Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
   มะกล่ำตาหนู:เมล็ดมีพิษ
 
 ์ Abrus precatorius
 

มะกล่ำตาหนู (Jequirity bean)

                              เป็นไม้เลื้อย ( climbling plant) ตระกูลถั่ว วงศ์ Papilionaceae มีชื่อทางวิทยาศาสตร  ์ Abrus precatorius   Linn. มีใบออกเป็นคู่รูปขนนก มีใบย่อย 8- 15 คู่ ขอบใบเรียบ ออกดอกเป็นช่อที่ซอกใบ กลีบดอกมีหลายสี เช่น ม่วง แดง ชมพู หรือขาว ผลเป็นฝักคล้ายถั่วลันเตา ภายในฝักจะมี 3-5 เมล็ด เมล็ดกลมรียาวขนาด 6-8 มิลลิเมตร เมล็ดมีเปลือกแข็ง สีแดงสดเป็นมัน มีสีดำตรงขั้วประมาณ 1 ใน 3 ของเมล็ด มะกล่ำตาหนู เป็นพืชที่ขึ้นได้ทั่วไปบริเวณประเทศในแถบเส้นศูนย์สูตร ได้แก่ ทางตอนใต้ของจีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ตอนใต้ของอาฟริกา และประเทศไทย เป็นต้น มีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน ได้แก่ jequirity bean, rosary bean, Buddhist rosary bean , Indian bead, Seminole bead, prayer bead, crab 's eye, weather plant, lucky bean ส่วนชื่อไทย นอกจากมะกล่ำตาหนูแล้ว ยังมีชื่อเรียกตามภาษาท้องถิ่นต่าง ๆ คือ กล่ำเครือ, กล่ำตาไก่, มะกล่ำแดง, มะแด๊ก, มะขามไฟ, ตาดำตาแดง, ไม้ไฟ เป็นต้น


ความเป็นพิษ: เมล็ดมะกล่ำตาหนู ภายในเมล็ดมีส่วนประกอบของ N-methyltryptophan, abric acid, glycyrrhizin, lipolytic enzyme และ abrin ซึ่งสูตรโครงสร้างของ abrin คล้าย ricin เป็นส่วนที่มีพิษสูงมาก หากเคี้ยว หรือกินเข้าไป เนื่องจากสารพิษจะไปทำลายเม็ดเลือดแดง ระบบทางเดินอาหาร และไต อย่างไรก็ดีสาร abrin นี้เมื่อถูกความร้อนจะสลายตัวง่าย แต่คงทนอยู่ในทางเดินอาหาร ขนาดเพียง 0.01 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือกินเพียง 1 เมล็ด ก็ทำให้เสียชีวิตได้ หากสารพิษถูกผิวหนังอาจทำให้เกิดผื่นคัน หากถูกตาจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองและอาจถึงกับตาบอดได้

อาการและอาการแสดง:
ระยะแรกจะมีอาการของระบบทางเดินอาหาร ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากรับประทาน ได้แก่อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระมีมูกเลือด และช็อกจากการเสียเลือด (hypovolemia) ได้ ระยะต่อมา ประมาณ 2-3 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการทางระบบอื่น เช่น ซึม กล้ามเนื้ออ่อนเพลีย หัวใจสั่น มือสั่น ผิวหนังแดง ชัก retinal haemorrhage ตับวาย ไตวาย เป็นต้น เคยมีรายงานผู้ได้รับพิษจากกินเมล็ดมะกล่ำตาหนู 1 รายเมื่อปี พ.ศ. 2541 ผู้ป่วยเป็นเด็กชาย อายุ 4 ปี จากจังหวัดบุรีรัมย์ โชคดีที่แพทย์รับรักษาไว้ได้ทัน จึงรอดชีวิต

ข้อควรระวัง: เมล็ดมะกล่ำตาหนูเป็นพืชที่มีเมล็ด สีสัน งดงามสะดุดตา เมล็ดมีพิษที่รุนแรงมาก ถ้าเด็กกินเข้าไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็อาจเสียชีวิตได้
จำเป็นต้องระมัดระวังและผู้ใหญ่ค้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย

เอกสารอ้างอิง :

1. Ellenhorn MJ. Ellenhorn 's medical toxicology:diagnosis and treatment of human poisoning. 2 nd ed. Philadelphia:Williams&Wilkins 1997, 1849.
2.
Henry JA, Wiseman HM. Management of poisoning. WHO:Geneva;1997:278-80.
3.อรพรรณ อื่นสุวรรณ. พิษมะกล่ำตาหนู: Jequirity poisoning. วารสารการแพทย์โรงพยาบาลศรีษะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ 2541;13:69-73.


เขียนและเรียบเรียงโดย:
ประพันธ์ เชิดชูงาม, วทบ, DAP&E, MPH, ศุภชัย รัตนมณีฉัตร, พบ, สม, MSc
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

กลับหน้าแรก