Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
ตำนานเทพยุดา “เจ้าแม่ทับทิม”
วิตต์ ว่องวทัญญู
24 ธันวาคม 2546


มูลเดิมของการกำเนิดเจ้าแม่ทับทิม มีประวัติจากการบอกเล่าสืบต่อเนื่องกันมา ปรากฎว่าเริ่มมาแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นในสมัยกษัตริย์ ฮั่นกวงบู๊ตี๋ (ประมาณระหว่าง พ.ศ. 537 - 610) ซึ่งในระหว่างรัชสมัยนี้เอง เจ้าแม่ทับทิมก็ได้รับการยกย่องและแต่งตั้งให้เป็นเทพยุดาแห่งความเมตตากรุณย์ ช่วยคุ้มครองมวลมนุษย์ให้พ้นจากสรรพภัยและขจัดความทุกข์ยากทั้งมวล กาลต่อมา จวบกระทั่งปลายราชวงศ์เหม็งต่อต้นราชวงศ์เช็ง (ประมาณ พ.ศ. 2167 หรือ 360 ปีมาแล้ว) ที่เกาะไหหนำ เขตบ่นเซียว แขวงหน่ำไห้ มีหมู่บ้านชื่อตุ้ยบ้วย ณ ที่นี้เองมีครอบครัวชาวประมงที่ยากจนครอบครัวหนึ่ง หัวหน้าครอบครัว แซ่พัว เป็นบุคคลที่ขยันขันแข็ง มัธยัสถ์ นิสัยซื่อสัตย์สุจริต อาชีพหลักที่ยึดเป็นประจำเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเลี้ยง ครอบครัวก็คือ จะออกทะเลหาปลาในตอนกลางคืน คืนวันหนึ่ง ทะเลเรียบ ท้องฟ้าโปร่ง ดวงดาวสุกสกาว เหมาะที่จะเป็นคืนแห่งการพักผ่อนและชื่นชม แต่เขาก็ยังคงต้องนำเรือคู่ชีวิตออกหาปลาเหมือนเช่นเคย โดยมีแหทำเป็นช้อนผูกติดไว้กับหัวเรือ นาน ๆ จึงจะยกขึ้นดูสักครั้ง ทว่าในคืนนี้ ไม่ว่าจะพายทวนน้ำ หรือพายเข้าหาฝั่งทุกครั้งเมื่อยกช้อนขึ้นดู ไม่ปรากฏว่ามีปลาติดเลยแม่แต่ตัวเดียว ทำให้เขาเกิดความผิดหวัง ถือกระนั้นเขาก็ยังไม่หมดความหวัง เขาพยามยามอีกครั้ง ในคราวนี้เขาพายเรือออกไปนอกฝั่ง คะเนว่าไกลที่สุด แล้วก็เร่งฝีพายลากช้อนมุ้งเข้าหาชายหาด ซึ่งมั่นใจว่าครั้งนี้คงไม่ผิดหวังแน่ เพราะมีความรู้สึกว่ามีสิ่งของติดอยู่ในช้อนหัวเรือจนทำให้ต้องออกแรงในการพายเพิ่มขึ้น เขามั่นใจว่าอย่างไรเสียต้องมีปลาตัวใหญ่หรือฝูงปลาจำนวนมากตกคลักอยู่ในช้อนหัวเรือนั่นเอง เขาเริ่ม ยิ้มออก และเร่งเรือให้ถึงชายฝั่งเร็วขึ้นต่อเมื่อยกช้อนขึ้นดู กลับกลายเป็นว่าสิ่งที่อยู่ในก้นช้อนนั้น หาใช่ปลาไม่ เป็นเพียงท่อนไม้ท่อนหนึ่งเท่านั้นเอง ด้วยความโมโหและผิดหวัง เขาเหวี่ยงท่อนไม้ท่อนนั้น และรอจนกระทั่งท่อนไม้ลอยตามน้ำไปไกล จึงหันกลับมาตกแต่งช้อนเพื่อลองใหม่ ด้วยอารมณ์ที่ไม่ค่อยจะสดชื่นนัก ครั้งนี้เขาเข็นช้อนแหทวนน้ำใหม่อีกครั้งพร้อมทั้งนึกถึง ฟืน เกลือ และข้าวปลาอาหารของครอบครัวในวันรุ่งขึ้น และก็ยังคิดไม่ออกตรองไม่ตกว่า ถ้าเขาไม่ได้ปลาในวันนี้แล้วจะทำอย่างไรกับวันพรุ่งนี้ ในขณะที่เขาเข็นข้อนแหและคิดกังวลอยู่นั้นเอง พลันก็มีลมทะเลปะทะหน้าเขาวูบหนึ่ง ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่เขายกช้อนนั้นขึ้น สิ่งที่ประจักษ์แก่สายตาและ ความประหลาดใจเป็นที่ยิ่ง ก็คือ ไม้ท่อนนั้นเข้ามาอยู่ในช้อนอีกเช่นครั้งที่แล้ว ด้วยความโมโห สุดขีด เขาเหวี่ยงท่อนไม้และช้อนไปบนชายหาดอย่างไม่ใยดี เพียงชั่วครู่เขาหวนคิดขึ้นได้ว่า ไม้ท่อนนี้เขาปาไปทางน้ำไหลลง แต่เหตุไฉนจึงทวนน้ำกลับเข้ามาอยู่ในช้อนแหของเขาได้อีก เขารีบกระวีกระวาดขึ้นฝั่งพร้อมกับพินิจพิจารณาไม้ท่อนนั้นด้วยความมหัศจรรย์ใจ

