Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!

การปฏิรูประบบราชการ

ธันยวัฒน์ รัตนสัค

ในวันที่ 2 ตุลาคม 2545 ที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย ในกฎหมายสำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 และพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 มีผลทำให้เกิดการจัด โครงสร้างกระทรวง ทบวง กรมใหม่ จากเดิมที่มี 14 กระทรวง และ 1 ทบวง เป็น 20กระทรวง

การปฏิรูประบบราชการ หมายถึงการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงระบบราชการให้มีความเหมาะสม และเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ระบบบริหารงานดีขึ้น ระบบราชการมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และสมรรถนะเพิ่มขึ้น และสามารถเอื้อประโยชน์ให้แก่ประชาชนและสังคมมากขึ้น

ความจริงนั้นแนวคิดในเรื่องการปฏิรูประบบราชการไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาล ทุกยุคทุกสมัยได้ให้ความสนใจและได้มีการดำเนินการกันมาอย่างต่อเนื่องมานานหลายทศวรรษ เนื่องจากได้ประจักษ์กันว่าระบบราชการในแต่ละยุค แต่ละสมัยมักจะมีปัญหาด้านต่าง ๆ ที่จะต้อง แก้ไขปรับปรุงกันอยู่เสมอ

กรอบความคิดและทิศทางในการปฏิรูประบบราชการในแต่ละยุคแต่ละสมัย มักจะมีจุดเน้น และทิศทางในการปฏิรูปที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพปัญหาของระบบราชการ และปัจจัยแวดล้อม ทั้งภายนอกภายในของสังคมในช่วงนั้น ๆ ยิ่งในช่วงที่สังคมและปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ มีการเปลี่ยน แปลงอย่างรวดเร็วมาก ระบบราชการซึ่งเป็นกลไกหนึ่งของสังคมก็ยิ่งจำเป็นต้องปฏิรูป ปรับปรุง ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง

อาจสรุปได้ว่า การปฏิรูประบบราชการไทยในปัจจุบันนี้ เป็นผลมาจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 230 ให้อำนาจรัฐบาลอย่าง กว้างขวางในการจัดตั้ง รวม หรือโอน กระทรวง ทบวง กรมขึ้นใหม่ ทำได้ง่ายกว่าในสมัยก่อน ประกอบกับการที่รัฐบาลชุดปัจจุบันมีเสียงข้างมากเกือบเด็ดขาด ทำให้มีผู้เสนอให้ปฏิรูประบบ ราชการใหม่โดยจัดแบ่งตามภารกิจ หน้าที่

2. การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมภายนอก และภายในประเทศ กดดันให้ภาครัฐ ต้องมีการปฏิรูป เพื่อให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม รวมทั้งเรียกความเชื่อถือศรัทธา ในภาครัฐกลับมาใหม่

3. การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์เกี่ยวกับองค์การ จากเดิมที่เน้นการสร้างเสถียรภาพ ความคงที่ ไม่ยืดหยุ่น มุ่งเน้นกระบวนการ และภาวะผู้นำตามลำดับขั้นการบังคับบัญชา มาเป็น องค์การที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างต่อเนื่อง สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน ได้อย่างรวดเร็ว มีความยืดหยุ่น เปิดโอกาสให้มีการโต้แย้งได้อย่างสร้างสรรค์ รวมถึงการเน้นภาวะ ผู้นำจากภายใน

ปัจจัยดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นทั้งปัจจัยผลักดัน และปัจจัยสนับสนุนให้รัฐบาลปฏิรูประบบ ราชการ โดยการปฏิรูปดังกล่าวจะครอบคลุมถึงการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงในประเด็นใหญ่ ๆ ตั้งแต่ การปรับปรุงบทบาทภารกิจหน้าที่ของรัฐ การวางระบบโครงสร้างความสัมพันธ์ของอำนาจในระดับ ต่าง ๆ การจัดโครงสร้างขององค์การ การจัดระบบราชการใหม่ให้รับใช้ตอบสนองความต้องการของ ประเทศและประชาชน ระบบบริหารและวิธีการปฏิบัติงาน ระบบบริหารงานบุคคลภาครัฐ กฎระเบียบต่าง ๆ และการปรับค่านิยม วัฒนธรรมขององค์การ และพฤติกรรมของข้าราชการ

เป้าหมายของการปฏิรูประบบราชการ ก็เพื่อให้ระบบราชการใหม่มีสมรรถนะสูง เป็นระบบ ราชการที่มีผลงานและความสามารถสูง (high performance civil service) สามารถเป็นกลไกที่ สำคัญของรัฐบาลในการบริหารประเทศ เพื่อเอื้ออำนวยให้รัฐบาลที่เป็นผู้แทนประชาชน เป็นรัฐบาล ที่มีสมรรถนะและผลงานสูง (high performance government) ได้อย่างแท้จริง และเมื่อระบบราชการ ร่วมกับรัฐบาลสามารถทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ ประเทศก็จะมีระบบเศรษฐกิจที่มีสมรรถนะสูง (high performance economy) คือมีศักยภาพและความสามารถที่จะแข่งขันในระดับโลกได้ ส่งผลให้ ประชาชนทั้งประเทศมีรายได้และความเป็นอยู่ในระดับที่ดีขึ้น เป็นสังคมที่มีมาตรฐานสูง (high living-standard society) คือเป็นสังคมที่ประชาชนมีมาตรฐานในการดำรงชีวิตที่สูง เมื่อมีภาครัฐเป็นแกน นำที่ดีและเข้มแข็ง ก็จะสามารถนำสังคมโดยรวมให้มีคุณค่าทางคุณธรรมสูง (high moral-standard society) อันจะทำให้สังคมโดยรวมมีศักยภาพทางสังคมที่ทัดเทียมสังคมอารยะ

การปฏิรูประบบราชการครั้งนี้จะต้องทำให้ระบบราชการที่เป็นระบบที่มีคุณค่า เพื่อสร้าง ความเชื่อถือศรัทธาจากประชาชน ภาคเอกชน และสังคมโลก ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ จะต้องสร้าง ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีความรู้ความสามารถ มีทัศนคติและพฤติกรรมที่เหมาะสมแก่การ ปฏิบัติงาน มีจริยธรรม ความสุจริต ความรับผิดชอบ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และเป็นข้าราชการ มืออาชีพที่กล้ายืนหยัดและกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง

เป้าหมายที่สวยหรูเหล่านี้เมื่อนำมาพิจารณาประกอบกับสภาพความเป็นจริงของระบบราช การไทยแล้ว ก็ไม่รู้ว่าเป้าหมายเหล่านั้นจะมีทางบรรลุได้เมื่อใด


Back