Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
ประวัติเกาะไหหลำ
สุวัฒน์ รัตนรณชาติ


ในหนังสือของอาจารย์ อุดม วิมลวัฒนา (ไข่มุกแห่งทะเลจีนใต้: เกาะไหหลำดินแดนแห่งบรรพบุรุษของเรา) กล่าวว่า เกาะไหหลำเป็นเกาะใหญ่อันดับสองของประเทศจีนรองจากเกาะฟอร์โมซาหรือใต้หวัน มีพื้นที่ประมาณ 34,000 ตร.กม. (เล็กกว่าใต้หวัน 2,000 ตร.กม.) รอบเกาะยาว 1,528 กม. อยู่ในเขตร้อนชื้นทางตอนใต้สุดของประเทศจีน ใกล้กับเวึยตนาม ในสมัยโบราณเรียกเกาะไหหลำว่า ตันเอ๋อ และจากการขุดพบโบราณวัตถุ 200 กว่าแห่งบนเกาะ ได้แสดงให้เห็นว่า มีมนุษย์อาศัยอยู่บนเกาะนี้มาตั้งแต่ 6,000 ปีที่แล้ว

   แผนที่อำเภอบนเกาะไหหลำ

อากาศบนเกาะไหหลำเย็นสบายระหว่างเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ (อุณหภูมิเฉลี่ย 16-21 องศาเซลเซียส ต่ำสุด -1.4 องศา) และร้อนชื้นมากระหว่างเดือนกรกฏาคมถึงสิงหาคม (อุณหภูมิเฉลี่ย 25-29 องศาเซลเซียส สูงสุด 40 องศา) มีพายุไต้ฝุ่นเฉลี่ย 2.4 ครั้งต่อปี

   นครไห่เข่า    เปิดประตูสู่การท่องเที่ยว

สัญลักษณ์ของเกาะไหหลำ คือ ภูเขาโง่วจี่ตัว (อู่จื่อซาน) ที่แปลว่าฝ่ามือห้านิ้ว เป็นภูเขาที่สูงที่สุดของเกาะฯ ซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเล 1,867 เมตร แม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดของเกาะฯ คือ แม่น้ำหน่ำดู้เกียง (หนานตู้เจียง) ยาวประมาณ 331 กม. มิเพียงแต่ได้สมญาว่า ไข่มุกแห่งทะเลจีนใต้ เท่านั้น เกาะไหหลำยังได้สมญาอีกอย่างว่า ฮาวายตะวันออก

   ท่าเรือตำอา    นครตำอา (ซันย่า) และท่าเรือ

ปัจจุบันเกาะไหหลำมีฐานะเป็นมณฑลที่ 31 ของประเทศจีน (ประกอบด้วยหมู่เกาะอื่นๆ อีก คือ หมู่เกาะซีซา หนานซา จงซา เป็นต้น) เป็นมณฑลเขตปกครองพิเศษ คือปกครองตนเองและดำเนินนโยบายเศรษฐกิจกึ่งเสรี มีเมืองใหญ่ที่เรียกเป็นนครอยู่ 3 เมือง คือ ไห่เข่า ตำอา และ โทงต๋า มี 16 อำเภอ คือ บุ่นเซียว เข่งไห่ บั่นเหน่ง เหล่งตุ่ย เข่งตัว เด้งอัน โด้นเซียง เดงไม้ ดามกวาย หลิ่มโกว เข่งตง ลกดง โบกตัว เซียงเกียง ดังพาง โบ่เด่ง