แต่จะด้วยความประหลาดหรือมหัศจรรย์อย่างไรก็ตามเขาก็ได้แต่เพ่งไม้ท่อนนั้นพร้อมกับถอนใจนึกถืงความอาภัพอับวาสนาของตนเอง ส่วนภายในจิตใจเขาก็เฝ้าแต่ครุ่นคิดถืงเหตุใดท่อนไม้ท่อนเดียวกันนี้จึงไหลทวนน้ำและก่อกวนให้เขาเกิดความผิดหวังเป็นการเฉพาะเช่นนี้ ยิ่งคิดก็ยิ่งไม่เข้าใจอะไรมากขึ้น จากความงงและความไม่เข้าใจในเหตุและผลนี้เองได้สร้างความ ท้อแท้และหมดหวังให้แก่เขา คนเราเมื่อหมดหวัง สิ่งหนึ่งที่จะปรากฎขึ้นในดวงจิตก็คือ นึกถึง สิ่งลึกลับ สิ่งซึ่งยังไม่มีผู้ใดอธิบายได้ เขาค่อย ๆ สงบสติอารมณ์ดับความโมโหในจิตใจด้วยการพร่ำภาวนาบนบานศาลกล่าวต่อไม้ท่อนนั้น โดยถือเสมือนหนึ่งว่าเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์

“ตัวข้าฯ ตั้งแต่เกิดมาจนป่านนี้ ยังไม่เคยเห็นท่อนไม้ใดที่จะมีอภินิหารจนถึงกับลอยทวนน้ำได้ ฉะนั้นหากท่านศักดิ์สิทธิ์และมีศักดานุภาพจริง ก็ควรจะให้ความสงสารและช่วยให้ตัวข้าฯ ผู้อยู่ในความระทมให้พ้นห้วงทุกข์นี้ด้วยเถิด โดยข้าฯ ขอให้สัญญาว่า ก่อนรุ่งแจ้งของ วันพรุ่งถ้าข้าฯ สามารถหาปลาได้เต็มช้อนแห ข้าฯ จะระลึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ที่ทรงการุณย์ แก่ข้าฯ ด้วยการนำท่านกลับไปแกะสลักเป็นเทวรูป “เจ้าแม่” พร้อมกับจะได้ทำการกราบไหว้บูชา บวงสรวงทุกค่ำเช้า”

