Site hosted by Angelfire.com: Build your free website today!

จริยาวัตรของพระอานนท์


กำเนิดพระอานนท์

พระอานนท์เป็นพระพุทธอนุชา กล่าวคือเป็นพระอนุชาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งนี้เพราะพระอานนท์เป็นพระโอรสของพระเจ้าสุกโกทนะ ซึ่งเป็นพระราชอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา ส่วนพระมารดาของพระอานนท์นั้น ในคัมภีร์มหาวัสตุบอกว่ามีพระนาม มฤคี

ตามตำนานทางพุทธศาสนานั้นกล่าวว่า พระอานนท์ประสูติวันเดือน และปีเดียวกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเป็นสหชาติ ดังนั้นพระบิดาจึงได้ถวายพระอานนท์ให้เป็นพระสหายกับเจ้าชายสิทธัตถะ


พระอานนท์ออกบวช

เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์เพื่อโปรดพระพุทธบิดาครั้งแรกนั้น ราชกุมารในศากยวงศ์ได้ออกผนวชตามเสด็จ คงเหลือแต่ราชกุมารอาทิ เจ้าชายอานนท์ เจ้าชายมหานาม เจ้าชายภัททิยะ เจ้าชายเทวทัต เจ้าชายภคุ เจ้าชายกิมพิละ และเจ้าชายอนุรุทธ์ ที่ยังไม่ได้ออกผนวชตาม ทำให้บรรดาเจ้าศากยทั้งหลายวิพากษ์วิจารณ์ เจ้าชายมหานามซึ่งเป็นผู้ใหญ่ได้ยินเสียงวิจารณ์จึงละอายพระทัย ในที่สุดได้ตกลงกับพระอนุชาคือเจ้าชายอนุรุทธ์ให้ออกบวชเสียองค์หนึ่ง อีกองค์หนึ่งให้อยู่เป็นเพื่อนพระมารดา ดังนั้นพระอนุรุทธ์จึงได้ชวนเจ้าชายอีก 5 พระองค์ไปผนวช

ในระหว่างทางที่เสด็จไปยังอนุปปิยัมพวัน แคว้นมัลละ พระราชกุมารทั้ง 6 พระองค์ได้รับสั่งให้นายอุบาลี ซึ่งเป็นภูษามาลา และได้มาส่งเสด็จ ให้กลับคืนสู่กรุงกบิลพัสดุ์ พร้อมด้วยเปลื้องพระภูษามาลาซึ่งมีราคามาก มอบให้อุบาลีนำกลับไปขายเพื่อเลี้ยงชีพ เมื่ออุบาลีแยกจากพระราชกุมารมาได้ระยะหนึ่งจึงคิดได้ว่า การที่จะนำเครื่องประดับอันมีค่าที่เจ้าของสละแล้วโดยปราศจากความไยดี ไปขายเลี้ยงชีพตามคำแนะนำของพระราชกุมารนั้น ปานประหนึ่งผู้กลืนน้ำลายซึ่งเจ้าของถ่มแล้ว จะมีประโยชน์อะไรที่จะทำอย่างนั้น อุบาลีจึงเกิดความสังเวชจิต จึงเอาเครื่องประดับนั้นแขวนไว้กับกิ่งไม้แห่งหนึ่ง แล้วร่วมขบวนกับพระราชกุมารเพื่อออกบวช

พระราชกุมารทั้ง 6 และอุบาลี ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท โดยกราบทูลขอให้อุบาลีได้อุปสมบทก่อน ทั้งนี้เพื่อเป็นการสละทิฏฐิมานะ (เนื่องจากพระราชกุมารประสูติในตระกูลกษัตริย์) หากพระราชกุมารบวชก่อนอุบาลีแล้วก็อาจจะใช้อำนาจกับอุบาลีอีก หากอุบาลีบวชก่อนพระราชกุมารจะได้อภิวาทเมื่ออุบาลีอุปสมบทแล้ว เป็นการทำลายทิฏฐิมานะไปในตัว ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้อนุวัตรตามคำกราบทูลขอของพระราชกุมาร

เมื่อบวชแล้วไม่นาน พระภัททิยะ พระภคุ พระกิมพิละ และพระอนุรุทธ์ ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พระเทวทัตได้สำเร็จฌานแห่งปุถุชน ส่วนพระอานนท์ซึ่งมีพระเพลัฏฐสีสะเป็นพระอุปัชฌาย์ และมีพระปุณณะ มันตานีบุตร เป็นพระอาจารย์ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน

พระอานนท์เป็นพุทธอุปฐาก

ใน 20 ปีแรกของการตรัสรู้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่มีพุทธอุปฐากประจำพระองค์ ผู้ถวายอุปฐากบางคราวก็เป็นพระอุปวาณะ บางคราวพระนาคิตะ บางคราวพระสุนักขัตตะ พระราธะ พระนาคสมาละ พระเมฆิยะ และบางคราวก็เป็นสามเณรจุนทะ น้องชายพระสารีบุตร

คราวหนึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร ในคราวนั้นมีพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่จำนวนมากมาประชุมกัน อาทิ พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ เป็นต้น มาประชุมอยู่พร้อมกัน สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารภในท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ว่า บัดนี้พระองค์ทรงพระชราแล้ว ภิกษุผู้อุปฐากพระองค์ บางรูปก็ทอดทิ้งพระองค์ไปเสียเฉย ๆ บางรูปวางบาตร และจีวรของพระองค์ไว้บนพื้นดินแล้วเดินจากไป จึงขอให้สงฆ์เลือกพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งขึ้นรับตำแหน่งอุปฐากประจำพระองค์ ภิกษุทั้งหลายได้ฟังพระพุทธดำรัสดังกล่าวแล้ว เกิดความสลดสังเวชจิตเป็นอย่างยิ่ง พระสารีบุตรจึงได้กราบทูลขึ้นขอรับเป็นพุทธอุปฐาก แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสขอบใจพระสารีบุตร แล้วตรัสว่า

“สารีบุตร อย่าเลย- เธออย่าทำหน้าที่อุปฐากเราเลย เธออยู่ ณ ที่ใดที่นั้นมีประโยชน์มาก โอวาทคำสั่งสอนของเธอเป็นเหมือนโอวาทของพระพุทธเจ้า เธอสามารถหมุนธรรมจักรให้เป็นประโยชน์สุขแก่ปวงชนเช่นกับด้วยเรา ผู้ได้เข้าใกล้เธอเหมือนได้เข้าใกล้เรา ผู้ที่สนทนากับเธอเหมือนได้สนทนากับเรา”

ต่อจากนั้นพระมหาเถระรูปอื่น ๆ ต่างก็แสดงความจำนงจะเป็นพุทธอุปฐาก แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงห้ามเสีย เหลือแต่พระอานนท์เท่านั้นที่ยังนิ่งเฉยอยู่ พระสารีบุตรจึงกล่าวเตือนให้พระอานนท์เสนอรับเป็นพุทธอุปฐาก ซึ่งพระอานนท์ได้ตอบพระสารีบุตรว่า

“ข้าแต่พระธรรมเสนาบดี อันตำแหน่งที่ขอได้มานั้นจะประเสริฐอะไร อีกประการหนึ่งเล่า พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงทราบอัธยาศัยของข้าพเจ้าอยู่ ถ้าพระองค์มีพระประสงค์ ก็คงจะตรัสให้ข้าพเจ้าเป็นอุปฐากของพระองค์เอง ความรู้สึกของข้าพเจ้าที่มีต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอย่างไร พระองค์ก็ทรงทราบอยู่แล้ว”

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสขึ้นท่ามกลางสงฆ์ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย อานนท์มีความประสงค์ที่จะอุปฐากเราอยู่แล้ว เป็นเพียงขอให้สงฆ์ได้รับทราบเท่านั้น เพราะฉะนั้นตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป พระอานนท์จักอุปฐากเรา”

การที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเช่นนั้นนับว่าเป็นความรอบคอบ ความจริงหากพระองค์จะตรัสขอให้พระอานนท์เป็นพุทธอุปฐากเป็นการเฉพาะก็ได้ พระอานนท์ก็พอใจที่จะอุปฐากใกล้ชิดพระองค์อยู่ตลอดเวลา แต่เพื่อที่จะยกย่องพระอานนท์ และให้สงฆ์ทราบอัธยาศัยของพระอานนท์ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงปรารภเรื่องนี้ในท่ามกลางสงฆ์ ความเป็นจริงนั้นพระอานนท์ได้ทรงสะสมบารมีมาเป็นเวลาหลายร้อยชาติ เพื่อตำแหน่งอันมีเกียรตินี้

