองค์เดียว  พระราชาไม่รู้จะทรงทำประการใดดี  จึงทรงหาวิธีเอาตัวรอดโดยขอเชิญให้ไก่แต่งงานกับพระธิดาผู้ทรงพระสิริโฉมของพระองค์  พร้อมทั้งจะยกสมบัติให้ไก่ปกครองกึ่งหนึ่ง

 

          ไก่ผู้ทระนงตัวนั้นจึงกลับกลายร่างเป็นชายหนุ่มรูปงาม  พระราชาเห็นดังนั้นจึงจัดพิธีแต่งงานให้อย่างสมเกียรติและทรงอภิเษกให้ปกครองบ้านเมืองแทนพระองค์สืบต่อมาอย่างมีความสุข

ข้อคิดที่ได้จากนิทานเรื่องนี้

          1. ความขยันขันแข็ง  มานะอดทนในการทำงาน  จะทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิต

           2. ทุกคนต่างก็ต้องพึ่งพาอาศัยกัน  ฉะนั้นการมีเพื่อนที่ดี  จึงนับเป็นสิ่งที่มีประโยชน์  เพราะในบางครั้งเพื่อนอาจช่วยเหลือกันได้เมื่อภัยมา

 

 

เรื่องที่  ๓   สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น "

           มีกระทาชายนายหนึ่ง เป็นชาวชนบทหลังจากที่แต่งงานแล้วไม่นานนักตีเสียว่าสักเดือนสองเดือน มีธุรกิจเกี่ยวกับการหาเงินทองมาใช้จ่าย จึงให้เมียอยู่บ้านโดยลำพัง ส่วนตัวเองเดินทางไปค้าขายในต่างถิ่น เป็นเวลาเกือบสองปีก็คิดว่าเสร็จธุรกิจทางการค้าขายแล้ว ก็คิดว่าไหน ๆ เราก็จากบ้านเกิดเมืองนอนมานานแล้ว น่าจะได้คาถามอาคมอะไรดี ๆ ไว้ใช้ประจำตัวบ้าง คิดได้ดังนั้นก็เข้าไปถวายตัวอยู่เป็นศิษย์ในสำนักของฤๅษี 

      แกเฝ้าปรนนิบัติเก็บผักหักฟืนอยู่อีกหลายเดือน เรียนคาถาอาคมได้หลายอย่างดี ๆ ทั้งนั้น ครั้นตอนลากลับบ้าน พระฤๅษีสอนมนต์ให้บทหนึ่ง เรียกว่า "คาถาเข้าบ้าน" หมายความว่า ให้เสกเวลาเข้าไปในบ้านเรือนของตน

       คาถานั้นมีว่า " โอม ..สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น     สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ   สิบมือคลำไม่เท่ากระทำในใจ ดีอยู่ที่ปาก ทุกข์ยากอยู่ที่มือ เพี้ยง ! "

       พระฤๅษีสั่งว่า เจ้าจากบ้านเรือนมานาน เวลาจะเข้าบ้านให้เสกบทนี้ แล้วจะได้เมียหนึ่งคนกับลูกหนึ่งคน

       ในระหว่างทาง ก่อนจะถึงบ้าน เขาได้พบกับเพื่อนคนหนึ่งและได้รับข่าวร้ายว่าภรรยาของเขาได้นอกใจเสียแล้ว หลับนอนกับชายชู้จนมีลูกได้ 1 คน

       ข่าวนี้เสมือนสายฟ้าฟาดลงบนกระหม่อมของเขา "เสียแรงรักเสียแรงที่เขาอุตส่าห์ทำงานตรากตรำบากหน้าไปหาเงินหาทองถึงแดนไกล  มีชู้เสียได้! " เขารำพึงด้วยความน้อยใจระคนกับความแค้น

         "คิดดูเอาเองก็แล้วกัน เพื่อนเอ๋ย ..ฉันเองก็ไม่เคยคิดว่าเมียเพื่อนจะเป็นถึงอย่างนั้น แต่.." เพื่อนอีกคนหนึ่งบอกข่าว

       "ข้าคิดว่า แกตรงไปที่บ้านแม่จะดีกว่าบ้านเมีย" ชาวบ้านอีกคนตักเตือนด้วยเหตุผลอย่างเดียวกัน

        คนอื่น ๆ อีกก็ล้วนแต่ให้ข่าวทำนองเดียวกันนี้ เพราะเขารู้กันทั่วบ้านว่า "ผัวไม่อยู่ แล้วเมียดันมีลูก" และปักใจเชื่ออย่างแน่วแน่ว่าเมียตัวมีชู้ ไม่มีทางจะเป็นอย่างอื่น "แล้วเมียทรยศอย่างนี้จะเก็บไว้ทำไม อย่ากระนั้นเลย ฆ่ามันเสีย!"  เขาคิดคำนึงและตัดสินใจ แล้วก็มุ่งหน้าไปยังบ้านของตนซึ่งเป็นบ้านที่เขาทิ้งให้ภรรยาอยู่ตามลำพัง  ตอนนี้จิตใจของเขาได้เปลี่ยนจากคนสามัญเป็นเพชฌฆาตแล้ว พร้อมที่จะสังหารนางเมียหญิงสองใจและถ้าเป็นไปได้เจ้าชายชู้และลูกของมันก็จะต้องตายในคราวเดียวกันด้วย

       เขาซ่อนร่างเข้าไป จนถึงหน้าห้องนอนของเมีย แน่แล้ว! ได้มีเสียงแว่วออกมาจากในห้อง

      "ดึกแล้ว แก้วตานอนกันที อย่ากวนนักเลย" เป็นเสียงที่เขาได้ยินอย่างชัดเจน

      เขาชักดาบคู่มือออกมากุมแน่น

      "มันกำลังพรอดรักอยู่กับชายชู้พอดี" เขาคิด แต่แล้วพระคาถาที่เรียนมาจากฤๅษีก็แว่วขึ้นในใจ

      "สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น"

       ทำให้เขาได้สติว่า ข่าวคราวต่าง ๆ ที่เราได้ทราบมาก่อนนั้นอาจจริงหรือไม่จริงก็ได้พระอาจารย์ก็บอกแล้วว่า "สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น" ถ้ากระนั้น เราน่าจะเปิดประตูออกดูให้เห็นกับตาเสียก่อนดีกว่า

       เขาค่อย ๆ ผลักประตูออก แล้วกวาดสายตาดูภายในห้อง ไม่มีอะไรชวนสงสัยที่จะเป็นอื่น ในเมื่อมีมุ้งกางไว้หลังเดียว แลวมีคนนอนอยู่ในมุ้งนั้นเกินกว่า 1 คน มันเป็นเมียของเราคนหนึ่ง แล้วอีกคนล่ะเป็นใคร  นอนจากชายชู้ ไม่ต้องดูหน้ามันให้เป็นเสนียดนัยน์ตาแล้ว จัดการเสียเลยดีกว่า

       ดาบคู่มือของเขาซึ่งเตรียมพร้อมอยู่แล้ว ได้ถูกเงื้อขึ้นสุดแรงแขนหมายจะฟันให้ยับคามุ้ง

       แต่ทันใดนั้น พระคาถาท่อนที่สองก็แว่วขึ้นในใจของเขา

      "สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ     

       "จริงซี ไหนลองคลำดูก่อนสิ" เขาคิดแล้วก็ใช้มือที่ว่างคลำดูเบา ๆ ความมั่นใจของเขาแต่เดิมที่ว่าเมียกับชู้กำลังนอนอยู่ด้วยกันนั้น ได้เปลี่ยนไปเพราะปรากฏว่าคนที่กำลังหลับนอนอยู่ในมุ้งนั้นกลายเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งกับเด็กน้อยอีกคนหนึ่ง

       "ก็ช่างปะไร เจ้าเด็กคนนี้มันจะเป็นคนอื่นไม่ได้นอกจากลูกชายชู้ ลูกมันก็เหมือนตัวมัน เชื้อไม่ทิ้งแถว"

        แต่ก่อนที่การฆาตกรรมมืดจะเกิดขึ้น คาถาของพระอาจารย์ท่อนที่สามและสี่ก็แว่วขึ้นในใจ

        "สิบมือคลำไม่เท่ากระทำในใจ

        "ดีอยู่ที่ปาก ทุกข์ยากที่อยู่มือ

       "สิบมือคลำยังไม่เท่ากระทำในใจ"  ต้องคิด ต้องพิจารณาใจจะมีประโยชน์อันใด ถ้าคนเราอาศัยแต่เพียงลมปาก และว่า "ทุกข์ยากอยู่ที่มือ" นี่ใจเราก็ยังไม่ได้พิจารณาให้รอบคอบ ปากเราก็ยังไม่ได้ใช้ ปากเรามีแต่ไปเชื่อแค่ลมปากคนอื่น จะฆ่ามันเมื่อไรก็ฆ่าได้ ลองปลุกขึ้นมาถามดูก่อนดีกว่า

       เมื่อเขาปลุกภรรยาขึ้นมาซักถามดูแล้วก็ได้ความว่า เมื่อเขาจากไปแล้วภรรยาก็ตั้งท้อง จนกระทั่งคลอดลูกออกมาเป็นทารก นางอุตส่าห์ถนอมเลี้ยงดู หวังจะเอาลูกผู้น่าเอ็นดูไว้รับสามี  วันคืนเดือนปีและอายุของเด็กนั้น สอบสวนแล้ว มีเหตุผลเพียงพอที่จะเชื่อได้ว่า เด็กนั้นเป็นลูกของเขาเอง เขารำพึงแต่ในใจว่า

                 "สิบปากว่า ..สิบปากว่า

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  เชื่อคนง่ายเสียคนเร็ว  คิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ  จงพกหินในอกอย่าพกนุ่น และ ..อย่าวู่วามโกรธง่ายจะเสียใจภายหลัง .

 

เรื่องที่   ๔   อานุภาพแห่งความอ่อน "

                ต้นไทรเป็นต้นไม้ใหญ่ คืนวันหนึ่งเกิดพายุแรง ต้นไทรก็ยังสามารถยืนต้นสู้พายุอย่างไม่ลดละ แม้พายุจะกระหน่ำแรงสักปานใด

           ในที่สุด ไม่สามารถจะทานแรงของพายุได้ จึงได้หักโค่นลงลอยตามน้ำไปติดอยู่ที่กออ้อ

         ส่วนไม้อ้อ รู้จักลู่ไปตามแรงลมแรงน้ำ ไม่แข็งต้นยืนสู้พายุที่กระโชกพัดเหมือนต้นไทรจึงพ้นอันตรายจากพายุร้ายนั้นได้

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

               การทำตัวเป็นไม้อ้อโดยยอมโอนอ่อนต่อผู้ใหญ่และผู้มีอำนาจด้วยการไม่แข็งกระด้างย่อมให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองในยามคับขัน ส่วนการทำตัวเป็นไม้ไม่ยอมอ่อนแก่ใครเลย ไม่ว่าเวลาใดมุ่งหมายแต่จะอวดกล้าใช้ความแข็งและความกระด้างของตนตลอดเวลา ย่อมเป็นเหตุทำลายตัวเองอย่างแน่นอน ..เชื่อเถอะ

 

เรื่องที่  ๕  อุบายของพ่อ "

           ชายแก่คนหนึ่งมีลูกหลายคน ลูกเหล่านั้น ทะเลาะกันวุ่นวายอยู่เสมอมิได้ขาด  พ่อสั่งสอนเท่าใดก็ไม่เลิกทะเลาะกัน

      วันหนึ่งพ่อจึงบอกให้ลูกไปหาแขนงไผ่มาคนละสองสามอัน ตามแต่จะหาได้ เมื่อได้มากพอแล้วพ่อเอาแขนงไผ่เหล่านั้นมัดรวมกันเข้าเป็นกำเดียว ส่งให้ลูกหักแขนงไผ่ทั้งมัด โดยเต็มกำลังทีละคน ๆ ก็ไม่มีใครหักได้สักคนเดียว พ่อจึงแก้มัดแขนงไผ่แล้วยื่นให้หักแต่คนละอัน ๆ ลูกก็หักได้ พ่อจึงพูดให้ฟังว่า "นี่แหละลูก ถ้าพวกเจ้ารักกัน พร้อมใจกัน ช่วยธุระกัน ไม่ว่าในการงานใด ๆ ให้กลมเกลียวเป็นอันเดียวกัน พวกเจ้าจะมีกำลังมั่นคงเหมือนกับแขนงไผ่ทั้งหมด ถึงใครคิดร้ายก็ทำร้ายแก่พวกเจ้าไม่ได้ แต่ถ้าเจ้าทะเลาะวิวาทแตกแยกกันต่างคนต่างใจแล้วก็เช่นเดียวกันกับแขนงไผ่เป็นอัน ๆ ใครเขาก็จะทำร้ายได้ ทำไปทีละคน ๆ ก็จะหมดพวกเจ้าทุกคนในไม่ช้าไม่นานเท่าใด"

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า   ความรักใคร่ช่วยเหลือกันและกันไม่วิวาทกันย่อมเป็นกำลังด้วยกันทุกคน.

เรื่องที่   ๖  " มันไม่แน่ "

             มีพ่อตากับลูกเขยคู่หนึ่ง

      ลูกเขยเป็นคนมีปกติเชื่อพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ไม่เที่ยง ๆ" ก็ต้องไม่เที่ยง แต่พ่อตาเป็นคนไม่ค่อยจะเข้าวัดไม่เชื่อบอกว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องเที่ยง วันหนึ่งไปตกเบ็ดด้วยกันเผอิญไปเรือลำเดียวกัน วันก่อนไปคนละลำ  พ่อตาไปตกทางหนึ่ง ลูกเขยไปตกอีกทางหนึ่ง วันนี้เรือไม่มีเลยไปด้วยกัน พ่อตาดึงลูกเขยไปทางที่ตัวเคยตกได้ ลูกเขยก็ว่าไม่ต้องหรอกพ่อ ข้างไหนก็ได้ที่พ่อบอกว่าเคยได้ มันอาจไม่ได้ก็ได้ มันไม่แน่ พ่อตาบอกว่าไม่ได้ มันต้องแน่สิว่ะ เพราะมันเคยได้นี่ ลูกเขยก็ยอมพ่อตาเพราเอาลูกสาวเขามาเป็นเมีย ไม่ยอมได้อย่างไร  

        ก็ไปตกอยู่ตั้งนานปลาก็ไม่ติดเบ็ด ลูกเขยบอกพ่อตาว่านี่แหละพ่อ บอกว่ามันไม่แน่ ๆ อย่างนี้ เมื่อวานได้ วันนี้ไม่ได้

        พ่อตาก็ว่า "ว่ะ ..มันเคยได้ก็ต้องได้สิว่ะ ขอเวลาอีกหน่อย" เผอิญปลากินเบ็ด พ่อตาก็บอกว่า "นี่แนะ กูว่าแน่ กูเคยได้ก็ต้องได้" ตอนนี้ลูกเขยชักยั่วแล้ว เลยพูดว่า  " ไม่แน่นักนะพ่อ เบ็ดคันนี้ปลาโดดไปโดดมาอาจจะไม่ได้กินก็ได้นะพ่อ"

"ชะ  ๆ ๆ ช่า มึงอย่ามาดูถูกกูไอ้เบ็ดค้นนี้ กูตกปลากมาจนได้ลูกสาวมาเป็นเมียเป็นแม่มึงได้ก็เพราะเบ็ดคันนี้"

ลูกเขยก็นิ่งไม่ว่าอะไร  สักครู่หนึ่ง

" ไม่แน่นะพ่อ ปลาอาจจะโดดน้ำหนีไปก็ได้" ลูกเขยพูดขึ้นลอยๆ

        ถึงตอนนี้ พ่อตากลัวจะแพ้ลูกเขยก็บอกว่า "งั้นกลัง..! กลับ หิ้วปลามาด้วย"  และก็ยังพูดกับลูกเขยตลอดเวลา " นี่แนะให้มันโดยก็โดดไปสิว่ะ " ลูกเขยก็ไม่ว่าอะไร

        พอถึงบ้าน พ่อตาจะเอาชนะลูกเขยให้ได้ จึงหุงข้าวเอง หุงข้าวเสร็จก็ตั้งหม้อน้ำ ขูดเกล็ดปลาแกรก ๆ แล้วก็บอกลูกเขยว่า " มันกระโดดไปให้มันรู้ไปสะว่ะ" ลูกเขยก็ว่า "ไม่แน่นะ พ่ออย่าโม้ไป"  พอปลาลงหม้อต้มยำ พ่อตาก็บอกลูกเขยว่า "นี่ มึงนะแพ้กูแล้ว นี่เดือดพลัก ๆๆ อยู่นี่ให้แม่มันโดยก็ให้รู้ไปสิ " ลูกเขยบอกว่า "ไม่แน่นะพ่ออย่าเพิ่งคุยไป"  เผอิญปลาต้มยำเสร็จ พ่อตาก็ยกมาทั้งหม้อเลย ตั้งไว้ในถาดคดข้าวให้ลูกเขยจานหนึ่ง พ่อตาจานหนึ่ง ทำท่าจะกินอยู่แล้ว พ่อตาก็ถามว่า " มึงว่าไม่แน่อีกหรอ? " ลูกเขยตอบว่า "ไม่แน่นะ บางทีอาจจะยัดไม่เข้าปากก็ได้"

        ถึงตอนนี้ พ่อตาชักเดือด  .." ไอ้ฉิบหาย ไม่แน่ซะเรื่อย แกมันยั่วกูนี่หว่า ไม่ต้องกินกันแล้ว"  เลยยกหม้อต้มยำทั้งถาดทุ่มหัวลูกเขยโครมใหญ่ ต้มยำหกหมดลูกเขยไม่ยักโกรธ ลุกขึ้นบอกว่า "นี่พ่อ มันไม่แน่ "  ไม่ได้กินทั้งคู่ แพ้ลูกเขยเสียจนได้ ต้มยำจะเข้าปากอยู่แล้ว ก็ไม่ได้กินทั้งคู่ เฮ้อ ..ไม่แน่ๆๆ จริงๆ

 

เรื่อง ที่  ๗  ก าดำ . "

               นานมาแล้ว เมื่อสมัยที่นกทั้งหลายยังไม่ค่อยมีความแตกต่างกันมากนัก ต่างมีสีเดียวกันหมดเลย คือเป็นสีขาว สร้างความลำบากใจแก่ฝูงนกยิ่งนึกในการที่จะจำว่านั่นเป็นนกจำพวกไหน จึงได้มีการประชุมนกครั้งใหญ่ขึ้น ต่างประมูลแบ่งสีสันกันไปเป็นสัดส่วน นกแก้วรวยหน่อยจึงประมูลได้สีตัวที่มีสีสันหลากสี

       นกทั้งหลายต่างทะยอยแบ่งสีสันกันไปเรียบร้อย เหลือแค่นก 2 ตัวที่ยังมาไม่ทันเขา คือนกกระยาง กับ กา

       เมื่อนกทั้งสองมาถึงปรากฏว่าสีได้หมดไปแล้ว ..

         "นกกระยางไม่ได้ใช้สีอะไรหรอก ใช้สีขาวนั่นเลยก็ได้เพราะยังไม่มีนกตัวใดเอาไปใช้เลย" เจ้าหน้าที่นกแจง

       "แล้วฉันล่ะ" กาเอ่ยขึ้นบ้าง

       "สีก็หมดแล้ว เอ ..ทำไงดี" เจ้าหน้าที่นกครุ่นคิด

        ตอนนั้นมีถ่านที่ชาวนาเผาทิ้งลงเหลืออยู่แถวนั้นมาก เจ้าหน้าที่นกจึงเกิดไอเดียว่า น่าจะเอาถ่านมาละลายน้ำทำเป็นสีดำทาให้กา ..