หลังจากได้กล่าวบนบานแล้ว เขาค่อย ๆ ประคองอุ้มไม้ท่อนนั้นไปประดิษฐาน ไว้ ณ หัวเรืออย่างทะนุถนอมพร้อมทั้งรีบนำเรือดันช้อนแหมุ่งหน้าทวนน้ำขึ้นไปอีกครั้งด้วยความ มั่นใจ คล้ายกับปาฏิหาริย์ ครั้งนี้ภายในช้อนแหแน่นขนัดไปด้วยปลานานาชนิดทั้งตัวใหญ่ตัวน้อย จากนั้นเขานำเรือดันช้อนแหอีกเพียง 2 - 3 ครั้ง ท้องเรือลำน้อยของเขาก็เต็มไปด้วยปลา เขาปลาบปลื้มและปิติเป็นอย่างยิ่งประจวบกับเสียงไก่ขันแว่วมาจากฝั่ง แสงสีทองเรื่อเรืองอยู่ ขอบฟ้าได้เวลาอรุโณทัย เขากระวีกระวาดเบนหัวเรือมุ่งกลับบ้าน ด้วยจิตใจแสนสุขและอิ่มเอิบ ในอภินิหารของไม้ท่อนนั้น ที่ทำให้คำอธิษฐานของเขาสัมฤทธิ์ผลตามคำที่วิงวอนไว้

เมื่อถึงบ้าน หลังจากเก็บเครื่องมือเครื่องใช้ในการจับปลาเข้าที่เข้าทางแล้ว เขา ไม่ลืมที่จะนำไม้ท่อนนั้นไปวางในที่อันควร ต่อจากนั้นเขานำปลาที่จับได้ลำเลียงสู่ตลาด และแล้ว สิ่งมหัศจรรย์ก็บังเกิดขึ้นอีก ราคาปลาในตลาดวันนั้นสูงขึ้นกว่าเดิมถึง 3 เท่า เพราะวันนี้ปลาในตลาดมีน้อยมาก ทำให้เขายิ่งได้สำนึกว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นเพราะปาฏิหาริย์ของท่อนไม้ ศักดิ์สิทธิ์อย่างมิพักต้องสงสัย

ตั้งแต่คืนนั้นเป็นต้นมาบุคคลแซ่พัวผู้นี้ ก่อนจะนำเรือออกทะเลเพื่อจับปลา เขาจะต้องทำการเซ่นไหว้ ขอพรจากท่อนไม้นั้นก่อน และทุกครั้งเขาจะพบแต่ความสำเร็จสมหวัง เงินทองเริ่มมีการสะสม อาหาร ยา เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย ก็ไม่เป็นปัญหาสร้างความหนักใจให้แก่เขาและครอบครัวอีก

6 เดือน ผ่านไปอย่างรวดเร็ว การทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการจับปลาได้สร้าง ความเจริญ ความสุขสบาย จนทำให้เขากลายเป็นผู้มีอันจะกินในถิ่นฐานละแวกนั้นเพิ่มขึ้นมาอีกครอบครัวหนึ่ง แต่สิ่งหนึ่งที่เขาลืมไม่ได้ก็คือ หากทุกอย่างดำเนินไปอย่างเช่นทุกวันนี้ ขอเวลาอีกเพียงปีเดียวเท่านั้น เขาก็คงสามารถจะนำไม้ศักดิ์สิทธิ์ท่อนนั้นมาแกะสลักเป็นองค์เทวรูป “เจ้าแม่” พร้อมทั้งสร้างศาลให้วิญญาณเจ้าแม่สถิตย์ได้สมกับที่เขาได้บนไว้ในค่ำคืนวันนั้น ถึงแม้เขาจะได้ ตั้งปณิธานไว้เช่นนั้น แต่การจับปลาอย่างได้ผล เงินทองที่ไหลมาเทมาทำให้เขาหลงลืมไป จนแล้วจนรอดการแกะสลักองค์เทวรูป “เจ้าแม่” และการสร้างศาลก็ยังมิได้เริ่มดำเนินการแต่ประการใด