พระอานนท์เป็นผู้รอบคอบ มองเห็นกาลไกล เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และสงฆ์มอบตำแหน่งนี้ไว้แล้ว จึงทูลของเงื่อนไขบางประการดังนี้

"ข้าแต่พระผู้เป็นนาถะของโลก! เมื่อข้าพระองค์รับเป็นพุทธอุปฐากแล้ว ข้าพระองค์ทูลขอ พระกรุณาบางประการ คือ

1. ขอพระองค์อย่าได้ประทานจีวรอันประณีตที่มีผู้นำมาถวายแก่ข้าพระองค์เลย

2. ขอพระองค์อย่าได้ประทานบิณฑบาต อันประณีตที่พระองค์ได้แล้วแก่ข้าพระองค์

3. ขอพระองค์อย่าได้ให้ข้าพระองค์อยู่ในที่ๆ เดียวกันกับที่พระองค์ประทับ

4. ขออย่าได้พาข้าพระองค์ไปในที่นิมนต์ ซึ่งพระองค์รับไว้ "

"ดูก่อนอานนท์! เธอเห็นประโยชน์อย่างไรจึงขอเงื่อนไข 4 ประการนี้"

"ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลขอพร 4 ประการนี้ เพื่อป้องกันมิให้คนทั้งหลาย ตำหนิได้ว่าข้าพระองค์รับตำแหน่งพุทธอุปฐาก เพราะเห็นแก่ลาภสักการะ"

พระอานนท์ยังได้ทูลขึ้นอีกในบัดนี้ว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษสูงสุด! ข้ออื่นยังมีอีกคือ

5. ขอพระองค์โปรดกรุณา เสด็จไปสู่ที่นิมนต์ ซึ่งข้าพระองค์รับไว้เพื่อพระองค์ไม่อยู่

6. ขอให้ข้าพระองค์ได้พาพุทธบริษัทเข้าเฝ้าพระองค์ได้ในขณะที่เขามาเพื่อจะเฝ้า

7. ถ้าข้าพระองค์มีความสงสัยเรื่องใด เมื่อใดขอให้ได้เข้าเฝ้าทูลถามได้ทุกโอกาส"

"อานนท์! เธอเห็นประโยชน์อย่างไร จึงขอพร 3 ประการนี้!"

"ข้าพระองค์ทูลขอ เพื่อป้องกันมิให้คนทั้งหลายตำหนิได้ว่า ข้าพระองค์บำรุงพระองค์ อยู่ทำไมกัน เรื่องเพียงเท่านี้พระองค์ก็ไม่ทรงสงเคราะห์ ข้าแต่พระจอมมุนี ข้ออื่นยังมีอีก คือ

8. ถ้าพระองค์แสดงพระธรรมเทศนา ในที่ใดแก่ผู้ใด ซึ่งข้าพระองค์มิได้อยู่ด้วย ขอได้โปรดเล่าพระธรรมเทศนานั้นแก่ข้าพระองค์อีกครั้งหนึ่ง"

"อานนท์! เธอเห็นประโยชน์อย่างไร จึงขอพรข้อนี้?"

"ข้าแต่พระจอมมุนี! ข้าพระองค์ทูลขอพรข้อนี้เพื่อป้องกันมิให้คนทั้งหลายตำหนิได้ว่า ดูเถิด พระอานนท์เฝ้าติดตามพระศาสดาอยู่เหมือนเงาตามตัว แต่เมื่อถามถึงพระสูตร หรือชาดก หรือคาถา ว่าสูตรนี้ ชาดกนี้ คาถานี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแก่ใคร ที่ไหนก็หารู้ไม่ เรื่องเพียงเท่านี้ยังไม่รู้ จะมัว ติดตามพระศาสดาอยู่ทำไม เหมือนกบอยู่ในสระบัว แต่หารู้ถึงเกสรบัวไม่"


พระอานนท์ยอดแห่งเลขานุการ

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ประทานพรทั้ง 8 ประการ แก่พระอานนท์พุทธอนุชาตาม ปรารถนา และพระอานนท์ก็รับตำแหน่งพุทธอุปฐากตั้งแต่บัดนั้นมา

หน้าที่ประจำของพระอานนท์ คือ

1.ถวายน้ำ 2 ชนิด คือทั้งน้ำเย็นและน้ำร้อน

2.ถวายไม้สีฟัน 3 ขนาด (ขนาดเล็ก กลาง และใหญ่)

