Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!
 




พุทธทาส จักไม่ตาย

พุทธทาส จักอยู่ไป ไม่มีตาย
แม้ร่างกายจะดับไปไม่ฟังเสียง
ร่างกายเป็น ร่างกายไป ไม่ลำเอียง
นั่นเป็นเพียงสิ่งเปลี่ยนไปในเวลา

พุทธทาส คงอยู่ไป ไม่มีตาย
ถึงดีร้ายก็จะอยู่คู่ศาสนา
สมกับมอบ กายใจ รับใช้มา
ตามบัญชาองค์พระพุทธไม่หยุดเลย

พุทธทาส ยังอยู่ไป ไม่มีตาย
อยู่รับใช้ เพื่อนมนุษย์ไม่หยุดเฉย
ด้วยธรรมโฆษณ์ตามที่วางไว้อย่างเคย
โอ้เพื่อนเอ๋ยมองเห็นไหมอะไรตายฯ

แม้ฉันตาย กายลับ ไปหมดแล้ว
แต่เสียงสั่ง ยังแจ้ว แว่วหูสหาย
ว่าเคยพลอดกันอย่างไรไม่เสื่อมคลาย
ก็เหมือนฉันไม่ตาย กายธรรมยัง

ทำกับฉัน อย่างกะฉัน นั้นไม่ตาย
ยังอยู่กับ ท่านทั้งหลายอย่างหนหลัง
มีอะไรมาเขี่ยไค้ ให้กันฟัง
เหมือนฉันนั่ง ร่วมด้วย ช่วยชี้แจง

ทำกับฉัน อย่างกะฉัน ไม่ตายเถิด
ย่อมจะเกิด ผลสนอง หลายแขนง
ทุกวันนัด สนทนา อย่าเลิกแล้ง
ทำให้แจ้ง ที่สุดได้ เลิกตายกันฯ

 

มาเป็นพุทธทาสกันเถิด

มีการเป็นทาสชนิดหนึ่ง เป็นทาสที่ไม่ต้องเลิก ยิ่งมีมาก ยิ่งดี ยิ่งเป็นทุกคน ด้วยแล้ว โลกยิ่งมีสันติภาพ ไร้วิกฤตกาล นั้นคือ การเป็น ทาส ของ พระพุทธองค์ เรียกว่า "พุทธทาส" 

พุทธทาส แปลว่า ผู้รับใช้พระพุทธองค์อย่างถวายชีวิต ในฐานะเป็นหนี้ ในพระมหากรุณาธิคุณด้วย เพราะความกตัญญูด้วย และเพราะ เห็น ประโยชน์แก่ เพื่อนมนุษย์ด้วย จึงสมัคร มอบกาย ถวายชีวิต หมดสิ้น ทุกประการ เพื่อรับใช้พระพุทธองค์ เพื่อกระทำ สิ่งที่เชื่อว่า เป็น พระพุทธประสงค์

พระพุทธองค์ไหน? ตอบอย่างภาษาคน ก็พระพุทธองค์ ที่เป็นบุคคล ในประวัติศาสตร์ ที่ทรงอุบัติขึ้นในโลก ตรัสรู้ แล้วสั่งสอนสัตว์ จนตลอดพระชนมายุ เมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว แต่ถ้าตอบ อย่างภาษาธรรม ก็ได้แก่ พระพุทธองค์ ดังที่ตรัสไว้ในข้อความที่มีอยู่ว่า "ผู้ใด เห็นธรรม ผู้นั้น เห็นเรา ผู้ใด เห็นเรา ผู้นั้น เห็นธรรม" อันเป็นพระพุทธองค์ ซึ่งจะยังทรงอยู่ ตลอดกาลนิรันดร และมีได้ในบุคคลทุกคนที่เห็นธรรม สิ่งนั้น คือ สติปัญญา ที่ดับทุกข์ได้ ตามหลักที่ตรัสไว้ว่า "ผู้ใด เห็น ปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้น เห็นธรรม" ถ้าถือตามหลักนี้ ก็คือ รับใช้สติปัญญา ของตนเอง ที่เห็นธรรม จนดับทุกข์ของตนได้แล้ว ช่วยเหลือผู้อื่น ให้ดับทุกข์ได้ด้วย และมีผลแก่ชาวโลก ตรงตาม พระพุทธประสงค์ ถือเอากิจกรรมนี้ เป็นหน้าที่ที่ต้องทำ อย่างสุดชีวิตจิตใจ  