         และตั้งแต่นั้นมา กาจึงเป็นสีดำด้วยประการฉะนี้แล.

 

เรื่องที่   ๘   อยากเป็นหมา .. "

               ฤๅษีตนหนึ่ง มีวิชาวิเศษแสนขลังฉมังนัก ปลุกเสกอะไรได้สารพัด ที่กุฏินั้น มีสุนัขอยู่ตัวหนึ่ง ฤๅษีเลี้ยงไว้และเฝ้าดูนิสัยของมันจนเข้าใจความรู้สึกของมันดีว่าเป็นหมาที่มักใหญ่ใฝ่สูงมาก แล้วก็พูดกับมันรู้เรื่องเสียด้วย

        วันหนึ่ง ฤๅษีว่างจากการเข้าฌานภาวนา บังเอิญเจ้าหมาก็เข้ามาเคล้าเคลียอยู่ไม่ห่าง ฤๅษีจึงเอ่ยปากพูดกับสุนัขว่า " เจ้าสุนัข เอ็งนะ เคยนึกภูมิใจหรือหยิ่งในความเป็นหมาของเอ็งบ้างไหมว่ะ?"  "ไม่เลยครับอาจารย์ เพราะใคร ๆ ก็ตีราคาหมาต่ำ ใครทำชั่วอะไรสักอย่าง ก็มักจะอ้างเอาหมาไปเปรียบเปรยเป็นคำด่า"

           ฤๅษีได้ฟังดังนั้นจึงพูดกะมันว่า "ถ้าเช่นนั้น เอ็งอยากเป็นอะไรบอกข้ามา จะเสกให้เอ็งเป็น" สุนัขได้ฟังดังนั้นก็ดีใจ นิ่งนึกเลือกจะเป็นในสิ่งที่ดีที่สุดมันแหงนหน้ามองดวงตะวัน พลันนึกได้ก็เรียกตาฤๅษีว่า " ผมอยากเป็นดวงตะวันครับ เพราะแผดแสงแรงร้อน ทำให้ใคร ๆในโลกกลัวเกรงได้ "

           ฤๅษีก็ภาวนาคาถาฤทธิ์เป่าพรวดเดียว หมาน้อยที่ไม่ธรรมดาตัวนั้น ก็กลายเป็นดวงตะวันไป มันแผดแสงร้อนแรงด้วยตั้งใจจะสำแดงให้สัตว์ทั้งโลกเห็นความสำคัญของมัน  สัตว์โลกทุกชนิดเขาพากันเดือดร้อน เที่ยวซ่อนเที่ยวซุกหาที่ระงับดับความเร่าร้อน ตะวันหมาชอบใจมากที่เห็นสัตว์ทั้งหลายเดือดร้อนเพราะอิทธิพลของตน

           แต่อีกชั่วขณะต่อมาเมฆก้อนใหญ่ได้เคลื่อนมาบัง ทำให้ตะวันเปล่งแสงสำแดงฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ จึงลงมาขอให้ฤๅษีเสกให้ใหม่ ให้มันกลายเป็นเมฆเพราะเห็นว่ามีอำนาจปิดบังฤทธิ์ตะวันได้  ฤๅษีก็เสกให้ตามใจ พอได้เป็นเมฆ เจ้าเมฆหมาก็คอยปิดบังแสงตะวัน ทำให้โลกร่มครึมไม่สดใสอยู่ชั่วขณะ แต่แล้วเมฆเกเรสันดานหมาก้อนนั้นก็ถูกพายุพัดแตกกระจาย เจ้าเมฆหมาเจ็บใจมากเห็นว่าเป็นเมฆไม่เข้าท่าสู้พายุไม่ได้ จึงลงมาขอให้ฤๅษีเสกให้มันเป็นพายุ   พอได้เป็นพายุเท่านั้นมันก็พัดโหมกระหน่ำด้วยความคะนอง ประลองฤทธิ์  ต้นไม้ใหญ่น้อย ตลอดทั้งบ้านเรือน ก็พากันพินาศไป แต่สิ่งหนึ่งหาได้สะเทือนเพราะแรงพายุไม่ นั่นก็คือ จอมปลวก แม้พายุจะโหมพัดขัดแรงเพียงไรจอมปลวกก็คงปกติ เจ้าหมาพายุ เลยกลับมาหาฤๅษีอีก ขอเปลี่ยนเป็นจอมปลวกเพราะมันทนทานดี พอเป็นจอมปลวกได้ไม่เท่าไรควายถึกตัวหนึ่งคึกคะนองประลองเขาขวิดเอาจอมปลวกพังทลายไป เจ้าหมาก็เลยอยากเป็นควาย ขอให้อาจารย์เสกแล้วก็ได้เป็นควายจริงด้วยอำนาจเวทมนต์ แต่ไม่นานเท่าไรควายก็ถูกเจ้าของจับสนตะพายใช้เชือกผูกล่ามไว้กับหลักหมดอิสระจะไปไหนก็ไม่ได้  เจ้าควายถึกกำพืดหมาก็มาหาอาจารย์อีก ขอเป็นเชือกเถอะครับอาจารย์ เพราะบังคับควายให้อยู่กับที่ได้แล้ว  และแล้วก็ได้เป็นเชือกสมใจ แต่เป็นเชือกอยู่ได้ไม่นานเท่าไร สุนัขตัวหนึ่งมากัดเชือกล่ามควายขาด เจ้าหมาตัวนั้นก็สิ้นอยากที่จะเป็นเชือกเข้าไปขอให้อาจารย์ช่วยเสกให้เป็นหมา ..เพื่อจะเอาชนะเชือก ท่านฤๅษีอาจารย์ได้ฟังดังนั้น ก็ตวาดว่า ก็มึงเป็นหมาอยู่แล้ว จะให้กูเสกไปใยเล่า ..!!

 

 

เรื่องที่  ๙  วิชาเศรษฐี "

     ชายคนหนึ่งเคยบวชเรียนมาแล้ว มีนิสัยชอบรู้ชอบเห็น ชอบศึกษาค้นคว้า นับเข้าในประเภทคนฉลาดได้คนหนึ่ง แล้วยังเป็นคนคุยเก่ง คุยได้ทุกเรื่องอีกด้วย แต่ว่าเป็นคนฐานะไม่ค่อยดี พอมีกินมีใช้ไปวัน ๆ เท่านั้น

            วันหนึ่งจึงคิดว่า "เราน่าจะไปหากำนัน เพื่อเรียนรู้ความเป็นเศรษฐีกับกำนันเสียแล้ว เพราะกำนันเป็นคนรวยที่สุดในตำบลนั้น " พอคิดดังนั้นก็ไปหากำนันทันที

            ฝ่ายกำนันเห็นเขามาสมัครเรียนวิชาเศรษฐีด้วยก็ยินดีรับไว้ ด้วยเห็นว่าหน่วยก้านของเขาพอไปได้ ทั้งคำพูดคำจาก็ดูจะเป็นคนใช้ได้อยู่ แต่ตกลงกันว่าวิชานี้อาจจะไม่จบง่าย ๆ ต้องเรียนกันนานหน่อย ให้เขากินอยู่ในบ้านเลย ช่วยทำงานบ้านด้วยโดยไม่ต้องรับค่าจ้าง เขารับคำตามข้อเสนอ

            เมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้วเขาก็ถามกำนันว่า "จะให้เริ่มเรียนได้เมื่อไร?" กำนันบอกว่า "เรียนกันวันนี้เลยก็แล้วกัน เพราะเป็นวันพฤหัสบดี อันเป็นวันครูอยู่แล้ว "  เขาดีใจมากจึงคุยกับกำนันอย่างถูกคอ

            ตกเย็น..

            กำนันก็ให้คนจัดอาหารมาขึ้นโต๊ะ ส่วนมากก็อาหารดี ๆ ทั้งนั้น และมีหลายอย่างด้วยกัน เขาถามกำนันว่าจะเลี้ยงใคร จึงจัดอาหารมากมายอย่างนี้ กำนันตอบว่าก็เลี้ยงเรานั่นหละ วันนี้ต้องรับลูกศิษย์เสียหน่อย เขาคิดว่า อ้อ ..คนเป็นเศรษฐีนั้นจะต้องเลี้ยงกันด้วยอาหารดี ๆ โต๊ะใหญ่ ๆ อย่างนี้นี่เอง

            พอถึงเวลากำนันก็ให้เขานั่งโต๊ะประจำที่ แล้วบอกให้ทานได้ เขาก็เริ่มลงมือตักข้าวใส่จาน แล้วก็เอื้อมมือไปหยิบขวดเหล้ายี่ห้อดีจะรินดื่ม กำนันก็จับมือเขาไว้ พลางพูดว่า

            "เราชอบเหล้ามากหรือ?"

            "ของโปรดทีเดียวครับ" เขาตอบ

            "เออ ..เหล้านี่ ถ้าไม่กินจะตายไหม?"

            "ไม่ตายครับ"

            "ไม่ตาย แสดงว่าเหล้าไม่จำเป็นต่อร่างกายใช่ไหม?"

            "ใช่ครับ"

            "เหล้าเมื่อกินแล้วเมาไหม?"

            "เมาครับ"

            "เมาแล้วคุมสติไม่ได้ โวยวายเหมือนคนบ้าใช่ไหม?"

            "ใช่ครับ"

            "เธอชอบเป็นคนบ้าหรือคนดี?"

            "ชอบเป็นคนดีครับ"

            กำนันเลยสรุปว่า "เมื่อเหล้าไม่จำเป็นต่อชีวิต ไม่กินก็ไม่ตาย แต่กินแล้วเมาทำให้เหมือนคนบ้า ก็อย่าไปกินมัน "  ว่าแล้วก็ให้คนยกขวดเหล้าไปเก็บเสีย

            เขามองตามอย่างเสียดาย ..

            กำนันถามเขาไปเรื่อย ๆ สิ่งใดที่ไม่จำเป็นต่อชีวิต ถึงไม่ได้กินก็ไม่ตายก็ให้ยกออกเก็บ เอาไว้เฉพาะที่จำเป็นต่อชีวิตต่อร่างกายจริง ๆ คือข้าวและกับข้าวเพียง3-4 จาน แล้วพูดว่า

            " อาหารเหล่านี้จำเป็นต่อชีวิตจริง ๆ เมื่อไม่กินร่างกายจะอยู่ไม่ได้ แต่มันมีมาก เราสองคนกินหมดไหม?"

            เขาตอบว่า "ไม่หมดครับ"

            "ถ้าไม่หมด มันเหลือ จะเสียไหม?"

            "เสียครับ"

            "เอ้า ..ถ้าเสียอย่างนี้ก็เอาไว้กินสัก 2-3 อย่างก็พอ เอาของแห้ง ๆ เก็บไว้ก่อน มันไม่บูดไม่เสีย" ว่าแล้วก็ให้ยกเก็บอีก และลงมือรับประทาน

            เมื่อทานอาหารกันเสร็จแล้ว กำนันก็ชวนเขาคุยต่อ เขาถามว่า "เมื่อไรจะให้เรียนสักที " กำนันตอบว่า " เธอเรียนมาแล้ว ตั้งแต่อยู่ที่โต๊ะอาหารนั่นแหละ"

            คนที่จะเป็นเศรษฐีได้นั้น ต้องเริ่มที่การกินก่อน ถ้ากินไม่เป็นก็เป็นเศรษฐีได้ยาก

            กำนันพูดเท่านี้ เขาก็เข้าใจทันที พร้อมกับพูดเสริมว่า "ที่คนเราส่วนมากจน ๆ กันก็เพราะกินไม่เป็น ไม่รู้จักกิน กินไม่เลือกเวลา ไม่เลือกว่าจำเป็นไม่จำเป็นใช่มั้ยครับ?"

            กำนันตอบว่า "ถูกต้องที่สุด" แล้วก็เรียกคนรบใช้ให้เอากระบุงที่สานค้างไว้มาสานต่อ

            เขาถามว่า "ท่านครับ ที่บ้านท่านมีกระบุงมากมายก่ายกองแล้วจะสานไปทำไมอีก?"

            กำนันตอบว่า " สานเอาไว้ขายเป็นรายได้พิเศษ คนเป็นเศรษฐีต้องรู้จักคุณค่าของเวลา ต้องขยันทำงานหารายได้พิเศษ แม้จะเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็อย่าดูถูก เมื่อทำทุกวันก็ได้ทุกวัน ต้องใช้เวลาให้เป็น นั่งคุยกันเฉย  ๆ มันเสียงานด้วย มือทำไปปากคุยไปได้ประโยชน์กว่า"

 

            เขาพยักหน้าเข้าใจ

            พอมืดลง กำนันสั่งให้จุดตะเกียงทำงานกันคุยกันต่อ จนดึกได้เวลานอนก็ให้เข้านอนในห้องเดียวกัน แต่นอนคนละมุ้ง เมื่อเข้ามุ้งเสร็จเท่านั้น กำนันก็ดับตะเกียงทันที เขาจึงถามว่า " รีบดับตะเกียงทำไมครับ ผมอยากจะคุยกับท่านต่อ"

            กำนันตอบว่า "ที่รีบดับเพราะป้องกันไฟไหม้มุ้ง เพราะบางทีเราเผลอหลับไป หากมือเท้าป่ายไปถูกตะเกียงเข้า มันก็จะล้ม ไปจะไหม้มุ้ง ไหม้บ้านเอา อีกประการหนึ่งเป็นการประหยัดด้วย การนอนคุยกันไม่จำเป็นต้องมีไฟ มืด ๆ ก็คุยได้ นี่ก็วิชาเศรษฐีที่เธอควรจำไว้ ต้องคอยประหยัดและมีสติอยู่ทุกมือ"

            เมื่อกำนันเงียบเสียง เขาก็คิดว่ากำนันคนนี้เป็นคนรอบคอบจริง ๆ แต่ยังรู้ไม่เท่าเรา เราสิรู้มากกว่า นึกแล้วก็ทำตามที่รู้ทันที

            กำนันได้ยินเสียงกุกกัก ๆ จากมุ้งของเขาจึงร้องทักว่า " เธอทำอะไรนอนไม่หลับหรือ?"

            เขาตอบว่า "ธรรมดาผ้าเขามีไว้เพื่อปกปิดร่างกายและอวัยวะที่ควรปกปิดในตอนกลางวัน เพราะมีคนเห็น ตอนนี้ไม่มีใครเห็นแล้วจะนุ่งมันทำไม แก้เก็บไว้เสียมันจะได้ไม่ยับไม่เก่าง่าย ๆ ใช้ได้นาน ทั้งไม่เหม็นสาบด้วย ผมคิดอย่างนี้ครับ จึงได้ถอดเสื้อกางเกงนอน"

 

            รุ่งขึ้น กำนันเรียกเขามาพบแต่เช้า แล้วบอกว่า "เธอเรียนจบหลักสูตรแล้ว เธอรู้มากกว่าฉันเสียอีก บางอย่างฉันยังไม่รู้และไม่เคยทำเลย เธอกลับรู้และเป็นความจริงเสียด้วย เธอรู้ทุกสิ่งทุกอย่างดี แต่เธอขาดอย่างเดียวคือไม่ทำตามที่เธอรู้เท่านั้นเอง รู้มากแต่ไม่ทำตามที่รู้หรือตามที่พูด มันจะเกิดประโยชน์อะไร เวลานี้เธอเรียนจบแล้ว เธอไปได้ จงจำไว้นะ วิชาเศรษฐีนั้นมีเคล็ดอยู่นิดเดียวเท่านั้นคือ รู้แล้วต้องทำตามที่รู้ เท่านั้นแหละ"

 

            เป็นความจริง คนฉลาดนั้นย่อมเรียนรู้อะไรง่าย เข้าใจอะไรง่าย แต่ส่วนมากมักไม่ทำตามที่รู้  จึงมักปรากฏว่าคนฉลาด ๆ ในปัจจุบันมักไม่รวย

 

เรื่อง ที่  ๑๐   เหลือแต่ตัว "

     ลุงโต้งแกไปหาพระธุดงค์ ซึ่งมาปักกลดที่ป่าช้า เฝ้ากราบแล้วกราบอีก "ขอได้โปรดลูกช้างผู้ทุกข์ยากด้วยเถิดใต้เท้า ยากจนเหลือเกินไม่มีเงินจะซื้อข้าวสารให้ลูกกิน ..จนลูกตายหมดแล้ว..!!"  แกพร่ำพรรณา

          "โยมไม่มีเงินซื้อข้าวให้ลูกกินเหรอ" พระธุดงค์ถาม

          "ขอรับใต้เท้า" กลิ่นเหล้มเหม็นคลุ้งมากับลมปาก

          "เออ เก่งมาก"

          "ใต้เท้าว่าผมเก่ง ผมเก่งอะไรครับ" ลุงโต้งซัก

          " โกหกพระเก่งนะซี  เงินมีซื้อเหล้า แต่ไม่มีเงินซื้อข้าวสาร บางทีไปแย่งเงินลูกเมียกินเหล้าอีก เก่งเอาเปรียบเขานะโยม"

          ลุงโต้งหาสะทกสะท้านไม่ แม้ใคร ๆ จะพากันกลับไปเสียบ้างแล้ว แกก็ยังวอนขอเลขสามตัวอยู่ร่ำไรนั่นแหละ " ได้โปรดเถอะ  ..ใต้เท้า"

          พระธุดงค์คงนึกรำคาญ จึงเขียนยุกยิกใส่กระดาษม้วนอย่างแน่นแล้วบอกว่า "อย่าแอบเปิดดูตามทางนะ เลขจะหายหมด ต้องไปถึงบ้านก่อน แล้วตั้งบูชาบนหัวนอนรอจนถึงวันหวยออก จึงเปิดอ่านดู รับรองถูกแน่ ๆ "

          ลุงโต้งกราบแล้วกราบอีก ดีใจเหมือนถูกเลือกตั้งได้เป็น สส. รีบวิ่งกลับบ้านฝ่าความมืดในป่าช้าอย่างไม่ขลาดกลัว พอกลับถึงบ้านก็ไม่ยอมปริปากบอกใคร ๆ ห้ามลูกหลานเข้ามาในที่นอนเด็กขาด กลัวมันจะพลาดไปเปิดดูก่อนแล้วเลขจะอันตรธานหาย

          ในที่สุด วันแห่งการรอคอยก็มาถึง

          ลุงโต้ง แกแอบเข้าไปก้มกราบ บรรจงหยิบขึ้นมาเปิดดูด้วยมืออันสั่นเทาราวกับตำรวจกำลังกู้ระเบิด    " น่าเสียดาย ! พระธุดงค์ไปเสียก่อนแล้ว นี่แหม ถ้าอยู่ ถ้าถูกจะถวายปัจจัยให้หนักทีเดียว" แกบ่นในใจพร้อมคลี่กระดาษเปิดดู

                    เล่นมาก                    เสียมาก

                    เล่นน้อย                    เสียน้อย

                    ไม่เล่น                      ไม่เสีย

                    อย่าเล่น                    จะหมดตัว

          "อ่ะ ห๊า ..ทำไมเขียนอย่างนี้ คิดว่าเป็นเลขสามตัวอุตส่าห์หาเงินไว้ตั้งหลายร้อย หวังจะยกโต๊ดให้เจ้ามือเจ๊งเลย" แกบ่นอย่างหัวเสีย แต่กระนั้นก็ยังไม่ยอมลดละความพยายาม แกอุตส่าห์นั่งนับพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ หมดทุกตัว