3.นวดพระหัตถ์ และพระบาท

4.นวดพระปฤษฎางค์ (หลัง)

5.ปัดกวาดพระคันธกุฎี และบริเวณพระคันธกุฎี

ในราตรีกาลท่านกำหนดในใจว่า เวลานี้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคงจะทรงต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือรับสั่งนั้นรับสั่งนี้แล้วท่านก็ไปเฝ้าเป็นระยะ ๆ เมื่อเสร็จกิจแล้วจึงออกมาอยู่ยามหน้าพระคันธกุฎี กล่าวกันว่าท่านถือประทีปด้ามใหญ่เดินวนเวียนพระคันธกุฎีของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงคืนละ 8 ครั้ง


คำอธิษฐานในอดีตชาติ

นับแต่ภัทรกัปป์นี้ถอยหลังลงไปได้แสนกัปป์ มีกษัตริย์องค์หนึ่งทรงพระนามว่าอานนทราช ครองเมืองหงสาวดี มีพระมเหสีทรงพระนามว่าสุชาดา ในครั้งนั้นได้มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ทรงพระนามว่าพระปทุมุตตระ ประสูติเป็นพระราชโอรสแห่งพระอานนทราช และพระนางสุชาดา โดยพระปุทุมุตตรพุทธเจ้ามีพระพุทธอุปฐากนามว่า พระสุมนเถระ

ในกาลนั้นพระอานนทได้ประสูติเป็นพระอนุชาต่างพระมารดาของพระปทุมุตตรพุทธเจ้า โดยทรงพระนามว่าสุมนะ วันหนึ่งสมุนราชกุมารเห็นพระสุมนเถระปฏิบัติพระพุทธเจ้าเป็นนิตย์ จึงปรารถนาจะเป็นอย่างพระสุมนเถระบ้าง จึงได้ขอพระราชานุญาตพระราชบิดาถวายทาน กระทำการสักการะบูชาพระพุทธเจ้า กับทั้งพระสาวกทั้งปวงเป็นนิตย์ พระราชบิดาพระราชทานพระราชานุญาตเป็นเวลา 3 เดือน ดังนั้นสุมนราชกุมารจึงได้จัดแจงสรรพสิ่งต่าง ๆ ถวายทานแด่พระพุทธเจ้า กับพระสงฆ์จนครบกำหนด ในวันสุดท้ายนั้น พระราชกุมารก็ถวายทานแก่พระสงฆ์ โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ถวายไตรจีวรแก่พระสงฆ์สิ้นทุกองค์ แล้วสุมนราชกุมารจึงหมอบกราบพระบาทพระปทุมุตตรพุทธเจ้า ตั้งปรารถนาว่า เดชะกุศลที่ข้าพระองค์ได้กระทำนี้ จงเป็นปัจจัยให้สำเร็จพุทธอุปฐากภูมิ ดังพระสุมนเถระปฏิบัติพระองค์อยู่เป็นนิตย์ ในอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้นเทอญ เมื่อพระปทุมุตรพุทธเจ้าได้สดับคำพระราชกุมาร พระองค์จึงได้ส่งพระญาณไปในอนาคตกาล ก็ปรากฎประจักษ์แจ้ง จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสลัทธยาเทศทำนายว่า "ดูกรราชกุมาร ความปรารถนาของท่านจะสำเร็จดังประสงค์ นานไปเบื้องหน้าที่สุดนับแสนกัปป์ จะมีพระพุทธเจ้านามว่าพระโคดมมาตรัสรู้ ตัวพระราชกุมารจะได้เป็นพระพุทธอุปฐากนามว่าพระอานนทเถระ เป็นภิกษุสำหรับปฏิบัติพระสมณโคดมอยู่เป็นนิตย์ดังปรารถนา" เมื่อพระสุมนราชกุมารได้สดับลัทธยาเทศของพระปทุมุตตรพุทธเจ้าแล้ว ก็เกิดปิติหาที่สุดมิได้ ตั้งแต่นั้นไปก็อุตส่าห์ให้ทานรักษาศีล บำเพ็ญกองกุศลต่าง ๆ ครั้นสิ้นพระชนม์แล้วก็จุติไปบังเกิดในภพเบื้องหน้า ท่องเที่ยวไปมาในวัฏฏสงสารสิ้นกาลช้านานเป็นเวลาแสนกัปป์