รับใช้กันอย่างไร? รับใช้ด้วยกระทำ ให้เกิดความถูกต้อง ทั้งในส่วนปริยัติ และปฏิบัติ ให้เกิดผล เป็นปฏิเวธที่แท้จริง ให้เพื่อนมนุษย์ รู้ธรรมะ มีธรรมะ ใช้ธรรมะ ได้รับผลจากธรรมะ มีชีวิตที่เยือกเย็น เป็นนิพพานกัน ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ตามสัดส่วน แห่ง สติปัญญา ความสามารถ แห่งตนๆ ทำให้สติปัญญาชนิดนี้ ปรากฏแพร่หลายไปทั่วโลก และทุกโลก ทุกโลกในที่นี้ หมายถึง ทุกชนิดแห่งบุคคล ที่หลงใหลในกาม ในรูป หรือวัตถุ และในอรูป คือสิ่งที่ไม่มีรูป เช่น อำนาจวาสนาบารมี หรือแม้แต่ในบุญกุศล อีกอย่างหนึ่ง ก็พูดว่า ทั้งเทวดา และมนุษย์ มนุษย์ คือ ผู้ที่ต้องอยู่กับเหงื่อ เทวดา คือ พวกที่ไม่รู้จักเหงื่อนั่นเอง โลกในภาษาคน คือ โลกพิภพ ที่อยู่นอกตัวคน ดังที่เห็นๆกันอยู่ ส่วนโลก ใน ภาษาธรรม นั้น เป็น โลกในตัวคน ได้แก่ ภูมิแห่งจิตที่แตกต่างกัน ตามภูมิ ตามชั้น ธรรมะต้องครอบงำ ทั่วทั้งโลกและทุกโลกจริงๆ อย่างแพร่หลาย

แพร่หลายทั่วโลกอย่างไร?  

คือ ทำให้กลายเป็นสิ่งที่มีในขีวิตประจำวัน ของมหาชน ทุกชั้น ทุกคนมี สติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิ ขันติ ในการทำหน้าที่ ของตน ทุกกาลและเทศ คือทุกวินาที และทุกกระเบียดนิ้ว ทุกคนทำหน้าที่ อย่างสนุกสนาน มีความพอใจ และ ความสุข จากความพอใจ ตลอดเวลาที่ทำงาน มิใช่เมื่อรับผลงาน ไปประกอบ กิจกรรม อบายมุขทั้งหลาย มีความถูกต้อง ตลอดทั้งวัน ค่ำลงนึกดูแล้ว ยกมือไหว้ตัวเอง ได้ เป็นสวรรค์ที่แท้จริง ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไม่มีใครว่างงาน เพราะเห็นหน้าที่การงาน ทุกชนิด ว่า นั่นแหละ คือตัวธรรมะ ที่เขารู้จักกัน มาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล

มีความถูกต้องทั้งในส่วนปริยัติ ปฎิบัติ ปฏิเวธ นั้นเป็นอย่างไร? คำว่าถูกต้องนี้ มิได้หมายถึง ถูกต้องตามทางตรรก หรือ ทางปรัชญาชนิด ฟิโลโซฟี่ หากแต่ ถูกต้อง ตามหลักการ ของพุทธบริษัท คือมีผลปรากฏ เป็นการไม่เบียดเบียนใคร แต่ทุกคนได้รับประโยชน์ อย่างที่มี ความรู้สึกอยู่แก่ใจ ไม่ต้องเชื่อใคร หรือ ให้ใครบอก (นี้เป็น สันทิฏฐิโก) เป็นความถูกต้อง ที่เรียกใครๆ มาดูได้ เพราะมีให้ดูอยู่ ที่เนื้อ ที่ตัวจริงๆ (นี้เป็น เอหิปัสสิโก) และมีผล ไม่ขึ้นอยู่กับ เวลา เมื่อนั้นเมื่อนี้ หรือต่อชาติหน้า หากแต่มีทันที ตลอดเวลา ที่ปฏิบัติหน้าที่ นั้นๆ อยู่ (นี้เป็น อกาลิโก) ความถูกต้อง คือไม่ทำใครให้เดือดร้อน แต่มีผลดีแก่ทุกฝ่าย รวมทั้งตนเองด้วย เป็นความหมายที่ชัดเจน ไม่ต้องถุ้งเถียงกัน หรือ ต้องขึ้นศาล ปริยัติ คือ ความรู้ ก็ถูกต้อง ปฏิบัติ คือ การกระทำ ก็ถูกต้อง ปฏิเวธ คือ ผลของการกระทำ ก็ถูกต้อง เพราะมันมีความรู ้และ การกระทำ อย่างถูกต้องนั่นเอง