          ตอนบ่ายวันนั้น ผลออกมาปรากฏว่าเลขออกมาผิดหมด ลุงโต้งเสียดายเงิน 500 บาทเหลือกำลัง พลันหูก็แว่วคำพระท่านว่า " เล่นมาก เสียมาก  เล่นน้อย เสียน้อย ไม่เล่น ไม่เสีย อย่าเล่น จะหมดตัว"

          เมื่อเสียใจ แกก็หันหน้าไปพึ่งสุรา กินจนหูตาลาย เดินเอียงซ้าย เอียงขวา  และดุเหมือนว่าจะถึงคราวเคราะห์ของลุงโต้ง คืนนั้นเอง ไฟได้ลุกไหม้กระท่อมแกจนหมดสิ้น ต้นเหตุของไฟนั้น ก็ไม่ได้มาจากไหน ก้นบุหรี่ของแกนั่นเอง

          ลูกเมียคลานหนีไฟได้ก่อน ลุงโต้งแย่กว่าเขาเพราะกว่าจะงัวเงียออกมาได้ก็ลำบากเต็มที แกจึงได้สมบัติติดตัวมาด้วยเพียงสองอย่างเท่านั้นคือ ผ้าข้าวม้าเก่า ๆ กับมีดอีโต้คู่ชีพอีกอันหนึ่ง

          "พระบอกแล้วว่าอย่าเล่นๆๆ จะหมดตัว กูก็ไม่เชื่อ " ตาแกบ่นด้วยความเจ็บใจตัวเอง พลางทิ้งลูกเมียให้นั่งเหม่ออยู่ใต้ต้นมะม่วงริมรั้ว เพราะไม่รู้จะไปไหนได้ในเวลานี้

          ฝ่ายลุงโต้งเดินดุ่มเรื่อยมาอย่างไร้จุดหมาย และเพิ่งมาสะดุ้งรุ้สึกตัวเมื่อมีเหี้ยตัวหนึ่งวิ่งพรวดตัดหน้าแกไป แกจึงรีบวิ่งกวดตามไปติด ๆ " ได้อาหารมื้อเย็นแล้ว" แกกระหยิ่มในใจ

          พอดีเหี้ยตกใจวิ่งตกลงไปในลำห้วยตูม ว่ายน้ำผลุบโผล่ ๆ ลุงโต้งเงี้ออีโต้ขว้างหมายให้ปักฉึกที่หัวเหี้ย

          แต่พลาด ..! อี้โต้ไปโดนขอนไม้ที่ลอยตามกระแสน้ำอันเชี่ยวกราดมา ลุงโต้งใจหายวาบและสุดแสนจะเสียดายรีบลงไปในน้ำทันที

          เจ้าเหี้ยอ้วนคิดว่าลุงโต้งจะตามมาจับในน้ำ มันกลับเผ่นขึ้นบกวิ่งปราดเข้าไปในโพรงไม้ตะเคียน ทำให้ลุงโต้งละจากการเอามีด หันมาขึ้นบนบก วิ่งรี่ไปที่โพรงไม้ หันซ้ายหันขวาไม่มีคน แกจึงแก้ผ้าขาวม้าอันเป็นสมบัติชิดสุดท้ายใช้อุดรูไว้แน่น

          "เสร็จกูแน่คราวนี้ ..ไอ้เหี้ยเอ๋ย"

          แกเดินย่อง ๆ อ้อมไปอีกด้านหนึ่ง ก้มโก้งโค้งแอบดูตามรูเล็ก ๆ หยิบกิ่งไม้มาแย่ดู เจ้าเหี้ยตกใจกระโดดพรวดออกมาจากรูใหญ่ ทำให้ติดผ้าขาวม้าลุงโต้งไปด้วย มันโดดตูมดำน้ำหนีไปอย่างไม่คิดชีวิต

          ไม่รอช้าลุงโต้งกระโดดตูมไล่ตามไป แต่เจ้ากรรมไปเจอกับกอหนามที่ลอยมากับกระแสน้ำ 

          "อูยย ย ย"

          แกร้องด้วยความเจ็บปวด เจ็บทั้งเพราะหนามแทง เจ็บใจเหี้ยที่ทำให้หมดทั้งมีดอีโต้และผ้าขาวม้าชิ้นสุดท้าย แกกะปลกกะเปลี้ยไต่ขึ้นมาอย่างระโหยโรยแรง ยินเอามือป้องของสงวน เหลียวซ้ายแลขวาเกรงว่าใครจะเห็น..

          เล่นหวยก็เหมือนไล่เหี้ยนี่แหละ แทงทางนี้ก็ออกทางโน้น แทงทางโน้นก็ออกทางนี้ สุดท้ายก็เหลือแต่ตัว เหลือแต่ตัวจริง ๆ 

                     จริงไหม ลุงโต้ง ..?

 เรื่อง ที่   ๑๑   กระรอกเจาะมะพร้าว "

     มีหมู่บ้านเล็ก ๆ อยู่แห่งหนึ่ง หมู่บ้านนี้มีต้นมะพร้าวอยู่ริมฝั่งคลองเป็นจำนวนมาก บริเวณนั้นเป็นป่ารก ไม่มีบ้านผู้คน มีแต่สัตว์เล็กสัตว์น้อยอาศัยอยู่ เช่น พวกกระรอก กระแตเป็นต้น

          วันหนึ่งมีมะพร้าวต้นหนึ่งที่ขึ้นอยู่ริมคลองฝั่งนี้ เกิดมีลูกดกมาก ลำต้นของมันทานน้ำหนักลูกไม่ไหวก็เลยค่อย ๆ เอนไป จนยอดมะพร้าวไปจดคลองฝั่งโน้น

          กระรอกฝูงหนึ่งเห็นมะพร้าวเอนลงมายังฝั่งของตน หัวหน้าของกระรอกจึงพูดขึ้นว่า

          " โอ้โห วันนี้พวกเราช่างโชคดีเหลือเกิน ลาภปากแท้ ๆ เลย"

          "โชคดีอย่างไรล่ะท่านหัวหน้า ช่วยบอกหน่อยสิ" บริวารกระรอกถาม

          "ก็โน่นไง เห็นไหม มะพร้าวลูกดกเอนมาทางฝั่งเรา" หัวหน้ากระรอกพูดพลางชี้ให้ดู

          "อย่างนั้นพวกเราก็ไปกินมะพร้าวกันได้นะซีท่านหัวหน้า"

          "ได้เลย ไปชวนกันมากินเยอะ ๆ นาน ๆ จะมีอาหารอันโอชะมาถึงที่อย่างนี้สักที" หัวหน้าอนุญาต

          ว่าแล้วบรรดากระรอกทั้งหลายก็ชวนกันปีนขึ้นไปเจอะกินน้ำมะพร้าว กินกันอย่างเพลิดเพลินอยู่หลายวัน วันละลูกสองลูก โดยไม่ได้ลงมาจากต้นมะพร้าวเลย และไม่ได้สังเกตถึงความผิดปกติของต้นมะพร้าว กินกันจนหมดต้นเมื่อไรไม่รู้ตัว

          เมื่อมะพร้าวแห้งหมดทุกลูกแล้ว ต้นมะพร้าวก็เอนไปยังที่เดิม พวกกระรอกทั้งหลายก็ติดอยู่บนต้นมะพร้าวนั้น ไม่สามารถกลับไปยังฝั่งเดิมของตนเองได้ ครั้นจะว่ายน้ำข้ามไปก็ว่ายไม่เป็น ทั้งหมดจึงเศร้าโศกเสียใจ นั่งร้องไห้กันอยู่บนต้นมะพร้าวนั้น

          หัวหน้ากระรอกเห็นดังนั้นก็ไม่สบายใจ จึงเรียกบริวารกระรอกมาประชุม ปรึกษาหารือกันว่าจะทำอย่างไรกันดี จึงจะกลับไปยังฝั่งของตนได้ ต่างแสดงความคิดเห็นกันหลายวิธี แต่ก็ติดขัดตรงที่ทำตามที่คิดไม่ได้

          ในที่สุดก็มีกระรอกตัวหนึ่งเสนอความคิดว่า "พวกเราน่าจะช่วยกันลงไปอมน้ำในแม่น้ำ แล้วนำมากรอกใส่ในลูกมะพร้าวทุกลูก เมื่อมะพร้าวมีน้ำเต็มทุกลูก ต้นมะพร้าวก็จะเอนไปยังฝั่งของเราดังเดิม"

          ความคิดนี้กระรอกทุกตัวต่างเห็นด้วยว่าน่าจะทอดลองทำดู เพราะทำไม่ยาก เพียงแต่กระรอกทุกตัวต้องช่วยกันอย่างเต็มที่เท่านั้น

          และแล้วการลำเลียงน้ำของกระรอกทุกตัวโดยการอมน้ำจากแม่น้ำไปกรอกลงในลูกมะพร้าวก็เริ่มขึ้น ในไม่ช้าน้ำในลูกมะพร้าวก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ๆ ทีละน้อย ทำให้ต้นมะพร้าวค่อย ๆ โน้มเอนลงไปทีละน้อยเช่นเดียวกัน พวกกระรอกทุกตัวต่างไม่ลดละความพยายาม

          จนในที่สุดผลของความเพียรพยายามและความสามัคคีก็มาถึง เมื่อกระรอกช่วยกันอมน้ำไปกรอกในลูกมะพร้าวจนเต็มทุกลูก ต้นมะพร้าวก็โน้มเอนลงไปยังฝั่งที่อยู่ของกระรอกตามเดิม กระกรอกทุกตัวต่างก็ดีใจที่ได้กลับมายังฝั่งของตนเองได้อย่างปลอดภัย ..

ข้อคิดจากเรื่องนี้

          1. อย่าเห็นแก่กินมากเกินไป เพราะจำทำให้เดือดร้อน

          2. เมื่อเกิดปัญหา จะต้องหาทางแก้ด้วยปัญญา

          3. ความสามัคคีสำคัญนัก ในเวลาคับขัน

          4. ความเพียรพยายามเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในทุกตัวตน

 

เรื่อง ที่  ๑๒    ตา กะ ยาย "

     ยายกะตาปลูกถั่วปลูกงาให้หลายเฝ้า ฝ่ายหลานก็มักแต่นั่งปั้นวัวปั้นควายเล่นไม่คอยไล่กา กาเลยมากินถั่วกินงาของตากะยายหมด

             ยายกะตามาที่ไร่เห็นงาหมด ยายจึงด่าหลาน ส่วนตาก็ขับไล่ตี แล้วบอกกับหลานว่าให้ไปเอาถั่วเอางาของตนคืนมาจากกา มิฉะนั้นจะขับไล่เสียออกจากบ้าน

             หลานจึงเดินร้องไห้ไปหานายพราน แล้วพูดกับนายพรานว่า " นายพรานไปช่วยยิงกาให้ฉันที เพราะกากินถั่วกินงาฉันหมดแล้ว" นายพรานตอบว่า " ไม่ใช่ธุระอะไรของข้า"

             หลานจึงเดินร้องไห้ไปหาหนู แล้วพูดกับหนูว่า " หนูไปช่วยกัดสายธนูของนายพรานให้ฉันที เพราะนายพรานไม่ช่วยไล่ยิงกา กากินถั่วกินงาฉันหมดแล้ว"

             หนูตอบว่า "ไม่ใช่ธุระอะไรของข้า"

             หลานจึงเดินร้องไห้ไปหาแมว บอกแมวว่า "แมวไปช่วยกัดหนูให้ฉันที เพราะหนูไม่ช่วยกัดสายธนูของนายพราน นายพรานไม่ช่วยยิงกา กากินถั่วกินงาฉ้นหมดแล้ว"

             "ไม่ใช่ธุระอะไรของข้า"แมวตอบ

             หลานจึงเดินร้องไห้ไปหาหมา แล้วบอกว่า "หมาไปช่วยกัดแมวให้ฉันที เพราะแมวไม่ช่วยกัดหนู หนูไม่ช่วยกัดสายธนูของนายพราน นายพรานไม่ช่วยไล่ยิงกา กากินถั่วกินงาของฉันหมดแล้ว"

             หมาตอบว่า "ไม่ใช่ธุระอะไรของข้า"

             หลานจึงเดินร้องไห้ไปหาค้อน แล้วพูดกับค้อนว่า "ค้อนไปช่วยย้อนหัวหมาให้ฉันที เพราะหมาไม่ช่วยกัดแมว แมวไม่ช่วยกัดหนู หนูไม่ใช่กัดสายธนูของนายพราน นายพรานไม่ช่วยยิงกา กากินถั่วกินงาของฉันหมดแล้ว"

             "ไม่ใช่ธุระอะไรของข้า" ไม้ค้อนตอบ

             หลานจึงเดินร้องไห้ไปหาไฟ แล้วพูดกับไฟว่า

             " ไฟช่วยไปไหม้ไม้ค้อนที เพราะค้อนไม่ช่วยย้อนหัวหมา หมาไม่ช่วยกัดแมว แมวไม่ช่วยกัดหนู หนูไม่ช่วยกัดสายธนูของนายพราน นายพรานไม่ช่วยยิงกา กากินถั่วกินงาฉันหมดแล้ว"

             ไฟตอบว่า "ไม่ใช่ธุระอะไรของข้า"

             หลานจึงเดินร้องไห้ไปหาน้ำแล้วพูดกับน้ำว่า " น้ำช่วยไปดับไหให้ฉันที เพราะไฟไม่ช่วยไหม้ค้อน ค้อนไม่ช่วยย้อนหัวหมา หมาไม่ช่วยกัดแมว แมวไม่ช่วยกัดหนู หนูไม่ช่วยกัดสายธนูของนายพราน นายพรานไม่ช่วยยิงกา กากินถั่วกินงาของฉันหมดแล้ว"

             น้ำตอบว่า "ไม่ใช่ธุระอะไรของข้า"

             หลานจึงเดินร้องไห้ไปหาตลิ่ง  แล้วพูดกับตลิ่งว่า "ตลิ่งช่วยไปพังทับน้ำให้ฉันที เพราะน้ำไม่ช่วยดับไฟ ไฟไม่ช่วยไหม้ค้อน ค้อนไม่ช่วยย้อนห้วหมา หมาไม่ช่วยกัดแมว แมวไม่ช่วยกัดหนู หนูไม่ช่วยกัดสายธนูของนายพราน นายพรานไม่ช่วยยิงกา กากินถั่วกินงาของฉันหมดแล้ว"

             "ไม่ใช่ธุระอะไรของข้า" ตลิ่งตอบ

           หลานจึงเดินร้องไห้ไปหาช้าง  แล้วพูดกับช้างว่า "ช้างช่วยไปถล่มตลิ่งให้ฉันที เพราะตลิ่งไม่ช่วยไปพังทับน้ำให้ฉัน น้ำไม่ช่วยดับไฟ ไฟไม่ช่วยไหม้ค้อน ค้อนไม่ช่วยย้อนห้วนมา หมาไม่ช่วยกัดแมว แมวไม่ช่วยกัดหนู หนูไม่ช่วยกัดสายธนูของนายพราน นายพรานไม่ช่วยยิงกา กากินถั่วกินงาของฉันหมดแล้ว"

           ช้างตอบว่า "ไม่ใช่ธุระอะไรของข้า"

           หลานจึงเดินไปหานายก เอ้ย เดินไปหาแมลงหวี่ แล้วพูดกับแมลงหวี่ว่า "แมลงหวี่ช่วยไปตอมตาช้างให้ฉันที เพราะช้างไม่ช่วยถล่มตลิ่ง ตลิ่งไม่ช่วยพังทับน้ำ น้ำไม่ช่วยดับไฟ ไฟไม่ช่วยไหม้ค้อน ค้อนไม่ช่วยย้อนหัวหมา หมาไม่ช่วยกัดแมว แมวไม่ช่วยกัดหนู หนูไม่ช่วยกัดสายธนูของนายพราน นายพรานไม่ช่วยยิงกา กากินถั่วกินงาของฉันหมดแล้ว"

           แมลงหวี่แสยะยิ้ม แล้วตอบอย่างทรนง ว่า " ได้ ..ข้าจะช่วยตอมตาเจ้าช้างให้บอดทั้งสองข้างเดี๋ยวนี้แหละ"

           ช้างตกใจ จึงรีบจะไปช่วยถล่มตลิ่ง ตลิ่งจึงรีบจะไปช่วยพังทับน้ำ น้ำจึงรีบจะไปช่วยดับไฟ ไฟจึงรีบจะไปไหม้ค้อน ค้อนจึงรีบจะไปย้อนหัวหมา หมาจึงรีบจะไปกัดแมว แมวจึงรีบจะไปกัดหนู หนูจึงรีบจะไปกัดสายธนูของนายพราน นายพรานจึงรีบจะไปช่วยยิงกา กาจึงเอาถั่วเอางามาคืนหลาน หลานก็เอาถั่วเอางาไปให้แก่ตากะยาย ตากะยายดีใจ เลิกด่าเลิกตีหลานตั้งแต่นั้นมา หลายก็อยู่กับตาอย่างมีความสุข ..

บทสรุปจากเรื่องนี้

        1. อย่าปัดความรับผิดชอบไปให้คนอื่น เรามีหน้าที่ทำอะไรก็ทำไป อย่าบ่น .!

        2. อย่าดูถูกผู้ที่ต่ำต้อยกว่าเรา เพราะบางครั้งเราต้องอาศัยเขาก็ได้

        3.  ทุกสิ่งทุกอย่างต่างมีคุณค่าอยู่ในตัวของมัน

        4. ถ้าทุกคนในสังคม พึ่งพาอาศัยกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สังคมนั้นจะมีแต่ความสุข ผู้ใหญ่ช่วยผู้น้อย สังคมควรจะให้เกิดมีมาก ๆ 

 

 

เรื่อง ที่  ๑๓  ปลาดุกผู้ฆ่ายักษ์ "

     นานมาแล้วในป่าแห่งหนึ่ง ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพรรณไม้นานาชนิด มีความสวยสดงดงาม ให้ความชุ่มชื่นแก่บริเวณนั้นเป็นอย่างมาก

         ข้าง ๆ ป่าแห่งนั้นมีภูเขาใหญ่อยู่ลูกหนึ่ง ที่ไหล่เขามียักษ์เกเรอยู่ตนหนึ่ง ปลูกบ้านอาศัยอยู่บริเวณนั้น ยักษ์ตนนี้มีนิสัยเกกมะเหรกเกเร ชอบรังแกสัตว์อื่น จนได้รับความเดือดร้อนกันทั่วหน้า จึงเป็นที่รังเกียจของสัตว์ทั่วไป แต่ไม่มีใครกล้ามาปราบยักษ์ตนนี้ได้

         มีปลาดุกอยู่ตัวหนึ่ง มันแค้นยักษ์มาก เพราะยักษ์มาจับเพื่อน ๆ ของมันที่อาศัยอยู่ในลำน้ำกินจนเกลี้ยง เหลือมันอยู่ตัวเดียว

         วันหนึ่งปลาดุกคิดจะไปปราบยักษ์ มันจึงว่ายน้ำมาตามลำน้ำก็เผอิญมาพบกับตะไคร่น้ำ ตะไคร่น้ำเห็นปลาดุกว่ายน้ำมา จึงถามขึ้นว่า

         "จะไปไหน เจ้าดุก?"