ความจงรักภักดีของพระอานนท์

พระอานนท์นั้นเป็นผู้มีความมจงรักภักดีต่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง ท่านยอมสละชีพของท่านเพื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ อย่างเช่น เมื่อพระเทวทัตได้วางอุบายจะปลงพระชนม์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมอมเหล้าช้างนาฬาคิรี ซึ่งกำลังตกมัน แล้วปล่อยออกไปในขณะที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกบิณฑบาต โดยมีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เมื่อช้างนาฬาคิรีวิ่งเข้ามาทางพระพุทธองค์ พระอานนท์จึงได้เดินล้ำมาเบื้องหน้าพระศาสดา ด้วยคิดหมายจะเอาองค์ป้องกันสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้มีพระพุทธดำรัสให้พระอานนท์หลีกไป อย่าป้องกันพระองค์เลย แต่พระอานนท์ได้กราบทูลว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชีวิตของพระองค์มีค่ายิ่งนัก พระองค์อยู่เพื่อเป็นประโยชน์แก่โลก เป็นดวงประทีปของโลก เป็นที่พึ่งของโลก ของพระองค์อย่าเสี่ยงกับอันตรายครั้งนี้เลย ชีวิตของข้าพระองค์มีค่าน้อย ขอให้ข้าพระองค์ได้สละสิ่งซึ่งมีค่าน้อยเพื่อรักษาสิ่งที่มีค่ามาก เหมือนสละกระเบื้อง เพื่อรักษาซึ่งแก้วมณีเถิดพระเจ้าข้าฯ”

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า

“อย่าเลยอานนท์ บารมีเราได้สร้างมาดีแล้ว ไม่มีใครสามารถปลงชีวิตของตถาคตได้ ไม่ว่าสัตว์ดิรัจฉานหรือมนุษย์หรือเทวดามารพรหมใด ๆ”

ในขณะนั้นช้างนาฬาคิรีวิ่งมาจนจะถึงพระองค์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระองค์จึงได้แผ่พระเมตตาจากพระหฤทัย ซึ่งไปกระทบกับใจอันคลุกอยู่ด้วยความมึนเมาของช้างนาฬาคิรีได้ ช้างใหญ่หยุดชะงัก ใจสงบลงและหมอบลงแทบพระบาท พระพุทธองค์ทรงใช้พระหัตถ์ลูบที่ศีรษะพญาช้าง พร้อมกับตรัสว่า

“นาฬาคิรีเอ๋ย เธอกำเนิดเป็นดิรัจฉานในชาตินี้ เพราะกรรมอันไม่ดีของเธอในชาติก่อนแต่งให้ เธออย่าประกอบกรรมหนัก คือทำร้ายพระพุทธเจ้าเช่นเราอีกเลย เพราะจะมีผลเป็นทุกข์แก่เธอตลอดกาลนาน”

ช้างนาฬาคิรีน้ำตาไหลพราก น้อมรับฟังพระพุทธดำรัสด้วยอาการดุษฎี (ในคัมภีร์อนาคตวงศ์กล่าวว่า ในอนาคตกาลนับจากพระศรีอริยเมตไตรยพุทธเจ้าไป จะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้อีกหลายพระองค์ และช้างนาฬาคิรี จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าพระติสสพุทธเจ้า)


พระอานนท์เป็นผู้ออกแบบจีวรสงฆ์

นอกจากนี้พระอานนท์ยังได้ถวายการปรนนิบัติสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งในยามปกติ และในยามที่ทรงพระประชวร นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้ออกแบบจีวรของพระสงฆ์ โดยตัดเย็บตามแบบคันนาของชาวมคธ ซึ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมและมีคันนาสั้น ๆ ในระหว่าง ทำให้ท่านได้รับการสรรเสริญจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

“ภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นคนฉลาดมีปัญญาสามารถเข้าใจในคำพูดที่เราพูดแต่โดยย่อได้ โดยทั่วถึง”


พระอานนท์ผู้ประหยัด

นอกจากนี้พระอานนท์เป็นผู้ที่ประหยัดและฉลาดในเรื่องนี้มาก ดังเหตุการณ์ที่พระมเหสีของพระเจ้าอุเทน แห่งนครโกสัมพี เสื่อมใสในการแสดงธรรมของพระอานนท์ จึงได้ถวายจีวรจำนวน 500 ผืน แด่พระอานนท์ เมื่อพระเจ้าอุเทนทราบจึงตำหนิพระอานนท์ว่ารับจีวรไปจำนวนมาก เมื่อได้โอกาสจึงนมัสการถามว่าเอาจีวรไปทำอะไร

