Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
คดีลอบปลงพระชนม์ ร.๘
สุวัฒน์ รัตนรณชาติ
20 ก.ย. 2546


เมื่อ 2-3 ปีมานี้ มีข่าวลือหนาหูมากว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ในหลวงรัชกาลที่ ๘ ได้เสด็จมาเป็นพระอยู่ที่จังหวัดเชียงราย (จำไม่ได้ว่าวัดอะไร มีผู้คนหลั่งไหลไปกราบไหว้กันมาก) พระองค์ท่านไม่ได้เสียชีวิตเพราะถูกลอบปลงพระชนม์ แต่ได้บวชเป็นพระนานมาแล้วโดยไม่มีไครทราบ อะไรทำนองนี้ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นข่าวลือผิดๆ เพราะได้เคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับคดีลอบปลงพระชนม์พระองค์ท่าน อันเป็นหลักฐานทางราชการที่ถูกต้องเชื่อถือได้ มีการสอบสวนและพิจารณาคดีนี้อย่างละเอียด แม้กระทั่งสมเด็จพระราชชนนี (สมเด็จย่า) และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เองก็ได้พระราชทานคำให้การเป็นพยานแก่โจทก์ด้วย จนในที่สุดศาลฎีกาได้ตัดสินพิพากษา ลงโทษประหารชีวิตจำเลยสามคนคือ นายเฉลียว ปทุมรส (ราชเลขานุการในพระองค์) นายชิต สิงหเสนี และนายบุศย์ ปัทมศริน (สองคนหลังนี้เป็นมหาดเล็กห้องพระบรรทม) ซึ่งสมคบกันวางแผนลอบปลงพระชนม์

เหตุใดทั้งสามคนดังกล่าวจึงวางแผนลอบปลงพระชนม์นั้น ตามสำนวนสอบสวนปรากฏว่า นายเฉลียว ซึ่งเป็นราชเลขานุการในพระองค์ และเป็นคนสนิทชิดชอบของนายปรีดี พนมยงค์ แต่ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะปฏิบัติตนไม่ต้องด้วยพระราชประสงค์หลายประการ (ในลักษณะขาดความเคารพยำเกรงและดูหมิ่นในหลวง) จึงน่าจะโกรธเคืองพระองค์ท่าน ส่วนนายชิตและนายบุศย์เป็นลูกน้องคนสนิทของนายเฉลียว และถวายการอารักขาอยู่หน้าห้องพระบรรทมตอนเกิดเหตุ

ส่วนผู้ปลงพระชนม์น่าจะเป็นเรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช ลูกน้องนายเฉลียวและคนสนิทของนายปรีดี เพราะมีพยานเห็นเดินลงบันใดพระที่นั่งบรมพิมานที่ประทับในหลวงในเช้าวันเกิดเหตุ

วันลอบปลงพระชนม์คือ วันที่ 9 มิถุนายน 2489 เวลาก่อน 9.30 น. เล็กน้อย อันเป็นวันก่อนวันในหมายกำหนดการเสด็จกลับไปทรงศึกษาวิชากฏหมายต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คือวันที่ 13 มิถุนายน 2489 เพียง 4 วัน ขณะนั้นพระองค์ท่านมีพระชนมายุเกือบ 21 ปีเต็ม (ขาดไป 3 เดือนกับอีก 11 วัน) และภายหลังเสด็จนิวัติจากสวิตเซอร์แลนด์มาอยู่ประเทศไทยได้เพียงครึ่งปี

นายปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะเกิดคดีฯ และได้เคยเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก่อนพระองค์เสด็จกลับมาเมืองไทยราวปีกว่าๆ ( 1 สิงหาคม 2487 ถึง 5 ธันวาคม 2488)

มีพยานเห็นนายเฉลียว นายชิต นายบุศย์ และเรือเอกวัชรชัย จำเลยในคดีลอบปลงพระชนม์ พร้อมด้วยนายปรีดี ไปบ้านพลเรือตรีกระแส ศรยุทธเสนี 2-3 ครั้ง ก่อนการลอบปลงพระชนม์ไม่นาน นอกจากนี้ นายเฉลียวและนายชิตยังได้พูดให้พยานในคดีได้ยินว่า ในหลวงจะไม่ได้เสด็จไปต่างประเทศตามที่มีหมายกำหนดการ ราวกับรู้ว่าในหลวงจะถูกปลงพระชนม์

คดีลอบปลงพระชนม์นี้ยืดเยื้อยาวนานต่อมาอีก 8 ปี คือ จนกระทั่งเดือนตุลาคม 2497 ภายหลังเกิดรัฐประหารและนายปรีดีและเรือเอกวัชรชัยได้หายตัวไป ศาลฎีกาจึงได้ตัดสินลงโทษประหารชีวิตจำเลยทั้งสามดังกล่าว