ดับทุกข์ได้จริงอย่างไร? คือมีความเย็นอกเย็นใจ ของทุกคนในชีวิตประจำวัน ถ้าเขามีความรู้เรื่อง สุญญตา ตถตา และ อตัมมยตา อย่งเพียงพอแล้ว ไม่มีอะไรมาทำให้ เกิดความเร่าร้อน ได้เลย จิตของเขา ไม่อยู่ใต้อำนาจ ของความเป็นบวก เป็นลบ เพราะเห็น สิ่งทั้งปวง โดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่หิวกระหาย ในสิ่งใด นอกจากความอิ่ม เพราะรู้สึกว่า ได้กระทำหน้าที่ ของตน อย่างถูกต้อง และเหงื่อนั้น คือ น้ำมนต์ หรือ สิ่งชักจูงให้พระเจ้า หรือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งหลาย มาช่วยเหลือ รู้ชัดจนแน่ใจว่า ถ้าไม่ประพฤติธรรม คือหน้าที่แล้ว ไม่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ มาช่วยได้ ให้มาสักฝูงหนึ่ง ก็ช่วยไม่ได้ ถ้าทำหน้าที่ อย่างถูกต้องแล้ว เหงื่อนั่นแหละ กลายรูปเป็นพระเจ้า หรือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในสากลโลก ที่ช่วยได้จริง เขาเชื่อมั่นว่า มีอะไรเป็นตัวตน สิ่งนั้นแหละ จะช่วย จนกว่า จะหมดตัวตน ซึ่งไม่ต้องการช่วยเหลือ อะไรจากใคร อีกต่อไป ความเห็นแก่ตัว เป็นของร้อน แต่ความไม่เห็นแก่ตัว หรือ หมดความเห็นแก่ตัว เป็นของเย็น จะทำงานสิ่งใด ก็ทำด้วยสติปัญญา หรือ สัมมาทิฎฐิ ไม่ทำ ด้วยอำนาจ ความเห็นแก่ตัว ซึ่งจะเผาลน ตลอดเวลา

อย่างไรเรียกว่าหมดความเห็นแก่ตัว? ก็โดยศึกษาเรื่องความไม่มีตัว กาย และ ใจ เป็นธรรมชาติ ที่รู้จักคิด รู้สึกพูด และทำอะไรได้ โดยไม่ต้องมีผี หรือ เจตภูต เข้าสิง ดังนั้น ต้องทำทุกสิ่ง ให้ถูกต้อง ตามกฏของธรรมชาติ ตามที่เราจะต้องการผลอย่างไร ถ้ายังโง่อยู่ ยังเห็นว่า มีตัว ก็อย่าเห็นแก่ตัว เพราะมันจะกัดเอา ด้วยความโลภ โกรธ หลง ซึ่งมีลักษณะ เป็นไฟ มีสติสัมปชัญญะ เมื่อรับอารมณ์ใดๆ ไม่ให้ปรุงขึ้นมา เป็นความเห็นแก่ตัว มีแต่สติปัญญา จัดการกับอารมณ์ นั้นๆ ตามที่ควร มีสัมมาทิฎฐิ เห็นชัดอยู่เสมอว่า ความเห็นแก่ตัว หรือ ยึดถือ กายและใจ หรือ ขันธ์ทั้งห้า ว่าเป็นตัว นั้น เป็นเหตุแห่งความรู้สึก เป็นทุกข์ หรือ เป็นตัวทุกข์เสียเอง ปราศจากความยึดถือ นี้แล้ว ความทุกข์เกิดไม่ได้ ชีวิตจะเป็นของร้อน ไม่ได้