“พระคุณเจ้า ทราบว่าพระมเหสีถวายจีวรพระคุณเจ้า 500 ผืน พระคุณเจ้ารับไว้ทั้งหมดหรือ”

“ขอถวายพระพร อาตมาภาพรับไว้ทั้งหมด”

“พระคุณเจ้ารับไว้ทำไมมากมายนัก”

“เพื่อแบ่งถวายแก่พระภิกษุผู้มีจีวรเก่าคร่ำคร่า”

“จะเอาจีวรเก่าคร่ำคร่าไปทำอะไร”

“เอาไปทำเพดาน”

“จะเอาผ้าเพดานเก่าไปทำอะไร”

“เอาไปทำผ้าปูที่นอน”

“จะเอาผ้าปูที่นอนเก่าไปทำอะไร”

“เอาไปทำผ้าเช็ดเท้า”

“จะเอาผ้าเช็ดเท้าเก่าไปทำอะไร”

“เอาไปทำผ้าเช็ดธุลี”

“จะเอาผ้าเช็ดธุลีเก่าไปทำอะไร”

“เอาไปโขลกขยำกับโคลนแล้วฉาบทาฝา”

พระเจ้าอุเทนทรงเลื่อมใสว่าพระสมณบุตรเป็นผู้ประหยัด จึงถวายผ้าจีวรอีก 500 ผืนแด่พระอานนท์


การอุปการะต่อผู้น้อย

นอกจากพระอานนท์จะเป็นผู้กตัญญูต่อผู้ใหญ่แล้ว ท่านยังสำนึกแม้ในอุปการคุณของผู้น้อย เมื่อศิษย์ของท่านทำดีต่อท่านเป็นพิเศษ ท่านก็อนุเคราะห์เป็นพิเศษ คราวหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลถวายจีวรท่านมาเป็นร้อย ๆ ผืน ท่านระลึกถึงศิษย์รูปหนึ่งที่ทำอุปการะปฏิบัติดีต่อท่าน มีการถวายน้ำล้างหน้า ไม้ชำระฟัน ปัดเสนาสนะถวาย นวดมือนวดเท้า เป็นต้น และได้ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ท่านจึงได้มอบจีวรที่ได้มาทั้งหมดแก่ศิษย์รูปนี้

พระภิกษุรูปนั้นจึงได้นำจีวรที่ได้มา แจกจ่ายแก่ภิกษุร่วมอุปฌายะเดียวกันจนหมดสิ้น ดูเหมือนว่าพระอานนท์ประสงค์ที่จะให้เป็นเช่นนั้นด้วย ภิกษุทั้งหลายจึงได้ไปกราบทูลแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย การทำเพราะเห็นแก่หน้าคืออคติ หามีแต่อานนท์ไม่ แต่ที่อานนท์ทำเช่นนั้น ก็เพราะระลึกถึงอุปการะของศิษย์ผู้นั้น ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบต่อเธอเหลือเกิน ภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าอุปการะผู้อื่นแม้แต่น้อย อันบัณฑิตพึงระลึกถึงและหาทางตอบแทนในโอกาสอันควร”


เมตตาจิตของพระอานนท์

พระอานนท์เป็นผู้ที่มีจิตเมตตากรุณา ทนเห็นความทุกข์ความเดือดร้อนของผู้อื่นไม่ได้ ท่านมักจะช่วยเหลือผู้อื่นเท่าที่สามารถช่วยได้ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร ดังเช่น

เมื่อพระนางมหาปชาบดีโคตมี มีความประสงค์จะบวชเป็นภิกษุณี จึงได้เข้าไปขอพระพุทธานุญาต แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ประทานพระพุทธานุญาต แม้จะได้กราบทูลร้องขอหลาย ๆ ครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับประทานพระพุทธานุญาตเช่นเคย ทำให้พระนางเสียพระทัยมาก จึงกรรแสงอยู่หน้าประตูป่ามหาวัน เมื่อพระอานนท์ทราบเข้า จึงมีมหากรุณาจิตคิดจะช่วยเหลือพระนางให้สำเร็จดังประสงค์ จึงได้ไปกราบทูลขอสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยอ้างเหตุผลต่าง ๆ ทำให้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานพระพุทธานุญาต โดยมีเงื่อนไขว่าสตรีนั้นจะต้องรับครุธรรม 8 ประการ ก่อน ถึงจะอุปสมบทได้ เสร็จแล้วสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงครุธรรม 8 ประการแก่พระอานนท์ และพระอานนท์ก็จำครุธรรม 8 ประการนั้นไปเฝ้าพระนางมหาปชาบดี ซึ่งพระนางก็ทรงยอมรับครุธรรมนั้น และได้อุปสมบทเป็นภิกษุณีรูปแรกของพระพุทธศาสนา