จวบกระทั่งค่ำวันหนึ่ง เขารู้สึกอ่อนเพลีย ความง่วงเข้าครอบงำจนอยากจะพักผ่อนหลับนอนเหลือกำลัง จึงในขณะที่ใกล้จะหลับนั่นเอง เขาเคลิ้มฝันไปว่า

เขาได้ล่องลอยไป ณ สถานที่แห่งหนึ่ง ธรรมชาติสวยงามยิ่งนัก บนท้องฟ้า ดาดาษไปด้วยดวงดาวระยิบระยับสายธารที่ไหลเอื่อย ๆ อยู่เบี้องหน้า น้ำใสสะอาดพริ้วไปตาม สายลม สร้างความประทับใจและความเพลิดเพลินให้เขาจนสุดที่จะบรรยายได้ ทันใดนั้นเองก็มี สายฟ้าแลบสว่างวาบขึ้นเหนือสายน้ำนั้น พร้อมกับปรากฎร่างของหญิงสาวรูปงามสง่างาม เดินตรงเข้ามาหาเขา นางยกมือทั้งสองเกาะกุมอยู่เหนืออกเป็นเชิงคารวะ

“ท่านผู้เฒ่าแซ่พัว เจ้าแม่ให้มาเชิญท่านไปยังวังที่ประทับ มีเรื่องจะปรึกษาด้วย” คำเชิญที่มิได้คาดคิดมาก่อน ทำเอาผู้เฒ่าพัวตกตะลึงยืนอยู่กับที่ด้วยความงงงัน ยังมิทันจะตอบรับหรือปฏิเสธคำเชิญนั้น ดวงตาของเขาก็พร่าขึ้นอีกครั้งด้วยสายฟ้าที่ดูเหมือนจะแรงกว่าครั้งแรกสว่างวาบขึ้นเป็นคำรบที่สอง ครั้นแล้วร่างของเขาก็ไร้น้ำหนัก ล่องลอยตามนางผู้นั้นไป กว่าจะได้สติก็ปรากฎว่า เขาได้มายืนอยู่หน้าแท่นบัลลังก์อาสน์ที่ประดิษฐานด้วยทองคำฝังเพชรและอัญมณีสวยงามตระการตา ณ บนแท่นนั้นเอง มีเจ้าแม่ทองเสื้อคลุมลายมังกร ประดับด้วยมงกุฏเพชรเป็นรูปนกหงส์ และมีฉลองพระบาทสีแดงปักลวดลายด้วยดิ้นทองและเงินเป็นรูปดอกไม้ ประทับอยู่บนแท่นบังลังก์อาสน์ ด้วยดวงพระพักตร์ที่อ่อนละมุนนุ่มนวลเปียมไปด้วยรอยยิ้มที่อิ่มเอิบแสดงถึงความเมตตาปราณี

“ผู้เฒ่าพัว ยังจำถึงคำบนบานที่เคยอธิษฐานได้หรือไม่ ส่วนการตอบสนองจาก สิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามคำขอก็ให้อยู่แล้วอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ทว่าสิ่งที่เจ้าจะต้องทำการแก้บนเพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทิตา โดยจะแกะสลักไม้ท่อนนั้นให้เป็นรูปเจ้าแม่ พร้อมทั้งศาลที่ประทับเพื่อกราบไหว้บูชา ยังมิได้เริ่มเลย ฉะนั้น เมื่อเจ้ากลับไปแล้วให้เริ่มได้ ศาลถึงจะเล็กและแคบก็สามารถใหญ่ได้ในอนาคตศาลไม่สวยไม่งามไม่เป็นที่ประทับใจก็จะสวยงามได้ในอีกไม่นาน ทั้งนี้ เพื่อจะได้เป็นเครื่องแสดงถึงเดชบารมีของเจ้าแม่และเป็นที่พึ่งพิงแก่ปวงชนที่ตกทุกข์ได้ยาก อันนับเนื่องต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด”