         "ข้าจะไปรบกับยักษ์" ปลาดุกตอบ

         "เราขอไปด้วยสิ" ตะไคร่น้ำเอ่ยปากขอปลาดุก

         "ตกลง ไปก็ไป"

         ทั้งสองต่างก็ลอยตามน้ำไปด้วยกัน ตะขาบเห็นปลาดุกและตะไคร่น้ำลอยมาจึงถามว่า " ปลาดุก ตะไคร่น้ำ พวกแกจะไปไหนกันล่ะ"

         "อ่อ พวกเรากำลังจะไปรบกับยักษ์"

         "ข้าขอไปด้วยคนสิ เพราะยักชอบมารังแกข้าเสมอเลย"

         "ตกลง ไปก็ไป"

         ทั้งสามลอยน้ำไปด้วยกัน แมงป่องเห็นปลาดุก ตะไคร่น้ำ และตะขาบลอยน้ำมาจึงถามว่า " พวกท่านจะไปไหนกันเหรอ"

         "อ่อ พวกเรากำลังจะไปรบกับยักษ์" ปลาดุกตอบ

         "ข้าขอไปด้วยคนสิ เพราะยักษ์ขอบมารังแกผมเสมอ ๆ เหมือนกัน"

         " ตกลง ไปก็ไป"

         ทั้งสี่ลอยน้ำไปด้วยกันไม่นานก็ไปเจอกับไก่แจกับไข่เน่าอยู่ริมธาร

         ไก่แจ้ และไข่เน่าต่างก็ได้รับความเดือดร้อนจากยักษ์เกเรเช่นกัน จึงร่วมขบวนเดินทางไปกับปลาดุกและเพื่อน ๆ ด้วย

         สุดท้ายก่อนที่จะถึงบริเวณที่พักของยักษ์ ปลาดุกและเพื่อน ๆ ก็ไปเจอกับนกฮูกซึ่งสมัครใจร่วมทำศึกกับยักษ์ด้วยความเต็มใจ

         เมื่อเดินทางไปถึงเชิงเขาก็ได้เวลาพลบค่ำพอดี ทั้งหมดจึงได้ร่วมกันวางแผนกำจัดยักษ์เกเรอย่างเคร่งเครียด

         ตกดึกคืนนั้น ขณะที่ยักษ์กำลังนอนหลับอยู่ด้วยความอ่อนเพลีย หลังจากออกหากินมาทั้งวัน มันก็ตกใจตื่นขึ้นเพราะได้ยินเสียงไก่ขัน

         "เอ๊ะ วันนี้ทำไมแจ้งเร็วนัก เรายังนอนไม่เต็มอิ่มเลย" ยักษ์รำพึงอยู่ในใจด้วยความงัวเงียง่วงนอน มีอาการสะลึมสะลือ

         เมื่อมันลุกขึ้นมามันจึงเดินตรงไปหยิบผ้าเช็ดตัว เพื่อไปอาบน้ำ ในทันใดนั้นตะขาบซึ่งแอบรออยู่แล้วก็กัดมือยักษ์ทันที

         "โอ๊ย ..ปวดเหลือเกิน อะไรต่อยมือข้าว่ะเนี่ย" ยักษ์ครวญคราง

         ยักษ์รีบวิ่งไปที่หัวนอน แล้วเอื้อมมือไปหยิบกล่องไม้ขีดมาเพื่อจะจุดไฟให้สว่าง เมื่อเปิดกล่องไม้ขีดออกแมงป่องซึ่งคอยอยู่แล้ว ก็ต่อยมือยักษ์ซ้ำเข้าไปอีก

         คราวนี้ยักษ์จึงวิ่งเข้าไปในครัว ไปที่เตาไฟ และก้มลงเป่าไฟในเตาเผื่อว่าจะมีเชื่อหลงเหลืออยู่

         ทันใดนั้น ไข่เน่า ก็แตกออกกระจายใส่เต็มใบหน้าของยักษ์

         "โอ๊ย อะไรแตกใส่หน้าข้าเหม็นไปหมดแล้ว ทนไม่ไหวแล้ว ๆ" ยักษ์ร้องพร้อมกับวิ่งตรงไปที่โอ่งน้ำ หวังจะใช้น้ำล้างหน้า

         แต่เมื่อใช้มือวักน้ำในโอ่ง ปลาดุกซึ่งคอยท่าอยู่แล้ว ก็ใช้เงี่ยงยักมือของยักษ์จนเลือดออก

         "โอ๊ยอะไรมายักมือข้าอีกแล้ว ปวดเหลือเกิน" ยักษ์ร้องเสียงหลงแล้ววิ่งลงบันไดนั้นไป พอเท้าก้าวถึงพื้นก็ไปเหยียบเอาตะไคร่น้ำเข้า จึงลื่นไถลล้มลงหัวฟาดพื้น และนกฮูกก็ตรงมาจิกลูกตายักษ์ทันที

         ในที่สุดยักษ์ก็สิ้นใจตาย ซึ่งก็เป็นไปตามแผนที่วางไว้ทุกประการ

ข้อคิดจากเรื่องนี้

         1. ผู้ที่ทำตัวไม่ดี มักเป็นที่รังเกียจของคนอื่น

         2. การทำงานต้องมีการวางแผน

         3. ความสามัคคีย่อมมีพลังเสมอ

 

 

เรื่อง ที่   ๑๔   " หัวล้านบ้ายอ "

     ชายศีรษะล้านคนหนึ่งมีอาชีพทำนาน เขามีวัวอยู่คู่หนึ่งและมีลูกสาวอยู่หนึ่งคน ชายคนนี้เป็นคนชอบยอหรือที่เรียกว่า บ้ายอ ถ้ามีใครมายอว่าเป็นคนผมดกละก็เขาจะชอบใจมาก แต่ถ้าหากมีใครมาพูดตรง ๆ กับเขาว่า ตาหัวล้าน เขาจะโกรธมากเลยทีเดียว

         วัวของชายศีรษะล้านคนนี้สวยมาก ใครเดินผ่านมาเห็นเข้าเป็นต้องชมทุกคน และมักจะมาถามขอซื้อวัวเขา แต่ใช้คำพูดไม่เพราะ คือ ถามตรง ๆ ว่า

         "ตาหัวล้าน วัวคู่นี้จะขายราคาเท่าไหร่?"

         ชายศีรษะล้านได้ฟังก็ไม่พอใจ เพราะอยู่ ๆ ก็มีคนมาเรียกว่าเป็นคนหัวล้าน เขาก็เลยด่าไปเลยว่า "ไม่ขาย ไม่ขายโว้ย" แล้วก็ไล่คนที่มาถามซื้อออกไปจากบ้าน ทำให้ผู้มาขอซื้อวัวของเขาทุกคนต่างก็ผิดหวัง เพราะมาใช้คำพูดตามความเป็นจริงเกินไป

         ยังมีชายหนุ่มคนหนึ่ง อาศัยอยู่ในหมู่บ้านใกล้เคียงกับชายศีรษะล้าน ชายหนุ่มคนนี้รู้จักนิสัยใจคอของชายศีรษะล้านดีว่าเป็นคนชอบยอ ก็คิดหาอุบายที่จะมาขอซื้อวัวของเขาไปในราคาถูก ๆ หรือได้ฟรี ๆ เมื่อคิดหาอุบายได้แล้ว ก็เดินตรงมายังบ้านของชายศีรษะล้าน พอมาถึงก็ใช้คารมทันที

         "พ่อผมดกปรกไหล่ไล้เฉลิมทอง วัวของพ่อทั้งสองจะขายเท่าไร?"

         ชายศีรษะล้านได้ยินดังนั้นก็ดีอกดีใจ เพราะร้อยวันพันปีแล้วไม่เคยมีใครมาชมเช่นนี้สักที ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่แล้วคิดว่าชายคนนี้พูดจาน่ารัก จึงตอบหนุ่มไปว่า "ลูกเอ๋ยลูกกู วัวทั้งคู่พ่อยกให้"

         พูดแล้วก็ยกวัวคู่นั้นให้เจ้าหนุ่มคนนั้นไป ทางชายหนุ่มได้วัวคู่นั้นไปแล้วก็จูงวัวไปพร้อมกับบ่นดัง ๆ ว่า "ตาหัวล้านนี้ เราพูดแค่นี้ก็ให้วัวมา ตาหัวล้านหน้าโง่ชมแค่นี้ก็ให้วัวมา ตาหัวล้านบ้ายอ"

         ในขณะที่ชายหนุ่มบ่นอยู่นั้น บังเอิญลูกสาวของเขาได้ยินเข้า ก็นำความไปบอกกับพ่อ พร้อมกับรบเร้าให้พ่อเอาวัวคืน พอชายศีรษะล้านได้ฟังดังนั้นก็พูดว่า

         "บ๊ะ ๆๆ เจ้าหนุ่มคนนี้ มาชมเรา พูดจาไพเราะกับเรา พอลับหลังกลับด่าว่าเราเสียนี่ ไม่ได้ต้องเอาเรื่องให้ได้ " ชายศีรษะล้านโกรธมากรีบคว้าปฏัก แล้ววิ่งตามชายหนุ่มไป พอวิ่งไปใกล้ ๆ ชายหนุ่มหันมาเห็นเข้า ก็ร้องทักขึ้นว่า

         "พ่อผมดกปรกบ่า พ่อวิ่งระร้าระรังมา พ่อจะไปทางไหน"

         ชายศีรษะล้านได้ยินดังนั้นก็ชะงักทันที ตอนแรกกะจะเข้าไปทำร้าย แต่เมื่อชายหนุ่มพูดจาน่าฟังก็เลยใจอ่อนตอบชายหนุ่มนั้นไปว่า "ลูกเอ๋ยลูกรัก ลูกลืมปฏัก พ่อเลยเอามาให้" พูดแล้วก็ส่งปฏักให้แก่ชายหนุ่มไป แล้วกลับบ้าน

         เมื่อกลับไปถึงบ้าน ลูกสาวไม่เห็นวัวก็สงสัย พอรู้เรื่องก็ต่อว่าพ่อและไม่ยอม จึงพูดกับพ่อว่า "เจ้าหนุ่มคนนั้นจะพูดน่าฟังได้อย่างไร เมื่อกี้ยังว่าพ่อหัวล้านเลย"

         "เฮ้ย ไม่ว่าหรอก พ่อวิ่งไปหามันเมื่อกี้มันยังไม่ว่าเลย แถมพูดดีด้วย พ่อก็เลยใจอ่อนให้ปฏักมันไปอีก"

         ฝ่ายลูกสาวก็ไม่ยอม อ้อนวอนให้พ่อไปเอาวัวคืนมาให้ได้ ถ้าไม่ได้จะฆ่าตัวตาย ชายศีรษะล้านทนความอ้อนวอนของลูกสาวไม่ได้ก็ไป แต่ขอให้ลูกสาวไปด้วย เพื่อไปฟังกับหูตัวเอง แล้วก็จูงมือลูกสาววิ่งไปด้วยกัน ตั้งใจว่าจะไปเอาวัวคืน

         ชายหนุ่มเห็นดังนั้นก็คิดว่า ชายศีรษะล้านและลูกสาวคงจะมาเอาวัวคืนเป็นแน่ จึงใช้คารมพูดขึ้นว่า

         "พ่อผมดกปรกเกล้า พ่อจูงมือลูกสาว พ่อจะไปทางไหน"

         ชายหัวล้านเมื่อได้ยินดังนั้นก็ใจอ่อนอีก เลยตอบชายหนุ่มไปว่า

         " ลูกเอ๋ยลูกแก้ว พ่อนะแก่แล้ว เลยเอาลูกสาวมาให้" พูดจบก็ส่งลูกสาวให้ชายหนุ่มไป ชายหนุ่มดีใจเพราะได้ทั้งวัว ทั้งปฏัก และลูกสาว นับว่าเป็นโชคมหาศาลทีเดียว..

ข้อคิดจากเรื่องนี้

         พูดเพราะ ๆ มีแต่คนชมชอบ

ข้อควรระวังจากเรื่องนี้

         1. การพูดเพราะ ๆ ก็ควรอยู่ในขอบเขตแห่งความเป็นจริง

         2. คนประจบมักมีคนเกลียดเยอะ

 

เรื่อง ที่   ๑๕  อย่าทำลายผู้มีคุณ "

               เนื้อสมันตัวหนึ่ง ถูกนายพรานไล่ติดตามเพื่อทำร้ายจวนตัวเข้าเห็นว่าจะหนีไปไม่รอด จึงแอบเข้าไปซุ่มอาศัยบังร่างอยู่ ณ พุ่มไม้แห่งหนึ่ง พ้นสายตาของนายพราน และนายพรานได้ตามเลยไปเสียทางอื่น จึงเกิดชะล่าใจและเล็มกินใบไม้ที่เป็นพุ่มนั้นเป็นอาหาร จนพุ่มไม้หายทึบมองเห็นตัวได้ถนัด พอดีนายพรานเดินกลับมาทางเก่าจึงมองเห็น ในที่สุดหมดทางที่จะหนีต่อไปได้ จึงถูกนายพรานยิงด้วยธนูล้มลงตาย ก่อนจะตายนึกถึงโทษที่ตนทำลายพุ่มไม้ซึ่งมีคุณ อาศัยกำบังร่างให้ตนได้ จึงสอนตนเองว่า "ทำลายสิ่งมีคุณ ย่อมได้รับโทษอย่างนี้แหละหนอ"

 

เรื่อง ที่   ๑๖   " กลองเป็นเหตุ "

               ณ  เมืองหนึ่ง  มีชายคนหนึ่งมีฝีมือในการตีกลองได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุด  ไม่มีใครมีฝีมือเทียบเท่าได้  คือตีกลองได้ทั้งจังหวะและความไพเราะ

          ทุก ๆ วัน  ชายตีกลองผู้นี้จะออกไปตีกลองตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อแลกกับเงินที่ผู้ชมมาบริจาคให้แก่เขาด้วยความเต็มใจ  เพราะชอบในฝีมือการตีกลองของเขา  เขาจึงมีเงินเลี้ยงครอบครัวได้อย่างไม่เดือดร้อน

          ชายผู้นี้มีบุตรชายคนหนึ่งกำลังอยู่ในวัยรุ่น  และเขาก็ได้สอนให้ลูกชายของเขาฝึกตีกลองเป็นจังหวะต่าง ๆ จนได้ครบทุกจังหวะ  เรียกได้ว่ามีฝีมือใกล้เคียงกับพ่อมากทีเดียว  ฉะนั้นเมื่อไปตีกลองที่ไหน  สองพ่อลูกนี้ก็จะตีกลองสลับสอดรับกันไปมา  ทำให้เสียงกลองเร้าใจผู้ฟังมากยิ่งขึ้น

          วันหนึ่งมีงานนักขัตฤกษ์ในเมือง  ผู้เป็นพ่อจึงพูดกับลูกว่า

          "ลูกเอ๊ย  วันนี้มีงานในเมือง  คนคงมาเที่ยวงานกันมาก  เราไปตีกลองหาเงินกันมั้ยลูก"

          "ไปซิพ่อ  ผมก็คิดจะชวนพ่ออยู่เหมือนกัน  เราอาจได้เงินเป็นจำนวนมากก็ได้"  ลูกชายตอบ

          "เอ้า  งั้นรีบเตรียมตัวออกเดินทางเลย"  พ่อบอกลูกชาย

          ทั้งสองพ่อลูกรีบเดินทางเข้าไปในเมืองทันที  เมื่อถึงสถานที่จัดงานแล้วก็เลือกหาที่แสดง  ช่วยกันตั้งกลองเสร็จแล้ว  ทั้งสองพ่อลูกก็เริ่มบรรเลงกลองขึ้น  ผู้คนที่มาเที่ยวงานเมื่อได้ยินเสียงกลองต่างก็พากันมายืนชมการตีกลองของทั้งสองพ่อลูกอย่างพออกพอใจ  พร้อมทั้งได้บริจาคเงินให้แก่สองพ่อลูกนั้นเป็นจำนวนมาก

          พองานเลิกก็ดึกมากแล้ว  ครั้นจะอยู่พักค้างคืนที่นี่  วันพรุ่งนี้ก็จะต้องเดินทางไปตีกลองยังเมืองอื่นอีก  เกรงว่าจะไปไม่ทัน  ฉะนั้นสองพ่อลูกจึงช่วยกันเก็บข้าวเก็บของ  พร้อมเก็บเงินใส่ถุงย่ามรีบเดินกลับบ้านทันที

          เผอิญทางที่เดินกลับบ้านนั้นเป็นทางเปลี่ยว  มีโจรผู้ร้ายคอยดักจี้ปล้นผู้คนที่เดินผ่านไปมาอยู่เสมอ  เมื่อเดินทางมาได้สักพักพ่อจึงบอกแก่ลูกชายว่า

          "ลูกเอ๊ย  ทางที่เราจะต้องเดินผ่านไปนี่เป็นทางเปลี่ยว  มีโจรผู้ร้ายชุกชุมมาก  เพื่อป้องกันไม่ให้โจรมาปล้นเรา  พ่อขอให้เจ้าตีกลองเป็นจังหวะการเดินทัพนะลูกนะ"

          "ทำไมจะต้องตีกลองจังหวะการเดินทัพด้วยเล่าพ่อ  มันไม่เห็นจะเกี่ยวกันเลย"  ลูกชายถามด้วยความสงสัย

         "เกี่ยวซิลูก  ทำไมไม่เกี่ยวล่ะ  เพราะถ้าโจรมันได้ยินเสียงกลองในจังหวะการเดินทัพ  มันก็จะกลัว  จะพากันหนีไปหมด  และมันก็จะไม่มาปล้นเราไงลูก"  พ่ออธิบาย

          "ครับ  งั้นผมก็จะตีกลองเป็นจังหวะการเดินทัพเลยนะพ่อ"   ลูกชายรับคำ

          เมื่อโจรได้ยินเสียงกลองตีเป็นจังหวะการเดินทัพ  มันคิดว่ากระบวนทัพของพระราชากำลังยกมา  มันจึงพากันวิ่งหนีไปอย่างไม่คิดถึงชีวิต  วิ่งไปได้สักพักหนึ่งก็หยุดพักเหนื่อยอยู่กลางป่า

         ฝ่ายลูกชายเมื่อตีกลองจังหวะยกทัพไปได้สักพักหนึ่งก็เกิดนึกสนุกขึ้นมา  เขาจึงเปลี่ยนจังหวะการตีกลองเป็นจังหวะอื่น ๆ หลาย ๆ จังหวะเท่าที่เขาตีได้สลับกันไปมาอย่างคึกคะนอง  โดยไม่ปฏิบัติตามคำที่พ่อสั่ง  พ่อจะห้ามอย่างไรก็ไม่ฟัง  ยังคงตีกลองอย่างนั้นเรื่อยไป

          ฝ่ายนายโจรนั่งพักอยู่กับลูกน้องได้ยินเสียงตีกลองเป็นจังหวะต่าง ๆ สลับกัน  ไม่ใช่จังหวะการเดินทัพ  จึงกล่าวแก่ลูกสมุนว่า

          "เฮ้ย  เราถูกหลอกเสียแล้วมั้งเนี่ย  พวกเอ็งลองฟังเสียงตีกลองซิ  มันไม่ได้ตีเป็นจังหวะการเดินทัพนี่  แต่มันตีเป็นจังหวะต่าง ๆ สลับกัน  ข้าว่าคงเป็นฝีมือการตีกลองของสองพ่อลูกที่ออกไปตีกลองหาเงินแล้วเดินทางกลับบ้านเสียมากกว่า"