พระอานนท์ผู้เป็นเอตทัคคะ 5 ประการ

พระอานนท์ได้รับการสรรเสริญจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เป็นเอตทัคคะ (เลิศ) 5 ประการคือ

1.มีสติ รอบคอบ

2.มีคติ คือความทรงจำแม่นยำ

3.มีความเพียรดี

4.เป็นพหุสูต

5.เป็นยอดของภิกษุผู้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า

ภิกษุอื่น ๆ ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะก็ได้รับเพียงอย่างเดียว แต่พระอานนท์ท่านได้รับถึง 5 ประการ นับว่าหาได้ยากมาก

ความเป็นพหูสูตรของพระอานนท์นั้นนับว่าเป็นคุณูปการต่อพระพุทธศาสนา กล่าวคือภายหลังพุทธปรินิพพานแล้ว มีภิกษุบางพวกกล่าวติเตียนพระศาสนา ทำให้พระมหากัสสปเถระเกิดความสังเวชในใจว่า ในอนาคตพวกอลัชชีจะพากันกำเริบ ย่ำเหยียบพระศาสนา จำต้องกระทำการสังคายนาพระไตรปิฎกให้เป็นหมวดหมู่ จึงได้นัดแนะพระภิกษุสงฆ์ให้ไปประชุมกันที่กรุงราชคฤห์ เพื่อสังคายนาพระธรรมวินัยตลอดเข้าพรรษา

การสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งนั้นได้มีพระมหาเถระ 3 รูปที่มีส่วนสำคัญในการสังคายนา กล่าวคือ พระอานนท์เถระ ผู้เป็นพุทธอุปฐาก ได้รับประทานพรข้อที่ 8 ทำให้ท่านเป็นผู้ทรงจำพระพุทธวจนะไว้ได้มาก ท่านจึงได้รับหน้าที่ตอบคำถามเกี่ยวกับพระธรรม ดังบทสวดคาถาต่าง ๆ มักขึ้นต้นด้วย

“เอวัมเม สุตัง เอกัง สะมะยัง ภะคะวา.....” อันหมายถึง “ข้าพเจ้า (คือพระอานนท์เถระ) ได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า”

พระอุบาลี ซึ่งเคยเป็นพนักงานภูษามาลาในราชสำนักกรุงกบิลพัสดุ์ และออกบวชพร้อมพระอานนท์ ท่านได้จดจำพระวินัยเป็นพิเศษ มีเรื่องเล่าในพระวินัยปิฏกว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องวินัยแก่พระภิกษุทั้งหลาย และสรรเสริญพระวินัยและสรรเสริญพระอุบาลีเป็นอันมาก ภิกษุทั้งหลายจึงพากันไปเรียนวินัยจากพระอุบาลี ในการสังคายนาครั้งนี้ท่านจึงได้รับหน้าที่วิสัชชนาเกี่ยวกับพระวินัย

พระมหากัสสปเถระ ซึ่งเป็นเลิศทางธุดงวัตรและเป็นผู้ชักชวนให้สังคายนาพระธรรมวินัย เป็นผู้ถามทั้งพระธรรมและพระวินัย


ความอ่อนน้อมถ่อมตนของพระอานนท์

ก่อนการสังคายนาพระธรรมวินัยจะเริ่ม พระมหากัสสปเถระตั้งตั้งปัญหาหลายประการ แก่พระอานนท์ อาทิ การใช้เท้าหนีบผ้าของพระศาสดาในขณะปะหรือชุนผ้า การไม่อาราธนาให้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดำรงพระชนม์อยู่ แม้จะได้ทรงแสดงนิมิตโอภาสหลายครั้ง ก่อนที่พระองค์จะปลงสังขาร การเป็นผู้ขวนขวายให้สตรีเข้ามาบวชในพุทธศาสนา การไม่กราบทูลถามเรื่องสิกขาบทเล็กน้อย ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสให้สงฆ์ถอนได้ว่าคือสิกขาบทอะไรบ้าง และการจัดสตรีให้เข้าไปถวายบังคมพระพุทธสรีระก่อนบุรุษภายหลังปรินิพพาน ทำให้น้ำตาของสตรีเหล่านั้นเปื้อนพระพุทธสรีระ