ชาวประมง “แซ่พัว” ผู้นี้หลังจากได้ฟังอรรถาธิบายจากเจ้าแม่จนสิ้นถ้อยกระทงความแล้ว รู้สึกว่าตัวเองยังเป็นหนี้พระการุณย์ของเจ้าแม่ดุจดังขุนเขา จึงรีบคุกเข่าโขกศรีษะลงกับพื้น พลางเอยขึ้นว่า “ขอบพระคุณในความอาการุณย์ของเจ้าแม่ ข้าฯจะรีบกลับไปปฏิบัติกิจที่ คั่งค้างนี้ทันที

ปรากฎว่าพอเขากล่าวจบลง พลันสายฟ้าสว่างวาบขึ้นอีกครั้ง ทุกสิ่งทุกอย่างสลายหายวับไปหมดสิ้น เขาตกใจตื่นจากภวังค์คืนสู่ความปกติ ย้อนนึกถึงเหตุการณ์ในความฝันเมื่อครู่นี้ เขาตัดสินใจนำเงินทองที่เก็บหอมรอมริบไว้ออกมาเพื่อดำเนินการแก้บนตามที่บนบานไว้ และเพื่อเป็นการเซ่นสรวงแด่ “เจ้าแม่” ผู้โอบอุ้มและเมตตาแก่เขาตลอดมา

และแล้ววันนั้นตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 (ตรงกับเดือน 12 ทางจันทรคติของไทย) ณ ทุ่งกว้างของหมู่บ้านตุ้ยบ้วย ก็มีศาลของ “เจ้าแม่ตุ้ยบ้วย” บังเกิดขึ้นมีพิธีเบิก พระเนตร เชิญพระวิญญาณของ ”เจ้าแม่” มาประทับเพื่อคุ้มครองมาประสิทธิ์ประสาทแก่ปวงชน พร้อมทั้งสรรพสัตว์ที่ทุกข์ยาก และอำนวยความสำเร็จให้บังเกิดแก่ผู้ที่วิงวอนขอร้องให้รอดพ้นจากภัยพิบัติ และในคืนวันพิธีนั้นเองเขาได้จัดสุราอาหาร เชิญแขกหรือญาติมิตรมาร่วนโดยถือว่า สุราคือน้ำอมฤต และอาหารคือเครื่องทิพย์ ที่ยังความสุขความเจริญความสำเร็จให้บังเกิดแก่ผู้มาร่วม เขาถือโอกาสเล่าเหตุการณ์ในอดีตให้ทุกคนได้ทราบ และกำหนดเอาวันพิธีนี้เป็นกำเนิดของ “เจ้าแม่ตุ้ยบ้วย“ ซึ่งสืบเนื่องมาจนกระทั่งทุกวันนี้

หลังจากเขานี้ได้แพร่สะพัดพร้อมกับความศักดิ์สิทธิ์ของ “เจ้าแม่ “ ได้ขจรขจาย ต่อๆ กันไป มีประชาชนทั้งใกล้และไกล เดินทางมากราบไหว้ขอบารมี ขออิทธิฤทธิ์ ขอความสำเร็จถ้วนทั่วทุกตัวคน โดยเฉพาะถ้าเป็นวันคล้ายวันกำเนิดที่กำหนดไว้ ก็จะมีประชาชนมาประชุมนุมกราบไว้กันมากมายจนทำให้ศาลเจ้าและบริเวณสถานที่คับแคบลงไปถนัดใจ และยังมีสิ่งมหัศจรรย์อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่อาจจะงดเว้นการกล่าวเสียได้ คือ งานมหกรรมใด ๆ ก็ตาม ถ้ามีคนมากหน้า หลายตา พวกผู้ร้ายชิงวิ่งราวก็จะมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่ด้วยอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ และ เดชบารมีของ “เจ้าแม่ตุ้ยบ้วย” ยังไม่เคยปรากฎว่าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่ประเพณีมีหลายร้อยปีมาแล้ว และหากเกิดมีกลุ่มคนร้ายรายใดคิดจะลองดีลงมือประกอบกรรมชั่ว จะต้องชะงักและถูกจับได้ เหมือนต้องไฟฟ้าสถิตย์ให้นิ่งเฉยกับที่คอยคนมาจับกุมนำไปลงโทษ