           "งั้นเราจะทำอย่างไรกันดีละนาย"  ลูกสมุนโจรถาม

           "เอายังงี้ก็แล้วกัน  พวกเรารีบวิ่งตามเสียงกลองนั้นไป  เพื่อดูว่าใครกันแน่ที่ตีกลองนั้น  ถ้าเป็นสองพ่อลูกเราก็จะได้ปล้นมันเสียเลย"  นายโจรสั่งการ

           แล้วนายโจรและลูกสมุนต่างก็วิ่งตามเสียงกลองนั้น  เมื่อไปทันเห็นสองพ่อลูกกำลังเดินกันอยู่  นายโจรจึงตะโกนไปว่า

          "หยุด  แล้วส่งเงินทั้งหมดมาให้ข้าเดี๋ยวนี้  มิฉะนั้นแกสองคนพ่อลูกจะต้องตาย"

          "อย่าทำร้ายข้าทั้งสองคนเลย  ข้ากลัวแล้ว  เอ้า  เอาเงินไป"  ชายผู้เป็นพ่อพูดด้วยเสียงสั่นเครือ  พร้อมทั้งส่งถุงย่ามที่ใส่เงินให้แก่นายโจร

          นายโจรรับถุงย่ามมาตรวจดู  เห็นมีเงินอยู่เป็นจำนวนมากก็ดีใจ  และพูดขึ้นว่า

          "แกสองคนพ่อลูกไปได้แล้ว  และรีบไปเร็ว ๆ ด้วย  อย่าให้ข้าเห็นหน้าอีก  รีบไปเลยไป"

          สองพ่อลูกต่างพากันรีบเดินกลับบ้านด้วยความเสียใจแล้วพ่อก็เอ่ยปากพูดกับลูกว่า

         "ลูกเอ๋ย  นี่ถ้าเจ้าเชื่อฟังพ่อเรื่องอย่างนี้คงไม่เกิดขึ้นพ่อของบอกเจ้าว่า  ตั้งแต่นี้ไปขอให้เจ้าจงเชื่อฟังคำสั่งสอนของผู้หลักผู้ใหญ่  อย่าได้ดื้อรั้นอย่างนี้อีก  ครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนที่ควรจดจำ"

          "ครับพ่อ  ผมผิดไปแล้ว  ผมขอสัญญาว่า  ต่อไปนี้ผมจะเชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่และผู้หลักผู้ใหญ่ทุกคน"  ลูกชายสารภาพผิดพร้อมทั้งให้สัญญา

ข้อคิดที่ได้จากนิทานเรื่องนี้

          1. การมีความรู้ความสามารถในด้านใดด้านหนึ่งอย่างเชี่ยวชาญ  สามารถนำความรู้ความสามารถนั้นมาทำเป็นอาชีพที่มั่นคงได้

           2.การเป็นคนดื้อรั้น  ไม่เชื่อฟังคำแนะนำสั่งสอนของผู้ใหญ่  ย่อมทำให้ได้รับความเดือดร้อน

          3. ผู้น้อยควรเชื่อฟังคำแนะนำสั่งสอนของผู้ใหญ่  เพราะผู้ใหญ่ย่อมมีประสบการณ์  เคยพบเคยเห็นสิ่งต่าง ๆ มาก่อน

 

เรื่อง ที่  ๑๗   " ขี้ลืม ลืมขี้ "

                 มีชายคนหนึ่งเป็นคนขี้ลืม ขี้ลืมจริง ๆ เรื่องอะไรก็จำได้ประเดี๋ยวเดียวก็ลืมหมด เขาจะจำอะไรก็ไม่ได้เลย

            วันหนึ่งชายขี้ลืมคนนี้ถือมีดเข้าไปในป่าเพื่อจะไปตัดต้นไม้ เดินทางไปได้สักพักหนึ่งเกิดปวดอุจจาระ จึงเอามีดฟันติดกับต้นไม้ไว้ แล้วก็หาที่หลบไปถ่ายอุจจาระ พอถ่ายอุจจาระเสร็จก็เดินออกมา เห็นมีดเล่มหนึ่งอยู่ที่ต้นไม้ เขาลืมไปว่าเป็นมีดของตัวเอง จึงดีใจมากรีบไปคว้ามาถือไว้ แล้วจับมีดชูขึ้นพลางเต้นไปรอบ ๆ แล้วพูดว่า

            " วันนี้โชคดีแต่เช้าเลย มีดของใครก็ไม่รู้ยังใหม่อยู่ ลับเอาไว้คมกริบทีเดียวเจ้าของมีดนี่แย่มาก คนอย่างนี้ทำมาหากินอะไรมีแต่จะล่มจม"

              เผอิญเขาเดินไปเหยียบเอาอุจจาระที่ตนถ่ายไว้เมื่อครู่นี้เข้า ลืมไปว่าเป็นของตน จึงตะโกนด่าขึ้นว่า " อ้ายคนอุบาทว์ที่ไหนมาถ่ายไว้ได้ ที่ทั้งป่ากว้างใหญ่มาทำโสโครกเอาไว้ตรงนี้เอง อ้ายมนุษย์อัปรีย์"

คติจากเรื่องนี้ ..         

อย่าทิ้งสติ คิด พูด ทำ ต้องมีสติ ไม่เช่นนั้น ..

                 เพื่อนพ้อง ญาติมิตร ..ก็จะไม่มีให้คบคิดต่อไป ..จำไว้นะจำไว้

 เรื่อง ที่   ๑๘  " คน ว่ะ คน "

     ชายสองคนเป็นเพื่อนรักกันมาก ทำมาหากินอยู่ด้วยกัน ปลูกบ้านอยู่ริมแม่น้ำคนหนึ่งชื่อจักรพันธ์ อีกคนหนึ่งชื่อวัชรพงศ์ วันหนึ่งจักรพันธ์ออกไปทอดแหหาปลาโดยพายเรือไปตามแม่น้ำแห่งหนึ่ง ทอดไปทอดมาเกิดไปได้ผู้หญิงสาวสวยมาคนหนึ่ง จักรพันธ์ก็พาหญิงคนนั้นลงเรือมาที่บ้านด้วย

       เมื่อพายเรือมาจวนจะถึงบ้านแล้ว ด้วยความดีใจที่ไปทอดแหหาปลากับได้สัตว์สองเท้ามาแถมเป็นคนสวยเสียด้วย จักรพันธ์จึงร้องตะโกนบอกวัชรพงศ์ว่า

       "วัชรพงศ์โว้ย .. ฉันกลับมาแล้ว คน คนว่ะคน"

       ฝ่ายวัชรพงศ์ซึ่งกำลังหุงข้าวอยู่และเห็นหม้อข้าวกำลังเดือดพอดี

       "คน ว่ะคน"  ก็คิดว่าจักรพันธ์คงเห็นหม้อข้าวกำลังเดือดอยู่ จึงบอกให้คน วัชรพงศ์จึงคนหม้อข้าวใหญ่เลย

       พอพายเรือใกล้าเข้ามาอีกกำลังจะจอด จักรพันธ์ก็ตะโกนซ้ำ ๆ กันว่า "คน คนว่ะคน" วัชรพงศ์ก็คนหม้อข้าวตามเสียงร้องของเพื่อน คนไปคนมาจนหม้อข้าวกระดอนตกลงมาจากเตาข้าวหกหมดเลย

       เมื่อจอดเรือแล้วจักรพันธ์ก็พาหญิงสาวขึ้นไปบนบ้าน แล้วก็บอกกับวัชรพงศ์ว่า "นี่ไง ที่ฉันตะโกนมาเมื่อกี้นี้ คน คนว่ะคน"

       "เอ้า ฉันเข้าใจผิดคิดว่า เพื่อนบอกให้คนหม้อข้าว" วัชรพงศ์พูดพร้อมกับก้มหน้าก้มตาเก็บกวาดข้าวที่หกอยู่ แล้วจัดการตั้งหม้อข้าวใหม่ต่ไป"

คติสอนใจ

       การจะฟังอะไร ต้องฟังให้ได้ศัพท์ จับให้ได้ความ 

 

เรื่อง ที่   ๑๙   " คมในฝัก "

               ในป่าใหญ่แห่งหนึ่ง  ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด  มีนายพรานสองพ่อลูกปลูกกระท่อมพักอาศัยอยู่ในป่าแห่งนั้น

          อาชีพของนายพรานก็คือ  การหาของป่าไปแลกเปลี่ยนกับข้าวปลาอาหารและสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ จากในเมือง  ทุกเช้านายพรานผู้พ่อจะเข้าป่า  ส่วนลูกชายจะอยู่ที่กระท่อม  คอยหุงหาอาหารไว้คอยท่าพ่อ  เมื่อพ่อกลับมาในตอนเย็น

          วันหนึ่งนายพรานออกจากบ้านแต่เช้า  เพื่อนเข้าไปหาของป่าอย่างเคย  บังเอิญเขาถูกงูเห่ากัด  อาการสาหัสมาก  แต่ถึงกระนั้น นายพรานก็พยายามแข็งใจเดินกลับมายังกระท่อมของเขาจนได้  แล้วนายพรานก็เรียกลูกชายมาบอกว่า

          "ลูกรัก  พ่อถูกงูเห่ากัดเสียแล้ว  คราวนี้เห็นทีจะไม่รอด  คงไม่มีโอกาสได้เลี้ยงดูเจ้าอีกต่อไปแล้ว"

          "ทำใจดี ๆ ไว้เถอะพ่อ  พ่อคงไม่เป็นอะไรมากหรอก  พ่อจะให้ผมช่วยอย่างไร  พ่อรีบบอกมาเถอะ"  ลูกชายนายพรานพูดให้กำลังใจพ่อ

          "ต่อไปนี้เจ้าต้องช่วยตัวเองนะลูก  เข้ามาใกล้ ๆ พ่อซิ  แล้วเจ้าจงจำคำพ่อไว้  พ่อมีของดีอยู่อย่างหนึ่งนั้นคือ นอแรด  เมื่อพ่อสิ้นใจไปแล้ว  เจ้าจงเอานอแรดในย่ามนี้ไปถวายพระราชา  อย่าลืมทำตามที่พ่อสั่งนะลูกนะ"  นายพรานพูดจบก็ยื่นย่ามใส่นอแรดให้แก่ลูกชาย  แล้วเขาก็ขาดใจตาย

          ฝ่ายลูกชายนายพราน  เมื่อพ่อตายก็มีความเศร้าโศกเสียใจ  แต่ก็พยายามสะกดใจไว้รีบนำศพพ่อไปฝัง  แล้วกราบลาศพพ่อมายังกระท่อมที่พัก  ตรงไปหยิบย่ามที่ใส่นอแรดสะพายบ่าเดินทางเข้าเมืองหลวง  เพื่อถวายนอแรดแด่พระราชาตามที่พ่อสั่งไว้  เขาเดินทางไม่กี่วันก็ถึงเมืองหลวง  จึงตรงไปยังประตูชั้นนอก  แล้วพูดกับนายประตูชั้นนอกว่า

          "ท่านนายประตู  ผมต้องการจะเข้าเฝ้าพระราชา  ท่านจะกรุณาผมหน่อยจะได้ไหม"

         "เอ็งต้องการจะเข้าเฝ้าพระองค์ท่านด้วยธุระอันใดหรือ"  นายประตูถามด้วยความสงสัย

          "ผมมีของดีอย่างหนึ่ง  ที่จะนำมาถวายท่าน"

          "ของดีอะไรของเอ็งหรือ  ไหนข้าขอดูหน่อย"

          "นอแรดนี้ไงของดีที่ว่านั้น"  ลูกชายนายพรานพูดพร้อมควักนอแรดออกมาจากย่ามให้นายประตูดู

          นายประตูเมื่อเห็นลูกชายนายพรานมีนอแรดที่สวยงามจริง ๆ ก็คิดในใจว่า

          "ถ้าลูกชายนายพรานนำไปถวายพระราชาแล้ว  พระองค์คงพอพระทัยเป็นอย่างยิ่ง และอาจพระราชทานรางวัลให้แก่ลูกชายนายพรานเป็นจำนวนมาก"

          เมื่อคิดดังนั้นแล้ว  นายประตูชั้นนอกก็เกิดความโลภขึ้นมาทันที  อย่ากระนั้นเลยเราจะต้องขู่เข็ญให้เด็กคนนี้แบ่งรางวัลที่ได้รับแก่เราส่วนหนึ่ง  จึงพูดกับลูกชายนายพรานว่า         "นี่เจ้าเด็กน้อย  ถ้าข้านำเจ้าเข้าไปถวายนอแรดแด่พระราชา  แล้วพระองค์พระราชทานรางวัลให้แก่เจ้า  เจ้าจะต้องแบ่งรางวัลนั้นให้แก่ข้าครึ่งหนึ่งนะ  ถ้าไม่ตกลงข้าก็คงจะพาเจ้าเข้าเฝ้าไม่ได้หรอก"          ลูกชายนายพรานได้ยินดังนั้นก็เกิดความไม่พอใจนายประตู  ที่เป็นคนเห็นแก่ได้ ไม่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ จึงคิดว่าถ้ามีโอกาสจะหาทางสั่งสอนนายประตูผู้นี้ให้รู้สำนึก  แล้วพูดกับนายประตูว่า          "ตกลง  ผมจะแบ่งรางวัลที่ได้รับให้แก่ท่านครึ่งหนึ่งแน่นอน"

          "เอ็งอย่าโกหกนะ  แล้วก็จำคำพูดของเอ็งเอาไว้ให้ดีนะ"

          ว่าแล้วนายประตูชั้นนอกก็พาลูกชายนายพรานเข้าไปยังประตูชั้นใน  พบนายประตูชั้นใน  ก็เล่าเรื่องที่ลูกชายนายพรานจะขอเข้าเฝ้าพระราชาเพื่อถวายนอแรด  และมอบรางวัลครึ่งหนึ่งให้แก่ตน  ให้นายประตูชั้นในฟัง

          นายประตูชั้นในได้ฟังเรื่องทั้งหมด  ก็เกิดความโลภอยากได้ในส่วนแบ่งจากรางวัลบ้างเหมือนกัน  จึงพูดกับลูกชายนายพรานว่า

          "แล้วข้าละ  เจ้าจะให้อะไรบ้าง  ถ้าข้าจะพาเจ้าเข้าไปเฝ้าพระราชา"

          "เอาเถอะผมจะไม่เอาอะไรเลย  แต่ผมจะแบ่งรางวัลที่ได้รับทั้งหมดให้แก่ท่านทั้งสองคนละครึ่ง"  ลูกชายนายพรานพูดยืนยัน  ส่วนในใจนั้นก็คิดว่าจะหาโอกาสสั่งสอนคนทุจริตเห็นแก่ได้นี้ให้รู้สำนึกบ้าง

          "เจ้าพูดจริง ๆ นะ  เจ้าอย่าโกหกนะ  ถ้าเจ้าโกหกเจ้าจะต้องเห็นดีกะข้าแน่"  นายประตูชั้นในพูดขู่สำทับ

          "ตกลงผมไม่โกหกท่านแน่  ขอจงพาผมเข้าเฝ้าโดยเร็วเถิด"  ลูกชายนายพรานพูดขอร้อง

          นายประตูชั้นในได้ฟังดังนั้นก็ดีใจมาก  จึงรีบพาลูกชายนายพรานเข้าเฝ้าพระราชาทันที  เมื่อหมอบถวายบังคมแล้ว  ลูกชายนายพรานก็หยิบนอแรดจากถุงย่ามถวายแด่พระราชา  พระราชาทอดพระเนตรนอแรด  ทรงพอพระทัยมาก  จึงตรัสขึ้นว่า

          "นอแรดนี้สวยงามมาก  เจ้าได้มาจากไหน"

          "ข้าพระพุทธเจ้าได้นอแรดนี้มาจากพ่อของข้าพระพุทธเจ้าที่เป็นนายพราน  พระพุทธเจ้าข้า"

          "แล้วทำไมเจ้าถึงต้องนำนอแรดนี้มาถวายข้าด้วยล่ะ"  พระราชาตรัสถามต่อ

          "พ่อของข้าพระพุทธเจ้าได้สั่งไว้ก่อนตายว่า  ขอให้นำนอแรดนี้มาทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระองค์  พระพุทธเจ้าข้า"

          "และเจ้าต้องการสิ่งใดตอบแทน  เจ้าบอกข้ามาได้เลย  ข้าให้เจ้าได้ทุกอย่าง"

          ลูกชายนายพรานสมหวังดังใจ  จึงคิดที่จะสั่งสอนนายประตูทั้งสองคน  ให้เห็นโทษของความไม่ซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่  จึงกราบทูลไปว่า

          "ข้าพระพุทธเจ้าไม่ต้องการทรัพย์สินเงินทองสิ่งของใด ๆ ทั้งสิ้น  แต่จะทูลขอพระองค์สองอย่าง  พระพุทธเจ้าข้า"

          "เจ้าว่ามาเลยของสองอย่างนั้นมีอะไร  ข้าจะจัดให้เจ้าเดี๋ยวนี้แหละ"

          "อย่างแรก  ข้าพระพุทธเจ้า  ขอให้พระองค์รับข้าพระพุทธเจ้าไว้เป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาทตลอดไป  พระพุทธเจ้าข้า"

          "และอย่างที่สองล่ะ  ว่ามาซิ"

          "อย่างที่สอง  ข้าพระพุทธเจ้า  ขอพระราชทานรางวัลการโบยหลังให้แก่ข้าพระพุทธเจ้าสัก 100 ที  พระพุทธเจ้าข้า"

          "เจ้าเป็นอะไรไปหรือ  โบยหลัง 100 ที  เจ้าจะเอาไปทำไม  เจ้านี่หาเรื่องเจ็บตัวเปล่า ๆ อยู่ดีไม่ว่าดี"  พระราชาตรัสถามด้วยความแปลกพระทัย

          "หามิได้  พระพุทธเจ้าข้า  ข้าพระพุทธเจ้าจะขอแบ่งรางวัลการโบย 100 ทีนี้ให้แก่นายประตูทั้งสองคน  คนละครึ่งตามที่ได้ให้สัญญาไว้แก่นายประตูทั้งสอง  ก่อนที่จะนำข้าพระพุทธเจ้าเข้าเฝ้าพระองค์  พระพุทธเจ้าข้า"

          "อย่างนั้นหรือ  เจ้าฉลาดมาก  ข้าจะชุบเลี้ยงเจ้าและแต่งตั้งให้เป็นมหาดเล็กหลวงต่อไป  และข้าเชื่อว่าเจ้าจะต้องเป็นคนที่ซื่อสัตย์สุจริต  ส่วนนายประตูทั้งสองนั้น  ทหารนำตัวทั้งสองคนไปโบยหลังคนละ 50 ที  เดี๋ยวนี้"

ข้อคิดที่ได้จากนิทานเรื่องนี้

          1. การเชื่อฟังคำสั่งสอนของผู้ใหญ่  จะนำมาซึ่งความสุขความเจริญแก่ชีวิต

          2. คนที่คดโกง  ไม่ซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่การงาน  ในที่สุดก็จะถูกจับได้และถูกลงโทษ  ทำให้เสื่อมเสียทั้งชื่อเสียงและวงศ์ตระกูล

          3. ผู้ที่มีความเฉลียวฉลาด  ย่อมสามารถเอาตัวรอดได้เสมอ

 

เรื่อง ที่  ๒๐   " พระราชาชอบเรื่องโกหก "

               พระราชาองค์หนึ่ง  โปรดฟังเรื่องโกหกมาก  จึงให้เสนาไปป่าวประกาศว่า

          "ท่านพ่อแม่พี่น้องทั้งหลาย  ถ้าผู้ใดสามารถเล่าเรื่องโกหกให้เป็นที่ถูกพระทัยของพระราชาได้  ผู้นั้นจะได้ครอบครองพระราชสมบัติของพระองค์ทั้งหมด"