ถึงแม้พระอานนท์เถระจะอ้างเหตุผลมากล่าวแก่ที่ประชุมสงฆ์ แต่เมื่อที่ประชุมสงฆ์เห็นว่าเป็นอาบัติ ท่านก็แสดงอาบัติต่อสงฆ์ หรือแสดงการยอมรับผิด

การแสดงอาบัติของพระอานนท์นั้นเป็นกุศโลบายของพระมหากัสสปเถระที่ต้องการจะวาง ระเบียบวิธีการปกครองคณะสงฆ์ให้ที่ประชุมเห็นว่า อำนาจของสงฆ์นั้นยิ่งใหญ่เพียงใด คำพิพากษาวินิจฉัยของสงฆ์ถือเป็นคำเด็ดขาด แม้จะเห็นว่าตนไม่ผิด แต่เมื่อสงฆ์เห็นว่าผิด ผู้นั้นก็ต้องยอม เป็นตัวอย่างที่ภิกษุสงฆ์รุ่นหลังจะได้ยอมทำตาม

นอกจากนี้ยังเป็นการเสริมเกียรติคุณของพระอานนท์เถระ ให้เป็นตัวอย่างของผู้ว่าง่าย เคารพยำเกรงผู้ใหญ่ เป็นปฏิปทาที่ใครๆ พากันอ้างถึงด้วยความนิยมชมชอบในการต่อมา


พระอานนท์นิพพาน

ภายหลังพุทธปรินิพพาน พระอานนท์ได้เที่ยวจาริกสั่งสอนเวไนยสัตว์แทนองค์พระศาสดา จนชนมายุของท่านล่วงเข้า 120 ปี ท่านจึงได้พิจารณาอายุสังขารของท่านพบว่า อายุสังขารของท่านนั้นยังอีก 7 วันก็จะสูญสิ้นเข้าสู่พระนิพพาน ท่านจึงพิจารณาว่าท่านจะเข้านิพพาน ณ ที่ใด ก็เห็นว่าท่านจะเข้านิพพานที่ปลายแม่น้ำโรหิณี ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์ กับเมืองโกลิย ซึ่งมีพระประยูรญาติอยู่ทั้ง 2 ฝ่าย จากนั้นท่านจึงได้ลาภิกษุสงฆ์ และชนทั้งหลาย จนครบ 7 วันแล้ว ท่านจึงได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์นานาประการ แล้วตั้งจิตอธิษฐานให้กายของท่านแตกออกเป็น 2 ภาค ภาคหนึ่งให้ตกที่ฝั่งกรุงกบิลพัสดุ์ อีกภาคหนึ่งตกที่โกลิย แล้วท่านได้เจริญเตโชกสิณ ทำให้เปลวเพลิงบังเกิดในร่างกาย เผาผลาญมังสะและโลหิตให้สูญสิ้น ยังเหลือแต่พระอัฐิธาตุสีขาวดังสีเงิน พระอัฐิธาตุที่เหลือจึงแตกออกป็น 2 ภาค ด้วยกำลังอธิษฐานของท่าน บรรดาพระประยูรญาติและชนที่มาชุมนุมกัน ณ ที่นั้นต่างก็รองรับพระธาตุไว้ แล้วสร้างพระเจดีย์บรรจุไว้ทั้ง 2 ฟากของแม่น้ำโรหิณี

อ้างอิง

พระไตรปิฎกฉบับประชาชน

กระทรวงศึกษาธิการ. กรมวิชาการ. (2542). ประวัติพระสาวก เล่ม 1. กรุงเทพฯ โรงพิมพ์คุรุสภา

ประภาส สุระเสน (คัด-ถ่ายทอด-แปล).(2540). พระคัมภีร์อนาคตวงศ์. กรุงเทพฯ มหามกุฎราชวิทยาลัย

วศิน อินทสระ.พระอานนท์พุทธอนุชา.www.geocities.com/bluerain55/pra_anon

พระอสีติสาวก.nwww.heritage.thaigov.net/religion/priest/priest.html


Paragon

9 มกราคม 2545