   ศาลเจ้า 5 บุรุษ    สถาบันเข่งไถ่    สถาบันเดงโบ    ศาลเจ้าแม่ทับทิม

ผลิตผลที่สำคัญของเกาะไหหลำ ได้แก่ มะพร้าว (90% ของการผลิตทั้งประเทศ) มะม่วงหิมพานต์ (เช่นเดียวกับมะพร้าว) ยางพารา (60%) กาแฟและพริกไทย (50%) ชา ปาล์มน้ำมัน อ้อย โกโก้ ถั่วลิสง หมาก ผลไม้เขตร้อนต่างๆ กว่า 80 ชนิด ที่มากที่สุด คือ สับปะรด (50% ของผลไม้บนเกาะ) และดอกไม้เขตร้อนกว่า 100 ชนิด สมุนไพรกว่า 2,000 ชนิด (ที่ต้านทานโรคมะเร็งได้มีกว่า 50 ชนิด) นอกจากผลิตผลทางเกษตรแล้ว ก็มีแร่ธาตุในดิน ที่สำคัญ ได้แก่ แร่เหล็ก แร่ไททาเนียม และเกลือจากทะเล

   ภูเขาซีดจี่เลี่ย

สัตว์เลี้ยงที่สำคัญของเกาะไหหลำ ได้แก่ กระบือ โค (1,120,000 ตัว) สุกร (2,800,000 ตัว) แพะ (310,000 ตัว ที่มีชื่อ คือ แพะดังตัว) เป็ด (ที่มีชื่อ คือ เป็ดกาเจก) ไก่ (ที่มีชื่อ คือ ไก่บุ่นเซียว) สำหรับสัตว์ป่ามีมากกว่า 70 ชนิด (ที่หายาก ได้แก่ มนุษย์วานร ชะนีหมวกดำ และกวางเนิน) นกกว่า 340 ชนิด ผีเสื้อกว่า 300 ชนิด

   ไก่บุ่นเซียว    แพะดังตัว

เกาะไหหลำมีประชากรราว 6 ล้านกว่าคน ส่วนใหญ่เป็นชาวฮั่น (เชื้อชาติจีน มากที่สุด) ไป่เย่ (เชื้อชาติไต คนจีนในสมัยโบราณเรียกคนไตเผ่าต่างๆ ทางตอนใต้ของประเทศจีนว่า ไป่เย่ ซึ่งมีหลายเผ่า เช่น จ้วง หลี สุ่ย ลื้อ ยอง เขิน ไทยใหญ่ ไทยเหนือ ไทยดำ เป็นต้น) เหมี๋ยว (เชื้อชาติโม้ง เห็นนักประวัติศาสตร์บางคนบอกว่า โม้งมีเชื้อชาติเป็นมองโกล) เหยี๋ยว และหุย (ไม่ทราบว่าเป็นเชื้อชาติใด) ผู้เขียนมีความสงสัยว่าคนไหหลำหรือไหหนำ จะเป็นจีนที่มีเลือดพวกไป่เย่ปนอยู่หรือเปล่า เพราะคนไหหลำมีเปลือกตาสองชั้น ซึ่งต่างจากจีนแท้ๆ เช่นเดียวกับคนไทย ที่น่าจะเป็นเชื้อชาติผสมระหว่างไตกับอื่นๆ คือ เขมร มอญ พม่า คนจีนที่อพยพไปอยู่เกาะไหหลำสมัยแรกๆ ไปจากมณฑลฮกเกี้ยน ภาษาไหหลำจึงใกล้เคียงกับภาษาฮกเกี้ยน เป็นที่น่าสนใจว่า ภาษาไหหลำนั้นมีพัฒนาการมาเช่นไร เป็นภาษาที่เพี้ยนมาจากภาษาฮกเกี้ยน หรือว่าเป็นภาษาจีนผสม ระหว่างภาษาอะไรกับอะไรบ้าง? (คนจีนในสิงคโปร์ส่วนใหญ่เป็นจีนฮกเกี้ยน เช่นเดียวกับคนจีนที่เกาะภูเก็ต)

   เมืองกาเจก    แม่น้ำบ้านส่วน

ภาษาที่ใช้บนเกาะไหหลำ มีหลายภาษาแต่ส่วนใหญ่เป็นภาษาจีนไหหลำและจีนกลาง ภาษาจีนไหหลำเป็นภาษาจีนท้องถิ่น (dialect) ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาจีนฮกเกี้ยน