           ประชาราษฎรทั้งหลาย  เมื่อได้ฟังเสนามาป่าวประกาศเช่นนั้น  ต่างก็มีความประสงค์จะเล่าเรื่องโกหกให้พระราชาฟังเป็นจำนวนมาก

          ชายคนแรกได้เริ่มเล่าว่า

          "พ่อของข้าพระพุทธเจ้า  มีคทาอยู่อันหนึ่ง  คทานี้ยาวมาก  เวลาจะต้อนแกะก็ไม่ต้องยุ่งยากและไม่ต้องเดินตามแกะด้วย  เพียงแต่ยื่นไม้คทานี้ออกไปก็สามารถเลี้ยงแกะได้อย่างสบาย

          เวลากลางคืน  ก็สามารถใช้ไม้คทาอันนี้เขี่ยดวงอาทิตย์ทั้งหลายให้มาร่วมกันส่องแสงตรงที่แกะนอนอยู่ได้"

          พระราชาฟังชายเลี้ยงแกะเล่าเรื่องไม้คทาก็ไม่พอพระทัยจึงตรัสขึ้นว่า

          "ในสมัยก่อนไม้คทายาว ๆ อย่างนี้ใครก็ทำได้ทั้งนั้น  เจ้านี่เล่าเรื่องไร้สาระ  เสนานำชายเลี้ยงแกะคนนี้ไปเฆี่ยน"

          ต่อมาก็ถึงเวลาที่ชายคนที่สองจะต้องเล่าบ้าง  เขาได้เริ่มเรื่องว่า

          "ปู่ของข้าพระพุทธเจ้าเป็นเจ้าสัว  มีกล้องยายาวมากเวลาจะจุดต้องจุดที่ดวงตะวัน  พระพุทธเจ้าข้า"

          พระราชาได้ฟังดังนั้นก็ตรัสว่า

          "กล้องของข้าก็จุดกับแสงพระอาทิตย์เหมือนกัน  เจ้าโกหกไม่เข้าท่า  เสนานำตัวไปเฆี่ยน"

          ครั้นถึงลำดับของชายคนที่สามต้องเล่าบ้าง  เขาก็เริ่มเล่าว่า

          "เมื่อคืนนี้ฟ้าถูกลมพายุพัด  จนต้องแตกแยกออกจากกัน  เกิดเป็นไฟคุขึ้น  ต้องใช้เข็มเย็บไว้ให้ติดกัน"

          พระราชาได้ฟังจึงตรัสว่า

          "ฟ้าแยกอย่างนี้ข้าเคยเห็นบ่อย ๆ เหมือนรอยหวาย  เสนาจงนำตัวชายคนนี้ไปโบย"

          พอถึงชายคนที่สี่ก็เล่าว่า

          "วัวของข้าพระพุทธเจ้าปากกว้างมาก  กินหญ้าได้ทั้งรถ"

          ชายคนที่ห้าเล่าว่า

          "ขณะที่ข้าพระพุทธเจ้าตุ๋นเป็ดอยู่เป็ดก็บินหนีไปทั้งที่ยังร้อน ๆ อยู่"

          ชายคนที่หกเล่าว่า

          "ข้าพระพุทธเจ้าเป็นคนพเนจร  ได้ขี่อูฐเร่ร่อนไปในทะเลทราย  เหงื่อไหลออกมายาวราวกับสายน้ำ  ทำให้เย็นชื่นใจ"

          พระราชาทรงฟังนิทานที่ทุกคนเล่าก็ไม่พอพระทัย  ตรัสสั่งให้นำตัวไปโบยหมดทุกคน  จนคนอาสาเล่านิทานคนอื่น ๆ ต่างหนีกันไปหมด

          ยังมีชายหนุ่มคนหนึ่ง  เดินจูงลาเข้ามาในวัง  พระราชาทรงเห็นเข้าก็แปลกพระทัยมาก  เพราะบนหลังลามีลังใบใหญ่ซ้อนกันอยู่หลายใบ

          พระราชาจึงตรัสถามชายหนุ่มไปว่า

          "นี่พ่อหนุ่ม  เจ้าจูงลาเข้ามาทำไมในพระราชวังนี้"

          ชายหนุ่มตอบว่า

          "พระองค์ช่างลืมหลงเรื่องความหลัง  พระองค์ได้ทรงขโมยทองของข้าพระพุทธเจ้ามาหลายลัง  ข้าพระพุทธเจ้าได้ตามหาพระองค์มาเกือบปีแล้ว  ก็มาพบที่นี่แหละ  พระพุทธเจ้าข้า

          "โกหก  เจ้าพูดเรื่องสกปรกน่าบัดสี"  พระราชาตรัสด้วยความโกรธ

          "พระองค์ท่านทรงเชื่อว่า  ข้าพระพุทธเจ้าพูดโกหก  ฉะนั้นขอจงทรงยกพระราชสมบัติให้แก่ข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด  พระพุทธเจ้าข้า"  ชายหนุ่มทวงสัญญา

          "เออข้านึกได้แล้วว่า  ข้าขโมยทองของเจ้ามาหลายสิบลังดังที่เจ้าพูด"  พระราชาทรงแสร้งทำเป็นยอมรับ  เป็นการยอมแพ้

          "เมื่อพระองค์ท่านทรงยอมรับ  ก็ขอจงทรงคืนทองทั้งหมดให้แก่ข้าพระพุทธเจ้าเถิด  ข้าพระพุทธเจ้าจะได้รีบกลับไป  พระพุทธเจ้าข้า"

          พระราชาแสนอดสูพระทัย  เพราะเสียรู้แก่ชายหนุ่มเสียแล้ว  ไม่รู้จะทำประการใดจึงตรัสสั่งเสนาว่า

          "พวกเจ้าจงไปเอาทองใส่ลังให้เต็มทุกลัง  แล้วมอบให้แก่ชายหนุ่มคนนี้โดยเร็วที่สุด"

          ชายหนุ่มได้ทองบรรทุกหลังลาไปเป็นจำนวนมาก  เพราะความเฉลียวฉลาดของตนเองแท้ ๆ

ข้อคิดที่ได้จากนิทานเรื่องนี้

          1. การเป็นคนเจ้าเล่ห์หลอกลวง  ถ้าหากมีคนเขารู้ทันเล่ห์กลลวงนั้นก็จะย้อนมาทำร้ายตนเองได้เสมอ

          2. คนเฉลียวฉลาด  ย่อมทำอะไรด้วยปัญญา  สามารรถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้

          3. การคบกับคนพาล  นำมาซึ่งความเดือดร้อน  ดังคำกล่าวที่ว่า "คบคนพาล  พาลพาไปหาผิด"

 

เรื่อง ที่  ๒๑   " อดีตแมลงสาป "

               ในป่าอันกว้างใหญ่ไพศาลแห่งหนึ่ง  มีต้นไม้ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น  และมีเหล่าแมลงอาศัยอยู่ในป่าแห่งนี้มากมายหลายชนิด  เช่น  ยายแมลงปอ  ลุงแมลงหวี่  ป้าตั๊กแตน  พี่แมลงทับ  เป็นต้น  แมลงทุกตัวต่างก็รักใคร่กันเหมือนพี่เหมือนน้องและอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

          แมลงทั้งหมดนี้อยู่ในความปกครองของพระราชาผีเสื้อผู้สง่างาม  พระองค์มีปีกสีทองส่องประกายแพรวพราวและที่สำคัญ  พระราชาผีเสื้อมีของวิเศษอย่างหนึ่งที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ  นั่นก็คือ  “ไม้ประกายเพชร”  ซึ่งทำด้วยทองคำแท้  อันมีอำนาจวิเศษสามารถเนรมิตสิ่งต่างๆ ได้ทุกอย่างตามพระราชประสงค์ของพระราชาผีเสื้อ

          พระราชาผีเสื้อทรงมีพระสหายชื่อว่า  “แมลงเพชร”  เป็นผู้ที่มีความสามารถมาก  และมีความจงรักภักดีต่อพระราชาผีเสื้อ  ได้กระทำความดีเป็นที่ถูกพระทัยของพระราชา  จึงได้รับพระราชทานชื่อจากพระราชา  แมลงเพชรมีรูปร่างเล็ก  ปีกสีเงิน  บินได้สูงและรวดเร็วมาก  เป็นที่เกรงขามของเหล่าแมลงอื่น ๆ ยิ่งนัก

          ต่อมาพระราชาผีเสื้อ  ได้มีคำสั่งลับเฉพาะกับแมลงเพชรพระสหายสนิทว่า

          "แมงเพชรข้าจะให้เจ้ายืมไม้เท้าประกายเพชรของข้าไปและข้าขอให้เจ้าช่วยดูแลเหล่าแมลงทั้งหลายแทนข้าสักระยะหนึ่ง  โดยมีข้อแม้ว่า  ห้ามนำไม้ประกายเพชรไปสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นโดยเด็ดขาด  เจ้าจำไว้ให้ดีนะ"

          "เป็นพระมหากรุณาธิคุณพระพุทธเจ้าข้า  ข้าพระพุทธเจ้าจะไม่ทำให้พระองค์ท่านผิดหวัง  ถ้าข้าพระพุทธเจ้าผิดสัญญา  ขอให้พระองค์ทรงลงโทษได้เลย  พระพุทธเจ้าข้า"  แมลงเพชรรับคำพร้อมกับให้สัญญา

          จากนั้นแมลงเพชรก็ออกไปเที่ยวเยี่ยมเยียนแมลงอื่น ๆ พร้อมกับนำไม้เท้าประกายเพชรไปด้วยเสมอ  ตั้งแต่ได้รับมอบพระราชอำนาจจากพระราชาผีเสื้อ  นิสัยของแมลงเพชรก็เปลี่ยนไป  เริ่มเย่อหยิ่งจองหอง  ไม่ทักทายลุงแมลงหวี่  ยายแมลงปอ  เหมือนเช่นเคย  ทำให้ยายแมลงปอสงสัยมาก  จึงเอ่ยปากถามแบบหยอกล้อแมลงเพชรว่า

          "ไงแมลงเพชรหมู่นี้เป็นอะไรไปหรือ  ไม่เห็นทักทายกันบ้างเลย  หรือว่าถูกพระราชาลงโทษมา  หน้าตาไม่ค่อยสบายเลยนี่"

          แมลงเพชรเมื่อได้ฟังยายแมลงปอพูดดังนั้น  มันรู้สึกโกรธมาก  จึงใช้ไม้เท้าประกายเพชรชี้ไปที่ยายแมลงปอแล้วพูดขึ้นว่า

          "จงเป็นรูปปั้นเดี่ยวนี้"

          พอแมลงเพชรพูดขาดคำ  ยายแมลงปอก็กลายร่างเป็นรูปปั้นทันที

         "บังอาจมาพูดล้อเล่นกับข้า  จึงต้องได้รับโทษเช่นนี้"  แมลงเพชรพูดพลางหัวเราะแกมเยาะเย้ย

          นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็มีรูปปั้นของแมลงต่าง ๆ เพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน  ป่าที่เคยร่มเย็นเป็นสุขและอยู่กันอย่างเงียบสงบ  บัดนี้กลับกลายเป็นป่าแห่งความลักลับ  เงียบเหงาน่าสะพึงกลัว  ปราศจากเสียงหัวเราะหยอกล้อกันดังเช่นแต่ก่อน

          แมลงทับตัวหนึ่งรู้สึกหดหู่ใจมากที่เห็นพวกแมลงด้วยกันต้องถูกกลั่นแกล้งรังแกจากแมลงเพชร  จึงได้เอ่ยปากปรึกษากับป้าตั๊กแตนว่า

          "ป้าตั๊กแตนครับ  เราจะทำอย่างไรกันดี  จึงจะกำจัดเจ้าแมลงเพชรจอมอันธพาลให้พ้นไปจากป่าของเราได้ครับ"

          "คงยากหลานเอ๋ย  เพราะเจ้าแมลงเพชรมีไม้เท้าวิเศษอยู่ในมือของมัน  ขืนใครไปต่อปากต่อคำมันเข้า  ก็ต้องถูกมันสาปให้กลายเป็นรูปปั้นไปหมด  เจ้าก็เห็นอยู่แล้วมิใช่หรือ"

          "ถ้าพวกเราทั้งหมดจะรวมตัวกันไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพระราชาผีเสื้อให้ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของพวกเรา  ป้าว่าจะดีไหมครับ"  แมลงทับออกความเห็น

          "เออก็น่าจะลองดูเหมือนกันนะหลาน  เพราะพระราชาท่านจะได้ทรงรู้ความจริงว่า  ผู้ที่พระองค์ท่านทรงไว้วางพระทัยให้ดูแลพวกเราแทนพระองค์ท่าน  มีความประพฤติชั่วช้าเพียงใด"  ป้าตั๊กแตนสนับสนุน

          เมื่อคิดได้ดังนั้นแล้วแมลงทับและป้าตั๊กแตนก็พาสมัครพรรคพวกแมลงทั้งหลายในป่าเข้าไปร้องทุกข์ต่อพระราชาผีเสื้อ  ว่าถูกแมลงเพชรข่มเหงรังแกต่าง ๆ นาๆ จนได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส

          เมื่อพระราชาผีเสื้อทรงทราบเช่นนั้น  จึงได้ให้ไปตามตัวแมลงเพชรเข้าเฝ้า  พร้อมกับให้นำไม้เท้าประกายเพชรมาคืนด้วย

          "ว่าไงแมลงเพชร  พวกแมลงทั้งหลายเขาได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษว่าเจ้าได้ข่มเหงรังแกพวกเขา  เป็นความจริงหรือไม่"  พระราชาผีเสื้อทรงถาม  แต่แมลงเพชรก้มหน้านิ่งไม่ตอบ  พระราชาจึงตรัสต่อไปว่า

          "นี่แสดงว่าเป็นจริงอย่างที่เขาฟ้องร้องมาใช่ไหม  เจ้าถึงก้มหน้านิ่งเฉยอยู่"

          "หามิได้พระพุทธเจ้าข้า  ข้าพระพุทธเจ้าไม่เคยข่มเหงใครเลย  พวกเขานั่นแหละข่มเหงรังแกกันเอง  แล้วโยนความผิดมาให้ข้าพระพุทธเจ้า"  แมลงเพชรปฏิเสธ

          "ยังมาทำปากแข็งอีก  ก็พวกแมลงต่าง ๆ เขาจะมีปัญญาสาปให้แมลงด้วยกันกลายเป็นรูปปั้นได้หรือ  ก็มีแต่เจ้าเท่านั้นแหละที่มีไม้เท้าประกายเพชรของข้า  เจ้ายอมรับมาเสียดี ๆ ก่อนที่ข้าจะโมโห"

          "ข้าพระพุทธเจ้าขอยอมรับผิด  และขอพระองค์จงทรงพระราชทานอภัยโทษให้ข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด  พระพุทธเจ้าข้า"  แมลงเพชรพูดด้วยเสียงสั่นเครือ

          "ข้าคงยกโทษให้เจ้าไม่ได้หรอก  เพราะเจ้าได้เคยให้สัญญาไว้แก่ข้าแล้วว่า  เจ้าจะไม่ใช้ไม้ประกายเพชรของข้าไปสร้างความเดือดร้อนให้แกผู้อื่น  เจ้าไม่รักษาคำพูด  อีกทั้งมีความเย่อหยิ่งลืมตัว  เจ้าควรจะต้องได้รับโทษอย่างหนัก"

          "พระราชอาญาไม่พ้นเกล้าพ้นกระหม่อม  แล้วแต่พระองค์จะทรงพิจารณาโทษเถิดพระพุทธเจ้าข้า"

          "เอาละข้าจะสาปเจ้าให้กลายเป็นแมลงที่น่าเกลียด  มีรูปร่างอัปลักษณ์  โดยให้ร่างของเจ้ามีสีดำ  บินได้ต่ำ ๆ ระยะใกล้ ๆ และมีกลิ่นตัวเหม็นสาบ  เป็นที่รังเกียจของคนทั่วไป  เจ้าจงเป็นแมลงอัปลักษณ์  ณ  บัดนี้  เพี้ยง! "  พระราชาผีเสื้อตรัสแล้วก็ใช้ไม้เท้าประกายเพชรชี้ไปที่แมลงเพชร

          แมลงเพชรก็กลับกลายร่างเป็นแมลงอัปลักษณ์ตามคำสาปทันที  เวลาที่มันไปไหนก็จะถูกสัตว์อื่น ๆ พูดจาเยาะเย้ยถากถาง  และเรียกมันว่า "แมลงถูกสาป"  มันรู้สึกอับอายเป็นที่สุด  แต่ก็ต้องทนรับทุกข์ต่อไป  ในเวลาต่อมาชื่อของมันก็ถูกเรียกให้สั่นลงว่า "แมลงสาบ"  จนถึงทุกวันนี้

ส่วนแมลงต่าง ๆ ที่ถูกแมลงเพชรสาปให้เป็นรูปปั้นนั้น  พระราชาผีเสื้อได้ใช้ไม้เท้าประกายเพชรชี้และเสกให้กลายร่างดังเดิมทั้งหมด  แมลงทั้งหลายต่างอยู่ร่วมกันในป่านั้นอย่างมีความสงบสุข

ข้อคิดที่ได้จากนิทานเรื่องนี้

          1.เมื่อมีอำนาจอย่างเหลิงอำนาจ  ใช้อำนาจในทางที่ผิดไปสร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น  เพราะในไม่ช้าตนเองก็จะต้องได้รับผลกรรมที่ได้กระทำไว้  ดังคำกล่าวว่า  "ให้ทุกข์แร่ท่าน  ทุกข์นั้นถึงตัว"

          2.จงอย่างเป็นคนอวดดีถือดีและลืมตนเอง  เพราะจะมีแต่คนรังเกียจ  ไม่อยากคบหาสมาคมด้วย

          3.จงอย่าลืมคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ต่อกัน  ผู้ที่ไม่รักษาคำมั่นสัญญาจะไม่มีคนเชื่อถือ

          4.สังคมใด  ที่คนในสังคมมีความเห็นอกเห็นใจกัน  ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน  มีความรักใคร่กลมเกลียวกัน  ไม่อิจฉาริษยากัน  สังคมนั้นก็จะมีแต่ความสงบสุข

 

เรื่อง ที่  ๒๒   ขี้โม้ "

     มีชายอยู่ 3 คน เป็นเพื่อนบ้านกัน ชื่อดอกบวบ ดอกรัก ดอกคูน วันหนึ่งทั้ง 3 คนได้มาพบกัน และได้ตกลงกันว่าให้แต่ละคนเล่านิทานสู่กันฟังคนละเรื่อง โดยให้เป็นเรื่องที่โม้ที่สุด ดอกบวบทำหน้าที่เล่าก่อนดังนี้

             ฉันมีปืนยาว 7 คืบ ใส่ดินปืนไป 8 คืบ พร้อมใส่ลูกปืนไป 8 ลูก แล้วฉันก็ออกเดินทางไปหายิงนกเป็ดน้ำที่หนองแห่งหนึ่ง เผอิญไปพบนกเป็นน้ำ 8 ตัว ลอยคอยอยู่ในหนองน้ำนั้น ฉันก็ยิงปืนโป้งเดียว ถูกนกเป็ดน้ำตายไป 7 ตัว ส่วนอีกตัวหนึ่งบินอยู่บนท้องฟ้า ฉันก็เดินไปเก็บนกเป็ดน้ำที่ตายในหนอง ก็งมไปเจอลูกปืนจมน้ำอยู่ลูกหนึ่ง ฉันก็เลยบอกกับลูกปืนว่า "โน่นนกเป็ดน้ำบินอยู่บนฟ้าโน่น" เจ้าลูกปืนก็วิ่งวู้ดๆๆ ไป ถูกนกเป็ดน้ำที่บินอยู่นั้นตกลงมา ฉันเลยได้นกเป็ดน้ำเพิ่มอีกตัวหนึ่ง

