Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!

พุทธทาสภิกขุกับภาพปฏิจจสมุปบาท

คำอธิบายนี้ เขียนจาก คำบอกเล่า ของ ท่านอาจารย์พุทธทาส ซึ่งท่านอธิบาย ให้ผู้เขียนภาพฟัง ในเบื้องต้น ก่อนที่จะลงมือเขียน ไว้บนฝาผนัง ด้านทิศเหนือ ของโรงมหรสพทางวิญญาณ เมื่อราวเดือน สิงหาคม-ตุลาคม ๒๕๐๙

ภาพนี้มีคำบรรยายใต้ภาพ เป็นภาษาอังกฤษว่า "Wheel of Becoming" ท่านอาจารย์พุทธทาส แปลให้ฟังว่า ภวจักร, กาฬจักร, หมายถึง วงล้ออันดำมืด ซึ่งกลืนกินจิตใจ ของชีวิตในภพภูมิทั้งห้า คือ 
๑. มนุษย์โลก
๒. เปรตภพ
๓. นรกภูมิ
๔. โลกเดรัจฉาน
๕. เทวโลก

ในหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ มีคำเทศน์ ของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ตีพิมพ์ชื่อว่า ศารทกาลิกเทศนา

ภาพปฏิจจสมุปบาท หรือ ภวจักร, กาฬจักร หรือ สังสารจักร นี้ เขียนขี้น จากแนวความคิด ของศาสนิกชน ชาวชมพูทวีป หรือ อินเดียและธิเบต เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ ในการศึกษาธรรม ให้เข้าใจง่าย ดูภาพแล้ว เบาสบาย สามารถพิจารณา อยู่นานๆ จนเข้าใจความหมาย ได้แจ่มแจ้ง และช่วยให้เกิด ความซาบซึ้ง ในพระธรรม และความตรัสรู้ ของพระพุทธเจ้า

ประวัติที่มา ของภาพปริศนาธรรม ปฏิจจสมุปบาทนี้ มีการเขียนภาพ ประกอบการศึกษา พระพุทธศาสนา ทางตอนเหนือของอินเดีย แคว้นกัษมีระ เขาจะทำเป็นภาพ ประดับไว้ ตามประตูอาราม ต่อมา เมื่อมีการนำพุทธศาสนา เข้าไปไว้ในธิเบต ชาวธิเบตจึงเป็น ผู้สืบทอดศิลปวัฒนธรรม การเขียนภาพ ปฏิจจสมุปบาท หรือ ภาพสังสารจักร ไว้ตามวัดต่างๆในธิเบต

อุปกรณ์หรือ โสตทัศนศึกษาชิ้นนี้มีประโยชน์ ทั้งในด้านปริยัติ และการปฏิบัติ เพื่อความรู้แจ้ง ในคำสอนสูงสุด ของพระพุทธเจ้า ทำให้พุทธศาสนิกชน สามารถเข้าใจได้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ถึงความจริงอันลึกลับ ของธรรมชาติ ตามหลักแห่งวิทยาศาสตร์ พระองค์ทรงบรรลุธรรม ค้นพบ สายโซ่ หรือ ห่วงแห่งความเกิด ความดับ ความเปลี่ยนแปลง ของปรากฏการณ์ อันเป็นไปตาม กฏของธรรมชาติ ดังปรากฏหลักฐาน ที่พระองค์ ตรัสอุทาน เป็นภาษาบาลีว่า 

อิม สฺมึ สติ อิทํ โหติ อิมสฺสุปปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ อิมสฺสมึ อสติ อิทํ นโหติ อิมสฺสมึ นิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ  - เพราะสิ่งนี้ๆ มีอยู่ สิ่งนี้ๆ จึงมี, เพราะสิ่งนี้ๆ เกิดขึ้น สิ่งนั้นจึงเกิดขึ้น, และเพราะสิ่งนี้ๆ ไม่มี สิ่งนั้นจึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ๆ ดับไป, สิ่งนั้นจึงดับไป

หรือ ตรัสอีกอย่างหนึ่งว่า อิติ โข ภิกขเว ยาตตฺร ตถาตา อวิตถตา อนญฺญ-ถตา อิทัปปจจยตา ซึ่งแปลว่า ธรรมชาติใด ในกรณีนั้น คือ ความเป็นอย่างนั้น ความไม่ผิดไปจาก ความเป็นอย่างนั้น ความไม่เป็นไปโดยประการอื่น คือ ความที่เมื่อมีสิ่งนี้ สิ่งนี้เป็นปัจจัยสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น ...

ธรรมดังกล่าวนี้ พระพุทธองค์ ตรัสเรียกสั้นๆว่า "ปฏิจฺจสมุปบาท" คือ ธรรมอันเป็นธรรมชาติ อาศัยกันเกิดขึ้น

บางแห่ง ทรงตรัสไว้ว่า.. อุปฺปาทา วา ภิกฺขเว ตถาคตานํ อนุปฺปปาทาวา ตถาคตานํ ฐิตาว สา ธาตุ ธมฺมฎฐิตตา ธมฺมนิยามตา อิทปฺปจฺจยตา - ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุที่ตถาคตทั้งหลาย จะบังเกิดขึ้นก็ตาม จะไม่บังเกิดขึ้นก็ตาม ธรรมธาตุนั้น ย่อมตั้งอยู่แล้ว นั่นเทียว คือ ความตั้งอยู่ แห่งธรรมดา คือ ความเป็นกฏตายตัว แห่งธรรมดา คือ ความที่เมื่อมีสิ่งนี้ สิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น

ท่านอาจารย์พุทธทาส แนะนำว่า เมื่อศึกษาความรู้ ตามภาพนี้ จนเข้าใจได้แล้ว จะเกิดญาณทัสนะ คือ ความรู้แจ้ง ช่วยให้เกิดกำลัง เข็มแข็ง ทางจิตใจ สามารถส่งผล ในการปฏิบัติธรรม ได้ตามความมุ่งหมาย ที่ถูกต้อง ก่อให้เกิด มรรคผล คือ ความรอดพ้น ในการแก้ปัญหาชีวิต หรือ แก้ความทุกข์ทั้งหลาย ที่ปรากฏเข้ามาสู่จิตใจคนเรา ให้ตกไปได้ในที่สุด

ท่านอาจารย์พุทธทาส ย้ำเตือนพุทธบริษัททั้งหลายว่า การศึกษาปฏิบัติธรรม จากความรู้ที่ ได้ยินได้ฟัง ก็ดี หรือจาก ภาพปริศนาธรรม ก็ดี จากภาพสำแดงธรรม ก็ดี จะช่วยให้ถึง จุดหมายปลายทาง เร็วและง่ายขึ้น หากผู้สนใจศึกษา จะเริ่มต้น ด้วยการตรวจสอบ พิจารณา อ่านใจ ของตนเอง รู้จักตัวเอง ทดสอบตนเอง พร้อมๆ ไปกับ ความเข้าใจ ในปริยัติธรรม นั้นๆ

   

"คัดจาก หนังสือดอกโมกข์ รายตรีมาส ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๒ สิงหาคม-ตุลาคม ๒๕๔๒"