   มหาวิทยาลัยไหหลำ

มรดกทางวัฒนธรรมของไหหลำที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ภาษาไหหลำ (เนื่องจากเป็นมรดกทางวัฒนธรรมด้านภาษา ดังนั้นจึงควรอนุรักษ์ ให้คงอยู่ควบคู่ไปกับภาษาจีนกลาง) งิ้วไหหลำ (เริ่มมีในปลายราชวงศ์เหม็ง) หุ่นกระบอกหลิ่มโกว ระบำและเพลงของชนชาติหลีและเหมี๋ยว เพลงอำเภอดามกวาย ดนตรี 8 เสียงไหหลำ เป็นต้น

   สุดหล้าฟ้าเขียว.. เทียนหยาไห่เจี่ยว

อำเภอบุ่นเซียวมีชื่อเสียงในด้านการผลิตนักวอลเลย์บอลทีมชาติ และเป็นบ้านเกิดของบรรพบุรุษของ 4 พี่น้องตระกูลซ่ง คือ ซ่งอ่ายหลิง (ภรรยาของรองประธานาธิบดีโข่งเสียงซี) ซ่งซิ่งหลิง (ภรรยาของ ดร.ซุนยัดเซน และตัวซ่งซิ่งหลิงเองก็เป็นรองประธานาธิบดีด้วย) ซ่งเหมยหลิง (ภรรยาของประธานาธิบดีจียงไคเชค) ซ่งจื่อหวุน (นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน) พ่อของสี่พี่น้องนี้คือ ซ่งเจียซู่ (เดิมชื่อห่านเกี๋ยวตุ่น เป็นคนแซ่ห่าน แต่ไปเป็นลูกบุญธรรมของน้องชายของอาสะไภ้ ซึ่งเป็นคนแซ่ซ่ง) แม่ของซ่งเจียซู่หรือย่าของสี่พี่น้องเป็นคนแซ่อุ่ย

   เมืองบุ่นเซียว    บ้านตระกูลซ่ง    ไร่ชาโทงต๋า    ไร่พริกไทย

คนไหหลำที่มีชื่อเสียงท่านอื่นๆ ได้แก่ เอี่ยวติ๋นจิบ (สำเนียงจีนกลางคือหยางซ่านจี๋) อุ่ยบุ่นเหม่ง (หวางหวุนเหม็ง) อุ่ยก็กเฮง (หวางกว๋อชิง) จอมพลบ่างบกกี (เฝิงป๋ายจี) บ่างเผ่ง (เฝิงผิง) สิ่นเซ็ก (เฉินเซ้อ) นายพลเดียวหยุ่นยวด (จางหยุนหวี่) เป็นต้น

   สตรีชาวหลี    สตรีชาวหลีกำลังตำข้าวเปลือก    หมู่บ้านชาวหลี

ลูกหลานคนไหหลำที่มีชื่อเสียงในเมืองไทยปัจจุบัน เช่น ดร.วันชัย จิราธิวัฒน์ ดร.ทรงศักดิ์ เอาฬาร นายดิลก มหาดำรงค์กุล นายเฉลียว อยู่วิทยา นายธนวิทย์ ดุษฎีสุรพจน์ นายบุญชู โรจนเสถียร นายอุทัย พิมพ์ใจชน นายโสภณ เพชรสว่าง นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายสุชาติ ตันเจริญ นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ นายชูชีพ หาญสวัสดิ์ น.พ.บุญ วนาสิน พล.ต.อ.โกวิท ภักดีภูมิ ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ดร.วันชัย ศิริชนะ เป็นต้น

   พิธีแต่งงานชาวเหมี๋ยว

หากผู้อ่านท่านใด มีความรู้เกี่ยวกับไหหลำ จะทางด้านใดก็แล้วแต่ ผู้เขียนไคร่ขอความกรุณาจากท่าน ได้โปรดส่งความรู้เหล่านั้นมายังผู้เขียน เพื่อรวบรวมไว้เป็นความรู้สำหรับคนทั่วไปได้รับทราบในเว็บไซท์นี้