             ดอกรักทำหน้าที่เล่าบ้างว่า

             เมื่อวานฉันไปเกี่ยวแฝก สะพายกระบอกน้ำไปด้วย เมื่อไปถึงป่าแฝกก็ตั้งกระบอกน้ำทิ้งไว้ แล้วลงมือเกี่ยวแฝก ขณะที่ข้าเกี่ยวแฝกอยู่นั้น แฝกมันเคลื่อนไปเคลื่อนมาพอดีมีหมูป่าตัวหนึ่งวิ่งมา ฉันเลยขว้างมันด้วยเคียวนี่ ด้ามเคียวเข้าไปคาในตูดหมูป่า หมูป่าตกใจก็วิ่งไปวิ่งมาจะให้เคียวหลุด เคียวก็เกี่ยวแฝกให้ฉันหมดป่าเลย  วันนั้นเผอิญเกิดไฟไหม้ป่า ลุกลามมาไหม้กระบอกน้ำที่ข้าวางทิ้งไว้ด้วย เหลือแต่น้ำตั้งโด่ฉันยังได้กินน้ำเลย

             ดอกคูนเล่าบ้างว่า เมื่อวานนี้ฉันไปเที่ยวล่าสัตว์ในป่า เผอิญไปเจอช้างเข้า ก็เลยยิงช้างตาย ฉันก็เอามีดมาเถือหนัง เถือตรงไหนมันก็ไม่เข้า ฉันเหนื่อยเต็มทีจึงไปนั่งพักอยุ่ใต้ร่มไม้ พอดีมีอีแร้งมาจากไหนไม่รู้ มันคงหิวบินมาสัก 50 ตัว อีแร้งก็มาจิกช้างกิน มันจิกตรงไหนก็ไมเข้า มันก็ลองไปจิกตรงตูดช้าง ตูดช้างก็โหว่ อีแร้งมันก็พากันเข้าไปอยู่ในท้องช้างหมด ฉันก็เลยเอาใบไม้ไปอุดตูดช้างไว้ พอดีมีเจ็กสองคนพ่อลูกเดินผ่านมา บอกว่าจะไปเมืองจีน ถามซื้อช้างฉันว่าจะขายเท่าไร ตกลงฉันขายไป 500 บาท แล้วตาแป๊ะก็โดดขึ้นช้างลูกก็กอดเอว ช้างมีอีแร้งอยู่ในท้องก็บินขึ้นไปบนฟ้าเลย เผอิญลูกเจ๊กเกิดถ่ายท้อง เมื่อถ่ายแล้วไม่มีอะไรเช็ด จึงไปดึงเอาใบไม้มาจากตูดช้างเพื่อมาเช็ดก้น อีแร้งเห็นดังนั้นจึงบินออกมาจากท้องช้าง เจ็ดและลูกจึงตกลงมาตายหมด

 

เรื่อง ที่   ๒๓   " บุตรคนรวยกับพ่อค้า "

     มีบุตรชายคนรวย 4 คน เป็นเพื่อนรักกัน คนรวยบ้านหนึ่งอยู่ทางด้านเหนือของเมือง คนรวยบ้านที่หนึ่ง อยู่ทางด้านใต้ของเมือง คนรวยบ้านที่สองอยู่ทางตะวันออก คนรวยบ้านที่สามอยู่ทางทิศเหนือ และคน รวยบ้านที่สี่อยู่ทางตะวันออก วันหนึ่ง โรงเรียนหยุดวันอาทิตย์ เด็กนักเรียนไม่ต้องไปโรงเรียน บุตรชายคนรวยทั้ง 4 บ้านนั้นได้ชวน กันไปเที่ยว ขณะที่เดินไปตามทาง ลูกคนรวยบ้านแรก ซึ่งเป็นพ่อค้าเกิดคอแห้งหิวน้ำ จึงแวะซื้อมะพร้าว อ่อนจากแม่ค้า เพื่อจะดื่มกินน้ำมะพร้าวแก้คอแห้งหิวน้ำ แต่เขาเป็นคนเย่อหยิ่ง จึงโยนเงินให้แม่ค้า และบอกว่า "เอ้า นี่แน่ะเงินค่ามะพร้าว เงินแค่นี้ได้มะพร้าวอ่อนกี่ลูกล่ะยะ ยายแม่ค้ากระจอกๆ งอก ง่อย" แม่ค้านึกติเตียนในใจ แล้วหยิบมะพร้าวอ่อนให้เพียงลูกเดียว และเป็นมะพร้าวแก่ๆ ขายเหลือ ค้างมาตั้งแต่วันก่อน นางนึกในใจว่า "คนไม่ค่อยดีก็ขายของไม่ค่อยดีให้" แม่ค้านึกอยู่ในใจอีกต่อไป "นี่ถ้าเป็นแม่ค้าปากจัดเขาด่าแม่คนซื้อแล้วนะ ที่มาว่าเป็นแม่ค้ากระจอกงอกง่อยแบบนี้น่ะ" นางเป็นแม่ค้าที่อ่อนน้อมดีมากคนหนึ่ง จึงช่วยเจาะมะพร้าวด้านหัวให้ด้วย เพื่อเขาจะได้ดื่มน้ำได้ ใน เดี๋ยวนั้น บุตรคนรวยอีกคนหนึ่ง ก็อยากดื่มกินน้ำมะพร้าวอ่อนบ้าง จึงวางเงินให้แม่ค้า และพูดอย่าง ธรรมดาๆ ว่า "ซื้อมะพร้าวจ้ะ" แม่ค้ามองหน้าผู้พูดแวบหนึ่ง และนึกในใจว่า "เออ คนนี้วาจากิริยาค่อย ดีหน่อย เราก็ขายของดีพอควรให้" แล้วนางก็เจาะมะพร้าวอ่อนๆ ตามควรให้เขา บุตรคนรวยคนที่ 3 วางเงินให้แม่ค้า แล้วพูดดีด้วยว่า "แม่ค้าจ๋า ฉันหิวจ้ะคอแห้งด้วย ก็อยากกินทั้งน้ำและเนื้อมะพร้าวจ้ะ" "วุ้ย พ่อคนนี้พูดเพราะน่าฟังดี" นางนึกชมเชยว่า นัยน์ตามองหน้าค่อนข้างขี้เหร่อของเด็กชาย "ถึงจะ หน้าตากระเดียดไปทางตุ๊กแก แต่ก็จัดได้ว่าอยู่ในแบบดำแต่นอก ในแผ้วผ่องเนื้อนพคุณ" แล้วนางก็ หยิบมะพร้าวอ่อนเจาะให้เขา 4 ผล โดยเลือกมะพร้าวใหม่ๆ เพิ่งเก็บจากต้นให้เขา "แม่ค้าจ๋า ฉันอยาก รับประทานมะพร้าวจ้ะ แต่วันนี้ฉันลืมหยิบเงินมาด้วยจ้ะ ฉันขอรับประทานก่อนได้ไหมจ้ะ แล้วแม่ค้า ค่อยไปเก็บเงินค่ามะพร้าวที่บ้านฉันได้ไหมจ๊ะ ฉันเขียนแผนที่บอกทางให้" เขาไม่ยอมขอยืมเงินเพื่อนๆ เพราะพ่อเตือนเขาไว้ว่า "การขอยืมเงินเพื่อนเท่ากับเป็นการโกรธกับ เพื่อน" แม้ค้านึกชอบใจมาก ที่ลูกคนรวยคนนี้พูดอ่อนโยนดี รูปร่างหน้าตาก็งดงามน่าเอ็นดูแท้ๆ ทำให้ นางนึกรักนึกเอ็นดูเหมือนเป็นลูกหลานของตนเอง นางจึงเลือกมะพร้าวน้ำหอมอย่างดีที่หนึ่ง ให้เขา รับประทานและบอกว่า "มะพร้าวผลนี้ แม่ค้าแถมฟรีให้คุณค่ะ เพราะเพื่อนๆ ของคุณซื้อมะพร้าวของ แม่ค้าไปมากแล้ว แล้วก็มะพร้าวผลนี้น่ะ เป็นมะพร้าวน้ำหอมรสดีที่หนึ่งนะคะ" 

 

เรื่อง ที่   ๒๔   " เสือโดนหลอก "

              ณ  ป่าใหญ่แห่งหนึ่งมีสัตว์อาศัยอยู่หลายชนิดด้วยกัน  ต่างอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข  แต่อยู่มาวันหนึ่ง  ก็มีการพนันกันเกิดขึ้น

          "เฮ้ย ! เจ้าช้าง  เสียงเอ็งดังมากหรือไง  ร้องไปได้แปร๊น ๆ"  เสือทักทายอย่างกวน ๆ

      "อ้าว ! แล้วทำไมล่ะ  ข้าร้องของข้าออกดัง  ว่าแต่เอ็งเถอะ  นึกว่าร้องดังนะซิ  โธ่เอ๊ย !"  ช้างเถียง

          "ทำไม  เจ้าช้างข้าพูดแค่นี้ทำโมโห"  เสือพูดเสียงดัง

          ช้างเมื่อได้ยินเสือพูดดังนั้นก็เกิดโมโหขึ้นมาจริง ๆ เพราะเห็นว่าเสือตัวเล็กกว่ามาพูดข่มขู่ตนได้  จึงเอ่ยขึ้นว่า

          "เจ้าเสือ  เรามาร้องแข่งกันดีกว่า  ว่าใครจะร้องได้เสียงดังกว่ากัน  ถ้าใครสามารถร้องดังจนทำให้นกแถวนี้บินหนีไปหมดละก็  คนนั้นเป็นผู้ชนะ  ส่วนคนที่แพ้จะต้องตกเป็นเหยื่อของคนที่ชนะทันที  ว่าไงตกลงมั้ย"

          "ตกลง  แล้วใครจะเป็นคนร้องก่อนล่ะ"  เสือพูด

          "ข้าให้เอ็งร้องก่อนก็ได้นะ  ข้าเห็นเอ็งตัวเล็กกว่า  ข้าจึงให้เกียรติเอ็งร้องก่อน"  ช้างพูดอย่างเยาะเย้ย

          โฮก โฮก ๆ ๆ "  เสือเปล่งเสียงร้องอย่างดังที่สุด

          ฝ่ายพวกนกที่อยู่บริเวณใกล้เคียงนั้นได้ยินเสียงเสือร้องต่างก็ตกใจกลัว  แล้วบินหนีไปหมด

          "เอาละทีนี้ถึงทีเอ็งบ้างละเจ้าช้าง  เชิญร้องได้เลย"  เสือพูด

          "แปร๊น  แปร๊น ๆ ๆ "  ช้างร้องบ้าง  แต่ปรากฏว่าไม่มีนกบินหนี  เพราะว่านกมันบินไปหมดแล้วตอนที่เสือร้อง

          "ฮ่า ๆ เอ็งแพ้ข้าแล้วเจ้าช้างเอ๋ย  เอ็งมาเป็นอาหารข้าซะดี ๆ "  เสือพูดอย่างเยาะเย้ย  ส่วนช้างยืนซึม  น้ำตาคลอ  แล้วเอ่ยขึ้นว่า

          "เสือเพื่อนรัก  ข้ารู้ว่าข้าแพ้เอ็ง  แต่เอ็งจะกินข้าตอนนี้เลยหรือ"

          "ก็ใช่นะซิ  ข้าต้องกินเอ็งเดี๋ยวนี้แน่นอน"  เสือบอก

          "ข้าขอกลับไปบ้าน  เพื่อนไปบอกลูกเมือของข้าก่อนที่ข้าจะตายจะได้มั้ย  แล้วข้าจะกลับมาให้เอ็งกินตามสัญญา"  ช้าขอร้อง

          "แล้วข้าจะเชื่อเอ็งได้ยังไง  ว่าเอ็งจะกลับมาให้ข้ากินตามสัญญา"  เสือถาม

          "พุทโธ่ !  ข้าไม่โกหกเอ็งหรอก  เอ็งก็รู้ว่าข้าไม่เคยโกหกใคร"  ช้างตอบ

          "งั้นตกลง  ข้าให้อนุญาตเอ็ง  แต่เอ็งจะต้องกลับมาให้ข้ากินก่อนพระอาทิตย์ตกดินนะ"  เสือตั้งเงื่อนไข

          "ตกลง  เราขอสัญญา"  ช้างพูดแล้วก็เดินคอตก  กลับบ้านด้วยความโศกเศร้า  โดยร้องให้สะอึกสะอื้นด้วยความเสียใจมาตลอดทาง

          "เฮ้ย !  เจ้าช้างเอ็งร้องไห้ทำไม  มีปัญหาอะไรหรือ"  กระต่ายร้องถามด้วยความสงสัย  ช้างได้ยินเสียงร้องถามดังนั้นจึงหันไปดู  เห็นกระต่ายตัวหนึ่ง  กำลังติดตอประดู่อยู่  จึงตอบไปว่า

          "เหตุที่ข้าร้องไห้  ก็เพราะว่าข้ากำลังจะตายนะซิ  เพราะว่าเสือมันกำลังจะกินข้า"  ช้างตอบเสียงเครือ

          "แล้วเรื่องอะไรล่ะ  เสือถึงจะกินเอ็ง  ลองเล่าให้ข้าฟังหน่อยซิ"  กระต่ายซักด้วยความสนใจ

          "เรื่องมันเป็นอย่างนี้  ข้าจะเล่าให้ฟัง"  ว่าแล้วช้างก็เล่าเรื่องทั้งหมดให้กระต่างฟัง  พอช้าเล่าเรื่องจบ  กระต่ายก็พูดขึ้นว่า

          "อ๋อ ! เรื่องแค่นี้เองหรือ  เรื่องกล้วย ๆ เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน  เอ็งช่วยเอาข้าออกจากตอประดู่  เดี๋ยวข้าจะช่วยเอ็ง"  กระต่ายพูด

          ช้างดีใจมากที่กระต่ายออกปากช่วยเหลือ  จึงใช้งวงจับกระต่ายดึงออกมาจากตอทันที  เมื่อกระต่ายออกจากตอประดู่ได้แล้ว  ก็วางแผนจัดการเสือทันที

          "เจ้าช้าง  ข้าจะขึ้นอยู่บนหลังเอ็ง  เมื่อเดินไปถึงที่นัดหมายกับเสือไว้แล้ว  ถ้าข้าเดินมาทางหัวให้เอ็งงุบหัวลง  และถ้าข้าเดินมาทางหางก็ให้เอ็งเอาหางงุบลงก็แล้วกัน"  กระต่ายอธิบาย

           "แล้วมันเกี่ยวอะไรกับที่เสือจะกินข้าด้วยเล่า"  ช้างถามด้วยความสงสัย

          "เอาเถอะน่ะ  ทำตามที่ข้าบอกก็แล้วกัน"  กระต่ายยืนยัน

          กระต่ายกับช้างก็เดินทางไปยังที่นัดหมายระหว่างช้างกับเสือ  พอถึงที่นัดหมาย  กระต่ายเห็นเสือวิ่งมาทางด้านหน้าช้าง  กระต่ายก็วิ่งไปทางหางช้าง  ช้างก็งุบหางลง  แล้วกระต่ายก็เอ่ยขึ้นว่า

          "ช้างตัวเดียวไม่พออิ่มว่ะ  จะไปหาเสือที่ไหนมากินอีกสักตัววะเนี่ย"

          เสือได้ยินกระต่ายพูดดังนั้นก็ยังไม่แน่ใจ  ยืนดูช้างอย่างสงสัย  ฝ่ายกระต่ายเห็นดังนั้นจึงวิ่งไปทางหัวช้างอีก  ช้างก็งุบหัวลงทันที  แล้วกระต่ายก็พูดเช่นเดิมอีกว่า

          "ช้างตัวเดียวไม่พออิ่มว่ะ  จะไปหาเสือที่ไหนมากินอีกสักตัววะเนี่ย"

          เสือได้ยินชัดเป็นครั้งที่สอง  ก็วิ่งพรวดอย่างไม่คิดชีวิต  กลัวว่าจะโดนกินและนึกในใจว่า

          "ขนาดช้างตัวเดียวยังไม่พอกิน  จะเอาเสืออีกตัวแน่ะ"  เสือวิ่งไปได้สักพักก็ไปพลเจ้าค่างเข้า

          "เฮ้ย ! เจ้าเสือเอ็งวิ่งอย่างกับลมพายุ  เอ็งจะไปไหนวะ"  เจ้าค่างพูดทักทาย

          "ข้าไม่ได้ไปไหนหรอก  ข้าวิ่งหนีตัวอะไรก็ไม่รู้ตัวนิดเดียว  แหมมันกินช้างก่อนข้าเสียอีก"  เสือพูดอธิบายอย่างกระหืดกระหอบ

          "แล้วเอ็งทำไมจะต้องวิ่งหนีมันด้วยล่ะ"  เจ้าค่างถาม

          "ก็มันบอกว่า  ช้างตัวเดียวกินไม่พออิ่ม  มันอยากจะได้เสือมากินอีกสักตัวนะสิ"  เสืออธิบาย  เจ้าค่างได้ฟังเสืออธิบายก็หัวเราะชอบใจ  แล้วก็บอกกับเสือไปว่า

          "โธ่เอ๊ย ! ทำเป็นตาขาวไปได้  ยังไม่รู้ว่ามันเป็นตัวอะไรเลยจะกลัวมันทำไม  ไหนพาข้าไปดูมันหน่อยซิ  ข้าอยากจะรู้เหมือนกันว่า  มันเป็นใครกันแน่"

          "ไม่เอาแล้ว  ข้าไม่ไปแล้ว  เอ็งไปตัวเดียวเถอะข้ากลัว"  เสือปฏิเสธ

          "ไปเป็นเพื่อนกันซิ  ไม่ต้องกลัวหรอกน่า  ไปกับข้าแล้วไม่ต้องกลัว"  เจ้าค่างคะยั้นคะยอ

           "เอ้าไปก็ไป  แต่เอ็งกับข้าต้องเอาหางผูกติดกันไว้นะ  เอ็งจะได้ไม่หนีข้า"  เสือต่อรอง

           "เอ้าตกลง"  ค่างตอบ

          แล้วทั้งสองก็เอาหางผูกติดกัน  แล้วพากันเดินไปยังที่ช้างอยู่  กระต่ายเมื่อเห็นเสือกับเจ้าค่างมาด้วยกัน  ก็เอ่ยขึ้นว่า

          "เอ้าเจ้าค่าง  เอ็งให้ข้ารอตั้งนาน  น่าจะเอาเสืออ้วน ๆ มาให้ข้ากิน  แต่นี่เอ็งกลับไปเอาเสือผอม ๆ มาให้ซะอีก  แต่ไม่เป็นไร  ขึ้นชื่อว่าเสือแล้วก็อร่อยเหมือนกันทั้งนั้นแหละ"

          ฝ่ายเสือเมื่อได้ยินดังนั้น  ด้วยความกลัวจึงกระโดดแผล็ววิ่งออกไปทันที  พร้อมกับตะโกนว่า "เร็วเจ้าค่าง  วิ่งหนีเร็ว"