จากเสียงลือเสียงเล่าอ้างนี้ อีกประมาณร่วม 100 ปี ก็แพร่ไปถึงพระกรรณของกษัตริย์เด้ากวง (ระหว่าง พ.ศ. 2364 - 2393 ) ในราชวงศ์เช็ง ( แมนจู ) รวมทั้งอภินิหารขององค์เจ้าก็เป็นที่ประจักษ์แก่มวลชน ทุกวัยทุกชั้นวรรณะไม่ว่าหญิงหรือชาย ฉะนั้น กษัตริย์เด้ากวง จึงได้ประทานตราตั้งและพระราชทานนามว่า

“หน่ำเทียนเอี้ยมเดี้ยนก้ำเอ๋งห้วยหลุ่ยตุ้ยบ้วยเต๋งเหนี่ยง” ตามพระนามนี้มี ความหมาย คือ สายฟ้า สนองตอบเสียงฟ้าฝ่ายใต้เจ้าแม่ตุ้ยบ้วย ผู้เขียนคิดเอาเองว่า หากจะนำมาเปรียบเทียบกับนามของนางมณีเมขลา หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “เมขลา” (ชื่อเทพธิดาประจำสมุทร หรือเทพธิดาประจำฟ้าแลบ) ก็คล้ายคลึงกัน สรุปความหมายของเจ้าแม่ที่ได้รับพระราชทานนามนี้ ก็คือ เจ้าแม่สามารถให้การตอบสนอง ช่วยเหลือ พิทักษ์เกี้อกูล แต่ผู้ทุกข์ยากได้ทันท่วงที

จากประวัติที่ค้นคว้า ปรากฎว่า คนจีนไหหนำ (ไหหลำ) ได้เริ่มเดินทางมาประเทศไทย พึ่งประบรมโพธิสมภารในราวพุทธศักราช 2385 โดยเฉพาะคนจีนไหหนำซึ่งอาศัยอยู่บน เกาะใต้สุดของประเทศจีน ก่อนจะเดินทางสู่ประเทศไทยก็ต้องอาศัยเรือสำเภาเป็นพาหนะ ผ่านแหลมอินโดจีนเข้าสู่อ่าวไทย ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในเรือซึ่งเห็นแต่น้ำกับฟ้า ชาวจีนไหหนำ ทุกคนอาศัยการบนบานเจ้าแม่ตุ้ยบ้วย ให้คุ้มครอบรักษาให้การเดินทางให้เป็นไปโดยสวัสดิภาพ ฉะนั้น จึงไม่เป็นการประหลาดแต่อย่างใดที่ทราบข่าวว่าขณะนี้ ศาลเจ้าแม่ตุ้ยบ้วยมีอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน 25 ศาล ส่วนศาลเจ้าแม่ที่อยู่เชิงสะพานซังฮี้ สามเสน ชาวจีนไหหนำได้เริ่มสร้างตั้งแต่ปีแรกที่เดินทางมาถึงประเทศไทย

ส่วนชื่อ เจ้าแม่ทับทิม ที่ใช้เรียกเป็นคำแทนชื่อเจ้าแม่ตุ้ยบ้วยเต๋งเหนี่ยง จะมีที่มาอย่างไรผู้เขียนยังไม่ทราบหลักฐานจากที่ใด จึงมิกล้าที่จะเฉลย ณ ที่นี้

อย่างไรก็ตาม ความศักดิ์สิทธิ์ ความอภินิหารของเจ้าแม่ก็เป็นกำลังใจอันอาจเป็นที่พึ่งทางจิตของคนส่วนมากได้ จึงเป็นที่เลื่อมใสศรัทธา จนกลายมาเป็นธรรมเนียมประเพณีอัน เก่าแก่ที่มีค่าควรแก่การธำรงไว้