สัมมาทิฎฐิสูงสุดนั้นเป็นอย่างไร? เป็นความรู้จักสิ่งทั้งปวงว่า เป็นสิ่งปรุงแต่ง มีมาจากเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งและจะปรุงแต่งสิ่งอื่นต่อไป ไม่มีที่สิ้นสุด นั้นคือ กระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง หรือความไม่เที่ยง ซึ่งเรียกว่า อนิจจัง เพราะต้องเป็นไปกับด้วยสิ่งที่อนิจจัง หรือ เปลี่ยนเรื่อย ก็เกิดอาการที่เป็นทุกข์ทนยาก หรือ ที่เรียกว่า ทุกขัง เพราะไม่มีอะไรต้านทาน ได้ต่อสิ่งที่ไม่เที่ยงและเป็นทุกข์ จึงเรียกว่า ไม่มีตน หรือ ไม่ใช่ตน หรือ อนัตตา การที่เป็นไปด้วยอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้ เรียกว่า ธัมมัฎฐิตตา คือ ความที่เราต้องเป็นไปเช่นนี้ เป็นธรรมดา ทั้งนี้เป็นเพราะมี กฏของธรรมชาติ บัคับอยู่ นี้เรียกว่า ธัมมนิยามตา อาการที่ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยอย่างนี้ เรียกว่า อิทัปปัจจยตา เป็นกฏธรรมชาติ มีอำนาจเสมอ สิ่งที่เรียกกันว่า "พระเป็นเจ้า" การที่ไม่มีอะไร ต้านทาน กฏอิทัปปัจจยตา นี้เรียกว่า สุญญตา คือ ว่างจากตัวตน หรือ ว่างจากความหมาย แห่งตัวตน มีความจริงสูงสุด เรียกว่า ตถตา คือ ความเป็นเช่นนั้นเอง อย่างไม่ฟังเสียงใคร ใครจะฝืนให้เป็นไปตามใจตน มันก็กัดเอง คือ เป็นทุกข์ ในที่สุดก็เกิดความรู้สึก ขั้นสุดท้ายว่า อตัมมยตา ความที่ไม่อาจอาศัย หรือ เกี่ยวข้องกับสิ่งนี้อีกต่อไป ซึ่งเป็นความหมาย อย่างภาษาชาวบ้าน พูดว่า "กูไม่เอากะมึงอีกต่อไปแล้ว" สลัดออกไปเสีย ก็คือ การบรรลุมรรคผล ธัมมฐิติญาณ รู้ความจริงของสังขาร สุดลงที่ อตัมมยตา ต่อจากนั้น ก็เป็นกลุ่ม นิพพานญาณ เป็นฝ่ายโลกุตตระ เริ่มต้นแห่งความเย็น หรือ ความหมายของนิพพาน

โลกกลายเป็นโลกเย็น ในที่สุด โลกก็กลายเป็นโลกเย็น เพราะเต็มไปด้วยศีลธรรม หรือ ภาวะปกติไม่วุ่นวาย อยู่ภายในจิตใจของคน แม้ว่า ภายนอกกาย จะมีความวุ่นวาย ตามธรรมดาโลก ความเย็นอกเย็นใจ เป็นสิ่งที่หาได้ง่าย ในหมู่คนเหล่านั้น แม้ว่าจะมีเหตุการณ์อันสับสนวุ่นวาย เพราะมี จิตที่ปราศจากความยึดมั่น อย่างโง่เขลา ไม่ยอมรับสภาพ เช่นนั้นเอง ของธรรมดาโลก เรือนจำ สถานีตำรวจ ศาล โรงพยาบาลประสาท และ โรงพยาบาลโรคจิต จะลดลง เมตตา และความสัตย์ จะเป็นสิ่ง หาได้ง่าย ในสังคมนั้น มีลักษณะเป็น โลกของพระศรีอารยเมตไตรย แม้ระเบิดปรมาณู จะลงมา ทุกคนก็ยังหัวเราะได้ เพราะ ความไม่ยึดมั่น ในตัวตน และไม่เห็นเป็นเรื่องแปลก เพราะ อำนาจของสัมมาทิฎฐิ ดังกล่าวแล้ว ไม่อาจปล่อยให้ ปรุงเป็นความทุกข์ หรือ ความกลัวขึ้นมา ทั้งนี้ เป็นผลงานของ บรรดาเหล่าพุทธทาสทั้งหลาย ที่ได้พยายาม ทำหน้าที่ของตน ตามกำลังสติปัญญา 