          ฝ่ายเจ้าค่างวิ่งไม่ทันเสือ  ก็ถูกเสือลากวิ่งไปล้มลุกคลุกคลาน  หัวฟาดตอไม้ไปตลอดทาง  เสือเมื่อวิ่งไปได้สักพักก็รู้สึกเหนื่อยจึงหยุดวิ่ง  เหลียวมาดูเจ้าค่างนอนฟันขาวอยู่  จึงพูดขึ้นว่า

          "เฮ้ย ! เจ้าค่าง  ข้ารึวิ่งหนีเสียแทบแย่  ส่วนเอ็งกลับมานอนฟันขาวแหงอยู่ได้"  ไม่มีเสียงตอบจากเจ้าค่าง  เพราะว่ามันได้ตายไปแล้วนั้นเอง

ข้อคิดที่ได้จากนิทานเรื่องนี้

          1. คนโง่มักจะเชื่ออะไรอย่างงมงายไร้เหตุผล  ไม่คิดไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อน  และจะนำความหายนะมาสู่ตน

          2. การคบกับคนโง่  จะทำให้ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน

          3. ผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด  ย่อมสามารถเอาตัวรอดได้เสมอ

 เรื่อง ที่   ๒๕   " หนูกัดเหล็ก "

                ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว  มีเศรษฐีคนหนึ่ง  มีเงินทองมากมาย  เศรษฐีมีลูกชายคนหนึ่งเป็นคนไม่รักดี  ได้แต่ใช้จ่ายทรัพย์เที่ยวกิน เล่น เลี้ยงเพื่อนฝูง ไม่นึกทำมาหากิน ไม่รักษาทรัพย์ของพ่อแม่  พ่อแม่จะว่ากล่าวตักเตือนอย่างไรก็ไม่เชื่อฟัง  จนพ่อแม่หมดปัญญาที่จะชักจูงไปในทางที่ดี

           ในที่สุดเศรษฐีก็ตรอมใจตาย  แต่ก่อนตายได้เอาเงินกับทองใส่ตุ่มอย่างละตุ่มฝังไว้  แล้วได้เกิดเป็นเทวดาคอยเฝ้าดูแลความเป็นอยู่ของลูกด้วยความห่วงใย

          ฝ่ายลูกเศรษฐีเมื่อพ่อแม่ตายแล้วก็ยิ่งกำเริบ  เพราะไม่มีผู้คอยว่ากล่าวตักเตือน  ใช้เงินเลี้ยงเพื่อน  เที่ยวเตร่เสเพล  ในไม่ช้าไม่นานก็สิ้นเนื้อประดาตัว  เพื่อนฝูงที่เคยล้อมหน้าล้อมหลังก็หายหน้าไปทีละน้อย ๆ

         อยู่มาวันหนึ่งเพื่อนชวนไปกินเลี้ยงกันตามเคย  โดยสั่งลูกเศรษฐีตกยากว่า  เวลาไปให้เอาไก่ไปร่วมในการกินเลี้ยงคราวนี้ด้วยตัวหนึ่ง  ลูกเศรษฐีเวลานั้นก็ขาดแคลนเต็มที  แต่ก็ยังขวนขวายหาไก่ไปได้ตัวหนึ่ง  ลวกน้ำร้อนถอนขนแล้วผูกห่อใบตองจะเอาไปร่วมในการกินเลี้ยงกันนั้น  ครั้นเดินมาตามทาง เหนื่อยเข้าก็ลงนอนพัก  เอาห่อไก่วางไว้ข้าง ๆ ตัว  พอม่อยหลับก็มีเหยี่ยวตัวหนึ่งมาโฉบเอาไก่ไป  จึงต้องไปกินเลี้ยงมือเปล่า  พอถึงบ้านเพื่อนที่นัดกินเลี้ยงกันก็เล่าให้เพื่อนฟังว่า  ถูกเหยี่ยวโฉบเอาไก่ไปกินเสียกลางทาง  เพื่อนทุกคนไม่มีใครเชื่อคำพูดของลูกเศรษฐี  ต่างนึกว่าคงไม่มีปัญญาหาไก่มาตามที่สั่งแล้วยังมาพูดแก้เก้อ  โทษว่าเหยี่ยวโฉบเอาไก่ไปเสียอีก  แม้ลูกเศรษฐีจะยืนยันอย่างไรว่าเรื่องที่พูดเป็นความจริงก็ไม่มีใครเชื่อ  มีแต่พูดจาเยาะเย้ยถากถาง  ลูกเศรษฐีจึ้งแค้นใจมาก  ทั้งเจ็บทั้งอาย  ลูกเศรษฐีจึงตัดสินใจไม่ร่วมวงกินเลี้ยงด้วย  รีบเดินทางกลับบ้าน  เมื่อถึงบ้านแล้วก็ยังคิดน้อยใจไม่หายถึงความหลังเมื่อครั้งตนยังมั่งมีเงินทอง  เสียใจกินไม่ได้นอนไม่หลับ  ร่างกายก็ผ่ายผอมลง

          ฝ่ายเทวดาพ่อแม่เห็นอาการของลูกอย่างนั้นก็สงสาร  จึงมาเข้าฝันลูกว่า  "นั้นแหละลูกเอ๋ย  เมื่อพ่อแม่ยังอยู่ก็ได้สอนเจ้านักหนาว่าเรื่องการใช้เงินทองนั้น  เมื่อยามลำบกยากจน  ใครเขาจะมานับถือ  พูดจริงก็เป็นหลอกไปได้  ขอให้เจ้ารู้สึกตัวและทำตัวเสียใหม่  พ่อแม่จะช่วย"

          ในฝันนั้นเองทำให้ลูกเศรษฐีคิดได้  และเห็นความผิดของตนเองจึงรับปากกับเทวดาว่า  "ต่อไปจะเลิกความประพฤติเดิม  จะตั้งใจทำมาหากินเลี้ยงตัวให้มีเงินพอจะไม่ให้ใครมาดูถูกได้อีกต่อไป"

          เมื่อเทวดาพ่อแม่ได้รับคำสัญญาจากลูกเช่นนั้นแล้วก็พอใจเป็นยิ่งนัก  ไม่มีครั้งใดจะขื่อใจเท่ากับเมื่อได้เห็นลูกกลับตนเป็นคนดี  จึงบอกที่ซ่อนตุ่มเงินและตุ่มทองให้ในฝันนั้นเอง

          พอรุ่งเช้าลูกเศรษฐีจำความฝันได้แม่น  ก็ไปขุดหาตุ่มเงินตุ่มทองตามที่เทวดาบอกไว้  ก็พบจริงดั่งฝัน  ตั้งแต่นั้นมาก็เอาเงินทองในตุ่มทำทุนตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน  ไม่นานก็กลับฟื้นตัว  พอมีฐานะขึ้นอีก  ลูกเศรษฐียังจำวันที่เพื่อนฝูงเยาะเย้ยไม่เชื่อเรื่องเหยี่ยวโฉบไก่เอาไปเสียนั้นได้ไม่ลืม  ตกมาถึงเวลานี้เพื่อนที่เคยเลิกคบกันไประหว่างตกยากก็เริ่มกลับมาหามาคบกันใหม่เพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน  วันหนึ่งลูกเศรษฐีเห็นได้โอกาสจึงชวนเพื่อนมากินเลี้ยง  กันอีกเหมือนเมื่อยังร่ำรวยหนก่อน  เพื่อนฝูงต่างก็มากันพร้อมหน้าพร้อมตา

          ขณะที่กินเลี้ยงกันอย่างครึกครื้นเฮฮาอยู่นั้น  ลูกเศรษฐีได้นำมีดเหี้ยน ๆ เล่มหนึ่งมาให้เพื่อนดู  พลางพูดขึ้นว่า

          "อัศจรรย์จริง ๆ มีดเล่มนี้เพิ่งซื้อมายังใหม่ ๆ อยู่แท้ ๆ ทิ้งไว้คืนเดียวหนูมากัดเสียจนเหี้ยนหมดเหลือเท่านี้เอง"

          เพื่อนฝูงทั้งหลายได้ยินดังนั้น  ก็รับคำเชื่อตามคำพูด  บางคนก็ประสมโรงพูดว่า  "จริงเหมือนเพื่อนว่า  ไม่เก็บไว้ให้ดี  หนูมันร้ายนักกัดเอาเหี้ยนอย่างนั้นแหละ  ของเราก็เคยโดนเหมือนกัน  เหี้ยนเหมือนอย่างนี้ไม่มีผิด"  ส่วนคืนอื่น ๆ อีกหลายคนก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเคยโดนหนูกัดมีดคนละเล่มสองเล่มอย่างเดียวกับมีดของลูกเศรษฐีนี่แหละ

          ลูกเศรษฐีได้เห็นข้อพิสูจน์นั้นแล้วก็ตั้งเป็นหลักเกณฑ์ว่า "ยามเมื่อเรายากจนคนดูถูกถ้อยคำที่พูดไม่มีน้ำหนัก  ถึงพูดความจริงก็ยังไม่มีคนเชื่อ  แต่เมื่อยามมั่งมีเงินทอง  จะพูดอย่างไรจริงหรือเท็จไม่สำคัญ  คนย่อมยอมรับเชื่อถือ"

ข้อคิดที่ได้จากนิทานเรื่องนี้

          1.คนใช้จ่ายทรัพย์สุรุ่ยสุรุ่ยฟุ่มเฟือย  สักวันหนึ่งทรัพย์สินเงินทองนั้นก็หมดไปแล้วตนเองจะได้รับความทุกข์ยาก

          2.คนขยันหมั่นหาทรัพย์  รู้จักเก็บออมและใช้จ่ายอย่างประหยัดจะทำให้ตนเองมีฐานะมั่นคง

          3.ยามมั่งมีมากมายมิตรหมายมอง

              ยามมัวหมองมิตรมองเหมือนหมูหมา

              ยามไม่มีมิตรเมินไม่มองมา

              ยามมอดม้วยหมูหมาไม่มามอง

 

เรื่อง ที่   ๒๖  " ใครโง่กว่า "

     กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีชายสองคนพี่น้อง คนพี่ชื่อดำ คนน้องชื่อแดง นายดำกับนายแดงสองพี่น้องนี้ มีนิสัยและความประพฤติไม่เหมือนกัน คือนายดำคนพี่เป็นคนขยันทำมาหากิน และเงินทองที่หามาได้ก็รู้จักใช้จ่ายกระเหม็ดแหม่จนมีเงินมีทองเก็บไว้พอสมควร

       ส่วนนายแดงนั้นเป็นคนเกียจคร้าน ไม่เอาใจใส่ต่อการทำงาน ชอบแต่งตัวฉุยฉาย ได้เงินมาก็ใช้จ่ายสุรุร่ยสุร่าย ไม่ค่อยมีเงินมีทองเก็บหอมรอมริบ คอยแต่เบียดเบียนนายดำผู้พี่ตลอดมา ยิ่งไปกว่านั้น ถ้านายดำเผลอเมื่อไร เป็นอันต้องถูกนายแดงขโมยเงินเสมอ ไม่ว่านายดำจะซุกซ่อนเงินไว้ที่ตรงไหน

       อยู่มาวันหนึ่งนายดำมีเงินอยู่ประมาณสักหนึ่งพันบาทซึ่งเป็นเงินที่เก็บหอมรอมริบมาได้ แต่วันนี้นายดำต้องออกไปทำธุระนอกบ้าน จึงคิดหาวิธีที่จะซ่อนเงินหนึ่งพันบาทไว้ให้มิดชิดที่สุด คิดอยู่นานก็หาที่ซ่อนไม่ได้ จะเอาซ่อนตรงไหน ๆ ก็เกรงว่านายแดงจะมาขโมย

       ในที่สุดก็ตัดสินใจขุดหลุมฝังซ่อนไว้ดีกว่า จึงลงจากเรือนคว้าจอบใส่บ่าเดินออกหลังบ้าน แล้วขุดเอาเงินห่อกระดาษใส่ลงก้นหลุม เอาดินกลบแล้วดูความเรียบร้อยดูไปดูมา นายดำก็คิดว่า "นี่ถ้านายแดงมาเห็นรอยเรากลบหลุมไว้อย่างนี้ มันคงต้องรู้ว่าเราฝังเงินเอาไว้แน่"

       พลันความคิดของนายดำก็เกิดขึ้นว่าเอาอย่างนี้ดีกว่า คือเราเขียนป้ายปักไว้ที่หลุมนี้ว่า "เงินหนึ่งพันบาทของนายดำไม่ได้อยู่ในหลุมนี้" คิดแล้วนายดำก็จัดการเขียนป้ายดังกล่าวมาปักไว้ที่หลุม เสร็จแล้วก็แบกจอบกลับบ้านจัดแจงแต่งตัวออกจากบ้านไป

       ฝ่ายนายแดงหลังจากเที่ยวเตร็ดเตร่อยู่หลายวัน จนเงินหมดก็กลับบ้าน ไม่พบพี่ชายก็ได้โอกาสเหมาะเที่ยวค้นหาเงิน เชื่อว่าพี่ชายจะต้องซุกซ่อนไว้ที่ไหนสักแห่งหนึ่งแน่นอน ค้นหาบนบ้านอยู่พักใหญ่ก็ไม่พบอะไรเลย จึงเดินลงจากเรือนไปเที่ยวค้นตามหลับบ้าน ก็พบป้ายหนึ่งเขียนไว้ว่า "เงินหนึ่งพันบาทของนายดำไม่ได้อยู่ในหลุมนี้"

       เมื่อนายแดงอ่านป้ายดูก็เกิดความสงสัยว่า เมื่อไม่มีเงินแล้วจะเขียนป้ายบอกไว้ทำไม จึงลงมือขุดดู ก็พบเงินที่ซ่อนไว้หนึ่งพันบาท แล้วจัดการเก็บเงินนั้นไป

       เมื่อได้เงินไปแล้ว นายแดงเกิดนึกขึ้นได้ว่า ถ้าพี่ชายกลับมาเห็นเงินในหลุมหายไปก็คงโทษเราแน่ อย่ากระนั้นเลย เราเขียนป้ายปักไว้ดีกว่า เมื่อพี่ชายมาเห็นจะได้คิดว่าเราไม่ได้เอาไป คิดดังนั้นแล้วนายแดงก็จัดการเขียนป้ายมาปักไว้ที่หลุมว่า "เงินหนึ่งพันบาทในหลุมนี้ นายแดงไม่ได้เอาไป"

       ข้อคิดจากเรื่องนี้ ..เฮ้อ ..โง่แล้วนะ   อย่าอวดฉลาด

 

เรื่อง ที่  ๒๗  " จอมโกหก "

     มีเด็กอยู่สองคน โกหกชั้นหนึ่งไม่มีใครจับได้ วันหนึ่งทั้งสองคนได้ไปอาบน้ำที่ท่าน้ำแห่งหนึ่ง และได้ตกลงกันว่า ถ้าใครโกหกได้ดีจะมีรางวัลให้

       คนหนึ่งโดดลงไปในแม่น้ำโดยได้อมเหรียญห้าบาทลงไปด้วยหนึ่งเหรียญ พอโผล่ขึ้นมาก็บอกแก่เพื่อนว่า " เฮ้ย.. ข้าดำน้ำลงไปเจอพญานาคกำลังเล่นไพ่กันอยู่ ข้ายังขอเหรียญห้าบาทมาหนึ่งเหรียญเลย"

       เพื่อนอีกคนหนึ่งรู้ว่าโกหกแต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ก็เลยโดดลงไปในด้วยความโมโห หัวเลยไปชนตอหัวแตก พอโผล่ขึ้นมาก็บอกแก่เพื่อนว่า

       "เฮ้ย ข้าโดดลงไปในน้ำโชคไม่ดีเลย ท่านพญานาคกำลังเล่นไพ่เสีย เลยตีหัวข้าแตก แล้วบอกว่าให้ข้ามาเอาเงินที่แกไปซื้อยา"

 

 

เรื่อง ที่   ๒๘   " บทลงโทษของค้างคาว "

          กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มนุษย์และสัตว์ต่าง ๆ ก็ทำสงครามแย่งที่อยู่อาศัยกัน โดยเฉพาะสัตว์มีการแบ่งเป็นพรรคพวกสู้รบกัน พวกที่มีสี่เท้าก็หาพรรคพวกชวนเป็นพวกเดียวกัน นับตั้งแต่สัตว์ตัวเล็ก ๆ จาหนูนาจนถึงช้างต้องเป็นพวกเดียวกันเพราะมีลักษณะเหมือนกันคือมีสี่เท้าและมีใบหูเหมือนกันโดยยกให้ราชสีห์เป็นหัวหน้า ส่วนอีกพวกหนึ่งคือพวกที่มีปีกนับตั้งแต่ตัวเล็กคือพวกแมลงไปจนถึงตัวใหญ่คือนกอินทรีย์และมอบหมายให้นกอินทรีย์เป็นหัวหน้า

       ทั้งสองฝ่ายสู้รบกัน เป็นสงครามสัตว์อย่างยิ่งใหญ่ผลัดกันแพ้พลัดกันชนะ  แต่มีสัตว์ชนิดหนึ่งคือค้างคาวเป็นสัตว์ที่พูดตลบแตลงไม่ยอมเป็นฝ่ายแพ้กับใคร กล่าวคือถ้าฝ่ายราสีห์ชนะก็อ้างว่าตนอยู่ฝ่ายราชสีห์เพราะมีหูเหมือนกัน ถ้าฝ่ายนกอินทรีย์ชนะก็บอกว่าตนอยู่ฝ่ายนกอินทรีย์เพราะมีปีกเหมือนกัน อีกครั้งหนึ่งพวกราชสีห์ชนะ ค้างคาวก็อ้างว่าเป็นพวกเดียวกันกับหนู จึงอยู่ฝ่ายราชสีห์ ค้างคาวจะทำอย่างนี้ตลอดจึงไม่เคยแพ้สักที

       ต่อมาสัตว์ทั้งสองฝ่ายทำเจรจาหย่าศึกขอเป็นมิตรกัน ไม่ต้องทำสงครามกันอีกต่อไปขอให้หันหน้าเหากัน ต่างพวกต่างอยู่หาที่อาศัยแก่พวกใครพวกมัน ฝ่ายนกก็อาศัยอยู่บนต้นไม้ ฝ่ายราชสีห์ก็อยู่ตามถ้ำ ภูเขา โคนต้นไม้ ฝ่ายหนูก็จุขุดรูอยู่ ส่วนพวกนกก็ทำรังอยู่ ค้างคาวกระพือปีกและบอกว่าเราไม่ขุดรูช่วยหนูหรอกจะไปทำเหมือนนกเพราะมีปีก แต่พอนกบอกให้ช่วยทำรังค้างคาวก็บอกว่า เราเป็นพวกหนูเรามีหู เราจะไปอยู่กับพวกหนู ตกลงค้างคาวเลยไม่ได้ช่วยเพื่อนทำอะไร

       สัตว์ต่าง ๆ จึงปรึกษากันว่าค้างคาวเป็นสัตว์พูดตลบแตลงไม่มีความจริงใจกับฝ่ายใด เลยพากันลงมติตัดสินลงโทษ คือเวลานั่งก็ให้หย่อนหัวลง นอนก็ให้หย่อนหัวลง กินก็ให้หย่อนหัวลง ให้มองเห็นเฉพาะกลางคืน ให้อาศัยอยู่ที่มุมมืดจึงสาสมกับความชั่ว ตั้งแต่นั้นมาค้างคาวจึงต้องหย่อนหัวลงพื้น ออกหากินเวลากลางคืน และอาศัยอยู่ในที่มืดตลอดมา