จะเป็นพุทธทาสกันได้สักกี่คน? ถ้าไม่มองข้ามกันเสีย ก็มีคนที่เป็นพุทธทาสกันอยู่ทั่วไป อย่างมากมาย แต่มิได้เรียกชื่อตัวว่า พุทธทาส กลัวเสียเกียรติ สู้เรียกตนว่า เป็น อุบาสก อุบาสิกา ไม่ได้ ทุกคนสวดบททำวัตรเย็นว่า พุทฺธสฺสาหสฺมิ ทาโส ว พุทฺโธ เม สามิกิสฺสโร อยู่ด้วยกันทุกวัน เป็นการประกาศตัวว่า เป็นพุทธทาส ด้วยไร้สำนึกหรืออย่างไร ควรจะลองคิดดู

แต่การที่จะเป็นพุทธทาส ให้ตรงหรือ เต็ม ตามพระพุทธประสงค์ นั้น คือ ทำหน้าที่นั้นๆ ให้สมบูรณ์ มิใช่เพียงแต่ ร้องประกาศ โดยไม่รู้ความหมาย อันแท้จริง หน้าที่นั้น คือสิ่งใด เป็นพระพุทธประสงค์ ต้องบากบั่น กระทำให้สำเร็จ ตามพระพุทธประสงค์ พระพุทธประสงค์นั้น สรุปให้สั้นที่สุด ก็คือ ให้ทุกคนเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่นจากหลับและเป็น ผู้เบิกบาน ไม่รู้จักความทุกข์ อีกต่อไป ความรู้ เรื่องพระนิพพาน อันเป็นสันทิฎฐิกัง อกาลิกัง เอหิปัสสิกัง เป็น หัวใจของเรื่องนั้น แต่กลับพากัน เห็นเป็นเรื่องสุดวิสัย และพ้นสมัยไปเสีย ข้อนี้ มีค่าเท่ากับ พระพุทธศาสนา หมดสิ้นไปแล้ว อย่างน่าเศร้าเหลือประมาณ ผู้สมัครเป็นพุทธทาส ทุกคน ต้องรับรู้เรื่องนี้ให้เพียงพอ

ทุกคนเป็นพุทธทาสได้ และมีอะไรพร้อมที่จะเป็น ยังขาดอยู่แต่ สัมมาทิฎฐิ หรือ ความเข้าใจอันถูกต้อง ดูให้ดีจะพบว่า เดี๋ยวนี้ ก็กำลังเป็นกันอยู่ เป็นจำนวนไม่น้อย หากแต่ไม่ประกาศตัว เพราะเมื่อตั้งใจจะทำจริงๆ แล้ว ก็ไม่ต้องประกาศก็ได้ การชักชวนนี้ ก็มิใช่ต้องการให้ประกาศตัว ขอแต่ให้ทำจริง ด้วยการทำตัวอย่าง แห่งบุคคล ผู้มีชีวิตเย็นให้ดู และพยายามชี้แจงให้เข้าใจชีวิต ระบอบนี้ ให้ยิ่งขึ้นไป และพยายามทำให้ เพื่อนมนุษย์รู้ธรรม โดยไม่ถือว่า เป็นบุญคุณ หรือ ต้องการบุญคุณ ให้ใครตอบแทน ทุกคนย่อมทำได้ ตามมาก ตามน้อย ที่จะทำไม่ได้เสียเลยนั้น ดูจะไม่มี

ในที่สุดนี้ เมื่อเราพุทธบริษัท พยายามทำกันอยู่อย่างนี้ จนสุดความสามารถ แล้ว พระพุทธประสงค์ ก็ได้รับการตอบสนอง อย่างถึงที่สุด ประโยชน์สุข ก็จะเกิดขึ้นแก่โลก พร้อมทั้ว เทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์ พร้อมทั้ง สมณพราหม์ พร้อมทั้งเทวดา และมนุษย์ เต็มตาม พระพุทธประสงค์ และพระพุทธดำรัส  ที่ทรงเอ่ยชื่อ หมู่สัตว์ เหล่านี้ เสมอ ในพระพุทธภาษิต นั้นๆ

เรามาเป็นพุทธทาสกันเถิด สมควรแก่กาลและเทศ อย่างยิ่งแล้ว มาเถิด

โมกขพลาราม

๓๐ เม.ย. ๓๑

BACK

 

คัดจาก หนังสือ พุทธสาสนา ปีที่ ๖๗ เล่ม ๒ พุทธศํกราช ๒๕๔๒